การแก้ไขปัญหานักศึกษาที่สอบครั้งแรกไม่ผ่านแต่คิดว่าตนเองสอบผ่าน
วิจัยในชั้นเรียน
ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล
วิชา พย.1425 การรักษาพยาบาลเบื้องต้น
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 4
ชื่อเรื่อง การแก้ไขปัญหานักศึกษาที่สอบครั้งแรกไม่ผ่านแต่คิดว่าตนเองสอบผ่าน
ผู้วิจัย รัชชนก สิทธิเวช
สภาพปัญหา
วิชาการรักษาพยาบาลเบื้องต้น เป็นวิชาหนึ่งที่ใช้สอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ดังนั้นหากนักศึกษาสอบไม่ผ่านในรายวิชานี้อาจส่งผลสืบเนื่องไปถึงผลสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ ซึ่งในการสอบประเมินผลครั้งแรกของวิชาการรักษาพยาบาลเบื้องต้น พบว่ามีนักศึกษาที่สอบครั้งแรกไม่ผ่านแต่คิดว่าตนเองสอบผ่าน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสอบครั้งต่อไป
วัตถุประสงค์ เพื่อให้นักศึกษาสอบผ่านในการสอบครั้งที่สอง
วิธีดำเนินการ
1. นัดหมายกับนักศึกษาเพื่อพูดคุยและค้นหาสาเหตุของปัญหาที่ทำให้นักศึกษาสอบไม่ผ่านในการสอบครั้งแรกแต่คิดว่าตนเองสอบผ่าน
2. พูดคุยกับนักศึกษาเพื่อหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทำให้นักศึกษาสอบไม่ผ่านในการสอบครั้งแรกแต่คิดว่าตนเองสอบผ่าน เพื่อให้สอบผ่านในการสอบครั้งที่สอง
3. ติดตามผลการสอบครั้งที่สอง
ระยะเวลา ระหว่างภาคการศึกษาที่ 1 / 2555
ผลการวิจัย
เมื่อพูดคุยกับนักศึกษาพบว่ามีนักศึกษา 1 คน ที่สอบไม่ผ่านในการสอบครั้งแรกแต่คิดว่าตนเองสอบผ่าน คือเนื้อหาในเรื่องการดูแลรักษาด้านอายุรกรรม ซึ่งไม่แม่นยำในส่วนของ การวินิจฉัยโรคเบื้องต้นและการส่งต่อ เพราะเนื้อหาที่สอบในครั้งแรกมีจำนวนมากจึงทบทวนได้ไม่มากพอทำให้เข้าใจผิดคิดว่าตนเองตอบถูกต้อง เมื่อได้พูดคุยเกี่ยวกับการจับประเด็นสำคัญของเนื้อหาและหลักการเตรียมตัวเพื่อความพร้อมในการสอบ และติดตามผลการสอบครั้งที่สองในส่วนของ การดูแลรักษาด้านอายุรกรรม และผลการสอบโดยภาพรวมพบว่า นักศึกษาสอบผ่านและได้คะแนนในการดูแลรักษาด้านอายุรกรรม 14 คะแนนจากคะแนนเต็ม 16 คะแนนคิดเป็นร้อยละ 87.50 จากเดิมสอบได้คะแนน 11 คะแนน จากคะแนนเต็ม 24 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 45.83 ส่วนผลการสอบโดยภาพรวมในการสอบครั้งที่สองได้คะแนน 58 คะแนน จากคะแนนเต็ม 80 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 72.50
สรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ
จากผลการวิจัยในชั้นเรียนครั้งนี้สรุปได้ว่า การพูดคุยกับนักศึกษาเป็นรายบุคคล จะช่วยแก้ไขปัญหานักศึกษาที่สอบครั้งแรกไม่ผ่านแต่คิดว่าตนเองสอบผ่านได้ โดยทำให้นักศึกษาสามารถสอบผ่านได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดในการสอบครั้งต่อไป และสอบผ่านเกณฑ์การประเมินผลของรายวิชาโดยไม่ต้องซ่อมเสริมได้