สรุปความรู้จากการประชุมวิชาการประจำปี 2554 ครั้งที่ 21 (Prevention,Prediction and Promotion in Perinatal Health)
สรุปความรู้ที่ได้รับจากการไปพัฒนาตนเอง
วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี
…………………………………………………
ชื่อ-สกุล นางสาวเพ็ญนภา พิสัยพันธุ์ ตำแหน่ง พยาบาวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
สังกัดภาควิชา/งาน การพยาบาลสูติศาสตร์
เข้าร่วมการประชุม/อบรม/สัมมนา เรื่อง การประชุมวิชาการประจำปี 2554 ครั้งที่ 21 (Prevention,Prediction and Promotion in Perinatal Health)
วัน/เดือน/ปี 12-14 ตุลาคม 2554
หน่วยงานที่จัด ชมรมเวชศาสตร์ปริกำเนิด
สถานที่ โรงแรมจอมเทียนปาล์มบีช พัทยา
สรุปความรู้และแนวคิดที่ได้รับ คือ
เรื่องสัญญาณเตือนภัยในมารดาขณะตั้งครรภ์ ที่พบบ่อย ได้แก่
- ทารกดิ้นน้อย พบว่ามารดาจำนวนร้อยละ 55 รับรู้ถึงการดิ้นน้อยลงก่อนทารกเสียชีวิต การดิ้นของทารกได้แก่ การหมุนตัว การโก่ง การถีบ การเตะ ส่วนการสะอึกไม่ถือเป็นการดิ้น โดยเริ่มดิ้นเมื่ออายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์ และดิ้นมากขึ้นเรื่อยๆจนสูงสุดเมื่อ 32 สัปดาห์ เมื่ออายุครรภ์ครบกำหนดทารกจะดิ้นอยู่ที่ 31 ครั้งต่อชั่วโมง ในปัจจุบันควรแนะนำให้มารดาเริ่มนับเด็กดิ้นเมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ (เดิมให้เริ่มนับเมื่อ 30 สัปดาห์) เมื่อก่อนจะพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการรับรู้การดิ้นของทารกคือระดับน้ำตาลในเลือด แต่จากการศึกษาพบว่าระดับน้ำตาลในเลือด ไม่มีความสัมพันธ์กับการดิ้นของทารก ปัจจัยที่ส่งผลได้แก่ ท่านอน นั่ง ยืน ความเครียด บุหรี่ ตำแหน่งการเกาะของรกด้านหน้าจะรับรู้การดิ้นได้น้อยกว่ารกเกาะด้านหลัง สิ่งสำคัญคือ ความใส่ใจในการนับเด็กดิ้น
- การตกเลือดก่อนคลอด รกเกาะต่ำ ในปัจจุบันไม่วินิจฉัยภาวะนี้ด้วยการตรวจภายในหรือ ทำ double set up เนื่องจากเสี่ยงต่อการตกเลือดมากกว่า เพื่อให้สอดคล้องกับการรักษามีผู้เสนอให้แบ่งชนิดของรกเกาะต่ำใหม่ โดยอาศัยข้อมูลจากการ U/S คือ 1. รกคลุม internal os ทั้งหมด 2. marginal previa คือ ขอบรกห่างจาก internal os ไม่เกิน 2 ซ.ม. 3. low lying placenta คือ ขอบรกห่างจาก internal os 2-3.5 ซ.ม. หากตรวจพบรกเกาะต่ำในไตรมาสที่ 2 ควรนัดตรวจเพื่อดูตำแหน่งของรกอีกครั้งที่ 32-36 สัปดาห์ ถ้าพบว่าขอบรกอยู่ใกล้ internal os มากต้องเฝ้าระวังภาวะเลือดออกและเตรียมพร้อมผ่าตัดเอาทารกออกทางหน้าท้อง
- การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด การประเมินเบื้องต้นในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะนี้ ได้แก่ การหดรัดตัวของมดลูก การแตกหรือรั่วของถุงน้ำคร่ำ อายุครรภ์ สุขภาพทารกในครรภ์ การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาภาวะติดเชื้อ GBS (Groub B streptococcus) UTI Bacteria vagina ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีการเจ็บครรภ์คลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ และยังไม่ได้คัดกรองการติดเชื้อ GBS ควรได้รับยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ GBS และทำ rectovaginal swab เพื่อเพาะเชื้อ GBS
เรื่องบทบาทพยาบาลในการคัดกรองสุขภาพของมารดาทารกและการส่งต่อในระยะตั้งครรภ์
ประกอบด้วย การซักประวัติ การตรวจทางห้องทดลองได้แก่ หมู่เลือด Hepatitis HIV Syphilis ระดับน้ำตาลในเลือดและปัสสาวะ การตรวจร่างกายอย่างละเอียด และควรมีการประเมินภาวะเสี่ยงของมารดาตามสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กด้วยเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้น และหากพบสิ่งผิดปกติควรส่งพบสูติแพทย์เพื่อช่วยในการวินิจฉัยให้มารดาทารกปลอดภัยที่สุด
เรื่องอาการและการเตือนภัยในมาดาและทารกแรกเกิด ที่พบบ่อยได้แก่
- การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อราแคนดิดา, ทริโคโมแนส, bacteria vaginosis, Chlamydia, Syphilis, Herpes simplex Virus type 2, Gonorrhea, HPV, Groub B streptococcus,HIV
- ภาวะโรคทางอายุรศาสตร์ ได้แก่ โรคหัวใจ ภาวะซีด โรคทางไตและกระเพาะปัสสาวะ โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบนผิดปกติ
- ภาวะเลือดออกในระยะตั้งครรภ์
- ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
ในการตั้งครรภ์ไม่ว่าจะเป็นครรภ์แรกหรือครรภ์หลัง จะมีอาการและสัญญาณเตือนภัยได้เท่าๆกัน ทีมสุขภาพจึงต้องประเมินสุขภาพสตรีตั้งครรภ์ทุกครั้งที่มาฝากครรภ์โดยละเอียด เพราะจะช่วยให้พบอาการผิดปกติได้เร็วและให้การดูแลรักษาได้ทันท่วงที เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานานกว่าการตั้งครรภ์ปกติด้วย
เรื่องการคัดกรองในระหว่างตั้งครรภ์ ที่สำคัญ
- การตรวจคัดกรองเรื่องซีด การตรวจดูหมู่เลือด การคัดกรองธาลัสซีเมีย
- การตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ แนะนำให้ทำการตรวจด้วยเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงในช่วงอายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์ ได้แก่ การตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ ปัจจุบันมีแนวทางในการคัดกรองมากมาย โดยอายุของสตรีตั้งครรภ์ (Maternal age) เป็นปัจจัยที่มีผลต่อความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดาวน์ ในอดีตใช้เกณฑ์อายุมากกว่า 35 ปี เป็นข้อบ่งชี้ในการตรวจวินิจฉัยยืนยันโครโมโซมในทารก แต่การใช้อายุครรภ์อย่างเดียวในการประเมินความเสี่ยงจะให้ผลบวกลวงค่อนข้างสูง ทำให้มีสตรีตั้งครรภ์ได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยไม่จำเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันจึงมีการใช้อายุของสตรีตั้งครรภ์ ร่วมกับการ U/S และการตรวจหาสารชีวเคมีในเลือดของสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยลดผลบวกลวงและเพิ่มความไวในการตรวจคัดกรองมากขึ้น
การประเมินภาวะดาวน์ของทารกในครรภ์สามารถทำในช่วงไตรมาสแรก จากการวัดความหนาของต้นคอทารกในครรภ์จาก U/S ที่เรียกว่า Nuchal Translucency (NT) ร่วมกับการตรวจหาระดับของ Pregnancy-associated plasma protein A (PAPP-A) และ ß-human chorionic gonadotropin (ß-hCG) ในเลือดของสตรีตั้งครรภ์ ส่วนในไตรมาสที่ 2 สามารถประเมินความเสี่ยงจากการตรวจหาระดับของ ß-hCG, Alpha – fetoprotein (AFP) , Unconjugated estriol (uE3) และ inhibin A (Inh A) ในเลือดของสตรีตั้งครรภ์ หรือที่เรียกว่า quadruple test ซึ่งการคัดกรองในไตรมาสแรกเป็นที่นิยมมากกว่าเนื่องจากสามารถคำนวณความเสี่ยงได้ตั้งแต่ในระยะแรกของการตั้งครรภ์และมีความแม่นยำสูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจคัดกรองในไตรมาสที่ 2
- การตรวจคัดกรองหาภาวะการติดเชื้อในสตรีตั้งครรภ์
- การตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- การตรวจคัดกรองความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ซึ่งจากการศึกษาการให้ยาแอสไพริน ตั้งแต่ก่อนอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ในครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงจะช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะนี้ลงได้ถึงร้อยละ 50
- การตรวจคัดกรองภาวะการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด จากการศึกษาโดยใช้การ U/S ทางช่องคลอด ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างความยาวของปากมดลูก (cervical length) กับภาวะการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด พบว่า โอกาสการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดจะเพิ่มขึ้น เมื่อความยาวของปากมดลูกลดลง โดยแนะนำให้ตรวจทุก 2 สัปดาห์ในช่วงอายุครรภ์ 16-24 สัปดาห์ ในสตรีที่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ก่อน ถ้าตรวจพบปากมดลูกน้อยกว่า 25 mm การเย็บปากมดลูกที่เรียกว่า cervical cerclage จะช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะการคลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 35 สปดาห์ ได้ถึงร้อยละ 30
เรื่องการฉีดวัคซีนสำหรับสตรีตั้งครรภ์
- วัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในสตรีก่อนที่จะตั้งครรภ์ ได้แก่ วัคซีนโรคอีสุกอีใส งูสวัด เพราะถ้าได้รับเชื้อในช่วงตั้งครรภ์อาจเสี่ยงต่อความผิดปกติในอวัยวะของเด็กทารกในครรภ์
- วัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในช่วงของการตั้งครรภ์ ได้แก่ วัคซีนรวมบาดทะยักและคอตีบ หรือวัคซีนบาดทะยัก แนะนำให้ฉีดในสตรีที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนและควรฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ แนะนำให้ฉีดเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 3 เดือน และแนะนำให้ฉีดทุกคนในช่วงที่มีการระบาด
- วัคซีนที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงของการตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต ได้แก่ วัคซีนโรคอีสุกอีใส วัคซีนรวม โรคหัด คางทูมและหัดเยอรมัน วัคซีนไข้เหลือง วัคซีนโรคงูสวัด ถ้าฉีดวัคซีนเหล่านี้ควรแนะนำให้คุมกำเนิดอย่างน้อย 1-3 เดือน
- วัคซีนป้องกัน HPV เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก ประสิทธิภาพของวัคซีนนี้จะเกิดสูงสุดในสตรีที่ยังไม่ติดเชื้อ HPV จึงควรฉีดวัคซีนก่อนมีเพศสัมพันธ์ โดยจะฉีด 0.5 cc เข้ากล้ามเนื้อ 3 ครั้ง ดังนี้ 0,1,6 เดือน ส่วนการฉีดเพื่อกระตุ้นซ้ำยังไม่มีข้อมูลว่าควรฉีดเมื่อไหร่ ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันพบว่าระดับ antibody ยังคงป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้อย่างน้อย 8.4 ปี
- MMR และวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส สามารถให้หลังคลอดบุตรได้อย่างปลอดภัย ตลอดจน Tdap (วัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน) เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังทารกแรกเกิด ซึ่งถึงขั้นเสียชีวิตโดยเฉพาะไอกรน
เพ็ญนภา พิสัยพันธุ์ สรุป (20 ตุลาคม 2554)