กระบวนการพยาบาล : การนำไปใช้ในคลินิกและการบันทึก

โครงการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยและวิชาการร่วมกับแหล่งฝึก

ระหว่างวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี    และกลุ่มการพยาบาลโรงพยาบาลพระปกเกล้า

ครั้งที่ 5 วันที่ 1 มิถุนายน 2554 เวลา 13.30-16.00 น.

ณ ห้องประชุมชัยสิทธิ์  อาคารวิทยบริการ  โรงพยาบาลพระปกเกล้า

 

เรื่อง กระบวนการพยาบาล : การนำไปใช้ในคลินิกและการบันทึก

วิทยากร ดร.มัณฑนา  เหมชะญาติ  รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและจัดการความรู้

วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี

คุณพรทิพย์ สุขอดิศัย  หัวหน้างานเฉพาะทางศัลยกรรม โรงพยาบาลพระปกเกล้า

ผู้เข้าร่วมประชุม จากวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี จำนวน  28  คน

จากโรงพยาบาลพระปกเกล้า  72 คน

รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด  100 คน

สรุปสาระการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

จุดเริ่มต้นของการพัฒนา ควรเริ่มที่การทบทวนคำถาม เพราะการตั้งคำถาม จะส่งผลต่อพฤติกรรมหรือการปฏิบัติ   คำถามสามารถเปลี่ยนโลกและโลกทัศน์ของคนได้  ตัวอย่างเช่น                     คนสมัยโบราณมักไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง   เริ่มย้ายถิ่นเมื่อความอุดมสมบูรณ์ลดลงไปหาแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า  ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่า   แหล่งน้ำหรือความอุดมสมบูรณ์อยู่    ที่ไหน  จึงต้องเดินทางแสวงหา  แต่หลังจากเปลี่ยนการตั้งคำถาม  ทำอย่างไรจึงจะทำให้พื้นที่ที่เราอยู่มีแหล่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์  จึงหาแหล่งน้ำ  เรียนรู้วิธีเก็บกักน้ำ  ทำการเพาะปลูก  สร้างบ้านสร้างเมืองขึ้น  ดังนั้นการพัฒนากระบวนการพยาบาล  จำเป็นต้องทบทวนหรือเปลี่ยนคำถามเสียก่อน  มิฉะนั้นจะวิ่งวนอยู่ในคำตอบเดิมๆ ที่ไม่มีประโยชน์ ทางเลือกของคำถามพยายามมองไปที่คนอื่นหรือส่วนรวมมากกว่าตัวเอง เช่น เราจะทำอย่างไรเพื่อใช้กระบวนการพยาบาลเกิดประโยชน์สูงสุด   คนอื่นๆคิดอะไร   รู้สึกอย่างไรและต้องการอะไร

กระบวนการพยาบาลคืออะไร

กระบวนการพยาบาลคือ  เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินภาวะสุขภาพ วินิจฉัยและปฏิบัติ              เพื่อตอบสนองความต้องการให้กับผู้รับบริการทั้งที่เจ็บป่วยและสุขภาพดี  ทั้งรายบุคคลและกลุ่มคน

กระบวนการพยาบาลมีความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลอย่างไร

* เป็นเครื่องมือสื่อสารในทีมพยาบาลและทีมสหสาขาวิชาชีพ

* เป็นหลักฐานของการพยาบาลที่สามารถแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรม

* ลดความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนในการดูแลรักษา  ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้

* ใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้ผู้อื่นรู้ว่าพยาบาลทำอะไร

* ช่วยให้การปฏิบัติการพยาบาลมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองตรงความต้องการของผู้รับบริการเฉพาะราย

* ส่งเสริมความต่อเนื่องในการดูแลและสร้างความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการ

* จำเป็นต้องใช้กระบวนการพยาบาลเพราะเป็นมาตรฐานวิชาชีพวิชาชีพ

ส่วนใหญ่จะยากตรงส่วนที่นำกระบวนการพยาบาลไปใช้และการบันทึกทางการพยาบาล

ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลโดยใช้กระบวนการพยาบาล ได้รับประโยชน์แตกต่างจากผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการดูแลโดยใช้กระบวนการพยาบาลหรือไม่อย่างไร

ปัจจุบันกระบวนการพยาบาลจะพัฒนาโดยการใช้ไป  เรียนรู้ไป  ปรับปรุงไป ซึ่งบางครั้งเราไม่สามารถกำหนดได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา  แต่เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะจัดการอย่างไรกับสิ่งนั้นและเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา  มักเป็นช่วงที่ทำให้เราตั้งคำถาม  ถ้าเราตระหนักถึงคำถามที่เราถามเร็วเท่าไร  เราก็ยิ่งมีเวลาเลือกคำถามมากขึ้น  คำถามที่ไม่ได้ถูกถามเปรียบเหมือนประตูที่ไม่ได้ถูกเปิด  เพราะคำถามคือประตูบานใหม่ในจิตใจเราและช่วยขยายขอบเขตของ ความเป็นไปได้ให้กว้างขวางออกไป  การเป็นนักสังเกตการณ์ที่มีใจเป็นกลาง  ติดตามความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของตนเอง  ดูความผิดพลาดของตนเอง  จะเห็นภาพรวมของเรื่อง ไตร่ตรอง  เลือกอย่างรู้ตัว  อย่างตั้งใจแทนการถูกสถานการณ์กระทำ

การพัฒนาการใช้กระบวนการพยาบาลและการบันทึกทางการพยาบาล ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี  เริ่มจริงจังตั้งแต่ปี 2545-2546 สืบเนื่องมาจากผลประเมินคุณภาพว่าพยาบาลยังไม่สามารถให้การพยาบาลได้ครบถ้วนตรงตามความต้องการของผู้รับบริการ พยาบาลไม่ใช้กระบวนการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย หากพยาบาลขาดความรู้เกี่ยวกับกระบวนการพยาบาล ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการดูแลที่ดี สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาการใช้กระบวนการพยาบาล และเห็นว่าพยาบาลต้องให้การพยาบาลตามผลลัพธ์ที่คาดหวัง ให้ตรงตามสภาพของผู้ป่วยแต่ละคน การนำกระบวนการพยาบาลมาใช้โดยมีแบบบันทึกทางการพยาบาลแบบต่างๆ เป็นแบบฟอร์มที่คิดขึ้นมาให้มีความสะดวกต่อผู้ปฏิบัติงาน

ประเด็นคำถามที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

มีผู้ฟังถามถึงข้อมูลที่ควรหรือไม่ควรบันทึกลงในแบบฟอร์ม เช่น nurse’s  note  ควรจะลงข้อมูลยาหรือไม่   เช่น  ฉีดยาอะไรให้คนไข้   คุณจรินทร์หัวหน้าตึกศัลยกรรม 1  ตอบว่าหากเป็น High alert drug  ควรลงและให้เขียนการพยาบาลเมื่อให้ยาชนิดนั้นๆด้วย

ในประเด็นนี้มีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าควรลงกิจกรรมการพยาบาลให้ถูกต้องและตรงกับสภาพปัญหาของผู้ป่วยด้วย

คำถามเกี่ยวกับหัวข้อในแบบฟอร์ม Problem list ว่าหัวข้อการวินิจฉัยการพยาบาล ควรจะขึ้นก่อนการวางแผนการพยาบาล  ซึ่งประเด็นนี้มีผู้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางทั้งเห็นตรงกันและเห็นต่างกัน  เช่น อ.ทิพวรรณ และ คุณนิวัฒน์ (หัวหน้าตึกสงฆ์) แสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยที่จะเรียงข้อวินิจฉัยการพยาบาลก่อนแล้วจึงตามด้วยการวางแผนการพยาบาลไม่เช่นนั้นก็เหมือนกับทำงานไปโดย routine เขียนการพยาบาลโดยไม่เข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงของผู้ป่วย  ส่วนผู้ที่มีความเห็นแตกต่าง คุณพรทิพย์  ผู้นำการแลกเปลี่ยนได้เชิญให้ผู้ปฏิบัติบางท่านได้แสดงความคิดเห็น  ซึ่งบางท่านคิดว่าเวลาในการดูแลผู้ป่วยที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วย  หากแบบฟอร์ม   มีความยุ่งยากซับซ้อน  ก็จะไม่สะดวกในการลงบันทึก  และคิดว่าแบบฟอร์มนี้สะดวกแก่พยาบาลผู้ใช้งาน  เพราะคิดว่าข้อวินิจฉัยการพยาบาลตั้งค่อนข้างยากน่าจะเอาไว้ตั้งทีหลังเมื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆได้มากพอแล้ว

หลังจากเสร็จสิ้นการแสดงความคิดเห็นในเรื่องแบบฟอร์มของการบันทึกแล้ว ผู้นำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้สอบถามถึงประเด็นอื่นๆว่ามีท่านใดจะแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมหรือไม่ และสรุปการประชุมโดยบอกว่ากระบวนการพยาบาลยังต้องมีการปรับให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานอีกเพราะยังคงมีประเด็นที่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้อีก

แนวทางการนำผลการประชุมไปใช้ จากการประชุมครั้งที่ 5

  1. ในการเรียนการสอนเกี่ยวกับกระบวนการพยาบาล  อาจารย์ผู้สอนควรศึกษาแนวทางการใช้               กระบวนการพยาบาลและการบันทึกของแต่ละแหล่งฝึก    เพื่อสามารถชี้ประเด็นสำคัญให้นักศึกษาได้เห็นแนวทางในการนำกระบวนการพยาบาลไปใช้ในการปฏิบัติจริง   และให้นักศึกษาได้มีการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับผู้รับบริการแต่ละราย  รวมทั้งสามารถประยุกต์ ใช้กระบวนการพยาบาลได้ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการพยาบาลให้กับผู้รับบริการกลุ่มใดก็ตาม
  2. ควรมีการวิจัยร่วมกันระหว่างอาจารย์พยาบาลกับพยาบาลในแหล่งฝึกเกี่ยวกับการใช้กระบวนการพยาบาลและการบันทึกในคลินิก

 

นางทิพวรรณ   ลิ้มประไพพงษ์

นางสาวจริยาพร  วรรณโชติ

ผู้บันทึก

Print Friendly
ผู้เขียน อ.ทิพวรรณ ลิ้มประไพพงษ์ (ประวัติการเขียน 10 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลมารดา ทารก และการผดุงครรภ์


Tags: , ,

Comments are closed.