การเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างความมั่นใจของนักศึกษาในการปฏิบัติงาน รายวิชา พย.๑๓๒๒ A/ปฏิบัติการพยาบาลมารดาทารกและการผดุงครรภ์ ๑A
การเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างความมั่นใจของนักศึกษาในการปฏิบัติงาน
ณ แผนกผู้ป่วยนอกสูตินรีเวชกรรมและวางแผนครอบครัว (ANC) โรงพยาบาลพระปกเกล้า
รายวิชา พย.๑๓๒๒ A/ปฏิบัติการพยาบาลมารดาทารกและการผดุงครรภ์ ๑A
ภาคการศึกษาที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๕
……………………………………………………………………..
ผู้เขียน อาจารย์ขนิษฐา เมฆกมล
ผู้ร่วมจัดการความรู้ อาจารย์ธนพร ศนีบุตร อาจารย์อารีรัตน์ วิเชียรประภา และนักศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิตชั้นปีที่ ๓ แต่ละกลุ่มที่ขึ้นปฏิบัติงาน ณ แผนกผู้ป่วยนอกสูตินรีเวชกรรมและวางแผนครอบครัว (ANC) โรงพยาบาลพระปกเกล้า
จากผลการสำรวจความพึงพอใจของการได้รับบริการจากนักศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิตชั้นปีที่ ๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ ที่ปฏิบัติงาน ณ แผนกผู้ป่วยนอกสูตินรีเวชกรรมและวางแผนครอบครัว (ANC) โรงพยาบาลพระปกเกล้า พบว่าความพึงพอใจของผู้รับบริการต่อนักศึกษาที่มากที่สุด ๓ อันดับแรก ได้แก่ พฤติกรรมการให้บริการยิ้มแย้ม แจ่มใส การเปิดโอกาสให้พูดคุยซักถาม และการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์ สำหรับข้อที่พบว่าผู้รับบริการพึงพอใจน้อยที่สุดใน ๓ อันดับสุดท้าย ได้แก่ การจดจำในรายละเอียดและความต้องการของผู้รับบริการ ระยะเวลาในการซักประวัติและระยะเวลาในการตรวจร่างกาย/การตรวจครรภ์
จากข้อมูลดังกล่าวอาจารย์นิเทศและนักศึกษาที่ขึ้นปฏิบัติงาน จึงได้มีการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อให้นักศึกษามีความมั่นใจ มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน โดยนักศึกษาได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มและมีแนวทางในการปฏิบัติงานของนักศึกษา ดังนี้
๑. ศึกษาข้อมูลจากสมุดฝากครรภ์ให้ละเอียดทุกหน้า โดยเฉพาะหน้าที่ต้องบันทึกข้อมูลของผู้รับบริการก่อนการขึ้นฝึกปฏิบัติงาน
๒. นักศึกษาจับคู่กันเพื่อฝึกตรวจร่างกายและตรวจครรภ์โดยให้เพื่อนประเมินตาม checklist และให้เพื่อนที่เป็นหญิงตั้งครรภ์บอกภาวะแทรกซ้อนที่ขณะตั้งครรภ์ ๑ อาการ เพื่อฝึกให้คำแนะนำ
๓. กำหนดเวลาในการปฏิบัติงานของนักศึกษา โดยการซักประวัติหญิงตั้งครรภ์รายใหม่ ให้ใช้เวลาอย่างน้อย ๓๐ นาที ในการตรวจร่างกาย ตรวจครรภ์และให้คำแนะนำให้ใช้เวลาอย่างมาก ๓๐ นาที
๔. ดูแลผู้รับบริการเป็นรายบุคคลจนผู้รับบริการกลับบ้าน กรณีผู้รับบริการมีภาวะแทรกซ้อนต้องพบแพทย์หรือต้องไปตรวจพิเศษอื่นๆเพิ่มเติม นักศึกษาที่ปฏิบัติงานในแต่ละจุดต้องมีการส่งข้อมูลต่อกัน เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง
๕. เตรียมความพร้อมโดยนักศึกษาแบ่งหัวข้อกันศึกษาภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์และมาพูดคุยกับเพื่อนในกลุ่มเพื่อเตรียมความพร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้รับบริการ
หลังจากที่นักศึกษาได้มีการเตรียมความพร้อมตามแนวทางต่างๆนี้ นักศึกษามีความมั่นใจมากขึ้น แต่ในการปฏิบัติงานจริงยังพบว่าโดยภาพรวมนักศึกษาใช้เวลาในการซักประวัติค่อนข้างนาน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบางเรื่องนักศึกษายังตัดสินใจไม่ได้ นักศึกษาที่มีการเตรียมความพร้อมมาดีจะมีความมั่นใจและสามารถปฏิบัติงานได้ดี ดังนั้นกรณีที่นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานแผนกผู้ป่วยนอก ควรมีวิธีการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาก่อนฝึกปฏิบัติงานให้มากขึ้นโดยอาจารย์นิเทศวางแผนร่วมกับนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาเกิดความมั่นใจและมีความพร้อมในการปฏิบัติงาน
…………………………………………………………………………….