การพัฒนาทักษะการสะท้อนคิดของนักศึกษาพยาบาลในรายวิชา พย. 1205 การสอนและการให้คำปรึกษา

ผู้เขียน  อาจารย์เชษฐา  แก้วพรม

 

การพัฒนานักศึกษาพยาบาลให้มีทักษะสะท้อนคิดควบคู่ไปกับการเรียนการสอนในวิชาการสอนและการให้คำปรึกษาทางสุขภาพเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริม เพราะนอกจากจะช่วยพัฒนานักศึกษาพยาบาลให้มีคุณลักษณะของผู้ให้คำปรึกษาที่ดีแล้วยังช่วยให้เกิดการพัฒนาทักษะทางปัญญาด้วย  ทีมวิจัยได้ทดลองแนวคิด “การเขียนบันทึกการเรียนรู้ (Reflective Journal)” มาประยุกต์ใช้ในรายวิชาการสอนและการให้คำปรึกษาทางสุขภาพโดยหวังว่าการเขียนบันทึกการเรียนรู้จะช่วยพัฒนานักศึกษารู้จักคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและเป็นนักสะท้อนคิด (Reflective Practitioner) ในอนาคต

 

การวิจัยในชั้นเรียนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบระดับการสะท้อนคิดของนักศึกษาพยาบาลก่อนและหลังได้รับมอบหมายให้เขียนบันทึกการเรียนรู้ในวิชาการสอนและการให้คำปรึกษา  โดยใช้กลุ่มตัวอย่างนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 2 ข จำนวน 102 คน

 

ทีมผู้สอนกำหนดให้นักศึกษาเขียนบันทึกการเรียนรู้หลังสิ้นสุดการเรียนภาคทดลองแต่ละสาระการเรียนรู้จำนวน 5 ครั้ง ผู้วิจัยใช้แนวคิด Reflective Cycle ของกิบบ์  ในการกำหนดหัวข้อในการเขียนบันทึกการเรียนรู้ของนักศึกษาประกอบด้วย (1) การอธิบายประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนภาคทดลอง (2) การบรรยายความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะเรียน  (3) การวิเคราะห์เชื่อมโยงประสบการณ์กับองค์ความรู้ที่เรียนในภาคทฤษฎี  และ (4) การสรุปการเรียนรู้และวางแผนนำความรู้ไปใช้อนาคต  จากนั้นทีมผู้สอนได้ทำการตรวจบันทึกการเรียนรู้โดยใช้เกณฑ์การให้คะแนนของ Williams และคณะ (2000) เพื่อดูระดับการสะท้อนคิดของนักศึกษา

ผลการวิจัยพบว่าในการเขียนบันทึกการเรียนรู้ครั้งหลังๆ นักศึกษาสามารถเขียนบันทึกการเรียนรู้ที่สะท้อนการคิดในขั้นสูงและมีการเชื่อมโยงได้ดีขึ้น (ดังแสดงในตาราง)  และจากการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนนพบว่าระดับการสะท้อนคิดจากของนักศึกษาในการเขียนบันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 5 สูงกว่าครั้งที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.01)

ระดับการสะท้อนคิด

บันทึกครั้งที่ 1

บันทึกครั้งที่ 5

0) ไม่มีการสะท้อนคิด

15.7

0

1) อธิบายประสบการณ์เรียนรู้

84.3

100

2) อธิบายความรู้สึกที่เกิดขึ้น

43.1

52

3) อธิบายเหตุผลของการกระทำหรือความรู้สึก

41.2

99

4) เชื่อมโยงประสบการณ์กับองค์ความรู้

22.5

92.2

5) สร้างข้อค้นพบหรือสรุปการเรียนรู้ใหม่

18.6

94.1

 

ผลการวิจัยสรุปได้ว่า การเขียนบันทึกการเรียนรู้จะช่วยพัฒนาระดับการสะท้อนคิดและทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักศึกษาได้ (Epp, 2008; Williams & Wessel, 2004) ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับการวิจัยของ Williams & Wessel (2004)  ที่พบว่าการเขียนบันทึกการเรียนรู้จะช่วยพัฒนาทักษะสะท้อนคิดของผู้เรียน  โดยอธิบายว่าทักษะสะท้อนคิดของนักศึกษาเกิดขึ้นในขณะที่นักศึกษาทำการคิดทบทวนประสบการณ์และวิเคราะห์เชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อนำมาเขียนในบันทึกการเรียนรู้  นอกจากนี้การที่ผู้สอนนำประเด็นที่พบในบันทึกการเรียนรู้มาใช้เป็นหัวข้อในการอภิปรายเชิงลึกก็ช่วยให้นักศึกษาเกิดการพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงได้

 

สถาบันการศึกษาพยาบาลควรส่งเสริมให้อาจารย์นำกลยุทธ์การเขียนบันทึกการเรียนรู้ไปใช้เพื่อส่งเสริมทักษะสะท้อนคิดให้กับนักศึกษา โดยเฉพาะรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลที่คาดหวังให้นักศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง  เพราะการเขียนบันทึกการเรียนรู้จะช่วยให้นักศึกษานำประสบการณ์ที่พบในระหว่างเรียนมาทบทวนคิดวิเคราะห์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในความรู้และการกระทำของตนเอง (ศิราณี  เก็จกรแก้ว, 2552) และเป็นการปลูกฝังนิสัยให้เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (Thorpe, 2004)

Print Friendly
ผู้เขียน ดร.เชษฐา แก้วพรม (ประวัติการเขียน 2 เรื่อง)


Tags: , , ,

Comments are closed.