การดูแลสตรีติดเชื้อเอชไอวี

สรุปผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากคณาจารย์ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์

วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี

 เรื่อง “การดูแลสตรีติดเชื้อเอชไอวี ”

จัดโดยสมาคมอนามัยเจริญพันธุ์(ไทย) ร่วมกับฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ 4-5 เมษายน 2555 ณ โรงแรมมณเฑียรพัทยา จ.ชลบุรี

……………………………………………………………

ผู้เขียน  อ.ขนิษฐา  เมฆกมล

ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้   อ.ธนพร ศนีบุตร  อ.ทิพวรรณ ลิ้มประไพพงษ์  อ.จันทรมาศ เสาวรส              อ.เพ็ญนภา พิสัยพันธุ์  อ.จันทร์เพ็ญ อามพัฒน์  อ.อารีรัตน์ วิเชียรประภา  อ.จรัญญา ดีจะโปะ      อ.วรัญญา ชลธารกัมปนาท  อ.จารุวรรณ ท่าม่วง

สรุปผลรายงานการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

          งานอนามัยแม่และเด็กได้ตั้งเป้าหมายของการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกต้องเท่ากับศูนย์ ซึ่งประเทศไทยได้มีแนวทางการป้องกันการติดเชื้อ HIV จากมารดาสู่ทารก เรียกว่า Preventing Mother-to-child Transmission (PMTCT) of HIV ไว้ดังนี้

          1. ป้องกันการติดเชื้อ HIV ทั้งในปัจจุบันและอนาคตโดยการป้องกันผู้ชายได้รับเชื้อ HIV ป้องกันผู้หญิงจาก HIV และป้องกันวัยรุ่นได้รับเชื้อ HIV

          2.ป้องกันทารกจากการติดเชื้อ HIV

          3.ดูแลคู่สมรสที่ติดเชื้อ HIV ในการป้องกันการตั้งครรภ์

          4.ดูแล รักษาและป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรักษา

          ซึ่งในปัจจุบันได้มีหลักการดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ HIV โดยแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

กรณีหญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ไม่เคยได้รับยาต้านไวรัสใดๆมาก่อน ผลการตรวจเซลล์ CD4 มากกว่า 350 เซลล์ต่อไมโครลิตร ระยะตั้งครรภ์ ให้ ยา AZT +3TC+LPV/r โดยเริ่มรับประทานยาเมื่ออายุครรภ์ 14 สัปดาห์ เช้า เย็น ห่างกัน 12 ชั่วโมงจนเจ็บท้องคลอด ระยะคลอดเมื่อเริ่มเจ็บท้องคลอด รับประทานยาต้านไวรัส AZT เม็ดละ 300 มิลลิกรัมทุก 3 ชั่วโมง จนกระทั่งคลอด หรือ  AZT 600 มิลลิกรัม ครั้งเดียว      หลังคลอดให้หยุดรับประทานยาต้านไวรัส

กรณีหญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ ไม่เคยได้รับยาต้านไวรัสใด ๆ มาก่อน ผลการตรวจเซลล์ CD4      น้อยกว่าหรือเท่ากับ 350 เซลล์ต่อไมโครลิตร  ระยะตั้งครรภ์ ให้ ยา AZT +3TC+LPV/r โดยเริ่มรับประทานยาทันที เช้า-เย็น ห่างกัน 12 ชั่วโมง จนเจ็บท้องคลอด ระยะคลอด เมื่อเริ่มเจ็บท้องคลอดรับประทานยาต้านไวรัส AZT  เม็ดละ 300 มิลลิกรัมทุก 3 ชั่วโมง จนกระทั่งคลอด หรือ  AZT 600 มิลลิกรัม ครั้งเดียว หลังคลอดให้รับประทานยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์สูง (HAART) ต่อตามแนวทางการรักษาการติดเชื้อ เอชไอวีในผู้ใหญ่

          สำหรับเป้าหมายหลักของงานอนามัยแม่และเด็กในการป้องกันการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกให้เป็นศูนย์ มีหลักการที่สำคัญ คือ

          1. ต้องไม่มีสตรีที่ติดเชื้อ HIV

          2. สตรีที่ติดเชื้อ HIV ไม่เกิดการตั้งครรภ์

          3. กรณีหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ HIV มีแนวปฏิบัติ คือ จะต้องมาฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ มีการให้คำปรึกษาและการตรวจผลทางห้องปฏิบัติการ  ได้รับยาสูตร HARRT ตั้งแต่เริ่มแรก  มีการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด วางแผนผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องได้เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

          4. ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อ HIV ต้องให้นมผสม และได้รับการดูแลรักษาโดยทารกต้องได้รับ AZT ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด เริ่มการรักษาภายใน 6 สัปดาห์ถ้าสงสัยว่าทารกมีการติดเชื้อ HIV  ระวังการแพร่กระจายเชื้อ และมีการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง

          การวินิจฉัยการติดเชื้อ HIV ในทารก ปัจจุบันใช้การตรวจ PCR โดยตรวจครั้งแรกเมื่อทารกอายุ 1-2 เดือน หากผลเป็น positive ให้ตรวจซ้ำทันที ถ้าผลยังเป็นบวกให้วินิจฉัยว่าติดเชื้อ HIV หากผลเป็น negative ให้ตรวจซ้ำเมื่อทารกอายุ 4 เดือน ถ้าผลเป็น negative ให้วินิจฉัยว่าไม่ติดเชื้อ HIV แต่เมื่อเด็กอายุ 18 เดือน จะต้องตรวจ anti-HIV อีกครั้ง ถ้าผลเป็น negative แสดงว่าไม่ติดเชื้อ HIV แน่นอน

การวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิดในมารดาหลังคลอดที่ติดเชื้อ HIV  สามารถเลือกวิธีการคุมกำเนิดเหมือนคนปกติ ในกรณีที่มีการใช้ยาต้าน HIV (antiretroviral drugs) อาจจะเกิดปฏิกิริยากับฮอร์โมนคุมกำเนิดได้ ซึ่งอาจจะเสริมฤทธิ์หรือลดประสิทธิภาพซึ่งกันและกันเป็นได้ทั้งสองทาง ยาฉีด DMPA และยาฝังคุมกำเนิดน่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดเนื่องจากระดับฮอร์โมนในเลือดสูงกว่า ในสตรีที่ติดเชื้อ HIV และกำลังได้รับยา antiretroviral drugs ถ้าต้องการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนควรใช้ถุงยางอนามัยด้วยเสมอ เพื่อเป็นการเสริมประสิทธิภาพการคุมกำเนิดและเป็นการป้องกันการถ่ายเทเชื้อไปยังคู่เพศสัมพันธ์หรือรับเชื้อเพิ่ม การใช้ห่วงอนามัยเดิมเชื่อว่าทำให้เกิดการอักเสบภายในโพรงมดลูกและเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV แต่ผลการศึกษาไม่เป็นไปตามที่คาด สตรีที่ติดเชื้อ HIV สามารถใช้ห่วงอนามัยได้โดยมีการตรวจติดตาม โดยที่ต้องเฝ้าระวังอาการอุ้งเชิงกรานอักเสบ แต่ถ้าเกิดอาการของโรคเอดส์แล้วห้ามใช้ห่วงอนามัย ยาฆ่าเชื้ออสุจิห้ามใช้ในสตรีติดเชื้อ HIV เนื่องจากมีหลักฐานว่าสตรีติดเชื้อ HIV ที่ใช้ nonoxynol-9 เป็นประจำ มักเกิดแผลในช่องคลอดและอวัยวะเพศทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV  การคุมกำเนิดสำหรับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์เรียงลำดับตามความเหมาะสม คือ การทำหมันชายหรือหมันหญิง ยาฝังคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิด โดยต้องใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยลดการแพร่เชื้อและการติดเชื้อเพิ่ม

          การรักษาภาวะมีบุตรยากสำหรับคู่สมรสที่ติดเชื้อ HIV  และต้องการมีบุตร สามารถเลือก     แนวทางการรักษา ดังนี้

 

ชาย

หญิง

ทางเลือก

ไม่ติดเชื้อ HIV

ติดเชื้อ HIV

IUI

ติดเชื้อ HIV

ไม่ติดเชื้อ HIV

Sperm washing + ICSI

ติดเชื้อ HIV

ติดเชื้อ HIV

Sperm washing + IVF

          ซึ่งจากการวิจัยยังไม่พบการติดเชื้อในสตรีที่ได้รับการทำเทคนิคการช่วยเหลือการเจริญพันธุ์

          จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พบว่าในปัจจุบันเรามีมาตรการหลายๆอย่างที่สามารถลดอัตราการ    ติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกให้น้อยที่สุด แต่การป้องกันไม่ให้หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ HIV น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการทำให้อัตราการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกเท่ากับศูนย์

Print Friendly
ผู้เขียน อ.ขนิษฐา เมฆกมล (ประวัติการเขียน 7 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลมารดา ทารก และการผดุงครรภ์


Tags: , , , ,

Comments are closed.