โรคเรื้อรังในหญิงตั้งครรภ์ “เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์”

โครงการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยและวิชาการร่วมกับแหล่งฝึก

ระหว่างวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และกลุ่มการพยาบาลโรงพยาบาลพระปกเกล้า

ครั้งที่ 3 วันที่ 21 มีนาคม 2554  เวลา 13.30 -16.00 น.

ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์   วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี

 

เรื่อง โรคเรื้อรังในหญิงตั้งครรภ์ “เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์”

วิทยากร อ.ทิพวรรณ   ลิ้มประไพพงษ์   พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ

ดร. ศรีสุดา   งามขำ  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ

ผู้เข้าร่วมประชุม จากวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี จำนวน  32  คน

จากโรงพยาบาลพระปกเกล้า  12  คน

รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด  44  คน

สรุปสาระการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

สรุปประเด็นสำคัญจาก การนำเสนอของ อ.ทิพวรรณ

เมื่อมีการตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะฮอร์โมนที่สร้างจากรก มีผลต้านฤทธิ์ของอินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น  กรณีที่หญิงตั้งครรภ์มีตับอ่อนที่ทำงานได้ตามปกติ เมื่อเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน  ตับอ่อนจะเพิ่มการผลิตอินซูลิน  มีผลให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 1.5-2.5 เท่า   เพื่อให้เหมาะสมกับน้ำตาลในเลือด  ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ   หญิงตั้งครรภ์ที่ตับอ่อนทำงานไม่ดีก็ไม่สามารถผลิตอินซูลินให้เพียงพอกับระดับของกลูโคสที่มีมากในกระแสเลือดได้   ก็นำไปสู่ซึ่งภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ประเด็นสำคัญในการป้องกันโรคเรื้อรังในหญิงตั้งครรภ์

การป้องกันและดูแลการเกิดเบาหวานในระยะตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่สำคัญ  เพราะเบาหวานสัมพันธ์กับการเกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด  เป็นต้น น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากในช่วงตั้งครรภ์และลดได้ยากในระยะหลังคลอด (BMI >27)   ถ้าเป็นเบาหวานในระยะตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานร้อยละ 50   และถ้าเป็นเบาหวานในการตั้งครรภ์ครั้งแรก  มักจะเกิดเบาหวานซ้ำในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป   การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดบางชนิดส่งผลต่อโรคเบาหวาน  ทารกที่แม่เป็นเบาหวานเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและอาจเป็นเบาหวานในอนาคต  ทารกที่คลอดน้ำหนักตัวน้อย เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานถ้าดูแลไม่เหมาะสม การตั้งครรภ์อายุมากเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานในระยะตั้งครรภ์

สรุปประเด็นสำคัญจาก การนำเสนอของ ดร.ศรีสุดา งามขำ

ข้อบ่งชี้ในการวินิจฉัยโรคเบาหวาน

  1. Fasting plasma glucose มากกว่าหรือเท่ากับ 126  มก/ดล.
  2. มีอาการและอาการแสดงเบาหวานคือ  น้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia)  ปัสสาวะมาก(Polyuria)  กระหายน้ำมาก (Polydipsia)  น้ำหนักลด (Unexplained weight loss)
  3. ผลตรวจ OGTT 2 ชม. ระดับน้ำตาลมากกว่าหรือเท่ากับ 200  มก/ดล.

ผลของโรคเบาหวานต่อร่างกาย   2 แบบ

1.   Macro vascular  disease ผลต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด  นำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง

2.    Micro vascular  disease มีผลต่อ Peripheral vascular disease เส้นเลือดไปไต ตา ระบบประสาท  นำไปสู่การเกิดแผลที่เท้า  โรคไตและตาบอด

การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

  1. การประเมินระยะแรก การคัดกรองอย่างรวดเร็ว
  2. การจัดการโดยใช้ทีมสหสาขา
  3. การควบคุมระดับน้ำตาล  ตัวบ่งชี้ที่สามารถบอกถึงการควบคุมระดับน้ำตาลที่ดีคือ  HBA1C
    1. การรักษาด้วยยาและโภชนบำบัด
    2. การผ่าตัด
    3. การให้สุขศึกษาเพื่อให้ผู้ป่วยดูแลตนเอง
    4. การเพิ่ม Physical activity  เช่น  การเพิ่มการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้มีความเหมาะสม
    5. การประเมินและการดูแลด้านจิตสังคม
    6. การดูแลเมื่อไม่สามารถควบคุมเบาหวานให้ได้ตามเป้าประสงค์
    7. การดูแลเมื่อมีโรคแทรกหรือภาวะแทรกซ้อน
    8. การป้องกันน้ำตาลในเลือดต่ำ
    9. การให้ภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่มีปัญหาเบาหวาน

การแสดงความคิดเห็นจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ดร.ศรีสุดา ชักชวนให้เกิดการทำงานวิจัยร่วมกันระหว่างวิทยาลัยพยาบาลและโรงพยาบาลพระปกเกล้า   เพราะเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีที่สามารถนำมาศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ได้    หากแก้ปัญหาตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ได้  น่าจะสามารถลดอุบัติการณ์ของเบาหวานในวัยผู้ใหญ่ได้ด้วย

คุณวาสนา เห็นด้วยกับการป้องกันเบาหวานในมารดาเพราะจะส่งผลต่อสุขภาพของมารดาและทารก   มารดาที่น้ำหนักขึ้นมากขณะตั้งครรภ์   เด็กจะตัวโต  น้ำหนักมากจะส่งผลต่อสุขภาพของทารกและจะส่งผลต่อการเกิดเบาหวานในเด็กอีกด้วย     หากน้ำหนักของมารดาเพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์มากกว่า 75  กก.  มารดาจะต้องถูกประเมินเบาหวานหลังคลอด 5 สัปดาห์ด้วย  เพราะมีฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์        ที่รบกวนการทำงานของอินซูลิน   การส่งเสริมสุขภาพมารดาและทารกจะช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน     ในวัยเด็กควรสอนมารดาเรื่องการให้อาหารแก่เด็ก    การออกกำลังกายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยป้องกันเบาหวานได้ทั้งแม่และลูก  จากการศึกษาพบว่า   การออกกำลังกาย  5 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอินซูลินในร่างกาย

อ.จันทรมาศ ภาวะโภชนาการของหญิงตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะจากประสบการณ์ การซักประวัติหญิงตั้งครรภ์พบว่ายังขาดความรู้เรื่องโภชนาการ  เช่น ไม่รับประทานของมันแต่ชอบรับประทานไอศครีมเป็นประจำ   โดยไม่คิดว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ

อ.ทิพวรรณ ในช่วงที่ตนเองตั้งครรภ์  ก็มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวเช่นกัน  การรับประทานเนื้อแดงมากแม้ไม่มีติดมัน แต่ก็ทำให้อ้วนเพราะเป็นไขมันอิ่มตัว การป้องกันโรคเบาหวานคือต้องกินอาหารแบบมีไขมันไม่อิ่มตัว  เช่น  น้ำมันข้าวโพด  เม็ดทานตะวัน  ส่วนน้ำมันปาล์มเป็นกรดไขมันอิ่มตัว  ซึ่งเหล่านี้ต่อไปจะต้องมีการสอนหรือให้ความรู้ให้ละเอียดเน้นการนำไปปฏิบัติให้มากขึ้น

คุณสุนันทา สำหรับการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่หน่วยฝากครรภ์  รพ.พระปกเกล้า   พบว่า เมื่อหญิงตั้งครรภ์เป็นเบาหวาน   จะส่งพบแพทย์อายุรกรรมตรวจวินิจฉัยเพื่อพิจารณาให้รักษา ส่งฝ่ายโภชนาการแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารเบาหวาน   โดยการตั้งครรภ์ใน ไตรมาศแรกจะดูระดับน้ำตาล หากไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลได้ตามเกณฑ์   จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ที่ตึกสูติกรรม 3  เพื่อทำการรักษา  เพราะทารกอาจเสี่ยงต่อการเกิด  Hypoglycemia,  RDS, Hyperbilirubinemia  และ Dead fetus ได้

 

แนวทางการนำผลการประชุมไปใช้ จากการประชุมครั้งที่ 3

  1. ในการเรียนการสอนเกี่ยวกับโรคเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์  อาจารย์ผู้สอนควรศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพมารดาและทารกที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์   โดยมีการเน้นประเด็นสำคัญที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในทางปฏิบัติและเหมาะสมกับผู้รับบริการแต่ละราย   โดยเฉพาะการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการที่หน่วยฝากครรภ์
  2. อาจารย์ของวิทยาลัยและพยาบาลของโรงพยาบาล  อาจร่วมกันทำวิจัยหรือโครงการเพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์

 

 

นางสาวจริยาพร  วรรณโชติ

นางรัชชนก   สิทธิเวช

ผู้บันทึก

Print Friendly
ผู้เขียน อ.จริยาพร วรรณโชติ (ประวัติการเขียน 9 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ


Tags: , , , ,

Comments are closed.