เบาหวานกับงานวิจัย

โครงการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยและวิชาการร่วมกับแหล่งฝึก

ระหว่างวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี  และกลุ่มการพยาบาล  โรงพยาบาลพระปกเกล้า

ครั้งที่  6 วันที่  20 มิถุนายน  2555  เวลา 13:30-16:00 น.

ณ ห้องเรียน 6  อาคารวิทยบริการ  โรงพยาบาลพระปกเกล้า 

 

เรื่อง    เบาหวานกับงานวิจัย 

วิทยากร พญ.วราภรณ์  พลเมือง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สาขาแพทย์เฉพาะทางต่อมไร้ท่อและเมทาบอลิซึม

               นางวันดี บุญเกิด            พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลพระปกเกล้า

ผู้เข้าร่วมประชุม  จากวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี จำนวน  23  คน

จากโรงพยาบาลพระปกเกล้า  22 คน

รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด   45 คน

สรุปสาระการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

          สรุปประเด็นสำคัญจากการนำเสนอของพญ.วราภรณ์  พลเมือง

การวินิจฉัยโรคเบาหวานโดยทั่วไปในทางปฏิบัติ  ปัจจุบันในประเทศไทยพิจารณาจาก 1) ผลตรวจน้ำตาลในเลือดหลังงดน้ำ-งดอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมง ซึ่งมีค่ามากกว่า 126 mg%  หรือ น้ำตาลในเลือดโดยที่ไม่ได้งดน้ำ-งดอาหาร มากกว่า 200 mg%  และ 2) อาการและอาการแสดงของเบาหวานเมื่อตรวจพบว่ามีผลการตรวจน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ

สำหรับการวินิจฉัยโรคเบาหวานของสหรัฐอเมริกา ใช้ผลตรวจ HbA1c ซึ่งเป็นการตรวจน้ำตาลที่อยู่บนเม็ดเลือดแดง โดยใช้เกณฑ์ 6.5% แต่เกณฑ์นี้ยังไม่ได้กำหนดให้ใช้ในการวินิจฉัยโรคเบาหวานในประเทศไทย อย่างชัดเจน เพราะคาดว่ายังมีปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของการตรวจ และความคลาดเคลื่อน ที่อาจเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น ความแตกต่างทางเชื้อชาติ โรคเลือด และภาวะเสียเลือด

การเปรียบเทียบ HbA1c กับระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อการวินิจฉัยโรคเบาหวาน เปรียบเทียบกันได้ดังนี้  HbA1c 6% เทียบได้เท่ากับน้ำตาล 126 mg%

อุบัติการณ์ของโรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนทั่วไป

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน เกิดขึ้นได้กับทุกระบบของร่างกายที่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง เพราะพยาธิสภาพของเบาหวานมีผลต่อทั้งหลอดเลือดเล็ก เช่น ทำให้เกิด retinopathy  และผลต่อหลอดเลือดใหญ่ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้น การรักษาโรคเบาหวาน จึงมีเป้าหมายเพื่อชะลอความเสื่อมของหลอดเลือดเล็กและ หลอดเลือดใหญ่ จากผลการวิจัยเกี่ยวกับโรคเบาหวาน พบว่า การควบคุมน้ำตาลแบบควบคุมอย่างเข้มงวด โดยควบคุมให้ HbA1c อยู่ระหว่าง 6.4-7.5% จะช่วยให้ลดผลกระทบต่อหลอดเลือดได้ โดยเฉพาะต่อหลอดเลือดเล็ก แต่การรักษาแบบนี้ ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะน้ำตาลต่ำเกินไปและเป็นอันตรายได้ ดังนั้น จึงควรให้การรักษา หรือควบคุมน้ำตาล โดยพิจารณาความพร้อมของผู้ป่วยเป็นรายบุคคล และใช้หลักการ patient centered approach โดยการรักษาโรคเบาหวานควรควบคุมทั้งความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาล เพื่อชะลอความเสื่อมของหลอดเลือด

ในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานประเภท 2 หรือ Type 2 Diabetes Mellitus (T2DM) โดยทั่วไป ยาที่เลือกใช้ อาจเป็นยากระตุ้นการหลั่ง Insulin หรืออาจเป็นยาที่ช่วยให้ Insulin ที่มีอยู่ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น ยาที่มักเลือกใช้ตัวแรก คือ Metformin พร้อมกับการควบคุมอาหาร แต่ถ้ายังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ก็จะพิจารณาให้ Sulfonylurea (มีฤทธิ์ลดน้ำตาลได้มากกว่า Metformin) ควบคู่ไปด้วย แต่ถ้ายังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ก็ต้องฉีด Insulin ในกรณีที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ ต้องค้นหาสาเหตุ เช่น ควบคุมอาหารไม่ได้ มีความคลาดเคลื่อนในการได้รับยา หรือมีการติดเชื้อ เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจขาดเลือด ควรได้รับ Aspirin เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงควรได้รับยาลดไขมัน เช่น Statin ร่วมด้วย

สำหรับในประเด็นเบาหวานกับมะเร็ง ผลการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน ทั้งนี้ อาจเนื่องจาก ผู้ที่เป็นเบาหวานมีปัจจัยส่งเสริมร่วมในการเกิดโรคมะเร็ง เช่น ภาวะอ้วน พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีรายงานการวิจัยที่พบว่า การใช้ Metformin มีอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งลดลงกว่าคนปกติ แต่รายงานวิจัยนี้ ยังไม่เป็นข้อสรุปที่ชัดเจนในการใช้ Metformin เพื่อลดการเกิดมะเร็ง  สำหรับการให้ Metformin ต้องระวังในผู้ที่มีภาวะไตวาย หรือมี creatinine มากกว่า 1.4 mg/dl ในผู้หญิง และ มากกว่า 1.5 mg/dl ในผู้ชาย

ผู้ป่วยเบาหวานที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เป็นเพราะมีภาวะแทรกซ้อน  Diabetic ketoacidosis (DKA) และ Hyperosmolar hyperglycemic state (HHS) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายมาก ต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

โดยสรุป โรคเบาหวานควรมีการคัดกรองในกลุ่มประชาชนทั่วไป เพื่อการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ โดยยังไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ต้องทำให้มารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล สำหรับการดูแลรักษาโรคเบาหวาน เป้าหมายอันดับแรกของการดูแลประชาชนทั่วไป คือป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน แต่ถ้าเป็นแล้วเป้าหมายอันดับต่อมา คือการรักษาเบาหวานระยะเริ่มแรก เป้าหมายอันดับต่อมา คือ การป้องกันภาวะแทรกซ้อน และเป้าหมายสุดท้ายถ้าเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว ก็ต้องรักษาภาวะแทรกซ้อนให้รวดเร็วและได้ผล

 

สรุปประเด็นสำคัญจากการนำเสนอผลการวิจัยของคุณวันดี บุญเกิด                

การศึกษาวิจัยเรื่อง ประสบการณ์การดูแลของญาติที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 16 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์และการสังเกต ผลการวิจัยพบว่าญาติผู้ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ทำหน้าที่ เป็นผู้ช่วยเหลือ ผู้จัดการ ผู้ประสาน ผู้เยียวยา ผู้รักษาชีวิต และผู้พิชิตอุปสรรค  ญาติผู้ดูแลได้รับผลกระทบทั้งด้านบวก เช่น มีความสุขใจ ภูมิใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับผลกระทบด้านลบด้วย เช่น มีความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ความเคร่งเครียด กังวล และทุกข์ใจ เป็นต้น สำหรับสิ่งที่มีอิทธิพลต่อญาติผู้ดูแลมีทั้งสิ่งที่เกื้อหนุน เช่น การมีเพื่อนบ้านเป็นมิตร การมีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น และสิ่งที่เป็นอุปสรรค เช่น การมีปัญหาทางเศรษฐกิจ และความด้อยประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย ในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคเบาหวาน ญาติต้องสร้างสมดุลของชีวิต โดยการปรับตัว ปรับใจ แบ่งปันความทุกข์ใจกับญาติมิตร และการเกาะติดศาสนา  นอกจากนั้น ญาติผู้ดูแลมีความต้องการ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านตัวญาติที่เป็นผู้ดูแล ซึ่งต้องการได้รับความช่วยเหลือแบ่งเบาภาระการดูแล การเตรียมความพร้อมที่จะดูแลผู้ป่วยเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน และด้านตัวผู้ป่วย ซึ่งญาติมีความต้องการให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาว การได้รับการบริการรวดเร็ว มีความปลอดภัย และการที่บุคลากรใส่ใจในความทุกข์ของผู้ป่วย

สรุปประเด็นสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

  1. การรักษาโรคเบาหวานโดยใช้สมุนไพรหรือแพทย์ทางเลือก ควรนำมาใช้หรือไม่อย่างไร การรักษาเบาหวานโดยใช้พืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีข้อที่พึงระวังหลายประการ เช่น ขนาดของสมุนไพรที่ใช้อาจไม่สม่ำเสมอ เพราะขนาดของพืชสมุนไพรที่นำมาใช้ เช่น ใบ มีขนาดแตกต่างกันมาก
  2. การรักษาผู้ที่เป็นโรคเบาหวานรายใหม่ ควรได้รับการควบคุมระดับน้ำตาลอย่างเข้มงวดโดยการฉีด Insulin เพื่อชะลอความเสื่อมของหลอดเลือด หรือไม่ ผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ที่มีระดับน้ำตาลสูงมาก และควบคุมด้วยยาและอาหารไม่ได้ ควรได้รับ Insulin

แนวทางการนำผลการประชุมไปใช้ จากการประชุมครั้งที่ 6

  1. อาจารย์สามารถนำความรู้เกี่ยวกับการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันทุกระดับ มาใช้ในการเรียน   การสอน โดยเน้นการดูแลและการควบคุมน้ำตาลที่ให้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง ซึ่งอาจใช้หลักการต่างๆ เหล่านี้ร่วมด้วย เช่น empowerment, self-management เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน
  2. ในการปฏิบัติการพยาบาลและการให้บริการวิชาการแก่สังคมในด้านการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน พยาบาลและอาจารย์ควรให้ความสนใจในการดำเนินกิจกรรมและการบริการต่างๆ เพื่อการป้องกันเบาหวานตั้งแต่ระยะแรก การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การจัดกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ การดูแลตนเองเพื่อการป้องกันภาวะแทรกซ้อนในผู้ที่เป็นเบาหวาน เป็นต้น
  3. ในด้านการวิจัย วิทยาลัยพยาบาล ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคเรื้อรัง ซึ่งรวมทั้ง โรคเบาหวานด้วย ควรดำเนินการวิจัยในกลุ่มเสี่ยง และประชาชนทั่วไปในจังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นเมืองผลไม้และมีอาหารอุดมสมบูรณ์ การป้องกันประชาชนและกลุ่มเสี่ยงจากโรคเบาหวาน หรือการป้องกันภาวะแทรกซ้อนในผู้ที่เป็นเบาหวานแล้วอาจมีความเฉพาะที่แตกต่างไปจากประชาชนภูมิภาคอื่นๆของประเทศ

 

อาจารย์มัณฑนา  เหมชะญาติ

ผู้บันทึกการประชุม

 

 

Print Friendly
ผู้เขียน ดร.มัณฑนา เหมชะญาติ (ประวัติการเขียน 19 เรื่อง)

รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการจัดการความรู้ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี


Tags: , , , , , ,

Comments are closed.