การอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยสำหรับอาจารย์ใหม่ ครั้งที่ 3
การจัดการความรู้ด้านการผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ
การอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยสำหรับอาจารย์ใหม่
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2554 เวลา 15:30-17:00 น.
ประธานการประชุม: อ.ดร.มัณฑนา เหมชะญาติ
ผู้เข้าร่วมประชุม
1. อ.ทิพวรรณ ลิ้มประไพพงษ์
2. อ.ดร.ปิ่นนเรศ กาศอุดม
3. อ.คณิสร แก้วแดง
สาระสำคัญของการเรียนรู้จากการอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยสำหรับอาจารย์ใหม่
กระบวนการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยสำหรับอาจารย์ใหม่ในขณะดำเนินการวิจัย ซึ่งทีมอาจารย์ พี่เลี้ยงได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ การเข้ารับการอบรมเชิงวิชาการจากหน่วยงานภายนอก และการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทีมอาจารย์พี่เลี้ยง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ทีมอาจารย์พี่เลี้ยงต้องทราบเกี่ยวกับภาระงานด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านการสอนภาคปฏิบัติของอาจารย์ใหม่ ในช่วงที่ทำวิจัย เช่น ในช่วงการเก็บรวบรวมข้อมูล เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้เวลาและการบูรณาการ การทำวิจัยกับงานการด้านอื่นๆ เช่นการเรียนการสอน (ถ้าสามารถทำได้) ดังนั้น ถ้าอาจารย์พี่เลี้ยง อยู่ภาควิชาเดียวกันจะช่วยให้เข้าใจบริบทของงานในช่วงเวลาต่างๆ ที่ควรจะเร่งรัดหรือผ่อนปรนการติดตามงานวิจัยของอาจารย์ใหม่
2. การทำความเข้าใจในลักษณะเฉพาะของอาจารย์ใหม่แต่ละคน เช่น ทัศนคติต่อการทำวิจัย ความมุ่งมั่นในการทำวิจัย และความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นต้น ช่วยให้การติดตาม สนับสนุน และช่วยเหลือ ในการทำวิจัยของอาจารย์ใหม่เป็นไปอย่างสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละคน เช่น บางคนสามารถดำเนินการเองได้เป็นส่วนใหญ่ ก็อาจให้คำแนะเป็นบางช่วง หรือเฉพาะในประเด็นใหม่ที่ยังไม่เคยแนะนำมาก่อน ในขณะที่บางคนต้องการการการดูแลช่วยเหลือที่เป็นการช่วยลงมือทำด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะและความยาก-ง่ายของการวิจัยแต่ละเรื่องด้วย
3. การติดตามความก้าวหน้าด้วยวาจา อย่างไม่เป็นทางการ ควรทำอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะๆ เพื่อประเมินความต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งอาจารย์ใหม่ส่วนใหญ่ไม่บอกความต้องการของตนเองก่อน แต่จะบอกเมื่ออาจารย์พี่เลี้ยงสอบถาม
4. อาจารย์พี่เลี้ยงต้องมีความรู้ความเข้าใจและสามารถประยุกต์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการวิจัยให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงสำหรับการวิจัยแต่ละเรื่อง โดยทีมอาจารย์พี่เลี้ยงต้องร่วมมือกัน เพราะอาจารย์ใหม่ผู้ทำวิจัยอาจต้องการความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เช่น การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิจัย การขออนุมัติจัดซื้อ/จัดจ้างและการขอเบิกจ่ายเงินทุนวิจัย รวมทั้งการสำรองจ่ายในบางรายการที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายเงินงบประมาณ
5. จากการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ (โดย รศ.ดร.โยธิน แสวงดี) ของทีมอาจารย์พี่เลี้ยงจำนวน 4 คน มีประเด็นสำคัญที่สามารถนำมาใช้ในการอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยของอาจารย์ใหม่ได้ ดังนี้
1) หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ให้ทำร่างการเขียนบทความ ที่เรียกว่า Article mapping โดยวางแผนใส่รายละเอียดในแต่ละหน้ากระดาษตามแบบฟอร์มและจำนวนหน้ากระดาษที่กำหนดในวารสารที่จะส่งบทความวิจัยไปตีพิมพ์ โดยอันดับแรกให้เขียนบทสรุปและการอภิปราย ลำดับต่อมาเขียนบทคัดย่อให้สอดคล้องกับผลการวิจัย และเขียนบทนำ การดำเนินการวิจัย ตามลำดับ
2) การเขียนคำสำคัญ ให้เลือกจากชื่อเรื่องวิจัย ควรมี 3- 5 คำ คำสำคัญเหล่านี้จะปรากฏเป็นระยะๆ อยู่ในบทคัดย่อ สรุปและอภิปรายผลการวิจัย ดังนั้น จะเห็นว่า ชื่อเรื่องวิจัย คำสำคัญ ผลการวิจัย และการอภิปรายไปผลต้องมีความสัมพันธ์
3) สำหรับการเขียนอภิปรายผลการวิจัยให้หาประเด็นสำคัญจากผลการวิจัยมา 3 ประเด็น แล้วพิจารณาเลือก 2 ประเด็นเพื่อนำมาเขียน ทั้งนี้ เมื่อเลือกประเด็นสำคัญดังกล่าวได้แล้ว ควรสืบค้น/ทบทวนวรรณกรรมเพิ่มเติม เพื่อที่จะนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบผลการวิจัยที่ศึกษาในครั้งนี้กับผลการค้นพบที่เคยตีพิมพ์มาก่อนทั้งในลักษณะสอดคล้องและขัดแย้งกัน ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านมีความรู้ความเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้นในประเด็นนั้นๆ
4) การนำเสนอผลการวิจัยควรใช้ตาราง กราฟ หรือรูปภาพที่สื่อความหมายได้ชัดเจนและน่าสนใจด้วย สำหรับการบรรยายตารางให้เขียนแบบจัดตารางไว้กลางหน้า เขียนบรรยายมาก่อนแล้วระบุตารางต่อไปนี้ แล้วอธิบายต่อว่า จากตารางข้างต้น พบปรากฏการณ์อะไรบ้าง ในหนึ่งหน้า ไม่ควรมีมากกว่า
สองตาราง
5) การเขียนอภิปรายในแต่ละประเด็น ต้องอธิบายสาระสำคัญของแต่ละประเด็นให้ชัดเจน ไม่วกไปวนมา และเขียนสาระสำคัญในแต่ละย่อหน้าอย่างเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน โดยต้องมีการอ้างอิงจากแหล่งปฐมภูมิ (ไม่ใช้การอ้างถึงใน…)
6) เมื่อผู้วิจัยเขียนรายงานวิจัยเสร็จแล้ว ต้องอ่านซ้ำหลายๆครั้ง เพื่อการตรวจและแก้ไขให้ถูกต้องมากที่สุด รวมทั้งอาจให้เพื่อนร่วมงานที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องวิจัยดังกล่าวช่วยอ่านและให้ข้อเสนอแนะ ก่อนส่งไปตีพิมพ์ เพื่อป้องกันการถูกปฏิเสธจากกองบรรณาธิการของวาสาร
6. การนำความรู้เรื่องการเขียนบทความวิจัยที่ได้รับจากการประชุมร่วมกับหน่วยงานภายนอก มาใช้ในการอบรมอาจารย์ใหม่ในการประชุมครั้งที่ 5 เกี่ยวกับการเขียนรายงานวิจัย โดยอาจารย์พี่เลี้ยงจะใช้แนวทางที่ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญภายนอกดังกล่าวในข้อ 5 มาปรับปรุงการอบรมอาจารย์ใหม่ให้สามารถเขียนบทความวิจัยที่มีคุณภาพ สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับชาติได้ต่อไป
มัณฑนา เหมชะญาติ
ผู้บันทึกการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
เห็นด้วยกับการที่อาจารย์พี่เลี้ยงอยู่ภาควิชาเดียวกัน เพราะนอกจากจะทำให้เข้าใจบริบทของงานในช่วงเวลาต่างๆ ที่ควรจะเร่งรัดหรือผ่อนปรนการติดตามงานวิจัยของอาจารย์ใหม่แล้ว จะทำให้ประเด็นในการวิจัยนั้นอยู่ใน special area หรือใกล้เคียงกัน เนื่องจากการทำวิจัยเป็นงานที่ต้องใช้พลังและระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน การทำวิจัยในประเด็นที่ตนเองสนใจจะทำให้ผู้วิจัยมีความใส่ใจและกระตือรือร้น ช่วยลดภาวะหมดพลังไปก่อนที่ชิ้นงานจะสำเร็จ