พฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรของอาจารย์พยาบาล
การสังเคราะห์งานวิจัย
เรื่อง พฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรของอาจารย์พยาบาล
โดย ทิพวรรณ ลิ้มประไพพงษ์
มัณฑนา เหมชะญาติ
การสังเคราะห์ผลการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรของอาจารย์พยาบาลนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ของการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรของอาจารย์ในวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี โดยมุ่งวิเคราะห์และสังเคราะห์ในส่วนของผลการวิจัย จากรายงานวิจัยในประเด็นดังกล่าวในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน ๒ เรื่อง คือ (๑) การวิเคราะห์องค์ประกอบพฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรของอาจารย์พยาบาล โดยยศพล เหลืองโสมนภา เบญจวรรณ ทิมสุวรรณ และสาคร พร้อมเพราะ (๒๕๕๑) และ (๒) พฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรของอาจารย์พยาบาลตามการรับรู้ของนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตในโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และโครงการปกติของวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี โดยทองสวย สีทานนท์ และยศพล เหลืองโสมนภา (๒๕๕๓) ผลการสังเคราะห์สรุปได้ดังนี้
พฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรของอาจารย์พยาบาล แบ่งเป็น ๖ องค์ประกอบ ได้แก่ (๑) ส่งเสริมสัมพันธภาพในการช่วยเหลือและไว้วางใจ (๒) สนับสนุนแหล่งทรัพยากรแบบองค์รวม (๓) เสริมสร้างศรัทธาและคุณค่าในตนเอง (๔) สร้างค่านิยมการรับใช้เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น (๕) เป็นแบบอย่างและผู้เสริมพลัง และ (๖) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกระบวนการเรียนการสอน ตามกรอบแนวคิดพฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรซึ่งแบ่งเป็น ๖ องค์ประกอบนี้ เมื่อนำมาใช้ในการศึกษาพฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรของอาจารย์พยาบาลวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ตามการรับรู้ของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ ๔ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ ในภาพรวมและรายองค์ประกอบพบว่าอยู่ในระดับดี โดยนักศึกษาในโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และนักศึกษาในระบบการรับปกติ ซึ่งได้รับการจัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติเหมือนกันตั้งแต่ชั้นปีที่ ๒ ถึง ชั้นปีที่ ๔ มีการรับรู้พฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรของอาจารย์พยาบาลแตกต่างกัน โดยนักศึกษาในระบบการรับปกติรับรู้ว่าอาจารย์พยาบาลมีพฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรทั้งภาพรวมและรายองค์ประกอบ ๖ องค์ประกอบ สูงกว่าการรับรู้ของนักศึกษาในโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในการสังเคราะห์งานวิจัยครั้งนี้ ได้ข้อมูลที่บ่งชี้ว่าการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรของอาจารย์พยาบาลของวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ยังมีจำนวนน้อย ดังนั้น ข้อสรุปจากการสังเคราะห์ผลการวิจัยจึงมีข้อจำกัดตามจำนวนผลงานวิจัย แต่อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ผลการวิจัย ๒ เรื่องนี้ร่วมกัน ช่วยให้เห็นประเด็นสำคัญอย่างน้อย ๒ ประเด็น คือ (๑) กระบวนการพัฒนาเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรของอาจารย์พยาบาลในการวิจัยเรื่องที่ ๑ ซึ่งใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ ๔ ปีการศึกษา ๒๕๔๙ จำนวน ๑,๓๒๐ คน ที่กำลังศึกษาอยู่ในวิทยาลัยพยาบาลสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก อาจเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับนักศึกษาในระบบการรับปกติมากกว่านักศึกษาในโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีผลถึงความแตกต่างในการรับรู้พฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรของอาจารย์พยาบาลตามผลการวิจัยในเรื่องที่ ๒ ฉะนั้น การนำแบบสอบถามเพื่อวัดพฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรของอาจารย์พยาบาลไปใช้ในนักศึกษากลุ่มต่างๆที่มีความแตกต่างไปจากกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยที่ ๑ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึง และ (๒) การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรของอาจารย์พยาบาลในครั้งต่อไปควรใช้แบบสอบถามดังกล่าวกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษาพยาบาลในภาคใต้เพื่อเปรียบเทียบการรับรู้พฤติกรรมการดูแลแบบเอื้ออาทรของอาจารย์พยาบาลตามการรับรู้ของนักศึกษาต่างศาสนาและวัฒนธรรมโดยอาจารย์และนักศึกษาอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งอาจช่วยให้มีข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการพัฒนาเครื่องมือวิจัยให้สอดคล้องกับความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมมากขึ้น