การนวดเพื่อสุขภาพ

โครงการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยและวิชาการร่วมกับแหล่งฝึก

ระหว่างวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี  และกลุ่มการพยาบาล  โรงพยาบาลพระปกเกล้า

ครั้งที่  ๓ วันที่  ๑๙ มีนาคม  ๒๕๕๕  เวลา ๑๓:๓๐-๑๖:๐๐ น.

ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์  วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี

 

เรื่อง    การนวดเพื่อสุขภาพ

วิทยากร    อาจารย์โสภา   ลี้ศิริวัฒนกุล  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ

ผู้เข้าร่วมประชุม  จากวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี จำนวน  ๒๖  คน

จากโรงพยาบาลพระปกเกล้า  ๑๔  คน

รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด   ๔๐  คน

สรุปสาระการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

          สรุปประเด็นสำคัญจากการนำเสนอของอาจารย์โสภา   ลี้ศิริวัฒนกุล

มีหลักฐานปรากฏว่าการนวดไทยเริ่มมีตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง  แบ่งเป็นการนวดแบบราชสำนัก และการนวดไทยแบบเชลยศักดิ์  การนวดนี้มีประโยชน์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ  ซึ่งประโยชน์ด้านร่างกายได้แก่  เพิ่มการไหลเวียนของเลือดช่วยให้เลือดมาเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น  ลดอาการปวดและบวม  กระตุ้นภูมิคุ้มกันและ การทำงานของระบบประสาท  ช่วยให้ร่างกายขับถ่ายของเสียได้ดีขึ้น  ส่วนในหญิงหลังคลอดการนวดและประคบ จะช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้ดีขึ้น  ส่วนประโยชน์ด้านจิตใจได้แก่  ทำให้เกิดอาการผ่อนคลาย  มีความรู้สึกเป็นสุข ช่วยทำให้จิตใจสงบ  สบายใจ  และเป็นการปรับสมดุลของพลังชีวิต

วิธีการนวดเพื่อลดอาการปวดไหล่และคอ  มีหลักการและเทคนิคดังต่อไปนี้

๑.      ก่อนนวดต้องล้างมือให้สะอาดและตัดเล็บให้สั้น

๒.      ไม่ควรนวดในผู้ที่รับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ  (ควรให้เกิน ๓๐  นาทีเป็นอย่างน้อย)

๓.      ขณะทำการนวดต้องมีสมาธิ  และระลึกถึงครูบาอาจารย์

๔.      เริ่มการนวดบริเวณด้านซ้ายก่อน

๕.      ระวังอย่าให้นิ้วที่นวดกดที่กระดูกเพราะจะทำให้เมื่อย  สำหรับความหนักเบาของน้ำหนักที่กดเมื่อนวดนั้นให้สอบถามจากผู้ถูกนวด

๖.      ในแต่ละท่าให้นวดอย่างน้อยประมาณ ๕ รอบ  จึงจะสามารถช่วยบรรเทาอาการได้  สำหรับผู้ที่มีอาการมากอาจต้องใช้การประคบร้อนช่วย  และนัดนวดซ้ำอีกเป็นระยะ

จากความสนใจเรื่องการนวดเพื่อสุขภาพ  ซึ่งเป็นรูปแบบอีกอย่างของทางเลือกด้านสุขภาพ  ทำให้ทีมอาจารย์จากภาควิชาพื้นฐานการพยาบาลและบริหารวิชาชีพ  วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี  ได้แก่ อ.โสภา  ลี้ศิริวัฒนกุล  อ.คณิสร  แก้วแดง  และ อ.วิภารัตน์  ภิบาลวงษ์  ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของการนวดเพื่อผ่อนคลาย  แบบนวดโดยใช้น้ำมันไพลกับการนวดแบบดั้งเดิม  ในผู้ที่มีอาการปวดไหล่ โดยเปรียบเทียบว่าการนวดทั้งสองชนิดนี้มีประสิทธิผลต่ออาการปวด  อาการผ่อนคลาย  และความพึงพอใจต่อการนวดของผู้ถูกนวดที่มีอาการปวดไหล่และคอ ว่ามีแตกต่างกันอย่างไร

ผู้วิจัยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นสองกลุ่มได้แก่  กลุ่มที่นวดแบบดั้งเดิม  และ  กลุ่มที่นวดโดยใช้น้ำมันไพล โดยใช้การ Random assignment และ Matching  โดยใช้เกณฑ์ระดับของอาการปวด  ช่วงอายุ  เพศ  ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน  นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มต้อง  ไม่มีภาวะอาการปวดจากโรค  ไม่เป็นโรคติดต่อ  ไม่มีแผล ฝี หนอง การอักเสบบริเวณที่นวด  ไม่มีโรคหัวใจ  เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  และตรวจร่างกายอุณหภูมิไม่เกิน ๓๗.๘  องศาเซลเซียส  ชีพจรไม่เกิน ๙๐ ครั้งต่อนาที  หายใจไม่เกิน ๒๔ ครั้งต่อนาที  และความดันโลหิตไม่เกิน  ๑๓๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอท

ดำเนินการวิจัยโดยนวดแบบดั้งเดิม ๑๓ ท่าดังกล่าวข้างต้นให้กับกลุ่มที่นวดแบบดั้งเดิม  และ นวดแบบดั้งเดิม ๑๓ ท่าร่วมกับใช้น้ำมันไพลทาบริเวณไหล่และคอก่อนเริ่มนวดท่าที่ ๑ และ ๗  ให้กับกลุ่มที่นวดโดยใช้น้ำมันไพล  ภายหลังการนวด  ๑๕  นาที  กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มจะได้รับการประเมินอาการปวด  ตรวจสอบสัญญาณชีพ  ทำแบบประเมินอาการผ่อนคลายและแบบประเมินความพึงพอใจต่อการนวด

วิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบอาการปวด  ค่าสัญญาณชีพ  ก่อนและหลังการนวดแต่ละแบบโดยใช้ paired  t-test  และระหว่างการนวดแต่ละแบบโดยใช้  independent  t-test  ส่วนอาการผ่อนคลายและความพึงพอใจต่อการนวด  หลังการนวดแต่ละแบบ  ใช้ independent  t-test

ผลการวิจัยพบว่าการนวดแบบดั้งเดิมและการนวดโดยใช้น้ำมันไพล  ช่วยลดอาการปวดของกลุ่มตัวอย่างได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ   และสำหรับการนวดทั้งสองชนิดนี้สามารถ  ลดอาการปวด  ลดค่าสัญญาณชีพ  อาการผ่อนคลาย  รวมทั้งความพึงพอใจต่อการนวดของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองได้อย่างไม่แตกต่างกัน

คณะวิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะในตอนท้ายไว้ว่า  ควรจัดให้มีการอบรมให้ความรู้และทักษะการนวดในท่าที่ง่ายแก่ประชาชนและเยาวชน  สำหรับสถานบริการสุขภาพสามารถนำผลการวิจัยไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดบริการการนวดเพื่อผ่อนคลายโดยเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการเลือกรูปแบบการนวดแบบใช้น้ำมันหรือนวดแบบดั้งเดิมได้ตามความชอบของแต่ละบุคคล

สรุปประเด็นสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

๑.    การนวดบริเวณคอ  ผู้นวดที่มือใหญ่แต่ผู้ถูกนวดคอเล็ก ระวังมือบีบกดหลอดเลือดทำให้หมดสติได้

๒.    น้ำมันไพลบางชนิดผสมพิมเสน  เมนทอล  การบูร จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้ดี แต่การบูร หากสูดดมนาน ๆ จะกดการทำงานของสมองทำให้มึนงงได้

๓.    การนวดโดยใช้น้ำมันไพล  ไพล  มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ  ลดการอักเสบจึงใช้น้ำมันไพลทาคลายกล้ามเนื้อได้  นอกจากนี้สามารถนำไพลมาทอดกรอบรับประทานช่วยขับลมได้

๔.    การทดสอบไหล่ติดอย่างง่าย  ทำได้โดยใช้มืออ้อมจับด้านหลัง  โดยมือซ้ายยกขึ้นห้อยไปด้านหลังเหนือไหล่ซ้าย  มือขวาอ้อมด้านหลังเพื่อมาจับมือซ้าย  จากนั้นทำสลับมือกัน  หากมือจับไม่ถึงกันแสดงว่าไหล่ติด  สำหรับผู้ที่มีอาการไหล่ติด  ให้บริหารโดยจับผ้าเช็ดตัวคนละด้านถูหลังขึ้นลง (จับเหมือนกับการทดสอบไหล่ติด) เป็นการบริหารช่วยลดไหล่ติดได้

๕.    การดูแลสุขภาพตนเอง  เมื่อปวดเมื่อยหลัง ต้นคอ ใช้ลูกบอล  ลูกเทนนิส  หันหลังชนฝาเคลื่อนตัวไปมาจะช่วยนวดลดอาการปวดได้

๖.    เมื่อปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น  ไม่ควรรับประทานของแสลง  ได้แก่  ข้าวเหนียว  กุ้ง  หน่อไม้ ไก่  ปลาหมึก  จะทำให้ปวดเพิ่มได้

 

แนวทางการนำผลการประชุมไปใช้จากการประชุมครั้งนี้

๑. การนวดไทยเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย   ควรมีการฝึกนวดเบื้องต้นกับครอบครัว  นวดพ่อ แม่ พี่น้อง  จนรู้สึกมั่นใจ  แล้วจึงใช้ไปใช้กับผู้รับบริการจะช่วยให้มั่นใจยิ่งขึ้น

๒. การนวดควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลเสมอ  การนวดหนักเบาแค่ไหนในแต่ละท่าของการนวดควรสอบถามผู้ถูกนวดเสมอ เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบุคคล

 

อาจารย์ลลิตา  เดชาวุธ

ผู้บันทึกการประชุม

Print Friendly
ผู้เขียน อ.ลลิตา เดชาวุธ (ประวัติการเขียน 6 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน


Tags: , , ,

One Response to “การนวดเพื่อสุขภาพ”

  1. จากประสบการณ์รับบริการนวดและพูดคุยกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนวด ทราบว่ามีข้อควรระวังคือ นอกจากไม่ควรนวดในช่วงเวลาที่รับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆแล้ว ในช่วงมีรอบเดือนก็เป็นช่วงที่ห้ามนวด เรื่องห้ามนวดขณะมีรอบเดือนนั้นตนเองก็รู้สึกสงสัยว่าจะเกี่ยวอะไรกัน(กึ่งเชื่อกึ่งไม่เชื่อ) ต่อมามีรุ่นน้องที่ไม่ทราบข้อมูลนี้แล้วไปนวดขณะมีรอบเดือน บางรายจะรู้สึกเจ็บปวดมากในขณะนวด บางรายหลังนวดแล้วมีอาการไม่สุขสบายคล้ายจะเป็นไข้ มีข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างนี้ตอนนี้เลยเชื่อในเรื่องห้ามนวดขณะมีรอบเดือนตามที่อาจารย์บอก