การแก้ไขปัญหานักศึกษาที่ตรวจสอบชีพจรได้ค่าต่ำกว่าปกติ

วิจัยในชั้นเรียน

ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล

วิชา  พย.1203 หลักการและเทคนิคการพยาบาล

หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต  ชั้นปีที่ 2

ชื่อเรื่อง   การแก้ไขปัญหานักศึกษาที่ตรวจสอบชีพจรได้ค่าต่ำกว่าปกติ

ผู้วิจัย   รัชชนก  สิทธิเวช

สภาพปัญหา

การตรวจสอบชีพจร  เป็นสัญญาณชีพตัวหนึ่ง  ที่นักศึกษาต้องฝึกปฏิบัติในวิชาหลักการและเทคนิคการพยาบาล  ซึ่งเป็นการเรียนในภาคทดลอง  และเป็นทักษะการพยาบาลขั้นพื้นฐาน ทักษะหนึ่งที่สำคัญซึ่งต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง   โดยจะมีเวลาในภาคทดลองเพียง 2 ช.ม. และจะสอบในสัปดาห์ถัดไป   ดังนั้นหากนักศึกษาไม่สามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง  จะเป็นผลเสียสืบเนื่องเมื่อฝึกปฏิบัติในวิชา พย.1204 ปฏิบัติหลักการและเทคนิคการพยาบาลได้

วัตถุประสงค์    เพื่อให้นักศึกษาตรวจสอบชีพจรได้ถูกต้อง

วิธีดำเนินการ

1.  พูดคุยและค้นหาสาเหตุของปัญหาที่ทำให้นักศึกษาตรวจสอบชีพจรได้ค่าต่ำกว่าปกติ

2.  แนะนำหลักการและเทคนิคเพิ่มเติมในการตรวจสอบชีพจร

2.1  ให้เวลาพูดคุยกับนักศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นกันเองมากขึ้น  ให้นักศึกษา                ผ่อนคลายด้วยการให้ใจเข้า- ออกยาวๆ ลึก ๆ ก่อนการปฏิบัติ

2.2  จับเวลาโดยตั้งสติดูเวลาเริ่มต้นนับให้เข็มวินาทีอยู่ที่เลข 6 หรือ 12 และใช้การพยักหน้าแทนการพูดว่าเริ่มในการสอบ  เพราะเมื่อฝึกปฏิบัติจริงจะไม่มีการพูดว่าเริ่ม                  หรือพยักหน้าใด ๆ

2.3  หยุดมองนาฬิกาและตั้งสตินับชีพจรตามจังหวะชีพจรที่สัมผัสกับปลายนิ้วต่อไปเรื่อย ๆ

2.4  เมื่อนับได้ระยะหนึ่งประมาณ 30 ครั้ง ให้มองดูนาฬิกาอีกครั้ง  เพื่อจะกะระยะเวลาได้ใกล้เคียงกับเวลา 1 นาที  เมื่อใกล้ครบ 1 นาที เหลืออีกประมาณ 5 วินาที              จึงให้มองนาฬิกาได้  (เมื่อฝึกซ้ำบ่อย ๆ จะสามารถทำได้ดีขึ้นเองเพราะเริ่มเกิดทักษะมากขึ้น)  3.  ให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติซ้ำกับเพื่อนหลาย ๆ คน  และให้อาจารย์ตรวจสอบอีกครั้ง จนกว่าจะปฏิบัติได้ถูกต้อง  เมื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง อาจารย์ชมเชย ให้กำลังใจ  และเสริมสร้างความมั่นใจว่านักศึกษาจะทำได้ถูกต้องเมื่อปฏิบัติจริงในวันสอบและครั้งต่อไป

4.  แนะนำให้หมั่นฝึกปฏิบัติเป็นประจำเมื่อกลับไปอยู่ที่หอพัก  หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมให้

สอบถามอาจารย์ได้อีกครั้งก่อนสอบ

5.  ติดตามผลการสอบในสัปดาห์ถัดไป

ระยะเวลา    ระหว่างภาคการศึกษาที่ 1 / 2557

ผลการวิจัย
ในการสอนวิชา พย. 1203 หลักการและเทคนิคการพยาบาล ภาคทดลอง  พบว่ามีนักศึกษา 2 คน  เมื่อผ่านกระบวนการเรียนการสอนตามปกติเหมือนเพื่อนคนอื่นแล้ว  มีนักศึกษาที่ตรวจสอบชีพจรได้ค่าต่ำกว่าปกติ 2 คน  โดยปฏิบัติซ้ำ 3 ครั้ง  ก็ยังได้ค่าต่ำกว่าปกติ  เมื่อพูดคุยกับนักศึกษาพบว่านักศึกษามีความตื่นเต้นเมื่อต้องตรวจสอบชีพจรของเพื่อน  และจะรู้สึกเกร็งเมื่ออาจารย์เริ่มตรวจสอบด้วยโดยการให้นักศึกษาบอกว่าเริ่ม  ซึ่งเป็นการเริ่มต้นจับเวลาให้ตรงกันระหว่างอาจารย์และนักศึกษา  ซึ่งจะมีค่าแตกต่างกันได้เพียง  2 ครั้งต่อนาที  จึงจะได้ค่าคะแนนเต็มตามข้อตกลงร่วมกัน  นอกจากนี้นักศึกษามองนาฬิกาตลอดเวลาในการจับชีพจรทำให้เผลอนับค่าตามเข็มวินาที  เมื่อดำเนินการตามวิธีการข้างต้นแล้ว  ติดตามผลในสัปดาห์สอบพบว่านักศึกษาทั้ง 2 คน สามารถตรวจสอบชีพจรได้ถูกต้อง
สรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ
จากผลการวิจัยในชั้นเรียนครั้งนี้สรุปได้ว่า  การเกิดทักษะในนักศึกษาแต่ละคนใช้เวลาต่างกัน  การให้นักศึกษารู้สึกผ่อนคลาย  คุณลักษณะของอาจารย์  เงื่อนไขต่าง ๆ ที่ตั้งร่วมกัน  มีผลต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา   อาจมีความยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม   เทคนิคการพยาบาลแตกต่างกันได้ในแต่ละบุคคล   แต่ต้องอยู่บนหลักการเดียวกัน

 

Print Friendly
ผู้เขียน อ.รัชชนก สิทธิเวช (ประวัติการเขียน 28 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล และบริหารวิชาชีพ


Tags: , , ,

Comments are closed.