การป้องกันภาวะตัวเย็นในทารกแรกเกิด

โครงการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยและวิชาการร่วมกับแหล่งฝึก

ระหว่างวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี  และกลุ่มการพยาบาล  โรงพยาบาลพระปกเกล้า

ครั้งที่  ๗ วันที่  ๒๔ กรกฎาคม  ๒๕๕๕  เวลา ๑๓:๓๐-๑๖:๐๐ น.

ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์  วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี

 

เรื่อง    การป้องกันภาวะตัวเย็นในทารกแรกเกิด

วิทยากร    อาจารย์จริยาพร  วรรณโชติ  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี

คุณจินตนา  สายทอง  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หอผู้ป่วยเด็กทารกแรกเกิด โรงพยาบาลพระปกเกล้า

คุณจอมขวัญ  เนรัญชร  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ  งานเวชปฏิบัติครอบครัว โรงพยาบาลมะขาม

ผู้เข้าร่วมประชุม  จากวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี  จำนวน  ๓๐  คน

จากโรงพยาบาลพระปกเกล้า  ๘  คน

รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด   ๓๘  คน

สรุปสาระการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

          สรุปประเด็นสำคัญจากการนำเสนอของอาจารย์จริยาพร  วรรณโชติ

ภาวะตัวเย็น (อุณหภูมิกายต่ำ) ในทารกแรกเกิด (Neonatal  Hypothermia) หากอุณหภูมิต่ำกว่า ๓๖.๕ องศาเซลเซียส  จะเริ่มมีกลไกของร่างกายผิดปกติ  อาจเกิดอันตรายแก่ทารกได้

ภาวะตัวเย็นมีผลต่อร่างกายดังนี้  ความต้องการการใช้ออกซิเจนเพิ่มขึ้น  การผลิตสาร surfactant ลดลง การหายใจผิดปกติ  น้ำตาลในเลือดต่ำ   เลือดเป็นกรด  และเกิดภาวะตัวเหลือง

จากการศึกษาวิจัยพบว่า ทารกที่อยู่ในห้องคลอดถ้าไม่มีการป้องกันตัวเย็นภายใน ๒๕ นาทีจะเกิดภาวะตัวเย็น ทุกราย การวิจัยเปรียบเทียบระหว่างทารกแรกเกิดที่ใส่ถุงและหมวกก่อนเช็ดตัว  กับทารกแรกเกิดที่เช็ดตัวแล้วห่มผ้า  จากนั้นนำทารกทั้งสองกลุ่มใส่ในตู้ Incubator แล้ววัดอุณหภูมิ พบว่า กลุ่มที่ใส่ถุงและหมวกก่อนเช็ดตัวจะมีอุณหภูมิสูงกว่า  นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า ทารกที่ใส่เสื้อ ผ้าอ้อมที่อุ่น ห่อตัวด้วยโพลีเอทธิลีน ห่มผ้าแล้ววางใน crib กับทารกที่ใส่เสื้อ ผ้าอ้อมที่อุ่น วางใน crib ใต้ radiant warmer  แล้ววัดอุณหภูมิ พบว่าทั้งสองกลุ่มไม่มีภาวะตัวเย็น  แต่กลุ่มที่ใช้ radiant warmer  จะรักษาอุณหภูมิได้ดีกว่า

          สรุปประเด็นสำคัญจากการนำเสนอของคุณจินตนา  สายทอง 

          การป้องกันภาวะอุณหภูมิกายต่ำในโรงพยาบาลพระปกเกล้า มีดังนี้  เตรียมอุปกรณ์ต่างๆให้พร้อม รับผู้ป่วย  ประเมิน  ดูแลแรกรับ  ดูแลขณะอยู่ในหอผู้ป่วย  เตรียมความพร้อมก่อนกลับบ้าน  ดูแลขณะส่งต่อในการเตรียมอุปกรณ์ให้ความอบอุ่นแก่ทารก ปฏิบัติโดยมีข้อตกลงให้ผู้ที่จะส่งทารกมาให้โทรศัพท์แจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย ๑๕-๓๐ นาที ว่าจะส่งทารกที่มีลักษณะอย่างไร น้ำหนักเท่าไร  เพื่อจะได้เตรียมอุปกรณ์ได้เหมาะสม  ถ้าทารกน้ำหนักน้อยกว่า ๑,๖๐๐ กรัม เตรียม warm incubator set อุณหภูมิภายในตู้ ๓๕ องศาเซลเซียส  ถ้าหนักมากกว่า ๑,๖๐๐ กรัม เตรียม crib, radiant warmer

อุณหภูมิกายทารกปกติคือ ๓๖.๘ – ๓๗.๒ องศาเซลเซียส แต่ถ้าพบว่า น้อยกว่า ๓๖.๘ ต้องระวังภาวะตัวเย็น การวัดปรอทนิยมวัดทางทวารหนักและทางรักแร้  ซึ่งต้องวัดให้ถูกวิธี

ข้อควรระวังในการวัดปรอททางทวารหนักคือ ถ้าวัดไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อลำไส้ใหญ่ที่อาจทะลุได้   และถ้าวัดบ่อยครั้ง อาจทำให้เกิดระคายเคืองต่อรูก้น มีผลให้ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดได้ ส่วนข้อควรระวังในการวัดปรอททางรักแร้ คือ  การใส่กระเปาะปรอทไม่อยู่กลางรักแร้  และขณะวัดแขนทารกไม่อยู่ชิดลำตัว  ทำให้ผลของการวัดอุณหภูมิได้ค่าต่ำกว่าที่เป็นจริง

วิธีปฏิบัติไม่ให้ทารกอุณหภูมิกายต่ำมีดังนี้

๑.      ต้องควบคุมอุณหภูมิกายให้ได้ ๓๖.๘-๓๗.๒ องศาเซลเซียส

๒.      ให้ทารกนอนในตำแหน่งที่เครื่องทำความเย็นไม่พัดผ่าน

๓.      ควบคุมอุณหภูมิห้องที่ ๒๘-๓๐ องศาเซลเซียส

๔.      ทารกคลอดก่อนกำหนดน้ำหนักน้อยกว่า ๑,๖๐๐ กรัม on incubator  set อุณหภูมิตู้ ตาม Thermal  neutral environment ของตู้ชนิดนั้น จะนำทารกออกจากตู้ได้ต่อเมื่ออุณหภูมิตู้อบใกล้เคียงอุณหภูมิห้อง

๕.      หากจำเป็นต้องนำทารกออกจากตู้เพื่อทำหัตถการ  ทารกต้องนอนภายใต้ radiant warmer

๖.      ทารกน้ำหนักน้อยกว่า ๑,๐๐๐ กรัม ป้องกันการสูญเสียความร้อนโดยใช้ Tegaderm ปิดบนผิวหนังทารก

๗.      ทารกคลอดครบกำหนดที่นอนใน crib ให้ห่มผ้าอ้อม ๑ ผืนและห่มผ้าขนหนู ๑ ผืน

๘.      การอาบน้ำจะทำเมื่อทารกหายใจปกติ  อุณหภูมิกายปกติมาตลอด  ใช้น้ำอุ่น ๓๗ องศาเซลเซียส  อาบน้ำและสระผมไม่เกิน ๕ นาที  ส่วนทารกที่อยู่ภายใต้ radiant warmer  เช็ดตัวน้ำอุ่น ๓๘-๓๙ องศาเซลเซียส เช็ดไม่เกิน ๕ นาที  ซึ่งรักแร้และก้นต้องเช็ดให้สะอาดเพราะรักแร้มีไขสะสมผิวหนังเปื่อยและเน่าได้  สำหรับก้น ถ้าไม่สะอาดจะเกิดเชื้อราได้

๙.      ดูแลไม่ให้ทารกนอนแช่อุจจาระปัสสาวะ ดูแลผิวหนังให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ

          สรุปประเด็นสำคัญจากการนำเสนอของคุณจอมขวัญ  เนรัญชร

คุณจอมขวัญ  เนรัญชร  อธิบายประสบการณ์การดูแลทารกเพื่อป้องกันภาวะอุณหภูมิกายต่ำว่า ในช่วงที่ปฏิบัติงานเป็นหัวหน้าห้องคลอด  โรงพยาบาลสอยดาว  ได้ประดิษฐ์นวัตกรรม incubator จิ๋ว เพื่อการป้องกันภาวะอุณหภูมิกายต่ำในทารกแรกเกิด อุปกรณ์การผลิตประกอบด้วย ผ้าพลาสติกโปร่งแสง (แบบหนา)  ซิบ  และผ้าเย็บริมขอบ โดยทำการเปรียบเทียบผลการใช้และไม่ใช้เสื้อ incubator จิ๋ว  เพื่อการป้องกันภาวะอุณหภูมิกายต่ำในทารกแรกเกิดระหว่างเดือนพ.ค. ๔๘ – ต.ค. ๔๘ พบว่า การใช้เสื้อ incubator จิ๋ว ช่วยลดอัตราการเกิดอุณหภูมิกายต่ำในทารกแรกเกิดได้  นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันภาวะอุณหภูมิกายต่ำในทารกขณะส่งต่อและเคลื่อนย้าย  ลดอัตราการใช้ incubator ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย  และลดผลกระทบด้านจิตใจของมารดาและญาติได้  โดยพบปัญหาในการใช้คือ  บางครั้งไม่ระบุเวลาการถอดออก ทำให้ทารกมีอุณหภูมิมากกว่า ๓๗.๕ องศาเซลเซียส จึงสรุปไม่ได้ว่าควรใช้ระยะเวลา เท่าไรที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะอุณหภูมิกายต่ำในทารกแรกเกิดได้ดีที่สุด

          สรุปประเด็นสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

-   การติดอุปกรณ์ตรวจสอบอุณหภูมิตามตัวทารก  ต้องระวังไม่ติดตำแหน่งกดทับและไม่ติดที่หน้าขา เพราะเมื่อนอนทับอยู่ทำให้อุณหภูมิเพิ่มและเกิดแผลกดทับได้   เมื่อทารกปัสสาวะรดหน้าขา  อุณหภูมิจะต่ำลงทั้งที่อุณหภูมิกายทารกไม่ต่ำได้  จึงควรติดบริเวณใต้ชายโครงซ้ายหรือขวาก็ได้

-   อาการแสดงชัดเจนที่ชัดเจนของทารกตัวเย็นคือ HR น้อยกว่า ๑๐๐ ครั้ง/นาที

-   กรณีเด็กใส่ tube  ถ้าไม่ได้เปิดหม้อน้ำที่ทำความชื้นจะทำให้เด็กตัวเย็นได้

-   การวัดอุณหภูมิเมื่ออยู่ตึกกุมารเวชกรรม ๔ จะวัดทางรักแร้  โดยไม่บวก ๐.๕ ยกเว้นไม่แน่ใจอุณหภูมิที่ได้  ถ้าหากเด็กไม่ถ่ายอุจจาระแต่ bowel  sound ดี  จะวัดทางทวารหนักเพื่อกระตุ้นการขับถ่ายอุจจาระ

-  กรณีเด็ก refer กำลังดำเนินการระบบ fast  tract  โดยเด็กที่ต้องใส่ tube จะไปส่งที่ PICU ได้เลย ทำเอกสารภายหลัง

-  การทำสะอาด incubator จิ๋ว  ทำได้โดยใช้สบู่และน้ำเช็ด

          แนวทางการนำผลการประชุมไปใช้จากการประชุมครั้งนี้

๑.   การสอนนักศึกษาพยาบาลควรเน้นหลักการสำคัญในการป้องกันภาวะตัวเย็นในทารกแรกเกิดเพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจและนำไปใช้ได้ดีขึ้นเมื่อฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาล

๒.   พยาบาลควรมีการนำผลวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันภาวะตัวเย็นในทารกแรกเกิดไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับหน่วยงานของตนเองต่อไป

อาจารย์รัชชนก  สิทธิเวช

ผู้บันทึกการประชุม

Print Friendly
ผู้เขียน อ.รัชชนก สิทธิเวช (ประวัติการเขียน 28 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล และบริหารวิชาชีพ


Tags: , , , , , ,

Comments are closed.