ความสำคัญของการสะท้อนคิด

ความสำคัญของการสะท้อนคิด

        การใช้การสะท้อนคิดในการศึกษาพยาบาล และการปฏิบัติการพยาบาล มีบทบาทสำคัญในการทำให้นักศึกษาพยาบาลเรียนรู้และถูกกระตุ้นท้าทายให้ “คิดแบบพยาบาล” (think like a nurse) ไม่ใช่แต่เพียงการท่องจำความรู้ที่ถ่ายทอดจากความจำและริมปากของครูผู้สอน เพื่อนำเอาไปสอบเท่านั้น ช่วยให้การเรียนพยาบาล และการปฏิบัติเกิดความหมาย (meaningful) และเมื่อการกระทำต่างๆ การเรียนรู้มีความหมายขึ้นในจิตใจแล้ว การเรียนรู้และการคงอยู่ในวิชาชีพก็สูงขึ้นด้วย การสะท้อนคิดเป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมความรู้เข้ากับการปฏิบัติอย่างมีความหมายที่แท้จริง ช่วยให้เกิดการทบทวนความรู้จากประสบการณ์ (experiential knowledge) และช่วยให้เกิดการสั่งสมความรู้ในตัวบุคคล (tacit knowledge) การใช้การสะท้อนคิดมาบูรณาการในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนพยาบาล และพัฒนาการปฏิบัติการพยาบาล จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและไม่ควรมองข้าม การสะท้อนคิดได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวาง และได้รับการยอมรับว่าทำให้การเรียนการสอน และการปฏิบัติการพยาบาลเกิดความหมายขึ้นในจิตใจของผู้เรียนและของพยาบาล (make sense of the experience) ทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างตื่นตัว พัฒนาตัวเองเป็นพยาบาลที่ดีได้อย่างชัดเจน และทำให้พยาบาลลาออกหรือทิ้งงานการพยาบาลน้อยลง มีการให้พยาบาลด้วยหัวใจมากขึ้น เป้าหมายของการศึกษาคือ ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง (transformative education)

 

องค์ประกอบสำคัญของการสะท้อนคิด

        การสะท้อนคิดเกิดขึ้นเมื่อมีการคิดอย่างใคร่ครวญ การคิดรอบด้าน การคิดทบทวนถึงสิ่งที่เราคิด Dewey (1933) ให้ความหมายไว้ว่า … the active, persistent, and careful consideration of beliefs supported by knowledge and the resulting conclusions. The goal was learning how to think to be able to discriminate which beliefs are based on tasted evidence.

        การสะท้อนคิดจึงประกอบด้วย และนำไปสู่ การเปิดใจกว้าง ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทบทวนเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวคิดและการปฏิบัติที่ดีกว่าเดิมอยู่เสมอ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการยอมรับผลจากการกระทำของตนเอง

        การสะท้อนความคิดอย่างเข้มข้นลึกซึ้งจนเกิดการเรียนรู้ และเกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีกว่าเดิม เกิดขึ้นได้จากการตั้งคำถาม การตั้งโจทย์ ที่ทำให้คิดใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง (The first step of raising change is asking critical questions.) และที่สำคัญผู้สอนจะต้องตระหนักว่า asking a question (การถามเพื่อหาข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้ตามตารา) นั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจาก questioning ซึ่งหมายถึง inquiry คือการถามเพื่อให้เกิดการคิดอย่างลึกซึ้ง เพราะครูต้องตระหนักว่าการที่ผู้เรียนตอบคำถามได้ไม่ได้หมายความว่าเขารู้ว่าทำไมจึงปฏิบัติเช่นนั้นเสมอไป นอกจากนี้จะต้องมีการปฏิสัมพันธ์กันอย่างเต็มที่ของทั้งฝ่ายผู้สอนและผู้เรียน ซึ่งมักจะใช้คำว่า “engagement” หรือ “presencing” คือการใส่ใจ ใส่สติและความคิดให้กับการปฏิสัมพันธ์กันอย่างเต็มที่ในการมี “dialogue” ร่วมกัน การฟัง การถาม-ตอบ และการคิดอย่างลึกซึ้ง

        ในการจัดการศึกษาของวิชาชีพ ที่ใช้การสะท้อนคิด ประกอบด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์โดยพิจารณาอย่างเป็นระบบในส่วนของความเชื่อ ความรู้ ที่ได้รับการเปรียบเทียบในแต่ละสถานการณ์ ทำความเข้าใจและเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานเพื่อที่จะได้งานที่ประสบความสำเร็จมากขึ้น มีประสิทธิภาพและพึงพอใจมากขึ้นในการทำงาน ซึ่งมาจากการคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับความคิด และวิธีคิดของตนเอง

        เป็นการเรียนรู้จากการมองชีวิตด้านในของตนเอง พิจารณาอย่างใคร่ครวญถึงความเชื่อ หรือความรู้ของตนเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ ยกระดับความตระหนักรู้เกี่ยวกับทางเลือกของการกระทำที่ดีกว่าเดิมในอนาคต ติดตามปฏิกิริยาตอบสนองของตนเอง ความตั้งใจ สติ ความรู้สึกตัว และการกระทำจากเจตนาต่างๆ ของตน การเพิ่มขึ้นของระดับความตระหนักรู้ในตนเอง และการมองสิ่งต่างๆ จากมุมมองอื่นๆ อย่างรอบด้าน จะช่วยให้ผู้เรียนมีการพัฒนาอย่างชัดเจน และเป็นหนทางการพัฒนามือใหม่สู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ในการปฏิบัติการพยาบาลในอนาคต

ลำดับของการกระตุ้นให้เกิดการสะท้อนคิดอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย

1. Describe what happen

2. Examine feelings

3. Evaluate negative and positive of the event

4. Analyze to determine sense-making

5. Ask what else could you have done?

6. Set action plan for future occurrences

 

การประยุกต์ใช้ Reflective thinking ในการจัดการศึกษาพยาบาล

การประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนภาคทฤษฎี

        ครูควรสร้างสรรค์กิจกรรมที่ให้นักศึกษาสะท้อนความคิดเป็นระยะๆ ตลอดเวลาของการสอน ไม่ใช่ยึดการสอนแบบบรรยายเป็นหลัก การให้นักศึกษาสะท้อนคิดเพื่อสร้างความหมายของความรู้ให้เกิดขึ้นในใจของผู้เรียน อาจให้ผู้เรียนร่วมทำกิจกรรมเป็นรายบุคคล หรือรายกลุ่ม แล้วให้นักศึกษาแบ่งปันความรู้ที่เกิดขึ้นในจิตใจของนักศึกษา ให้เพื่อนในชั้นเรียนได้ร่วมเรียนรู้ด้วย สิ่งที่ผู้สอนสามารถนำมาใช้กระตุ้นการสะท้อนคิดได้ ได้แก่ คำถามสำคัญ การใช้อินเตอร์เน็ต การเรียนแบบโมดูล การเรียนแบบ problem-based learning การเล่าเรื่อง (narrative pedagogies) การอ่านเพื่อตอบคำถามที่กำหนด การใช้ unfolding case studies ที่ครูค่อยๆ ให้ข้อมูลให้ผู้เรียนคิดเป็นลำดับต่อเนื่องเป็นชุดไป การเรียนแบบ case analysis การทำสมาธิเพื่อพัฒนาสติการรู้ตัวทั่วพร้อม ซึ่งแต่ละกลยุทธ์ผู้สอนตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ไว้แล้วออกแบบการเรียนพร้อมวิธีการวัดและประเมินผลไว้อย่างสอดคล้องกัน

        หนทางการเกิดความรู้ขึ้นภายในจิตใจของผู้เรียนมีได้หลายรูปแบบ (Aesthetics knowing, Personal way of knowing, Ethical way of knowing, Empirical knowing, Reflexivity) ซึ่งครูสามารถประยุกต์แต่ละรูปแบบการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นโดยการตั้งคำถามแบบต่างๆ เช่น การกระตุ้นให้นักศึกษาหาข้อมูลสนับสนุนความคิดของตนเองโดยการให้มองภาพศิลปะ และถามว่าผู้เรียนเห็นอะไร ผู้เรียนจะเรียนรู้ว่าคนอื่นเห็นไม่เหมือนกับที่ตนเห็น ผู้เรียนจะพัฒนาการพูดความคิดของตนโดยไม่ตัดสินถูกผิดในตัวผู้อื่น และโดยการอ้างอิงว่าอะไรทำให้คิดเช่นนั้น รวมทั้งการเปิดใจกว้าง ทักษะการสื่อสาร และการตระหนักรู้ในตนเองมากขึ้น เป็นต้น

        สิ่งสำคัญที่ผู้นำด้านการศึกษาการพยาบาลต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งยวด คือ ลดการบรรยายประกอบ powerpoint ลงให้น้อยที่สุด เนื่องจากการถ่ายทอดเนื้อหาต่างๆ ให้นักศึกษาด้วยวิธีดังกล่าว ไม่สามารถทำให้นักศึกษานำเนื้อหาที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานพยาบาลได้ และนักศึกษามักจะตอบคำถามขณะฝึกปฏิบัติงานในคลินิกไม่ได้ แต่ควรสอนด้วยการแก้ปัญหาจากโจทย์สถานการณ์ โดยครูถามคำถามให้นักศึกษาคิดแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ และสามารถตอบคำถามได้อย่างถูกต้อง คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น นั่นหมายถึงการสอนชั้นเรียนที่เน้นสอนเรื่องราวที่จะต้องประสบจริงๆ ในคลินิก ไม่ใช่ถ่ายทอดเนื้อหาที่ต้องจำจากตารา เช่น การสอนการพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางระบบประสาท อาจใช้ 2 กรณีศึกษา คือ (1) Stroke และ (2) Spinal cord injury เพื่อถามคำถามชักนำให้นักศึกษาเรียนรู้ทุกประเด็นของการพยาบาลผู้ป่วยระบบประสาท แทนที่จะบรรยายเป็นเวลา 4-6 ชั่วโมงในเนื้อหาเรื่องนี้ แล้วก็จัดสอบเพียงเพื่อที่จะให้นักศึกษาถ่ายทอดกลับมาที่ครูว่านักศึกษาจำอะไรได้มากแค่ไหนจากการฟังบรรยาย

        การสะท้อนความคิดเพื่อให้นักศึกษาเกิดการดูแลสุขภาวะของตนเอง นับเป็นวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนการสอนพยาบาลด้วย การฝึกให้นักศึกษาตระหนักรู้ในตน และสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้เป็นอย่างดี เป็นความสำเร็จสำคัญของการศึกษาที่ใช้การสะท้อนความคิดเป็นแกนในการจัดการเรียนการสอน

 

การประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนภาคทดลอง

เมื่อมีการเรียนการปฏิบัติการพยาบาลภาคทดลองกับหุ่นทดลองและอุปกรณ์ต่างๆ (simulation) ผู้สอนจะต้องนำให้นักศึกษาเกิดการสะท้อนคิดในทุกระยะของการเรียนรู้ดังนี้

1. Reflection before action (Pre-simulation) ครูสร้างคำถามให้ผู้เรียนเตรียมการเพื่อการปฏิบัติการพยาบาลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ การป้องกันอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

2. Reflection in action (Intra-simulation) ครูสร้างคำถามให้ผู้เรียนคิดใคร่ครวญขณะปฏิบัติการพยาบาล ทางเลือกและเหตุผลต่างๆ การแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า

3. Reflection on action (Post-simulation or Debriefing) ช่วงนี้ถือเป็นช่วงสำคัญที่สุด ครูสร้างคำถามให้ผู้เรียนทบทวนการปฏิบัติการพยาบาลที่เสร็จสิ้นลงไปหมาดๆ เพื่อให้นักศึกษาสะท้อนความคิด เห็นการกระทำและความคิดของตนเอง ข้อดี ข้อด้อย การปรับปรุงในอนาคต การรับฟังความคิดเห็นจากผู้สังเกต การสรุปเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นภายในตนเอง

4. Reflection beyond action (What if apply to clinical practice) ครูสร้างคำถามให้ผู้เรียนสะท้อนความคิดในการนำไปปฏิบัติจริงในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อเตรียมผู้เรียนสู่ชีวิตจริง ซึ่งไม่ใช่ห้องทดลอง

 

การประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ

        สิ่งสำคัญที่สุดคือการไม่ปล่อยให้แต่ละวันของการฝึกปฏิบัติผ่านไป หรือจบสิ้นลงโดยครูไม่ได้กระตุ้นให้นักศึกษาสะท้อนความคิดเลย โดยปกติเรามักจะทำให้ช่วง post-conference นั่นเอง แต่ครูควรฝึกตนเองให้สามารถกระตุ้นการสะท้อนความคิดอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เพียงการให้นักศึกษารายงานว่า วันนี้ได้ทำอะไรไปบ้างเท่านั้น ครูจะต้องมีคำถามสำคัญที่ทำให้นักศึกษาคิดอย่างลึกซึ้งและเกิดการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติให้ดีขึ้นกว่าเดิม มีความรู้และทัศนคติที่ดีกว่าเดิมทุกๆ วัน เช่นการให้นักศึกษาเขียน journal เมื่อสิ้นสุดการฝึกแต่ละวันว่า นักศึกษาได้เรียนรู้อะไรที่สำคัญที่สุดในวันนี้ หากมีความคิดขัดแย้งการมองในมุมมองอื่นๆ มีอะไรบ้าง ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น และจะปรับปรุงตนเองอย่างไร การบอกความสำเร็จที่ภูมิใจมากที่สุดในมุมมองของตนเอง ในมุมมองของคนรอบข้าง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตนความตั้งใจในอนาคต เป็นต้น

        การออกแบบการสะท้อนคิดในคลินิก ผู้สอนจะต้องมีการออกแบบอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่การทำแบบสุ่ม และซ้ำซ้อน แต่ออกแบบอย่างดีเพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน เพราะการไม่ออกแบบแต่ทำแบบสะเปะสะปะ จะก่อเกิดความรู้สึก “ไร้ประโยชน์” ขึ้นทั้งในตัวผู้สอนและผู้เรียน และไม่เกิดผลการพัฒนาที่ชัดเจน การออกแบบการเรียนการสอนอย่างดี และปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดความสุข ความภูมิใจในทุกฝ่าย นักศึกษาเกิด professional maturity และไม่เป็น passive learner อีกต่อไป การออกแบบการสะท้อนคิดหลังการฝึกปฏิบัติ อาจใช้รูปแบบที่เรียกว่า Debriefing for Meaningful Learning (DML) ซึ่งหลายท่านคงทำอยู่แล้วในช่วง post-conference แต่อาจจะต้องออกแบบกระดาษที่ทำให้นักศึกษาคิดตอบอย่างเป็นระบบให้มากขึ้น

ขั้นตอนการกระตุ้นให้ผู้เรียนสะท้อนคิดในคลินิก อาจทำได้โดยแนะนำผู้เรียนให้ทำดังนี้

1. Noticing สังเกตและรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น

2. Interpreting ทำความเข้าใจ ตีความว่าควรทำอย่างไรที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

3. Responding ตัดสินใจกระทำการที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในสถานการณ์นั้นๆ

4. Reflecting เรียนรู้การตอบสนองของผู้ป่วย ผลของการกระทำ ผลงานการพยาบาลของตน ใคร่ครวญ ทบทวนเพื่อการพัฒนา

 

ระดับของการสะท้อนคิดในการฝึกภาคปฏิบัติ ซึ่งผู้สอนต้องชักนำให้เกิดในตัวผู้เรียนอย่างเป็นระบบ มีดังนี้ Level of Reflection Model of reflection Stage of Development Examples of Critical Questions
Description Reflective journal,Reporting incidents,Reflection-on-action Practice becomes conscious What do we know about hand-washing?
Dialogic Discourse with peers in various arenas including clinical supervision Practice becomes deliberative Why do we not wash our hands?
Critical Able to provide reasoning for actions by engaging in critical conversations about practice with self and others Transformative practice,Practice improvement,Move to innovation How to change what we can do differently?

การสะท้อนคิดในการฝึกปฏิบัติการพยาบาล อาจทำได้โดยใช้ DEAL model for reflection ดังนี้

  • Describe พรรณนาสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เห็นตามที่เห็นโดยไม่ใส่ความเห็นของตน โดยตอบคำถามพื้นฐาน what?, where?, when?, who?, why?
  • Examine พิจารณาประสบการณ์ที่สะท้อนคิดที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ในแง่ต่างๆ ดังนี้

- Personal growth สะท้อนคิดแล้วเกิดการพัฒนาตนเองโดยส่วนตัวอย่างไร

- Civic engagement สะท้อนคิดว่าคนอื่นๆ คิดเห็นอย่างไร

- Academic enhancement สะท้อนคิดเพื่อการพัฒนาในเชิงความรู้ วิชาการที่เพิ่มพูน หรือเปลี่ยนแปลงไป

  • Articulate Learning สะท้อนคิดการเรียนรู้ของตนจากการถามว่า What did I learn? How did I learn it? Why is it important? What will I do because of it? และอื่นๆ

 

Print Friendly
ผู้เขียน อ.ปาลีรัญญ์ ฐาสิรสวัสดิ์ (ประวัติการเขียน 1 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ


Tags: , , , ,

2 Responses to “ความสำคัญของการสะท้อนคิด”

  1. ยศพล พูดว่า:

    การสะท้อนคิดในการศึกษาพยาบาลน่าจะทำได้ง่าย โดยเฉพาะในรายวิชาที่มีทดลองหรือการปฏิบัติการพยาบาล ด้วยการสะท้อนคิดจากข้อมูลและปัญหาจริงของผู้ป่วยในขณะนั้นๆ หมายถึงสะท้อนข้างเตียงผู้ป่วย ทั้งในแง่มุมของโรค การเชี่อมโยงพยาธิศรีวิทยา แนวทางการรักษาและการพยาบาล ซึ่งเท่าที่ทำมา นักศึกษาพยาบาลจะชอบ เพราะเห็นภาพชัดเจนกว่าการทำ Lab แห้ง

  2. จากประสบการณ์ของตนเองในการกระตุ้นการสะท้อนคิดเพื่อให้นักศึกษาเกิด self awareness ….ครูไม่ควรมองข้ามการกระตุ้นให้สะท้อนคิดในสิ่งที่นักศึกษาทำได้ดี ถูกต้อง เพราะจะทำให้นักศึกษาเกิดความมั่นใจ เพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง อันจะนำไปสู่ทัศนคติที่ดีต่อการให้การพยาบาล หากเป็นไปได้ควรพยายามที่จะกระตุ้นการสะท้อนคิดเพื่อให้นักศึกษาเห็นตนเองในแง่มุมบวกก่อนที่จะกระตุ้นการสะท้อนคิดให้เห้นจุดด้อยของตนเองและแนวทางพัฒนา