การคุมกำเนิดในวัยรุ่น Contraception in the Aldolescent
การคุมกำเนิดในวัยรุ่น
Contraception in the Aldolescent
จากการประชุม Empowering Woman : Challenge โดยสมาคมอนามัยเจริญพันธุ์ แห่งประเทศไทย
วันที่ 4-5 เมษายน 2555 ณ โรงแรมมณเฑียร พัทยา
ชื่อ-สกุลผู้จัดการความรู้ อ. เพ็ญนภา พิสัยพันธุ์
ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
สังกัดภาควิชา การพยาบาลสูติศาสตร์
วันที่ประชุมจัดการความรู้ 11 เมษายน 2555 เวลา 15.00-16.00 น.
สถานที่ประชุม ภาควิชา การพยาบาลสูติศาสตร์
รายชื่ออาจารย์ที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
1. อ. ธนพร ศนีบุตร
2. อ. ทิพวรรณ ลิ้มประไพพงษ์
3. อ. จันทรมาศ เสาวรส
4. อ. จันทร์เพ็ญ อามพัฒน์
5. อ. ขนิษฐา เมฆกมล
6. อ. อารีรัตน์ วิเชียรประภา
7. อ. จรัญญา ดีจะโปะ
8. อ. จารุวรรณ ท่าม่วง
9. อ. วรัญญา ชลธารกัมปนาถ
10. อ. นริชชญา หาดแก้ว
สรุปความรู้และแนวคิดที่ได้รับ
ปัจจุบันวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์กันมากขึ้นและเร็วขึ้น จึงเกิดการตั้งครรภ์ในขณะที่ร่างกายและจิตใจยังไม่พร้อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนา และนำไปสู่การทำแท้ง ทำให้มีผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจตามมา การให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดในวัยรุ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ วัยรุ่นส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องการคุมกำเนิดไม่มาก ส่วนใหญ่รู้จักการใช้ถุงยางอนามัย ยาเม็ดคุมกำเนิด และยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน แต่มักไม่รู้และไม่ทราบวิธีการที่ถูกต้อง โดยพบว่าอัตราการใช้การคุมกำเนิดอย่างสม่ำเสมอทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์จะต่ำมาก การคุมกำเนิดในวัยรุ่นที่เหมาะสมควรเลือกการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว มีภาวะแทรกซ้อนน้อย ใช้ง่าย ราคาถูก หาซื้อได้ง่าย เพราะวัยรุ่นมักอายไม่กล้าไปปรึกษาแพทย์ วิธีการคุมกำเนิดสำหรับวัยรุ่นที่แนะนำ ได้แก่
1. ถุงยางอนามัย สามารถป้องกันการตั้งครรภ์และการป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การใช้ถุงยางที่ถูกวิธี ต้องบีบไล่ลมออกจากปลายกระเปาะของถุงยางเพื่อเป็นที่ว่างรองรับน้ำอสุจิ โยบีบไว้จนกระทั่งสวมถุงยางอนามัยเสร็จและต้องใส่และถอดออกในขณะที่องคชาติยังแข็งตัว ถ้าถอดถุงยางอนามัยเมื่ออวัยวะเพศอ่อนตัว เมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิ อาจไหลออกมาเปื้อนช่องคลอด การคุมกำเนิดก็จะล้มเหลว
2. ยาเม็ดคุมกำเนิด ถ้าใช้ชนิดที่มีเอสโตรเจนสูงอาจมีผลต่อการปิดของ epiphyseal plate ของ long bone ทำให้ส่วนสูงไม่เพิ่มเท่าที่ควร จึงไม่ควรใช้ในวัยรุ่นตอนต้น ผู้ที่มีความสูงตามมาตรฐาน ถ้าใช้ก็ไม่น่ามีปัญหา แนะนำให้ใช้ยาที่มีเอสโตรเจนขนาดต่ำๆ เช่น 15,20 ไมโครกรัม ซึ่งมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนน้อยกว่า หรืออาจใช้ยาคุมที่มีโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว ที่แนะนำให้ใช้ คือ desogestrel (Cerazette) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ได้ ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจึงสูงกว่า minipill หรือ progesterone only pill ดั้งเดิม (Exluton)
ข้อสำคัญในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดในวัยรุ่น คือ ต้องให้วัยรุ่นรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
3. ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ส่วนใหญ่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่ปรารถนา มักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้คุมกำเนิดมาก่อน ยังมีวัยรุ่นจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริการคุมกำเนิดด้วยสาเหตุต่างกัน เมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้ววิธีที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ คือ การคุมกำเนิดฉุกเฉิน ซึ่งมีอยู่หลายชนิด เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน และห่วงอนามัย ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินสำหรับวัยรุ่นมี 2 กลุ่ม คือ
1.) Yuzpe regimen ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ชนิดที่มี Ethinyl Estradiol (EE) และ Norgestrel หรือ Levonorgestrel รวมกันในขนาดสูง เช่น ยาเม็ดที่มี EE 30 ไมโครกรัม และ Levonorgestrel 150 ไมโครกรัม โดยรับประทานครั้งละ 4 เม็ด ครั้งแรกภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์ และรับประทานอีก4 เม็ด ใน 12 ชั่วโมงต่อมา
2.) ใช้โปรเจสโตรเจนขนาดสูง ได้แก่ Levonorgestrel 750 ไมโครกรัม (เช่น Postinor และ Madonna) 1 เม็ดรับประทานครั้งแรกภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ และรับประทานอีก1 เม็ด ใน 12 ชั่วโมงต่อมา ปัจจุบันองค์การอนามัยแนะนำว่าอาจใช้ 2 เม็ดครั้งเดียว เพื่อป้องกันการลืมและวิธีนี้จะได้ผลดีกว่า Yuzpe regimen เล็กน้อย และอาการข้างเคียงน้อยกว่า
ไม่ควรแนะนำให้วัยรุ่นใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเกินเดือนละ 3-4 ครั้ง ถ้ามีเพศสัมพันธ์บ่อยควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดธรรมดาจะดีกว่า และภายหลังการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน 3 สัปดาห์ ถ้าระดูยังไม่มาควรไปตรวจว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่
ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์เกิน 72 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 120 ชั่วโมง การใช้โปรเจสโตเจนขนาดสูง 2 เม็ด ก็สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้มากพอควร แต่ไม่ดีเท่าใช้ภายใน 72 ชั่วโมง หลัง 120 ชั่วโมงไปแล้ว ไม่แนะนำให้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเพราะจะไม่ได้ผล และถ้าตั้งครรภ์แล้วยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินจะไม่สามารถทำให้เกิดการแท้งได้
4. ยาฉีดคุมกำเนิด ที่นิยมใช้กัน คือ DMPA ขนาด 150 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามทุก 12 สัปดาห์ ได้ผลดีในด้านคุมกำเนิด แต่อาจมีการเพิ่มของน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ จึงต้องแนะนำวัยรุ่นให้ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกาย การฉีดยาคุมอาจทำให้ระดูมาไม่ปกติอาจไม่มาหรือมากะปริบกะปรอย วัยรุ่นอาจกลัวว่าจะตั้งครรภ์ ต้องแนะนำอาการที่อาจเกิดขึ้นก่อนให้บริการ ยาฉีดคุมกำเนิดสามารถใช้ได้ในวัยรุ่น แม้ว่าจะทำให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงเล็กน้อย แต่จะกลับมาคงที่เมื่อหยุดยาฉีด
5. ยาฝังคุมกำเนิด ปัจจุบันการใช้ Norplant ไม่นิยมและไม่มีการใช้ในรายใหม่เพราะมีจำนวนหลอดมากดและการถอดยาฝังออกยาก จึงได้มีการใช้ยาฝังชนิดหลอดเดียว ชื่อ Etoplan หรือ Implanon แต่ละแท่งมีฮอร์โมน etonogestrel 68 mg ซึ่งเป็นโปรเจสเตอโรน ที่เมตตาบอไลท์ ของ desogestrel ที่อยู่ในยาเม็ดคุมกำเนิดที่ใช้กันมานาน ยาฝังนี้ใช้ฝังและถอดง่ายกว่า คุมกำเนิดได้ 3 ปี จึงเหมาะกับวัยรุ่นซึ่งอาจลืมรับประทานยาบ่อยๆ หรือไม่สามารถเก็บยาไว้ในที่ที่ผู้ปกครองไม่เห็นได้
6. แผ่นแปะผิวหนังคุมกำเนิด ปัจจุบันที่ใช้ คือ Evra เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 20 ตารางเซนติเมตร กลไกการออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ใช้แปะแผ่นละ 1 สัปดาห์ ใช้ ต่อเนื่องกัน 3 สัปดาห์ และเว้น 1 สัปดาห์ บริเวณที่แปะ คือ สะโพก หน้าท้อง ต้นแขนด้านนอก แผ่นหลังช่วงบน โดยเมื่อเปลี่ยนแผ่นจะไม่แปะซ้ำรอยเดิม ประสิทธิภาพของแผ่นแปะเหมือนกับยาเม็ดคุมกำเนิด จากการศึกษาพบว่าผู้ใช้สามารถใช้แผ่นแปะได้ดีกว่ายาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งต้องรับประทานทุกวัน วิธีนี้วัยรุ่นสามารถใช้ได้ และแน่ใจว่ากำลังคุมกำเนิดอยู่โดยคลำแผ่นได้
7. ห่วงอนามัย ที่แนะนำให้ใช้สำหรับวัยรุ่น คือ Cupper IUDเช่น Multiload 250 ใช้ได้ 3 ปี Multiload 375 ใช้ได้ 5 ปี และ Cupper T 380A ใช้ได้ 10 ปี เป็นต้น เพราะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง อาการข้างเคียงไม่มาก แต่ไม่เหมาะสำหรับวัยรุ่นที่ไม่เคยตั้งครรภ์ เพราะอาจมีปัญหาในการใส่ห่วงอนามัย แต่ถ้าวัยรุ่นที่เคยตั้งครรภ์ แท้งหรือคลอดบุตร การใส่ห่วงอนามัยจะทำได้ไม่ยาก
ห่วงอนามัยสามารถใช้เป็นวิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินวิธีหนึ่งโดยใส่ห่วงอนามัยภายใน 7 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ ไม่ควรใช้ในรายที่มีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน
สรุป วัยรุ่นมักเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้ ใช้ง่าย ไม่จุกจิก ไม่ต้องพบแพทย์บ่อย ไม่ต้องตรวจภายใน สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องเปิดเผยว่าตนเองกำลังคุมกำเนิด และราคาถูกเนื่องจากวัยรุ่นยังไม่มีรายได้
อยากทราบว่ายาคุมแบบฝัง3ปีมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ มีบัตร 30 จะเสีวมั้ย มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง