การพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยเด็กระบบทางเดินหายใจเรื้อรังด้วยทีมสหสาขา

โครงการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยและวิชาการร่วมกับแหล่งฝึก

ระหว่างวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรีและกลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลพระปกเกล้า

ครั้งที่ 6  วันที่  20  มิถุนายน  2554  เวลา 13.30-16.00 น.

ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์  วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี

 

เรื่อง การพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยเด็กระบบทางเดินหายใจเรื้อรังด้วยทีมสหสาขา

วิทยากร

แพทย์หญิงสินทรา  ผู้มีธรรม     กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ

คุณยุบล  ศรีสังข์      พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ทางด้านการพยาบาลผู้ป่วยเด็ก

คุณสมฤดี  เลิศงามมงคลกุล  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ทางด้านการพยาบาลผู้ป่วยเด็ก

ผู้เข้าร่วมประชุม

จากวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี จำนวน  24  คน

จากโรงพยาบาลพระปกเกล้า  9  คน

รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด  33  คน

 

สรุปสาระการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

สรุปประเด็นสำคัญจากการนำเสนอของ แพทย์หญิงสินทรา  ผู้มีธรรม

ในปัจจุบันมีผู้ป่วยเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีโรคเรื้อรังทางระบบหายใจจำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องมือ และเทคโนโลยีในการบำบัดรักษาทางระบบหายใจอย่างต่อเนื่องและยาวนาน  เมื่อไม่มีผู้ดูแลที่บ้านจึงจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน   ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อดื้อยาที่รุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้  ดังนั้น สมาชิกในครอบครัวจึงวิตกกังวล  เด็กขาดความใกล้ชิดพ่อและแม่  ขาดการกระตุ้นพัฒนาการ  ขาดความผูกพันในครอบครัว  ขาดความมั่นใจในตนเอง  เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาครอบครัวและสังคมต่อไปได้   ปัญหาเหล่านี้จะลดได้  ถ้ามีการส่งเสริมผู้ป่วยและครอบครัวให้มีความสามารถกลับไปดูแลต่อที่บ้านได้อย่างปลอดภัย  ทางกลุ่มงานกุมารเวชกรรม  โรงพยาบาลพระปกเกล้า  จึงได้ดำเนินการโครงการบริบาลผู้ป่วยเด็กทางระบบหายใจที่บ้าน  โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1.  เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว

2.  ลดอัตราการเจ็บป่วยจากโรคที่เป็นอยู่

3.  ทำให้โรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ไม่ทรุดลงกว่าเดิม

4.  ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีความมั่นใจในการดูแลตนเอง

5.  ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาของโรงพยาบาล

กลุ่มเป้าหมาย คือเด็กที่ต้องใช้ออกซิเจน  ต้องบำบัดรักษาด้วยฝอยละออง  เจาะคอ  ต้องใช้เครื่องดูดเสมหะ  หรือใช้เครื่องช่วยหายใจที่บ้าน

ทีมงานที่รับผิดชอบในการดำเนินโครงการคือ  แพทย์หญิงสินทรา  ผู้มีธรรม และพยาบาล 1 คน จากทุกหอผู้ป่วยในแผนเด็ก  โดยมีขั้นตอนการทำงานดังนี้

1. คัดเลือกผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายโดยพยาบาลและแพทย์หญิงสินทรา

2. ร่วมประชุมทีมสหสาขาโดยใช้หลัก C3THER

3. พยาบาลฝึกผู้ดูแล ถ้าผู้ป่วยกลับไปอยู่ที่บ้าน   โดยพยายามฝึกให้มีผู้ดูแลหลักอย่างน้อย 2 คน  และเน้นให้มีการสาธิตให้ดูว่าสามารถปฏิบัติได้จริง   มีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทีมเพื่อให้ผู้ดูแลกล้าสอบถามข้อสงสัย    สอนให้ผู้ดูแลสังเกตอาการผิดปกติด้วยตนเองได้   และมีเอกสารการดูแลผู้ป่วยเพื่อให้สามารถทบทวนด้วยตนเองได้

4. ทีมแนะนำว่าควรมีอุปกรณ์อะไรบ้าง  และให้ครอบครัวตัดสินใจว่าจะยืมหรือซื้ออุปกรณ์                            โดยโครงการมีอุปกรณ์ให้เช่ายืม  เช่น   เครื่องดูดเสมหะ  ถังออกซิเจน  หัวออกซิเจน  (เคยให้ใช้ฟรีแต่พบว่าอุปกรณ์ชำรุดเสียหายไม่ได้รับการดูแล  จึงเปลี่ยนเป็นการเช่ายืมแทน)

5. ประเมินสภาพแวดล้อมที่บ้านก่อนผู้ป่วยกลับบ้านในบางราย  และให้คำแนะนำในการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

6. นัดติดตามดูอาการและเยี่ยมบ้านในบางราย   โดยมีทีมไปเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามอาการและให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการดูแลผู้ป่วย

ปัญหาที่พบในการดำเนินโครงการ มีดังนี้

1. ครอบครัวยากจนมาก  ไม่มีทุนทรัพย์ที่จะนำไปซื้ออุปกรณ์

2. ผู้ดูแลยังขาดความเข้าใจในการดูแลแบบองค์รวม

3. ไม่ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งในการสนับสนุนด้านวัสดุ อุปกรณ์

4. ผู้ดูแลไม่เห็นความสำคัญของ sterile technique ในการดูดเสมหะ

5. มีปัญหาภายในครอบครัว โดยเฉพาะ ด้านเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ

 

สรุปประเด็นสำคัญจากการนำเสนอของ คุณยุบล  ศรีสังข์

การพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยเด็กระบบทางเดินหายใจเรื้อรังด้วยทีมสหสาขา  โดยดำเนินโครงการบริบาลผู้ป่วยเด็กทางระบบหายใจที่บ้าน  ตั้งแต่เดือนเมษายน 2552  ในหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม 1  มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ 3 ราย   เป็นผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจที่บ้าน 1 ราย  ใช้ออกซิเจนที่บ้าน  2  ราย

กรณีผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจที่บ้าน เป็นเด็กหญิงอายุ 3 ปี 5 เดือน  เป็นโรคปอดอักเสบและไม่สามารถหายใจได้จากภาวะ SMA ในการประชุมทีมสหสาขาโดยใช้หลัก C3THER ทีมสหสาขาประกอบด้วย  แพทย์โรคปอดในเด็ก  แพทย์ประจำหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม 1  หัวหน้าหอผู้ป่วย PICU  หัวหน้าหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม 1   เภสัชกร  อบต.วังโตนด   PCUวังโตนด  เวชกรรมสังคม  นักโภชนาการ  นักสังคมสงเคราะห์  นักกายภาพบำบัดและฟื้นฟู  พยาบาลประจำหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม 1  ในทีมสหสาขาได้ร่วมกันวางแผนการจำหน่าย  ดำเนินการตามแผน  มีการติดตามเยี่ยมบ้าน 3 ครั้ง  พบว่าอาการดีขึ้นตามลำดับ  โดยผู้ป่วยไม่กลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำภายใน 3 เดือน  และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจ

 

สรุปประเด็นสำคัญจากการนำเสนอของ คุณสมฤดี  เลิศงามมงคลกุล

การพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยเด็กระบบทางเดินหายใจเรื้อรังด้วยทีมสหสาขา  สู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้   ในการวางแผนการจำหน่ายผู้ป่วยแต่ละราย  ทีมสหสาขาจะประกอบด้วยใครบ้างขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วย

ขั้นตอนในการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยเด็กโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง  มีดังนี้

1. การประเมินก่อนจำหน่าย  – ควรประเมินความต้องการของผู้ป่วยด้านการรักษา  การบำบัดและฟื้นฟู  ความพร้อมผู้ดูแล/ครอบครัว  ความพร้อมของสถานบริการชุมชน  แหล่งสนับสนุนด้านการเงิน  โดยมีแนวทางในการประเมินปัญหาและความต้องการโดยใช้หลัก C3THER

2. การวางแผนการจำหน่ายทำร่วมกันเป็นสหสาขา – วางแผนการดูแลเฉพาะราย  โดยมีการบันทึกการประเมิน  การสอน  การให้คำแนะนำ  เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดูแล

3. การนำแผนการจำหน่ายไปปฏิบัติ – ประเมินสภาพแวดล้อมภายในบ้าน  การจัดวางอุปกรณ์  ทบทวน/เน้นสิ่งที่สอน  ให้คำแนะนำเพิ่มเติม  การนัดตรวจกับแพทย์  การให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อกับทีม  สร้างความมั่นใจแก่ผู้ดูแลและครอบครัว  การเยี่ยมติดตามอาการที่บ้าน

4. การประเมินผล – มีการประเมินผลตามตัวชี้วัด

พยาบาลเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคระบบทางเดินหายใจ  จากการวิจัยพบว่า รูปแบบการให้ความรู้และการฝึกทักษะผู้ดูแลเพื่อให้สามารถดูแลอย่างต่อเนื่องที่บ้านได้  มีดังนี้

1. การเสริมสร้างพลังใจ  กำลังใจ (Empowerment)

2. การเพิ่มสมรรถนะ  ความมั่นใจด้านการดูแล (Self-efficacy)

3. ระบบการสนับสนุนและให้ความรู้แก่ผู้ดูแล (Supportive-educative system)

 

สรุปประเด็นสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

- การทำงานด้วยใจรัก  เป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินโครงการบริบาลผู้ป่วยเด็กทางระบบหายใจที่บ้านให้ประสบความสำเร็จ ในทีมงานเป็นผู้ที่มีความทุ่มเท  เสียสละเวลา  รักในการทำงาน  และมีความสุขที่ได้เห็นครอบครัวของผู้ป่วยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  จึงพบว่าแม้จะมีอุปสรรคแต่โครงการดังกล่าวยังดำเนินต่อไป

-  โครงการบริบาลผู้ป่วยเด็กทางระบบหายใจที่บ้าน  เป็นโครงการที่ดี  หากมีการรวบรวมข้อมูลในรูปแบบงานวิจัยจะสามารถพัฒนาเป็นโครงการต้นแบบของประเทศได้   โดยนำเสนอไปยัง สปสช. เพื่อของบประมาณสนับสนุนในการดำเนินงาน

-  ปัญหาการขาดแคลนทุนทรัพย์และอุปกรณ์ในการดูแลผู้ป่วยเด็กระบบทางเดินหายใจที่บ้านเป็นปัญหา ที่สำคัญอย่างหนึ่งในการดำเนินโครงการดังกล่าว     ผู้มีจิตศรัทธาสามารถติดต่อขอบริจาคเงินหรืออุปกรณ์ในการดูแลผู้ป่วยเด็กระบบหายใจที่บ้านได้   ตามใบรับบริจาคโครงการบริบาลโรคทางเดินหายใจในเด็ก แผนกกุมารเวชกรรม  รพ.พระปกเกล้า

- ค่าใช้จ่ายในการดูแลควรมีองค์กรรับผิดชอบ  โดยมีความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่และมีการส่งต่อตามขั้นตอน

- ควรมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อเน้นไม่ให้มีการเจ็บป่วย

- ควรมีการใช้สื่อต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์ในการหาทุนสนับสนุน  โดยสอบถามความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวด้วย

- การติดตามเยี่ยมอาการผู้ป่วยบ่อยแค่ไหนหรือติดตามอย่างไร   จะดูตามสภาพของผู้ป่วย   โดยพยาบาลในทีมเปิดรับโทรศัพท์ตลอด 24 ช.ม. หากมีปัญหาสงสัยสามารถสอบถามได้   และมีการให้คำแนะนำในการไปรับบริการที่สถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อความสะดวกของผู้ป่วย

- ปัญหาผู้ดูแลไม่เห็นความสำคัญของ sterile  technique ในการดูแลผู้ป่วยเด็กระบบหายใจ  แต่ยังไม่มีปัญหาการติดเชื้อเกิดขึ้น  มีหลายปัจจัยด้วยกัน  เช่น  อุปกรณ์ในการดูแลผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจผ่านความร้อน 70 องศาเซลเซียส สามารถใช้ได้อีก   ระบบภูมิคุ้มกันในตัวผู้ป่วย   ความรุนแรงของเชื้อที่มีการปนเปื้อน  เป็นต้น  ซึ่งพบว่าเชื้อโรคในโรงพยาบาลจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงกว่า  ดังนั้นผู้ป่วยที่สามารถกลับบ้านได้การให้ผู้ป่วยไปนอนพักฟื้นที่บ้านโดยมีญาติคอยดูแลด้วยความรักและเอาใจใส่จึงเป็นผลดีกับผู้ป่วยมากกว่า

 

แนวทางการนำผลการประชุมไปใช้ จากการประชุมครั้งที่ 6

  1. ในการเรียนการสอนเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยเด็กระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง  อาจารย์ผู้สอนควรมีการเน้นประเด็นสำคัญในการให้คำแนะนำผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยเด็กทางเดินหายใจที่บ้าน  เพราะมีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยลักษณะนี้ในชุมชนมากขึ้นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ดังนั้น นักศึกษาควรมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถให้คำแนะนำแก่ญาติผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ครอบคลุม รวมทั้งควรเรียนรู้ระบบการทำงานที่ต้องมีการประสานงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังเนื้อหาที่วิทยากรนำเสนอ
  2. อาจารย์ของวิทยาลัยและทีมผู้ดูแลผู้ป่วยเด็กระบบทางเดินหายใจของโรงพยาบาล  อาจร่วมกันทำวิจัยหรือโครงการเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

 

 

รัชชนก  สิทธิเวช

ผู้บันทึกการประชุม

 

 

Print Friendly
ผู้เขียน อ.รัชชนก สิทธิเวช (ประวัติการเขียน 28 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล และบริหารวิชาชีพ


Tags: , , , , ,

Comments are closed.