สรุปจากการประชุมสุขศึกษาแห่งชาติ เรื่อง ปรับ 360 องศา สู่การพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพแนวใหม่

วันที่ 3-5 สิงหาคม 2554 ณ โรงแรมปาล์ม บีช พัทธยา จังหวัดชลบุรี

สรุปโดย มัณฑนา เหมชะญาติ

จากการเข้าร่วมประชุมศึกษาแห่งชาติ เรื่อง ปรับ 360 องศา สู่การพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพแนวใหม่ ซึ่งจัดโดยสมาคมนักสุขศึกษา ในระหว่างวันที่ 3-5 สิงหาคม 2554 อาจารย์มัณฑนา เหมชะญาติ สรุปสาระสำคัญจากการประชุมได้ดังนี้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เป็นประเด็นที่นักสุขศึกษาให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะในปัจจุบันที่อัตราการเกิดโรคเรื้อรังมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นเพราะประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารโดยไม่ควบคุมชนิดและ/หรือปริมาณ รวมทั้งการไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พฤติกรรมเหล่านี้นำมาซึ่งโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต และโรคหัวใจ เป็นต้น ประเด็นสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพแบบ 360 องศา สรุปได้ดังนี้

1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ได้ผล ต้องทำในทุกระดับ ได้แก่

-          บุคคล: เน้นที่การปลุกจิตสำนึกให้มีการปรับเปลี่ยนที่จิตวิญญาณของคน

-          ครอบครัว: เน้นการมีส่วนร่วม ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ

-          ชุมชน: ต้องมีส่วนร่วม สร้างกระแสให้กับคนในชุมชน

-          ประเทศ: มีส่วนสำคัญในการชี้นำ โดยกำหนดนโยบาย และสนับสนุนการสร้างกระแสระดับกว้างในสังคม

2.   เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคน ได้แก่ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าพนักงานสาธารณสุข และผู้ปฏิบัติบริการด้านสุขภาพในวิชาชีพต่างๆ ควรเป็นบุคคลต้นแบบด้านสุขภาพโดยมีพฤติกรรมสุภาพที่ดี รวมทั้งควรเป็นนักสุขศึกษาและนักประชาสัมพันธ์ เพราะมีผู้รับบริการในสถานบริการทุกระดับ จำนวนไม่น้อยที่มีความต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และลดความรุนแรงของโรคที่เป็นอยู่ แต่ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

3.   การสร้างเสริมสุขภาพให้กับประชาชนในชุมชน ต้องอาศัยทรัพยากรต่างๆในชุมชน และเครือข่ายซึ่งเป็นหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกชุมชน ทั้งภาครัฐและเอกชน

4.   ในชุมชนหรือหน่วยงานที่มีการสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพได้ตามเป้าหมายแล้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ยังคงต้องเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืนของการดำเนินการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ล้มเลิกไปเมื่อประสบความสำเร็จในขั้นต้นแล้ว

5.   การรักษาความต่อเนื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคนในชุมชน อาจต้องใช้หลายๆวิธี เช่น การประกาศเกียรติคุณ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการยกย่องยังคงปฏิบัติพฤติกรรมที่ดีต่อไป นอกจากนั้น ยังอาจต้องมีการสร้างกระแสให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญหรือประโยชน์เป็นระยะๆ

6.   การเสริมสร้างพลังอำนาจ (empowerment) เป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นสำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งสามารถวัดการเปลี่ยนแปลงของบุคคลได้จาก ความรู้ ความเชื่อ การรับรู้ และ self-efficacy เป็นต้น

7.   นักสุขศึกษาดีเด่น ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติงาน มีการทำงานอย่างมีอุดมการณ์ โดยมีเป้าหมายที่การเสริมสร้างสุขภาวะให้กับประชาชนและชุมชน ด้วยความอดทน เข้มแข็ง มุ่งมั่น และเสียสละ ในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ

Print Friendly
ผู้เขียน ดร.มัณฑนา เหมชะญาติ (ประวัติการเขียน 19 เรื่อง)

รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการจัดการความรู้ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี


Tags: ,

Comments are closed.