วิธีการสอนต่างๆ ในวิชาวิจัยทางการพยาบาล
วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี
วิจัยในชั้นเรียน วิชา พย. 1329 วิจัยทางการพยาบาล
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 3 ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2553
เรื่อง วิธีการสอนต่างๆ ในวิชาวิจัยทางการพยาบาล
โดย มัณฑนา เหมชะญาติ, RN, PhD.
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
การเรียนการสอนภาคทฤษฎีในชั้นเรียน อาจารย์ผู้สอนต้องใช้วิธีการสอนที่หลากหลายเพื่อให้นักศึกษามีความสนใจในเนื้อหา ไม่เบื่อหน่าย และเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนในแต่ละเรื่องนั้น สำหรับวิชา พย. 1329 การวิจัยทางการพยาบาล เป็นรายวิชาที่มีเนื้อหามากสำหรับการเรียนการสอนภาคทฤษฎี จำนวน 2 หน่วยกิต และนักศึกษาต้องมีความรู้ความเข้าใจภาคทฤษฎีก่อนการฝึกทำวิจัยในภาคทดลอง
ในการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตชั้นปีที่ 3 ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2553 นี้ อาจารย์ผู้สอนภาคทฤษฎี ได้มีเลือกใช้วิธีการสอนที่หลากหลายแทนการบรรยาย เพราะพบว่านักศึกษาจำนวนไม่น้อยหลับในขณะที่มีการเรียนการสอน และเมื่อเสร็จสิ้นการสอนแล้วได้มีการติดตามผลการเรียนรู้ตามการรับรู้ของนักศึกษา เพื่อการนำผลการศึกษาครั้งนี้ไปปรับปรุงการเรียนการสอนภาคทฤษฎีต่อไป
วัตถุประสงค์
- เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีความตื่นตัวในการเรียนรู้และไม่หลับในขณะเรียน
- เพื่อฝึกทักษะการอ่านแก่นักศึกษา
วิธีดำเนินการ
- จัดทำเอกสารประกอบการสอนทุกหัวข้อที่สอน
- ดำเนินการสอนตามตารางเรียนด้วยวิธีการสอนที่หลากหลายต่อไปนี้
วิธีที่ 1 สอนโดยการบรรยายและทำแบบฝึกหัด ในหัวข้อเรื่องการเลือกกลุ่มตัวอย่าง
วิธีที่ 2 สอนโดยให้นักศึกษาอ่านเอกสารประกอบการสอน และสรุปสาระสำคัญในเวลาที่กำหนด ในหัวข้อเรื่อง เครื่องมือวิจัย
วิธีที่ 3 สอนโดยให้นักศึกษาอ่านเอกสารประกอบการสอน แล้วตั้งคำถามเอง พร้อมตอบคำถามดังกล่าว ในหัวข้อเรื่อง การเก็บรวบรวมข้อมูล
วิธีที่ 4 สอนโดยครูตั้งคำถามให้นักศึกษาหาตอบคำถามจากเอกสารประกอบการสอน ในหัวข้อเรื่อง การเขียนโครงร่างงานวิจัย
วิธีที่ 5 สอนโดยครูตั้งหัวข้อให้นักศึกษาค้นคว้าจากรายงานวิจัย (ฉบับจริง) ประกอบกับเอกสารประกอบการสอน ในหัวข้อเรื่อง การเขียนรายงานวิจัย
โดยการเรียนการสอนในแต่ละครั้ง นักศึกษาได้รับมอบหมายงานเป็นรายบุคคล และส่งชิ้นงาน เมื่อในท้ายชั่วโมงที่เรียน อาจารย์ผู้สอนสรุปสาระสำคัญของเนื้อหาในแต่ละเรื่อง แล้วตรวจงาน พร้อมให้ข้อเสนอแนะ และคืนให้กับนักศึกษาในการเรียนครั้งต่อมา
3. เก็บรวบรวมข้อมูลประเมินผลการเรียนรู้จากนักศึกษา โดยใช้แบบสอบถามซึ่งมีลักษณะเป็น Rating scale 5 ระดับ (1 = น้อยที่สุด และ 5 = มากที่สุด) โดยให้ความหมายของการเรียนรู้ว่า หมายถึง การที่นักศึกษาเกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระ และมีแนวคิดที่จะนำไปใช้ได้ รวมทั้งสามารถ/ความมั่นใจในทำข้อสอบได้
4. สรุปผลการศึกษาและเขียนรายงาน
ผลการศึกษา
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลมีดังนี้
ตารางที่ 1. ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของคะแนนการเรียนรู้จากการเรียนการสอนด้วยวิธีการต่างๆ ตามการรับรู้ของนักศึกษา ในวิชาการวิจัยทางการพยาบาล (n = 63)
วิธีการสอน | ค่าเฉลี่ย | ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน | การแปลค่าระดับคะแนนการเรียนรู้ | อันดับที่ของคะแนนเฉลี่ย |
วิธีที่ 1 | 4.19 | 0.59 | มาก | 3 |
วิธีที่ 2 | 4.31 | 0.58 | มาก | 1 |
วิธีที่ 3 | 4.02 | 0.67 | มาก | 5 |
วิธีที่ 4 | 4.20 | 0.59 | มาก | 2 |
วิธีที่ 5 | 4.16 | 0.64 | มาก | 4 |
จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า นักศึกษามีการรับรู้ว่า เกิดการเรียนรู้อยู่ในนะดับมากจากการเรียนการสอนทั้ง 5 วิธี โดยมีค่าเฉลี่ยของคะแนนการเรียนรู้ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ การเรียนการสอนด้วยการให้นักศึกษาอ่านเอกสารประกอบการสอน และสรุปสาระสำคัญในเวลาที่กำหนด ในหัวข้อเรื่อง เครื่องมือวิจัย มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ การเรียนการสอนโดยครูตั้งหัวข้อให้นักศึกษาหาตอบคำถามจากเอกสารประกอบการสอน ในหัวข้อเรื่อง การเขียนโครงร่างงานวิจัย และการเรียนการสอนโดยการบรรยายและทำแบบฝึกหัด ในหัวข้อเรื่องการเลือกกลุ่มตัวอย่าง ตามลำดับ สำหรับการเรียนการสอนโดยให้นักศึกษาอ่านเอกสารประกอบการสอน แล้วตั้งคำถามเอง พร้อมตอบคำถามดังกล่าว ในหัวข้อเรื่อง การเก็บรวบรวมข้อมูล มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด
การสรุปและอภิปรายผล
จากการทำวิจัยในชั้นเรียนในครั้งนี้ อาจสรุปได้ว่า การเรียนการสอนด้วยวิธีการต่างๆ ช่วยให้นักศึกษามีการเรียนรู้อยู่ในระดับดี แต่อย่างไรก็ตามนักศึกษา มีความเห็นว่าวิธีการสอนที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์ เช่น การตั้งคำถามเองและคำตอบคำถามดังกล่าว รวมทั้งการตอบประเด็นคำถามโดยอ่านจากรายงานวิจัยฉบับจริง เป็นวิธีการที่เรียนรู้ได้น้อยกว่า วิธีการสอนโดยการสรุปประเด็นสำคัญจากเอกสารประกอบการสอน และการบรรยาย ซึ่งอาจเป็นเพราะนักศึกษาคุ้นเคยกับการเรียนการสอนที่อาจารย์เป็นผู้ให้และนักศึกษาฝ่ายรับ มากกว่าการเรียนการสอนที่กระตุ้นให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์มากขึ้น อย่างไรก็ดี การเรียนการสอนด้วยวิธีการต่างๆ ยกเว้นการบรรยาย ไม่มีนักศึกษาคนใดหลับในชั้นเรียน เพราะต้องอ่านเอกสารประกอบการสอนและทำงานที่ได้รับมอบหมายแต่ละครั้งในแล้วเสร็จ
ข้อเสนอแนะจากการทำวิจัยในครั้งนี้
1. การเรียนการสอนในรายวิชาที่มีเนื้อหามาก อาจารย์ผู้สอนควรจัดทำเอกสารประกอบการสอน หรือกำหนดหนังสือประกอบการสอนที่นักศึกษาต้องมีและใช้ประกอบการเรียนการสอน เพื่อที่จะสามารถสอนได้อย่างครอบคลุมเนื้อหาสาระ โดยอาจารย์ผู้สอนควรใช้วิธีการกระตุ้นให้นักศึกษาอ่านหนังสือให้มากขึ้น เนื่องจาก ในการศึกษาครั้งนี้พบว่านักศึกษาบางคนอ่านหนังสือช้ามากเมื่อเทียบกับเพื่อนในชั้นเรียน
2. การเรียนการสอนโดยวิธีการที่หลากหลายมีความจำเป็น เพราะนักศึกษามีความสนใจกับการเรียน เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ การสอนโดยการบรรยาย เป็นวิธีการที่นักศึกษามีส่วนร่วมน้อยและมักหลับโดยเฉพาะในช่วงบ่าย ดังนั้น อาจารย์ผู้สอนจึงควรเลือกใช้วิธีการอื่นๆ ร่วมด้วย
3. การตรวจชิ้นงานและให้ข้อเสนอแนะให้นักศึกษาทราบ ก่อนการเรียนครั้งต่อไป เป็นการกระตุ้นที่ดีให้นักศึกษาตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมาย ถึงแม้งานดังกล่าวนี้จะไม่มีการประเมินผลแบบให้คะแนน ฉะนั้น อาจารย์ผู้สอนจึงควร ตรวจงานและคืนให้นักศึกษาโดยไม่ทิ้งระยะห่างจากเวลาที่เรียนมากเกินไป
4. การมอบหมายชิ้นงาน ในชั้นเรียน ควรให้เวลาที่เหมาะสม คือไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เมื่อมอบหมายงานแล้ว อาจารย์ควรอยู่ในชั้นเรียน เพื่อสังเกตพฤติกรรมการทำงานของนักศึกษาแต่ละคน พร้อมทั้งมีการตรวจสอบจำนวนชิ้นงานของนักศึกษาเป็นรายบุคคล เพื่อที่จะได้ทราบ ถ้ามีนักศึกษาบางคนไม่ส่งชิ้นงาน เมื่อหมดเวลาในห้องเรียน ถ้าพบว่านักศึกษาบางคนไม่ส่งงานควรพบและพูดคุยถึงเหตุผลของนักศึกษา เพื่อการแก้ไขและช่วยเหลือนักศึกษาเฉพาะรายต่อไป
โอ้โห ออกมาเป็นงานวิจัยด้วยนะเนี่ย
แต่ไม่กล้าหลับจริง ๆ นะวิชานี้ มันยากจริง ๆ
เคยมีที่ว่าอ่านเอง นั่งทำงานไปเขียนไปแบบมึน ๆ
จะหลับตอนเขียนนี่แหละ แต่ก็รอดมาได้ด้วยดี มีงานส่ง เสร็จทัน
แถมได้อาจารย์คณิสรผู้ใจดีช่วยไว้แท้ ๆ อาจารย์น่ารักมากขอรับ
ขอบคุณอาจารย์ทั้งสองท่านมาก ๆ เลย
ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ สอบผ่านคร้าบผม….55