สรุปความรู้จากประชุมเชิงปฏิบัติการ “การวางแผนการจัดการเรียนการสอนการพยาบาลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanistic Care)”

สรุปความรู้ที่และประเด็นสำคัญที่ได้จากประชุมเชิงปฏิบัติการ “การวางแผนการจัดการเรียนการสอนการพยาบาลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanistic  Care)” : แนวทางการนำไปใช้

 

ชื่อ-สกุล อ.ลลนา  ประทุม

ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ(ด้านการสอน)

สังกัดภาควิชา การพยาบาลอนามัยชุมชนและจิตเวชศาสตร์

วัน เดือน ปีที่จัดประชุม 2- 3 มิถุนายน 2554

หน่วยงานที่จัด สถาบันพระบรมราชชนก

รายชื่ออาจารย์ที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

  1. อ.โศภิณสิริ     ยุทธวิสุทธิ
  2. อ.วราภรณ์      จรเจริญ
  3. อ.อรัญญา       บุญธรรม
  4. อ.เชษฐา          แก้วพรม
  5. อ.ศรีสกุล        เฉียบแหลม
  6. อ.มงคล          ส่องสว่างธรรม
  7. อ.เพ็ญนภา      พิสัยพันธุ์

วันที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้   1 กันยายน 2554

สรุปความรู้และแนวคิดที่ได้รับ

ตามที่สถาบันพระบรมราชชนกได้กำหนดอัตลักษณ์บัณฑิตของสถาบันพระบรมราชชนก คือ “บริการสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์” และเห็นความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาให้มีศักยภาพ เน้นการดูแลอย่างเอื้ออาทร (Caring) และเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ (Humanize) ซึ่งเป็นแกนของหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ในการจัดการเรียนการสอนนั้น สถาบันพระบรมราชชนกได้จัดคณะอาจารย์จากวิทยาลัยและนักวิชาการจากส่วนกลางเข้าอบรมการจัดการเรียนการสอนการพยาบาลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ณ Mount of Vincent College ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่นที่1 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.- 18 ก.ค. 53  และภายหลังจากคณะศึกษาดูงานได้กลับมายังประเทศไทยจึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้นเพื่อร่วมกันวางแผนการจัดการเรียนการสอนการพยาบาลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์และแนวทางการนำไปใช้ ซึ่งสาระสำคัญของการประชุมมีดังนี้

Humanistic Nursing Theory เป็นทฤษฎีการพยาบาลที่พัฒนาขึ้นในปี คศ.1988 โดย Dr. Josephine G. Paterson และ Dr.Loretta T. Zderad โดยมีพื้นฐานมาจาก 3 ทฤษฎี คือ Humanism, Existentialism และ Phenomenology โดยมีความเชื่อว่าการพยาบาลเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างพยาบาลและผู้รับบริการ  ลักษณะของปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพยาบาลและผู้รับบริการเป็นปฏิสัมพันธ์ที่มองอีกฝ่ายว่าเป็นมนุษย์ที่มีความเป็นองค์รวม และเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  พยาบาลจะต้องมีการแสดงออกอย่างจริงใจ       ไม่เสแสร้ง เปิดเผย และมีความตระหนัก(Awareness)ในความต้องการของผู้รับบริการ  มีความเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้รับบริการและรับฟังโดยไม่นำประสบการณ์เดิมของตนมาตัดสินผู้รับบริการ ทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่าการตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับบริการในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์ ควรเป็นการเสริมสร้างพลังอำนาจ (empowerment) ให้กับผู้รับบริการ โดยให้เขามีทางเลือกและมีส่วนในการตัดสินใจที่จะเลือกทำอะไรด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามการที่จะเข้าใจความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ตัวพยาบาลเองก็ควรที่จะตระหนัก(Awareness)ในความเป็นมนุษย์ของตนด้วย ว่าตนคือใคร มีความต้องการอะไร รู้จักจุดเด่นจุดด้อยของตน รู้จักความคิด ความรู้สึก ความเชื่อ ค่านิยม วัฒนธรรมฯลฯ ของตนเอง ซึ่งการตระหนักรู้ในตนเองจะนำไปสู่การเข้าใจในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น แต่การที่พยาบาลจะเกิดความตระหนักในตนเองได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย วิธีการหนึ่งที่พยาบาลจะฝึกให้ตนเองมีคุณลักษณะดังกล่าวนั้นสามารถฝึกได้โดยผ่านกระบวนการสะท้อนคิด (reflection) จากประสบการณ์ของตนที่เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

อาจารย์ในฐานะผู้สอนนักศึกษามีบทบาทเปรียบเสมือนกับผู้นำซึ่งจะเป็นผู้ชี้ทิศทาง หากต้องการให้พยาบาลมีคุณลักษณะอย่างไรในอนาคต อาจารย์ก็จะต้องวางแผนการสอนให้นักศึกษาพยาบาลมีลักษณะเช่นนั้น ซึ่งสิ่งที่อาจารย์สอนจะติดตัวพยาบาลผู้นั้นและมักปฏิบัติการพยาบาลตามที่อาจารย์สอน ซึ่งคุณลักษณะที่ควรปลูกฝังให้เกิดในนักศึกษาคือ self-actualization หมายถึง ให้นักศึกษารู้จักตัวเอง (Know who you are?) รู้จักความสามารถและจุดอ่อนของตัวเอง เข้าใจความเชื่อและค่านิยมของตนเอง รับผิดชอบต่อตนเอง มีจุดยืนและยืนหยัดที่จะทำตามจุดยืนนั้น กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆเพื่อประโยชน์ของผู้รับบริการ อย่างไรก็ตามการที่อาจารย์จะสามารถฝึกให้นักศึกษาเกิดคุณลักษณะดังกล่าวนั้นตัวอาจารย์เองก็ควรฝึกให้มีลักษณะเช่นนั้นให้เกิดในตนเองด้วยเช่นกัน

การจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้คือ การส่งเสริมให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ อาจจะเป็นประสบการณ์ที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม ปฏิสัมพันธ์กับพยาบาลหรือผู้รับบริการ หลังจากนั้นให้นักศึกษาสะท้อนคิด (reflection) ถึงความรู้ที่ได้และประสบการณ์ส่วนบุคคล โดยกระบวนการของการถ่ายทอดการสะท้อนคิด ควรต้องมีการเปิดใจ จริงใจ แสดงออกอย่างคิดและรู้สึกและมีความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างอาจารย์และนักศึกษา รู้จักฟังซึ่งกันและกัน ในการสะท้อนคิดนั้นอาจารย์จะต้องสร้างบรรยากาศให้นักศึกษารู้สึกปลอดภัยจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้นักศึกษากล้าแสดงออก และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พูดถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของตนเอง สิ่งที่ได้จากกระบวนการสะท้อนคิดจะทำให้นักศึกษาเกิดกระบวนการคิด รู้จักตั้งคำถามและตัดสินใจด้วยตนเอง เกิดความมั่นใจ รู้สึกว่ามีความสามารถซึ่งจะนำไปสู่การมี self-actualization ซึ่งในกระบวนการนี้จะทำให้นักศึกษากล้าที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองและเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

การสอนอาจารย์ควรอดทนและใจเย็นมากพอที่จะให้นักศึกษาได้ฝึกหรือเรียนรู้ด้วยตนเองไม่ใช่บอกทุกอย่าง แต่ควรสอนให้นักศึกษาได้คิดเองและค่อยๆเรียนรู้จากสภาพการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพการเจ็บป่วยมากกว่าเน้นการสอนเกี่ยวกับทักษะต่างๆ เช่น การวัดความดัน ทำแผล ฉีดยา ฯลฯ เพราะทักษะเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือ ซึ่งจะต้องใช้ให้เหมาะกับสภาพการณ์ความเจ็บป่วยของผู้รับบริการและต้องอาศัยระยะเวลาและประสบการณ์การฝึกปฏิบัติจึงจะเกิดเป็นทักษะ แต่การให้การพยาบาลกับมนุษย์ซึ่งมีความเป็นองค์รวม มีความรู้สึกนึกคิด มีความเป็นปัจเจกบุคคล และมีความต้องการเฉกเช่นเดียวกับพยาบาล จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาควรได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์ด้วยความเข้าใจและตระหนักในคุณค่าความเป็นมนุษย์

Print Friendly
ผู้เขียน อ.ลลนา ประทุม (ประวัติการเขียน 2 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์


Tags: , , , ,

One Response to “สรุปความรู้จากประชุมเชิงปฏิบัติการ “การวางแผนการจัดการเรียนการสอนการพยาบาลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanistic Care)””

  1. อรัญญา บุญธรรม พูดว่า:

    การที่จะผลิตพยาบาลให้เป็นผู้ที่ดูแลผู้รับบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์นั้น นอกเหนือจากกระบวนการสะท้อนคิดเพื่อให้นักศึกษาได้ตระหนักรู้ในตนเองเพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองนั้น สิ่งสำคัญที่ควรจะเป็นจุดเริ่้มต้นคือ การเป็นตัวแบบของอาจารย์ที่สะท้อนหรือแสดงให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านตัวอาจารย์ว่าผู้ที่ดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์นั้นจะมีคุณลักษณะเช่นไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องมีความเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้รับบริการและรับฟังโดยไม่นำประสบการณ์เดิมของตนมาตัดสินผู้รับบริการ ตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับบริการในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์ มีการเสริมสร้างพลังอำนาจ (empowerment) ให้กับผู้รับบริการ โดยให้เขามีทางเลือกและมีส่วนในการตัดสินใจที่จะเลือกทำอะไรด้วยตนเอง ซึ่งการที่อาจารย์จะเป็นตัวแบบที่สะท้อนถึงคุณสมบัติเหล่านี้ นักศึกษาจะสามารถเรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา และระหว่างอาจารย์กับผู้รับบริการ ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา อาจารย์ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจความคิดและความรู้สึกของนักศึกษา รับฟังนักศึกษาโดยไม่นำประสบการณ์เดิมของตนมาตัดสิน ตอบสนองต่อความต้องการของนักศึกษาในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์ มีการเสริมสร้างพลังอำนาจ (empowerment) ให้กับนักศึกษา โดยให้เขามีทางเลือกและมีส่วนในการตัดสินใจที่จะเลือกทำอะไรด้วยตนเอง(โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น) และในปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับผู้รับบริการ อาจารย์ก็จะเป็นตัวแบบที่มีความเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้รับบริการและรับฟังโดยไม่นำประสบการณ์เดิมของตนมาตัดสินผู้รับบริการ ตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับบริการในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์ มีการเสริมสร้างพลังอำนาจ (empowerment) ให้กับผู้รับบริการ โดยให้เขามีทางเลือกและมีส่วนในการตัดสินใจที่จะเลือกทำอะไรด้วยตนเอง การเรียนรู้ผ่านตัวแบบที่มีหัวในความเป็นมนุษย์คือตัวอาจารย์นั้น จะทำให้นักศึกษาได้เห็นผลดีที่เกิดขึ้น เพราะได้สัมผัสทั้งประสบการณ์ตรงที่ตนเองได้รับจากอาจารย์(ปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา) และประสบการณ์ทางอ้อมที่ได้สังเกตปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับผู้รับบริการ เมื่อนักศึกษาได้เรียนรู้ประสบการณ์ดังกล่าวแล้ว น่าจะเป็นทั้งแรงจูงใจและมีแนวทางสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ อันจะนำมาซึ่งการดูแลผู้รับบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์