การแก้ไขปัญหานักศึกษาที่ไม่เข้าใจวิธีการคำนวณยาชา
วิจัยในชั้นเรียน
ภาควิชาบริหารและพื้นฐานการพยาบาล
วิชา พย. 1425 การรักษาพยาบาลเบื้องต้น
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 4
ชื่อเรื่อง การแก้ไขปัญหานักศึกษาที่ไม่เข้าใจวิธีการคำนวณยาชา
ผู้วิจัย รัชชนก สิทธิเวช
สภาพปัญหา
ในวิชาการรักษาพยาบาลเบื้องต้น เรื่อง การบำบัดทางด้านหัตถการ นักศึกษาต้องสามารถคำนวณยาชาที่ใช้ในการทำหัตถการต่าง ๆ เช่น เย็บแผล เลาะซีสต์ ถอดเล็บ ซึ่งเป็นความรู้ที่ต้องนำไปใช้ในการฝึกปฏิบัติการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ในภาคการศึกษาที่ 2 ต่อไป แต่พบว่ามีนักศึกษา 1 คน ไม่เข้าใจวิธีการคำนวณยาชา ไม่สามารถทำแบบฝึกหัดที่ให้ทำในชั้นเรียนได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหานี้ ก่อนที่จะมีการประเมินผลรายวิชา
วัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหานักศึกษาที่ไม่เข้าใจวิธีการคำนวณยาชา
วิธีดำเนินการ
1. นัดหมายกับนักศึกษาเพื่อพูดคุยและค้นหาสาเหตุของปัญหาที่ทำให้นักศึกษาไม่เข้าใจวิธีการคำนวณยาชา
2. พูดคุยกับนักศึกษาเพื่อหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาการไม่เข้าใจวิธีการคำนวณยาชา โดยให้นักศึกษาทำแบบฝึกหัดการคำนวณยาชาให้ครูดูทีละขั้นตอนประกอบกับให้นักศึกษาพูดขั้นตอนการคิดให้ครูฟังในขณะทำแบบฝึกหัดด้วย เพื่อตรวจสอบว่านักศึกษาไม่เข้าใจในขั้นตอนใด
3. ครูอธิบายเพิ่มเติมในส่วนที่นักศึกษาไม่เข้าใจและไม่สามารถคิดต่อได้ ทีละขั้นตอน
4. ให้นักศึกษาทำแบบฝึกหัดการคำนวณยาชาข้อใหม่เพื่อทบทวนขั้นตอนการคิดในการคำนวณยาชาโดยขณะทำให้ครูดูนักศึกษาพูดขั้นตอนการคิดให้ครูฟังด้วย เมื่อมีข้อผิดพลาดครูสอนเพิ่มเติมอีกครั้ง
5. ครูสรุปขั้นตอนวิธีการคำนวณยาชา และให้นักศึกษาทำแบบฝึกหัดการคำนวณยาชาซ้ำ ข้อเดิมอีกครั้ง จนสามารถทำและพูดอธิบายได้อย่างถูกต้อง
6. ให้นักศึกษาทำแบบฝึกหัดการคำนวณยาชาข้อใหม่เพื่อทบทวนขั้นตอนการคิดในการคำนวณยาชาโดยขณะทำให้ครูดูนักศึกษาพูดขั้นตอนการคิดให้ครูฟังด้วย เพื่อตรวจสอบความเข้าใจของนักศึกษาซ้ำอีกครั้ง เมื่อถูกต้องแล้ว ให้นักศึกษาทำแบบฝึกหัดการคำนวณยาข้อใหม่โดยไม่ต้องพูดให้ครูฟัง
7. ครูตรวจสอบความถูกต้อง และเสริมสร้างกำลังใจให้นักศึกษา และเปิดโอกาสให้สอบถามได้เพิ่มเติม หากก่อนสอบยังรู้สึกว่าไม่เข้าใจวิธีการคำนวณยา
8. ติดตามผลการสอบในเนื้อหาเรื่องการบำบัดทางด้านหัตถการ ข้อที่ถามเกี่ยวกับการใช้และคำนวณยาชา
ระยะเวลา ระหว่างภาคการศึกษาที่ 1 / 2557
ผลการวิจัย
ในการสอนเรื่อง บำบัดทางด้านหัตถการเมื่อพบว่า มีนักศึกษา 1 คน ไม่เข้าใจวิธีการคำนวณยาชา ได้ดำเนินการพูดคุยกับนักศึกษาและผ่านกระบวนการดำเนินงานในข้างต้นแล้วพบว่า นักศึกษาไม่เข้าใจหน่วยของยาชาที่จะใช้ในการคำนวณ ไม่แม่นยำในขั้นตอนวิธีการเทียบบัญญัติไตรยางศ์ และไม่กล้าสอบถามเมื่อไม่เข้าใจ จึงไม่สามารถคำนวณยาชาได้ถูกต้อง แต่เมื่อมีการฝึกทำแบบฝึกหัดซ้ำ ๆ และมีการพูดคุยอธิบายเพิ่มเติม นักศึกษาสามารถทำได้ถูกต้อง การติดตามผลการสอบในเนื้อหาเรื่องการบำบัดทางด้านหัตถการ ข้อที่ถามเกี่ยวกับการใช้และคำนวณยาชา นักศึกษาสามารถทำได้ถูกต้อง
สรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ
จากผลการวิจัยในชั้นเรียนครั้งนี้สรุปได้ว่า การพูดคุยกับนักศึกษาเป็นรายบุคคลจะช่วยทำให้ค้นพบสาเหตุเบื้องต้นในการไม่เข้าใจเนื้อหาวิชาที่เรียนได้ และในการคำนวณยาชา ต้องให้นักศึกษาทำแบบฝึกหัดที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง จึงจะช่วยให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนักศึกษาแต่ละคนมีความแตกต่างกัน บางคนทำ 1 ข้อ สามารถทำได้ถูกต้อง เพราะมีพื้นฐานดี แต่สำหรับ บางคนต้องมีการทำเพิ่มเติม ต้องใช้เวลามากขึ้น จึงจะทำได้ ซึ่งหากครูเข้าใจความแตกต่างเฉพาะบุคคล และนักศึกษากล้าถามในส่วนที่ไม่เข้าใจ จะช่วยทำให้นักศึกษามีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นและสามารถบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ได้