สรุปประเด็นสำคัญการเตรียมสอบสภาฯ ของผู้สำเร็จการศึกษาที่เข้าสอบ ปีการศึกษา 2552

สรุปประเด็นสำคัญการเตรียมสอบสภาฯ ของผู้สำเร็จการศึกษาที่เข้าสอบ ปีการศึกษา 2552

1.  เทคนิควิธีการเตรียมสอบฯ ที่เป็นประโยชน์

                1.1 วิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน  

-  การทำข้อสอบมากๆ อาจารย์เฉลยและตีความ โดยเฉพาะการหา keywords ในคำถาม เช่น การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องนึกถึงการมีส่วนร่วมของ บ้าน วัด โรงเรียน

- การติวแบบ concept ในหัวข้อต่างๆ เช่น ระบาดวิทยา โดยอาจารย์ และการเลือกตอบอย่างมีหลักการ การตัดตัวเลือกที่ไม่ถูกออก

- การอ่านหนังสือตาม Blueprint ข้อสอบสภาฯ ที่อาจารย์แจกให้

                1.2  การรักษาโรคเบื้องต้น – ข้อสอบวัดความรู้ความเข้าที่ไม่ลึกซึ้งมากนัก  เป็นความรู้จากการเรียนและทฤษฎี และการฝึกปฏิบัติวิชาการรักษาโรคเบื้องต้น และวิชาการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ เนื้อหาที่ควรเพิ่มเติมให้มากขึ้น คือ การวิเคราะห์ผล lab ในโรคต่างๆ

                1.3  วิชาการพยาบาลเด็ก ข้อสอบออกตาม Blueprint และตามที่อาจารย์ติวให้  อาจารย์วารุณีชี้ประเด็นสำคัญของโรคต่างๆในเด็ก และพัฒนาการในช่วงต่างๆของเด็ก  การทำความเข้าใจเนื้อหาแบบเชื่อมโยง ช่วยให้มีหลักในการจำและทำข้อสอบได้

                1.4  วิชาการพยาบาลผู้ใหญ่

- ต้องใช้ความเข้าแบบ concept ตัดตัวเลือก เน้นการพยาบาล เช่น ให้ชื่อโรคมาและถามการพยาบาล

-  เนื้อหาที่ควรเพิ่มเติม คือ นรีเวช และ ตา หู คอ จมูก

-  วิธีการเตรียมสอบที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ การทำข้อสอบในชั้นเรียน  อาจารย์เฉลยและอธิบายเหตุผล  การจับกลุ่มติวกันเองที่หอพักทั้งนศ.หญิง และ นศ.ชายที่พักอยู่นอกวิทยาลัย การถกเถียงกัน ช่วยให้จำได้ดีขึ้น  การอ่านเองโดยใช้สาระทบทวน (แต่มีเนื้อหาบางที่ไม่ถูกต้อง)โดยต้องอ่านหนังสืออื่นๆประกอบด้วย  การอ่านทบทวนจากเอกสารประกอบการสอนที่เคยเรียนในรายวิชาการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ

                1.5  การพยาบาลผู้สูงอายุ

                                -  ข้อสอบมีส่วนที่วัดความจำ เช่น ทฤษฎีผู้สูงอายุ และวัดความเข้า/นำไปใช้  เช่น ถามเกี่ยวกับการพยาบาล

                                -  การตอบข้อสอบควรใช้หลักการหรือ concept เช่น แนวทางการดูแลผู้สูงอายุมีหลักสำคัญที่การสนับสนุนให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด

                                -  แนวคิดในการทำข้อสอบ ได้จากการทำข้อสอบมากๆ และการเฉลยและอธิบายของอาจารย์ โดยข้อสอบต้องมีความหลากหลาย เพื่อให้ครอบคบุมเนื้อหาและได้รู้รายละเอียดอย่างชัดเจน

                                -  การทำข้อสอบเป็นกลุ่ม โดยมีผู้นำกลุ่ม ทำหน้าที่ดูแลควบคุมให้สมาชิกทำข้อสอบอย่างครบถ้วนและตั้งใจ อาจารย์ควรเป็นผู้เฉลย เพราะสามารถอธิบายข้อสงสัยให้นักศึกษาได้ ถ้านักศึกษาเฉลยกันเองก็จะรู้ได้แต่คำตอบว่าถูกหรือผิด แต่ส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าอธิบายเหตุผลได้ถูกต้องหรือไม่

                1.6  วิชาการผดุงครรภ์

                                – ต้องตั้งใจเรียนตั้งแต่เรียนวิชาการพยาบาลมารดาทารกฯ 1 และ 2  (ทั้งการพยาบาลสูติศาสตร์ที่ปกติและผิดปกติ)

                                – ต้องเข้าใจและจำกลไกการคลอดแต่ระยะ รวมทั้งกายวิภาคและสรีระฯ ระบบสืบพันธุ์ได้

                                – ข้อสอบเน้นความเข้าใจและการนำไปใช้ โจทย์ยาว ใช้เวลามากเพื่อทำความเข้าใจ

                                – ควรอ่านสาระทบทวนตั้งแต่ต้น จนจบ หรือสรุปเองก็ได้ ถ้าสามารถทำได้

                                – ควรสอนการอ่านและทำความเข้าใจโจทย์ การตีความโจทย์ จับประเด็นให้ได้ว่าโจทย์ถามอะไร โดยการฝึกทำจากโจทย์ข้อสอบจริง ถ้าฝึกทำมากๆ จะสามารถหาคำที่ชี้แนะคำตอบในโจทย์ได้

                                – ควรแยกนักศึกษากลุ่มเก่งกับกลุ่มอ่อนในการติวเป็นบางช่วง เพราะนักศึกษากลุ่มอ่อนไม่กล้าถามและตามไม่ค่อยทัน ทำให้บางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะถามอะไร

                1.7  การพยาบาลมารดาและทารก

                                – ข้อสอบยากมาก ต้องใช้ความจำตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางสรีระของการตั้งครรภ์ ในแต่ละไตรมาส

                                – ควรอ่านสาระทบทวนให้จบอย่างน้อย 1 รอบ หรืออ่านเอกสารประกอบการสอนที่เรียนในห้องเรียนตั้งแต่แรก

                1.8  สุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์

                                – ถ้าทบทวนหลายๆครั้งและทำข้อสอบหลายๆรอบ จะครอบคลุมเนื้อหาของวิชานี้

                                – การเรียนภาคปฏิบัติ และconference ช่วยให้เข้าใจเนื้อได้มากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อการสอบ

                                – การสอบซ่อมวิชาทฤษฎีและ progress test ช่วยให้เข้าใจมากขึ้น เป็นประโยชน์

                                – การแยกนักศึกษากลุ่มเก่งกับกลุ่มอ่อนในการติวเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะนักศึกษากลุ่มอ่อนไม่กล้าถามและตามไม่ค่อยทัน ทำให้บางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะถามอะไร

                                – การแบ่งกลุ่มย่อยไม่ควรมีนักศึกษาเกิน 20 คนต่อกลุ่ม

                1.9  กฎหมายฯ

                                – ข้อสอบ 20 ข้อแรก เป็นการวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย ต้องใช้หลักกฎหมายในการตอบ โดยใช้ความจำและจับประเด็นโจทย์ให้ได้ ว่าต้องการวัดข้อกฎหมายใด

                                – อ่านและทบทวนข้อกฎหมายที่เรียนก่อนที่จะติว โดยอ่านจากเอกสารที่เรียนในชั้นเรียน เช่น พรบ วิชาชีพ และข้อกฎหมายทั่วไป

                                – ข้อสอบ 20 ข้อหลัง เป็นการวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุผลทางจริธรรม ใช้ความรู้ทางจริยศาสตร์ ในการตอบ ควรจำเนื้อหาให้ได้ ใช้เหตุผลทางจริยธรรมในการตอบ โดยพิจารณาตัวเลือกให้รอบคอบ ต้องพิจารณาคำที่เป็น guide ในการตอบ และต้องใช้การตีความ การเฉลยข้อสอบ หรือ discuss กันเองของนักศึกษาในระหว่าดูหนังสือ ช่วยให้จำเนื้อหาได้มากขึ้น

                สำหรับวิชานี้ มีนักศึกษาสอบไม่ผ่านเป็นจำนวนมากกว่าวิชาอื่นซึ่งนักศึกษาบางคนมีผลการเรียนดีมาก และตั้งใจดูหนังสือ น่าจะเป็นเพราะเครียดเกินไป  ไม่พิจารณาโจทย์และตัวเลือกอย่างรอบคอบ หรือไม่แยกการใช้หลักการทางกฎหมาย หรือจริยธรรมตอบข้อสอบ ซึ่งมีความแตกต่างกัน (กฎหมายต้องใช้หลักการที่ตรง (ค่อนข้างใจร้าย)  จริยศาสตร์ต้องใช้เหตุผลแบบใจดี)

 

เทคนิคการทำข้อสอบ 

                – ถ้าตอบไม่ได้ ให้เดาตอบไปเลย ไม่ต้อเว้นไว้ เพราะมักไม่มีเวลากลับมาอ่านอีก หรือสุดท้ายก็ต้องเดาอยู่ดี นอกจากนั้นถ้าเว้นไว้ อาจทำให้ ทำข้อสอบหลงข้อได้

                – ต้องมีวิธีควบคุมความเครียด ก่อนทำข้อสอบ ขณะทำข้อสอบ และหลังทำข้อสอบ แต่ละวิชา เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับการทำข้อสอบในวิชาต่อมา ไม่ต้องกังวลกับวิชาที่ทำไปแล้ว ต้องมีสมาธิขณะทำข้อสอบ  มีเวลาน้อย ถ้ากังวลจะทำข้อสอบได้ช้า และต้องอ่านซ้ำหลายครั้ง

ข้อเสนอแนะ

                – วิทยาลัยควรมีมาตรการกดดันนักศึกษาให้มีประสบการณ์ในการทำข้อสอบภายใต้ความรู้สึกกดดันบ้าง เช่น ถ้าสอบไม่ผ่านข้อสอบเครือข่าย หรือข้อสอบ ม.บูรพา จะต้อง…. (ที่มีผลกระทบต่อตัวนักศึกษาที่สอบไม่ผ่าน)

                – ตลอดการเตรียมตัวสอบ นักศึกษามักจะบ่นว่าหนัก เหนื่อย แต่อาจารย์ก็ไม่ควรปล่อยให้นักศึกษาอ่านหนังสือเอง เพราะอ่านได้น้อย ใช้เวลาไม่คุ้มค่า นักศึกษาจะซาบซึ้งเองเมื่อต้องไปสอบจริง และเข้าใจว่าทำไมอาจารย์จึงต้องบังคับ

                – ในการอ่านหนังสือ/ทบทวนเอง นักศึกษาอาจใช้ mind mapping ในการสรุปเนื้อหา

                – ในการทบทวน ถ้าให้นักศึกษาอ่านเอง ควรให้ส่งสรุปประเด็นสำคัญ ให้อาจารย์ตรวจสอบ เพราะถ้าไม่กำหนดให้ทำ หรืออาจารย์ไม่ตรวจนักศึกษาก็จะไม่ทำ หรือไม่ตั้งใจทำ

                – เอกสารประกอบการสอน ควรมีรายละเอียด ซึ่งนักศึกษาสามารถ นำมาอ่านทบทวนได้เมื่อเตรียมสอบสภาฯ

                – เนื้อหาบางอย่างควร update โดยเฉพาะการปฏิบัติ เช่น การทำแผล การตรวจพิเศษ การบันทึกทางการพยาบาล  และ NI

ผู้ให้ข้อมูล: ผู้สำเร็จการศึกษาปีการศึกษา 2552 จำนวน 7 คน

ผู้จดบันทึก: อาจารย์มัณฑนา เหมชะญาติ

19 เมษายน 2553

Tags: ,

วิธีการสอนต่างๆ ในวิชาวิจัยทางการพยาบาล

วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี

วิจัยในชั้นเรียน วิชา พย. 1329 วิจัยทางการพยาบาล

หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 3 ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2553

เรื่อง วิธีการสอนต่างๆ ในวิชาวิจัยทางการพยาบาล

 

โดย มัณฑนา เหมชะญาติ, RN, PhD.

 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

                การเรียนการสอนภาคทฤษฎีในชั้นเรียน อาจารย์ผู้สอนต้องใช้วิธีการสอนที่หลากหลายเพื่อให้นักศึกษามีความสนใจในเนื้อหา ไม่เบื่อหน่าย และเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนในแต่ละเรื่องนั้น  สำหรับวิชา พย. 1329 การวิจัยทางการพยาบาล เป็นรายวิชาที่มีเนื้อหามากสำหรับการเรียนการสอนภาคทฤษฎี จำนวน 2 หน่วยกิต  และนักศึกษาต้องมีความรู้ความเข้าใจภาคทฤษฎีก่อนการฝึกทำวิจัยในภาคทดลอง

                ในการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตชั้นปีที่ 3 ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2553 นี้ อาจารย์ผู้สอนภาคทฤษฎี ได้มีเลือกใช้วิธีการสอนที่หลากหลายแทนการบรรยาย เพราะพบว่านักศึกษาจำนวนไม่น้อยหลับในขณะที่มีการเรียนการสอน  และเมื่อเสร็จสิ้นการสอนแล้วได้มีการติดตามผลการเรียนรู้ตามการรับรู้ของนักศึกษา เพื่อการนำผลการศึกษาครั้งนี้ไปปรับปรุงการเรียนการสอนภาคทฤษฎีต่อไป

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีความตื่นตัวในการเรียนรู้และไม่หลับในขณะเรียน
  2. เพื่อฝึกทักษะการอ่านแก่นักศึกษา

วิธีดำเนินการ

  1. จัดทำเอกสารประกอบการสอนทุกหัวข้อที่สอน
  2. ดำเนินการสอนตามตารางเรียนด้วยวิธีการสอนที่หลากหลายต่อไปนี้

วิธีที่ 1 สอนโดยการบรรยายและทำแบบฝึกหัด ในหัวข้อเรื่องการเลือกกลุ่มตัวอย่าง

วิธีที่ 2 สอนโดยให้นักศึกษาอ่านเอกสารประกอบการสอน และสรุปสาระสำคัญในเวลาที่กำหนด ในหัวข้อเรื่อง เครื่องมือวิจัย

วิธีที่ 3 สอนโดยให้นักศึกษาอ่านเอกสารประกอบการสอน แล้วตั้งคำถามเอง พร้อมตอบคำถามดังกล่าว ในหัวข้อเรื่อง การเก็บรวบรวมข้อมูล

วิธีที่ 4 สอนโดยครูตั้งคำถามให้นักศึกษาหาตอบคำถามจากเอกสารประกอบการสอน ในหัวข้อเรื่อง การเขียนโครงร่างงานวิจัย

วิธีที่ 5 สอนโดยครูตั้งหัวข้อให้นักศึกษาค้นคว้าจากรายงานวิจัย (ฉบับจริง) ประกอบกับเอกสารประกอบการสอน ในหัวข้อเรื่อง การเขียนรายงานวิจัย

โดยการเรียนการสอนในแต่ละครั้ง นักศึกษาได้รับมอบหมายงานเป็นรายบุคคล และส่งชิ้นงาน เมื่อในท้ายชั่วโมงที่เรียน อาจารย์ผู้สอนสรุปสาระสำคัญของเนื้อหาในแต่ละเรื่อง  แล้วตรวจงาน พร้อมให้ข้อเสนอแนะ และคืนให้กับนักศึกษาในการเรียนครั้งต่อมา

3.   เก็บรวบรวมข้อมูลประเมินผลการเรียนรู้จากนักศึกษา โดยใช้แบบสอบถามซึ่งมีลักษณะเป็น Rating scale 5 ระดับ (1 = น้อยที่สุด และ 5 = มากที่สุด) โดยให้ความหมายของการเรียนรู้ว่า หมายถึง การที่นักศึกษาเกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระ และมีแนวคิดที่จะนำไปใช้ได้ รวมทั้งสามารถ/ความมั่นใจในทำข้อสอบได้

4.  สรุปผลการศึกษาและเขียนรายงาน

ผลการศึกษา

                ผลการวิเคราะห์ข้อมูลมีดังนี้

ตารางที่ 1. ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของคะแนนการเรียนรู้จากการเรียนการสอนด้วยวิธีการต่างๆ ตามการรับรู้ของนักศึกษา ในวิชาการวิจัยทางการพยาบาล (n = 63)

วิธีการสอน  ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  การแปลค่าระดับคะแนนการเรียนรู้ อันดับที่ของคะแนนเฉลี่ย
วิธีที่ 1 4.19 0.59 มาก 3
วิธีที่ 2 4.31 0.58 มาก 1
วิธีที่ 3 4.02 0.67 มาก 5
วิธีที่ 4 4.20 0.59 มาก 2
วิธีที่ 5 4.16 0.64 มาก 4

จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า นักศึกษามีการรับรู้ว่า เกิดการเรียนรู้อยู่ในนะดับมากจากการเรียนการสอนทั้ง 5 วิธี โดยมีค่าเฉลี่ยของคะแนนการเรียนรู้ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ การเรียนการสอนด้วยการให้นักศึกษาอ่านเอกสารประกอบการสอน และสรุปสาระสำคัญในเวลาที่กำหนด ในหัวข้อเรื่อง เครื่องมือวิจัย มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ การเรียนการสอนโดยครูตั้งหัวข้อให้นักศึกษาหาตอบคำถามจากเอกสารประกอบการสอน ในหัวข้อเรื่อง การเขียนโครงร่างงานวิจัย และการเรียนการสอนโดยการบรรยายและทำแบบฝึกหัด ในหัวข้อเรื่องการเลือกกลุ่มตัวอย่าง ตามลำดับ สำหรับการเรียนการสอนโดยให้นักศึกษาอ่านเอกสารประกอบการสอน แล้วตั้งคำถามเอง พร้อมตอบคำถามดังกล่าว ในหัวข้อเรื่อง การเก็บรวบรวมข้อมูล มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด

การสรุปและอภิปรายผล

                จากการทำวิจัยในชั้นเรียนในครั้งนี้ อาจสรุปได้ว่า การเรียนการสอนด้วยวิธีการต่างๆ ช่วยให้นักศึกษามีการเรียนรู้อยู่ในระดับดี แต่อย่างไรก็ตามนักศึกษา มีความเห็นว่าวิธีการสอนที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์ เช่น การตั้งคำถามเองและคำตอบคำถามดังกล่าว รวมทั้งการตอบประเด็นคำถามโดยอ่านจากรายงานวิจัยฉบับจริง เป็นวิธีการที่เรียนรู้ได้น้อยกว่า วิธีการสอนโดยการสรุปประเด็นสำคัญจากเอกสารประกอบการสอน และการบรรยาย  ซึ่งอาจเป็นเพราะนักศึกษาคุ้นเคยกับการเรียนการสอนที่อาจารย์เป็นผู้ให้และนักศึกษาฝ่ายรับ มากกว่าการเรียนการสอนที่กระตุ้นให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์มากขึ้น อย่างไรก็ดี การเรียนการสอนด้วยวิธีการต่างๆ ยกเว้นการบรรยาย ไม่มีนักศึกษาคนใดหลับในชั้นเรียน เพราะต้องอ่านเอกสารประกอบการสอนและทำงานที่ได้รับมอบหมายแต่ละครั้งในแล้วเสร็จ

ข้อเสนอแนะจากการทำวิจัยในครั้งนี้

                1. การเรียนการสอนในรายวิชาที่มีเนื้อหามาก อาจารย์ผู้สอนควรจัดทำเอกสารประกอบการสอน หรือกำหนดหนังสือประกอบการสอนที่นักศึกษาต้องมีและใช้ประกอบการเรียนการสอน เพื่อที่จะสามารถสอนได้อย่างครอบคลุมเนื้อหาสาระ โดยอาจารย์ผู้สอนควรใช้วิธีการกระตุ้นให้นักศึกษาอ่านหนังสือให้มากขึ้น เนื่องจาก ในการศึกษาครั้งนี้พบว่านักศึกษาบางคนอ่านหนังสือช้ามากเมื่อเทียบกับเพื่อนในชั้นเรียน

                2.  การเรียนการสอนโดยวิธีการที่หลากหลายมีความจำเป็น เพราะนักศึกษามีความสนใจกับการเรียน เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ  การสอนโดยการบรรยาย เป็นวิธีการที่นักศึกษามีส่วนร่วมน้อยและมักหลับโดยเฉพาะในช่วงบ่าย ดังนั้น อาจารย์ผู้สอนจึงควรเลือกใช้วิธีการอื่นๆ ร่วมด้วย

                3.  การตรวจชิ้นงานและให้ข้อเสนอแนะให้นักศึกษาทราบ ก่อนการเรียนครั้งต่อไป เป็นการกระตุ้นที่ดีให้นักศึกษาตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมาย ถึงแม้งานดังกล่าวนี้จะไม่มีการประเมินผลแบบให้คะแนน ฉะนั้น อาจารย์ผู้สอนจึงควร ตรวจงานและคืนให้นักศึกษาโดยไม่ทิ้งระยะห่างจากเวลาที่เรียนมากเกินไป

                4.  การมอบหมายชิ้นงาน ในชั้นเรียน ควรให้เวลาที่เหมาะสม คือไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เมื่อมอบหมายงานแล้ว อาจารย์ควรอยู่ในชั้นเรียน เพื่อสังเกตพฤติกรรมการทำงานของนักศึกษาแต่ละคน พร้อมทั้งมีการตรวจสอบจำนวนชิ้นงานของนักศึกษาเป็นรายบุคคล เพื่อที่จะได้ทราบ ถ้ามีนักศึกษาบางคนไม่ส่งชิ้นงาน เมื่อหมดเวลาในห้องเรียน ถ้าพบว่านักศึกษาบางคนไม่ส่งงานควรพบและพูดคุยถึงเหตุผลของนักศึกษา เพื่อการแก้ไขและช่วยเหลือนักศึกษาเฉพาะรายต่อไป

กำลังใจให้น้องใหม่

ช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของนักศึกษาน้องใหม่ ปีหนึ่ง เพราะคุณจะต้องปรับตัวค่อนข้างสิ้นเชิงบางคนต้องการเรียนบางคนเรียนเพราะไม่มีที่เรียน บังเอิญสอบติด ไม่อยากเรียนแต่ที่บ้านให้เรียนหลายเหตุผลต่างกันไป ประสบการณ์การมาเรียนที่นี่ให้อะไรเราหลายอย่าง อย่างเราเริ่มต้นจากเด็กนักเรียนม.ปลาย บ้านไม่สมบูรณ์(พ่อมีแม่เยอะมากแต่แม่เราเป็นแม่คนโต)พ่อกับแม่ใหม่(คนล่าสุดตอนนั้นอายุเป็นพี่เราได้)เขาบอกว่าจะเรียนอะไรได้หน้าตาอย่างนี้กลับไปอยู่บ้านเป็นชาวสวนได้อย่างเดียว(คิดในใจเวลาเรียนใช้หน้าตาด้วยหรือน่าจะใช้สมองความสามารถมากกว่า)ก็เลยคิดว่าฉันจะเรียนให้ดูไม่ได้ตั้งใจเรียนที่นี่แต่เพราะคำดูถูก ใจอยากเรียนพฤกษศาสตร์นะ แต่สงสัยว่าทำไมใครๆถึงว่าเรียนไม่ได้ เพราะอยากเรียนแต่ไม่รู้สมัครเข้าอย่างไรตอนนั้นเงียบมากไม่มีข่าวเลย เพื่อนเราคนหนึ่งจึงชวนมาสมัคร(เธอไม่ได้เรียน)เรามาตามเพื่อนสมัครวันสุดท้ายตอนนั้นใช่ระบบสอบสัมภาษณ์ตรงจังหวัดจันทบุรีรับอำเภอละ 1คนยกเว้นเมืองรับ 2คน กติกาสมัครแล้วฝึกงาน10วันโรงพยาบาลที่เขากำหนดแล้วยื่นคะแนนเอนทรานซ์ ตอนนั้นมาฝึกทั้งพยาบาลและสาธารณสุขรวม20คน ฝึก3วันเหลือ 15สุดท้ายเหลือประมาณ7-8คน พี่ให้ทำงาน ERได้ดูแผลตาฉีกอุบัติเหตุ แผลเบาหวาน สวนอุจจาระเพียบเห็นเลือดแล้วตื่นเต้นกินข้าวได้น้อยลง(ฝึก10วันน้ำหนักลดอย่างน้อย3กิโล)มีการบ้านด้วย OPDง่ายก็หาบัตรมีเทคนิคหา IPDฝึกทำPlan ซักประวัติผู้ป่วยรับใหม่หัดเขียนข้อมูลอาการสำคัญ ประวัติเจ็บป่วยทำเย็นส่งเช้าก่อนเที่ยงสนุกนะแต่เครียด จากนั้นก็สอบสัมภาษณ์ เราติด1ใน3 เข้าสัมภาษณ์เจอการแก่งแย่งด้วยเพราะเพื่อนที่ฝึกมาด้วยกันเขาไม่พูดด้วยไม่รู้สาเหตุแถมญาติเขายังมาพูดอีกว่าเรานะเรียนมหิดลได้น่าจะไปเรียน(อ้าวฉันไม่ได้เลือกคณะนั้นนี่ มันเลยกำหนดมาแล้วจะพูดเพือ่อะไร) ฉันก็ไม่ได้ทำอะไรผิดทำไมไม่คุยกันล่ะงง เข้าไปสัมภาษณ์อาจารย์ผอ.วิทยาลัย ผอ.พระปกเกล้า รองนายแพทย์สสจ.อาจารย์โรงเรียนต่างๆอีกประมาณ3-4โรงเรียน ผู้เข้าสัมภาษณ์3คน อาจารย์จะถามน่าจะดูความตั้งใจนะ เช่นจะเรียนได้หรือ จะทนได้ไหมกับความลำบาก(คิดว่าเล็กน้อยบ้านฉันเลี้ยงมาให้ดูแลตนเอง ง่ายๆ อาจารย์ก็ถามไปเรื่อยๆ ฉันจำได้แค่ว่าโอกาสเป็นของทุกคนเราเป็นคนเลือกโอกาสไม่ใช่รอโอกาส และคนอื่นเรียนได้ทำไมฉันจะเรียนไม่ได้)คิดแค่นี้แล้วก็ได้มาเรียน พอรู้ว่าได้เรียนป้าถามเลยว่าอยากเรียนเหรอ เปล่า อยากเรียนพฤกษศาสตร์ม.เกษตร ป้าบอกส่งเรียนเอาไหมขออย่างเดียวอย่าเรียนเลย เห็นพี่สาวทรมานเป็นเดือนร้องไห้ทุกวันเลยเครียด เลยบอกป้าว่าขนาดเจ๊ยังเรียนจนจบเลยแล้วทำไมเราจะเรียนไม่ได้ คงไม่ถึงตายหรอก ป้าบอกจะเปลี่ยนใจก็บอกป้าจะส่งเรียน 4ปีเลย วันแรกเข้ามาที่นี่น้าก็สอนให้เดินรางน้ำไม่เข้าใจแต่ก็ทำ มาถึงพี่ก็ดุให้ทำอะไรก็ไม่รู้ต๊องๆไม่เคยทำ (คิดแค่ว่าคนอื่นเรียนได้ทำไมเราจะทำไม่ได้ สอนตัวเองอย่างนี้มาตลอด)ช่วงแรกหนักนะเป็นหัวหน้าห้องทำทุกอย่างตั้งแต่เชคชื่อถึงเป็นผู้ประสานงานทุกวิชาทุกการสอบ ทำเองหมดเพราะใช้ใครไม่เป็นเรียนด้วยทำงานหัวหน้าห้องด้วยทำไปได้ต้องปรับตัวเรื่องการเรียนด้วยตั้งใจเรียนในห้อง จากเกรดเฉลี่ยดีๆ1ใน50ของโรงเรียนมาที่นี่ก็ร่วงเหมือนกันจนมาปี2อาจารย์ที่ปรึกษาเปลี่ยนจากแบบกลุ่มอาจารย์ประจำชั้นเป็นอาจารย์ทุกท่านในวิทยาลัยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษามีอาจารย์ประจำชั้นต่างหากเหมือนตอนนี้ อาจารย์เคยถามว่าอยากได้รางวัลเรียนดี(เกียรตินิยมฝากแม่ไหม)โอ้โหมันยากนะเกรดห่างความฝันเยอะมาก อาจารย์ให้ลองเขียนเกรดที่คาดหวังตอนนั้นคิดว่าทำไม่ได้แต่เกรดขึ้นนะแต่นิดเดียว พอดีปี3เข้าอบรมคุณธรรมกับเพือน(เข้าไปแล้วปี1ครั้งนึงเป็นรุ่นเก็บตกเพื่อนที่เข้าไม่ได้มาเข้าตอนก่อนขึ้นปี3)หลังจากนั้นก็ไปช่วยพระอาจารย์ฝึกอบรมทุกเสาร์อาทิตย์ไม่ได้กลับบ้านให้แม่เอาขนมเอาของมาให้ที่วัดตลอดจนมีคนถามแม่ว่าทำไมปล่อยลูกเข้าวัด แม่บอกว่าก็ลูกมาทำดี แล้วเข้าวัดก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรลูกมาแล้วสบายใจแม่เลยไม่ว่าดีกว่าหนีเที่ยวแล้วไม่บอกพ่อแม่ แม่ก็ปล่อยให้เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงที่ค่ายคุณธรรมจนวันหนึ่งมีเพื่อนที่เราชวนไปเป็นพี่เลี้ยง(ค่ายแรก 20คนทำไปทำมาเหลือ3-4คน)เขามาพูดกับเพื่อนเลยนะว่าไปทำค่ายกับพระอาจารย์แล้วเขาสอบตก ที่เขาไปเพราะเห็นเราไม่มีเพื่อนไป โหพูดแบบนี้เสียเลยเราคิดว่าเขาชอบพอไปแล้วมาพูดแบบนี้เซ็งเลย เกิดแรงสู้เลยฉันจะพิสูจน์ว่าทำค่ายแล้วเรียนไม่ตกด้วย ก็เลยไปคนเดียว(ตอนหลังมีเพือนไปบ้าง1-2คนบางครั้งแต่คนนั้นเราไม่ชวนแล้ว)ก็ตื่นตี5ทำงานเข้านอนก็ประมาณตี1กลับมาเรียนจันทร์ถึงศุกร์ ขึ้นตึกทำแบบนี้มาตลอดแค่คิดว่าจะไม่เรียนวิชานั้นตกเพื่อพิสูจน์ว่า เรียนดีไม่ดีอยู่ที่เราไม่ต้องโทษคนอื่น กลับเป็นว่าการเรียนพุ่งขึ้นตลอดเวลาก็ยังไปค่ายยกเว้นขึ้นเวร จากคนที่เคยขอความช่วยเหลือให้เพื่อนคนนั้นติวแต่เขาบอกว่าไม่ว่างตอนนี้เขากลับมาให้เราติวให้ เราก็ติวให้เขานะยิ่งเราให้เราก็จะได้กลับมาไม่ได้เสียอะไรจนตอนนี้เราต้องขอบคุณทุกคำดูถูกคำบ่นที่ทำให้เรามีแรงสู้ และอาจารย์ทุกท่านที่คอยสอนมาจนทุกวันนี้เราไม่เคยมองว่าอาจารย์คนนั้นดีไม่ดีเพราะทุกคนมีดีต่างกันแล้วแต่คุณจะเลือกมองทุกคนมีเหตุและผลลองหาเหตุผลหรือฟังเขาก่อน บางครั้งเขาสอนโดยไม่มีเวลาอธิบายเหตุผลให้คุณฟัง จำไว้ว่า คนรักกันเขาจะเตือนกัน คนไม่รักกันเขาจะไม่ยุ่งกับคุณ
สำหรับน้องใหม่อยากบอกว่าทุกสิ่งที่พี่เขาให้ทำเขาต้องการฝึกความอดทนของคุณ ทุกเสียงที่เขาให้เปล่งอย่างดังเขาต้องการการสื่อสารที่ชัดเจนจากคุณที่พูดดังอย่างไรคนฟังที่ไม่รู้จักคุณจะไม่คิดว่าคุณตะคอกโดยเฉพาะผู้ป่วยและญาติ และหากมีเหตุการฉุกเฉินเช่นช่วงวิกฤติชีวิตของผู้ป่วยคุณสื่อสารไม่ชัดเจนมีผลต่อการรักษาผู้ป่วยคือชีวิตทุกวินาที เรื่องตรงเวลาเช่นกันหากคุณไปช้าแม้แต่วินาทีเดียวผู้ป่วยเขารอคุณไม่ได้ ให้คุณลองหาคำตอบให้ตัวเองแล้วคุณจะรู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร ทุกการกระทำมีเหตุผลคุณลองหาเหตุผลหรือยัง

Tags: ,

เรื่องเล่าจากการประชุม R 2 R ปี 2553

                จากการเข้าร่วมประชุม R 2 R ระหว่างวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมานี้ มีเรื่องที่ได้ฟัง ได้อ่านแล้วอยากเล่าต่อให้ผู้ที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ซึ่งคงเป็นส่วนเสี้ยวเดียวเท่านั้น

                ในฐานะที่เป็นวิทยากรและพี่เลี้ยงให้กับบุคลากรสาธารณสุข ในการทำวิจัย R 2 R อย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา เมื่อมาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ คิดว่าได้เรียนรู้อย่างมาก และยังมีอะไรที่น่าทำต่อไปอีกมากมาย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้มีกระบวนการพัฒนาคน และพัฒนางานอย่างมั่นคง ยั่งยืน ท่ามกลางความหนักหน่วงในภารกิจเฉพาะหน้า ที่แต่ละคนมีอยู่  แต่อย่างไรก็ตาม การทำงานอย่างมีความสุข ก่อให้เกิดปัญญา และมีความก้าวหน้าทั้งคนทั้งงานก็ยังเป็นความฝันที่เป็นจริงได้

                การได้ฟังการบรรยาย จากปรมาจารย์ เช่น ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ทำให้คนฟังเห็นว่าโดยกระบวนการ R 2 R สามารถเปลี่ยนงานประจำที่หนัก ที่น่าเบื่อ เป็นงานที่สนุก และสามารถดึงศักยภาพในตัวและทีมคนทำงานออกมาได้ ประกอบกับการได้รับฟังการนำเสนอผลงานของคนทำงานกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายสนับสนุน เช่น คุณอำนวย ฉางแก้ว หน่วยงานซ่อมบำรุง โรงพยาบาลหาดใหญ่ ซึ่งมีวิธีการนำเสนอที่น่ารักมากๆ และคุณชำนาญ เอกวิไล หน่วยรักษาความปลอดภัย  (รปภ.) โรงพยาบาลศิริราช  ยิ่งตอกย้ำความเชื่อเดิมของตัวเองว่า ใครๆก็ทำวิจัยได้ เพียงแค่มีใจที่จะทำ ทุกอย่างก็จะตามมาเอง ตั้งแต่การตั้งคำถามวิจัย การเก็บข้อมูลที่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการและเครื่องมือการเก็บ เพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการ ไปจนเสร็จสิ้น

                นอกจากนั้น การร่วมประชุมครั้งนี้ ยังได้ฟังประเด็นสำคัญจาก นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ที่กล่าวถึง “การเรียนรู้ แบบมั่วๆ” (ไปก่อน) เพราะจากประสบการณ์ในการทำงานในปัจจุบัน มีหลายครั้งที่เราไม่สามารถ กำหนดแผน หรือรูปแบบการทำงานที่ชัดเจนล่วงหน้าได้ ซึ่งเป็นผลให้คนจำนวนมากไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำไป เรียนรู้ไป การทำงานในลักษณะนี้ ให้ผลเกินคุ้มค่าสำหรับผู้ที่ใฝ่รู้ ทำให้เรารู้สึกถึงความฉลาดขึ้น ไม่ว่าผลงานจะออกมาอย่างไร มันก็จะเป็นฐานสำหรับการทำงานลักษณะเดียวกันได้  ทำให้รู้สึกว่าอย่างน้อยก็มีจุดเริ่มต้นแล้ว ก้าวต่อไปก็ง่ายขึ้น เสี่ยงน้อยลง

                ในการประชุมครั้งนี้ บุคคลสำคัญที่ขาดไม่ได้อีกท่านหนึ่ง  คือ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ซึ่งร่วมสนทนาใน session ต่างๆ   อย่างที่เราทราบกันดีว่า อาจารย์โกมาตร เป็นนักปฏิบัติ นักคิด นักเขียน และนักพูด ที่มีความสามารถอย่างหาคู่เทียบได้ยาก  อาจารย์ได้สรุปถึง คุณค่าของการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งรู้สึกเห็นด้วยอย่างมากว่า เป็นการช่วยให้เรามีช่องว่างสำหรับการคิด เป็นช่วงให้เราได้หายใจ พลิกฟื้นความคิดสร้างสรรค์ ในการทำงาน ต่ออุดมการณ์ในการทำงานให้ยืนยาว ดังนั้น จึงขอเสนอแนะว่าสำหรับผู้ที่รู้สึกว่ากำลังหมดมุขในการพัฒนางาน พัฒนาตนเอง ก็น่าจะลองเข้าไปหาอาหารสมองเพิ่มจากสาระการประชุมครั้งนี้ในเวปไซด์ ของ สวรส.  นอกจากนั้น ในบางช่วงบางตอน อาจารย์โกมาตร ยังได้พูดถึงสังคมปรนัย ที่จำกัดความหลากหลายและการสร้างสรรค์ความรู้ใหม่  ถ้าใครสนใจก็สามารถอ่านหนังสือสังคมปรนัยของอาจารย์เพิ่มเติมได้

                สาระสุดท้ายที่ขอฝากไว้ตรงนี้ คือ ผลตอบแทนของการวิจัยที่แท้จริง คือ การที่เราทำวิจัยแล้วฉลาดขึ้น ถ้าใครทำวิจัยแล้วรู้สึกว่าฉลาดเท่าเดิม ก็ลองทำเรื่องใหม่ต่อไป ทำไปเรื่อยๆ ต้องฉลาดขึ้นแน่ๆ

Tags: , , ,

สรุปประเด็นสำคัญการเตรียมนักศึกษา ปี 4 สอบสภาฯ ของฝ่ายวิชาการ ปีการศึกษา 2551-2552

1. การชี้แจง (ย้ำเตือน) นักศึกษา ตั้งแต่เปิดภาคเรียน ถึงความสำคัญ การกำหนดเป้าหมาย และการหาวิธีการร่วมกันของอาจารย์และนักศึกษาในการเตรียมสอบสภาฯ

2.  การจัดกิจกรรมเตรียมสอบสภาฯ หลังจากที่นักศึกษาเรียนครบทุกวิชาตามที่หลักสูตรกำหนด

      2.1 การจัด Elective ให้นักศึกษาได้ฝึกทั้งทักษะปฏิบัติการพยาบาล และการทบทวนความรู้ โดยเลือกแหล่งฝึกที่มีพยาบาลพี่เลี้ยงช่วยสอนให้ได้ เช่น หอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม ศัลยกรรม และอุบัติเหตุ ในโรงพยาบาลศูนย์ โดยกำหนดให้มีการ conference case study และ conference ประจำวันตลอดการฝึก

     2.2 การจัดกิจกรรมสอนเสริม

               - ทำ Focus group นักศึกษาปี 4โดยแยกตาม GPA แบ่งเป็น กลุ่มเก่ง กลุ่มปานกลาง และกลุ่มอ่อน กลุ่มละประมาณ 10 คน เพื่อสร้างความตระหนักในการเอาจริงเอาจังแก่นักศึกษาในการเตรียมสอบ และเพื่อให้อาจารย์ได้รู้ความต้องการของนักศึกษาแต่ละกลุ่ม รวมทั้งเป็นการปรับความคิดของอาจารย์และนักศึกษาให้ไปในทิศทางเดียวกัน

               -  แบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละ 8-10 คน โดยคละนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี ปานกลาง และอ่อน เพื่อให้มีการช่วยเหลือกัน สำหรับการติว และทำข้อสอบเป็นกลุ่มย่อย รวมทั้งช่วยติดตามสมาชิกในกลุ่มเมื่อขาดหาย ในระหว่างการติว  นอกจากนั้นในช่วงท้ายของการติวและสอบหลายครั้งแล้ว เมื่อพบว่ามีนักศึกษาบางคนยังมีผลการสอบไม่ผ่านเกณฑ์ ต้องจัดสอนเสริม เพิ่มเติมจากการติวปกติ

               -  การให้นักศึกษาฝึกทำข้อสอบทั้ง 8 รายวิชา ทั้งเป็นรายบุคคลและรายกลุ่ม ให้มากที่สุด (ควรมากกว่า 5 รอบ โดยใช้ข้อสอบที่หลากหลาย)โดยแต่ละครั้ง อาจารย์ผู้รับผิดชอบวิชาต้องมีการเฉลยคำตอบ  แนวการคิดหาคำตอบที่ถูกต้อง และการตัดตัวลวงที่ไม่ถูกต้อง

               - การติวแบบ concept ในหัวข้อต่างๆ ในชั้นเรียน ตามที่นักศึกษาเสนอ ในช่วงหลังการสอบเครือข่าย และมหาวิทยาลัยบูรพา และพบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหานั้นๆ (ทำข้อสอบไม่ค่อยได้) เพื่อเสริมความรู้ในลักษณะการนำ concept ไปใช้ตอบข้อสอบให้ชัดเจนขึ้น

               - การมอบหมายให้นักศึกษาอ่านหนังสือเองตาม Blueprint ของรายวิชา และให้สรุปประเด็นสำคัญมาส่งอาจารย์ เพื่อตรวจสอบว่านักศึกษาได้ทบทวนจริง และคืนให้กับนักศึกษาเพื่อเอาไว้อ่านทบทวน

               -  การจัดตารางติว/ทำข้อสอบแต่ละรายวิชาให้สมดุลกับเนื้อหาวิชา โดยมีรายชื่ออาจารย์ผู้รับผิดชอบ/ผู้สอนและนักศึกษาผู้รับผิดชอบประสานงานกับอาจารย์ แต่ละรายวิชา

               -  การตรวจสอบการเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษา โดยวิธีการต่างๆ เช่น การให้นักศึกษาเซ็นชื่อเมื่อเข้าห้องเรียนและเข้ากลุ่มย่อยทุกครั้ง การให้นักศึกษาสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ในแต่ละครั้ง หลังการทำข้อสอบร่วมกันกับเพื่อนเป็นกลุ่มย่อย

3.  การสังเกตกระบวนการกลุ่มและรับฟัง feedback จากนักศึกษาและอาจารย์ผู้สอน เพราะในช่วงท้ายๆ ของการติว นักศึกษาส่วนใหญ่มักรู้สึกเบื่อและตั้งใจอ่านหนังสือน้อยลง การเข้าพบนักศึกษาโดยฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการ หรือรุ่นพี่ที่ผ่านการสอบไปแล้ว ช่วยกระตุ้นให้นักศึกษากลับมาตั้งใจอ่านหนังสือต่อไปได้ 

4.  การแนะนำและให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติการคลายเครียดทั้งระหว่างการเตรียมตัวสอบ  ก่อนวันสอบ และขณะทำข้อสอบ จากการเก็บข้อมูลพบว่านักศึกษาที่มีผลการเรียนดีมากบางสอบไม่ผ่าน 8 รายวิชา นักศึกษาให้ข้อมูลว่า การจัดการกับความเครียดระหว่างการสอบมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่อทำข้อสอบบางวิชาไม่ได้ ถ้าจัดการกับความกังวลไม่ได้จะมีผลกับการมีสมาธิในการทำข้อสอบในวิชาต่อไป

5.  การสนับสนุนเอกสาร หนังสือ ตำรา สาระทบทวน และข้อสอบสำหรับให้นักศึกษาฝึกหัดทำให้มากที่สุด และจัดให้มีอาจารย์เฉลยข้อสอบทุกครั้ง

6.  การกระตุ้นนักศึกษาให้มีขวัญกำลังใจและความมุ่งมั่นในการเตรียมสอบ เช่น การให้รางวัลถ้านักศึกษาสอบผ่าน 8 รายวิชา คิดเป็นร้อยละตามเป้าหมายที่นักศึกษาและวิทยาลัยร่วมกันกำหนด และการพูดคุยกับนักศึกษาเป็นรายบุคคลโดยอาจารย์ที่ปรึกษา

7.  การช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกในการติดต่อเรื่องที่พัก และการเดินทาง

 

ผู้บันทึก: อาจารย์มัณฑนา เหมชะญาติ

20 เมษายน 2553

Tags: , , , ,