Vertigo อาการเวียนศีรษะที่ไม่ธรรมดา

โครงการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยและวิชาการร่วมกับแหล่งฝึก

ระหว่างวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และกลุ่มการพยาบาล  โรงพยาบาลพระปกเกล้า

ครั้งที่ 9 วันที่ 5 กันยายน 2554  เวลา 13.30 -16.00 น.

ณ ห้องประชุม  อาคารวิทยบริการ  โรงพยาบาลพระปกเกล้า

เรื่อง       Vertigo อาการเวียนศีรษะที่ไม่ธรรมดา

วิทยากร     นายแพทย์โกมล  ประภาสิต  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน หู คอ จมูก โรงพยาบาลพระปกเกล้า

คุณปรวรรณ  วิทย์วรานุกูล   พยาบาลวิชาชีพประจำแผนก หู คอ จมูก

โรงพยาบาลพระปกเกล้า

ผู้เข้าร่วมประชุม  จากวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี จำนวน  18  คน

จากโรงพยาบาลพระปกเกล้า  12  คน

รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด  30  คน

สรุปสาระการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

สรุปประเด็นสำคัญจาก การนำเสนอ ของนายแพทย์โกมล  ประภาสิต

Vertigo วิงเวียน  เห็นบ้านหมุน  สาเหตุ  อาจเกิดจาก หูชั้นในอักเสบ  เนื้องอกประสาทหู BBPV  โรคน้ำในหูชั้นในไม่เท่ากัน  เป็นต้น  ในที่นี้เน้น 2 โรค คือ   BBPV  และ โรคน้ำในหูชั้นในไม่เท่ากัน

บ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า (BBPV)  พบบ่อยในคนอายุมากกว่า 40 ปี  เกิดจากผลึกหินปูนตกลงไปในน้ำหลอดกึ่งวง (Posterior semi-circular canal)  จะมีอาการบ้านหมุนในบางท่า  และมีอาการเป็นครั้งคราว  นาน 10 – 20 วินาที  ไม่เกิน 1 นาที  ไม่มีหูตึงหรือเสียงดังในหู  รักษาได้โดยการทำ EPLEY  MANEUVER  หากผู้รักษามีความชำนาญผลึกหินปูนหลุดออกจาก Posterior  semi-circular canal อาการบ้านหมุนจะหายไป

โรคน้ำในหูชั้นในไม่เท่ากัน (Meniere’s  disease) เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดของสาเหตุของอาการเวียนศีรษะ พบได้บ่อยในอายุ  20 – 50 ปี  สาเหตุที่แท้จริงนั้นขณะนี้ยังไม่ทราบ  แต่พบว่าอาการโรคเมเนียร์เป็นผลมาจากความผิดปกติของน้ำ (endolymph) ที่อยู่ภายในหูส่วนใน

อาการเมเนียร์  มักเวียนศีรษะแบบรุนแรงและรู้สึกหมุนร่วมด้วย  ร่วมกับอาการการได้ยินเสื่อม  มีเสียงรบกวนในหู  บางครั้งพบหูอื้อแน่นตื้อของหูข้างนั้นร่วมด้วย  บ่อยครั้งพบร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน  และสูญเสียสมดุลของร่างกาย  ผู้ป่วยอาจเซหรือล้มได้ง่ายเมื่อเกิดอาการ  อาการเวียนศีรษะอาจเป็นนานเป็นนาทีหรือหลายชั่วโมง   ระหว่างเกิดอาการต้องอยู่นิ่ง ๆ ไม่ขยับศีรษะ  เนื่องจากการขยับศีรษะทำให้เวียนศีรษะเพิ่มขึ้น  หลังอาการเวียนศีรษะทุเลาจะอ่อนเพลีย  ง่วง  โซเซ  ได้อีกหลายวัน  การรักษาควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและใช้ยาในความควบคุมของแพทย์  หากไม่ได้ผลอาจต้องฉีดยา หรือผ่าตัด  ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่มีอาการเวียนศีรษะทันทีโดยไม่มีอาการเตือน  ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ  ปีนที่สูงหรืออยู่ในภาวะที่เสี่ยงอันตราย

การฝึกบริหารศีรษะแบบคอร์ธอร์นสามารถใช้รักษาอาการเวียนศีรษะ  ในผู้ป่วยที่มีระบบการทรงตัวในหูชั้นในข้างหนึ่งเสียไป หรือในรายที่มีอาการเวียนศีรษะเมื่อเปลี่ยนท่า  โดยบริหาร วันละ 2 ครั้ง  เริ่มครั้งละ 15 นาที  แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนทำได้ 30 นาที

สรุปประเด็นสำคัญจาก การนำเสนอ ของคุณปรวรรณ  วิทย์วรานุกูล

การวิจัยเกี่ยวกับการใช้ autogenic  training ในผู้ป่วยเมเนียร์ร่วมกับการรักษาตามปกติ ซึ่งเป็นการศึกษาข้อมูลย้อนหลังจากแฟ้มประวัติผู้ป่วย 6 ราย  พบว่าอาการผู้ป่วยดีขึ้นตามลำดับ

การวิจัยเกี่ยวกับการใช้ balance  exercise เพื่อฟื้นฟูหลังผู้ป่วยมีอาการ Vertigo ซึ่งเป็นการศึกษาจากผู้ป่วย 12 คน  พบว่าเมื่อทำ balance  exercise ครบ 4 สัปดาห์  จะช่วยทำให้การเดินเซลดลงได้

การแสดงความคิดเห็นจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

                - การอดนอน  เป็นเหตุส่งเสริมให้เกิดอาการ Vertigo ได้

- Vertigo สัมพันธ์กับโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง  เพราะว่าเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในน้อย  ทำให้  vestibular  เสียเร็วขึ้น  จึงพบ Vertigo เพิ่มขึ้น เพราะโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมีเพิ่มขึ้น

- การบริหารศีรษะแบบคอร์ธอร์น  ให้แหงนคอเท่าที่ผู้ป่วยสามารถทำได้  การบริหารนี้ช่วยลดการเป็นซ้ำได้  และเป็นการรักษาไปในตัว    แต่ในทางปฏิบัติพบว่าเมื่ออาการหายแล้วผู้ป่วยมักไม่ทำต่อ

                – การทำ balance  exercise  ในผู้สูงอายุสามารถทำได้จะช่วยลดการพลัดตกหกล้มได้  แต่หากเป็น Vertigo ระยะเฉียบพลันไม่ควรทำเพราะล้มได้   ต้องรอให้ยาก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ จึงฝึกทำ  เพราะช่วยการทรงตัวได้ดี

 

แนวทางการนำผลการประชุมไปใช้ จากการประชุมครั้งที่ 9

  1. ในการเรียนการสอนนักศึกษาพยาบาลเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะที่ไม่ธรรมดา  ควรมีการนำเรื่องของการฝึกบริหารศีรษะแบบคอร์ธอร์น   และ balance  exercise ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
  2. อาจารย์พยาบาลควรร่วมกับพยาบาลแผนกหู คอ จมูก  เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะไม่ธรรมดา  เช่น  การบริหารศีรษะแบบคอร์ธอร์น   การประยุกต์ใช้เรื่อง autogenic  training หรือ  การทำ balance  exercise  เป็นต้น

 

นางสาวลลิตา  เดชาวุธ

นางรัชชนก  สิทธิเวช

ผู้บันทึก

 

Print Friendly
ผู้เขียน อ.รัชชนก สิทธิเวช (ประวัติการเขียน 28 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล และบริหารวิชาชีพ


Tags: , , ,

Comments are closed.