ประโยชน์ของการบูรณาการการเรียนการสอนกับบริการวิชาการ ในงานส่งเสริมสุขภาพจิต
สรุปผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากคณาจารย์ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี
เรื่อง “ประโยชน์ของการบูรณาการการเรียนการสอนกับบริการวิชาการ ในงานส่งเสริมสุขภาพจิต”
ผู้เขียน อ.โศภิณสิริ ยุทธวิสุทธิ
ผู้บันทึกการเรียนรู้ อ.อรัญญา บุญธรรม
วันที่ประชุม 20 กันยายน 2555
อาจารย์ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
1. อ.วราภรณ์ จรเจริญ
2. อ.อรัญญา บุญธรรม
3. ดร.เชษฐา แก้วพรม
4. ดร.ศรีสกุล เฉียบแหลม
5. อ.ลลนา ประทุม
6. อ.เพ็ญนภา พิสัยพันธุ์
7. อ.มงคล ส่องสว่างธรรม
ผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ในการจัดโครงการบูรณาการการเรียนการสอนให้นักศึกษาพยาบาลได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในโครงการบริการวิชาการแก่สังคมด้านการสร้างเสริมสุขภาพจิตชุมชนเป็นประโยชน์ร่วมกันอย่างยิ่ง เพราะแต่ละคนต่างมีศักยภาพที่มีความเด่นแตกต่างกัน นักศึกษาพยาบาลมีความรู้ด้านตำราแต่ขาดทักษะและประสบการณ์ด้านการทำงานในชุมชน ส่วนอสม.มีทักษะในการอยู่ร่วมกับชุมชนแต่อาจจะขาดองค์ความรู้เชิงวิชาการ ต่างคนต่างถ่ายทอดประสบการณ์ที่ตนเองมี ต่างเติมเต็มให้แก่กันและกัน สิ่งที่ได้คือประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณค่า ซึ่งหาไม่ได้จากตำราใดๆ บทบาทและบุคลิกภาพของนักศึกษาพยาบาลที่เข้าไปปฏิบัติงานร่วมกับชุมชนและประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตให้แก่ชุมชนได้ เป็นที่รักใคร่และยอมรับของคนในชุมชนคือ อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถือว่าตนเองมีความรู้เหนือกว่าคนในชุมชน ยอมรับและรับฟังปัญหาของเขาโดยไม่ใช้ตนเองเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจแทนผู้อื่น เอาใจใส่ที่จะช่วยเหลือทั้ง case และครอบครัวอย่างเต็มใจ มีน้ำใจไม่ดูดาย ไม่มุ่งแต่จะทำงานของตนจนไม่ใส่ใจในวิถีชีวิตของประชาชนที่นักศึกษารับผิดชอบ มีความสม่ำเสมอในการเยี่ยม case ช่างสังเกตทั้งภาษาพูดและภาษาท่าทาง เข้าใจในสิ่งที่เขาพูดทั้งเนื้อหาและความรู้สึก มีความจริงใจไม่เสแสร้ง มีความเป็นธรรมชาติ ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความรู้ในงานที่จะช่วยเหลือชุมชนได้อย่างดี มีความเกรงใจ ที่สำคัญคือเก็บความลับที่ case ไม่ต้องการเปิดเผยได้