การพัฒนาการสะท้อนคิดของผู้เรียนโดยใช้รูปแบบการประชุมปรึกษากรณีศึกษาที่กระตุ้นการสะท้อนคิด

โครงการวิจัยในชั้นเรียน

ชื่อเรื่องวิจัย          การพัฒนาการสะท้อนคิดของผู้เรียนโดยใช้รูปแบบการประชุมปรึกษากรณีศึกษาที่กระตุ้นการสะท้อนคิด

ผุ้รับผิดชอบ         อาจารย์อรัญญา บุญธรรม

ความเป็นมาและความสำคัญ           มาตรฐานผลการเรียนรู้หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ กำหนดมาตรฐานผลการเรียนรู้ 6 ด้าน ที่สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิอุดมศึกษาแห่งชาติ โดยทักษะทางปัญญาเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่กำหนดไว้ในลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของสาขาพยาบาลศาสตร์ นอกจากนี้วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี ยังได้กำหนดให้การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นเอกลักษณ์ของบัณฑิตอีกด้วย จากประสบการณ์การสอนนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ที่ผ่านมาพบว่านักศึกษายังมีปัญหาในเรื่องของการคิดอย่างเป็นระบบ ในการเรียนภาคปฏิบัติในวิชา พย.1208 การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันการเจ็บป่วย ซึ่งนักศึกษาต้องทำรายงานกรณีศึกษาคนละ 1 ราย  ผู้สอนจึงได้ออกแบบการประชุมปรึกษากรณีศึกษาที่กระตุ้นการสะท้อนคิดของผู้เรียน

วัตถุประสงค์ของการวิจัย                เพื่อพัฒนาการสะท้อนคิดของนักศึกษาโดยใช้รูปแบบการประชุมปรึกษากรณีศึกษาที่กระตุ้นการสะท้อนคิดของผู้เรียน

กลุ่มตัวอย่าง                        นักศึกษาปี 2ข ปีการศึกษา 2555 ที่ฝึกภาคปฏิบัติในวิชาพย.1208 การสร้างเสริม  สุขภาพและการป้องกันการเจ็บป่วย รวมจำนวน 23 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

  1. เอกสารชี้แจงในการประชุมปรึกษากรณีศึกษา
  2. แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการประชุมปรึกษากรณีศึกษาที่กระตุ้นการสะท้อนคิดของผู้เรียน

งบประมาณที่ใช้ในการทำวิจัย    ไม่มี

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

อาจารย์ผู้สอนมีแนวทางและทางเลือกในการสอนเพื่อพัฒนาการสะท้อนคิดของผู้เรียนเพิ่มขึ้น

วิธีดำเนินการวิจัย

ระยะเตรียมการ

  1. เตรียมเอกสารชี้แจงในการประชุมปรึกษากรณีศึกษา และ แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการประชุมปรึกษากรณีศึกษาที่กระตุ้นการสะท้อนคิดของผู้เรียน
  2. อธิบายวัตถุประสงค์ของการออกแบบการประชุมปรึกษากรณีศึกษาที่กระตุ้นการสะท้อนคิดของผู้เรียน
  3. เตรียมนักศึกษาโดยการแจกเอกสารชี้แจงในการประชุมปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย
    1. ขั้นตอนการรายงานกรณีศึกษา
    2. บทบาทผู้นำกลุ่ม
    3. บทบาทสมาชิกที่นำเสนอกรณีศึกษา
    4. บทบาทของสมาชิกกลุ่ม
    5. อธิบายยกตัวอย่างคำถามระดับต่างๆ  ซักถามนักศึกษาเพื่อทบทวนความเข้าใจ

ระยะดำเนินการวิจัย

  1. ให้นักศึกษาเลือกผู้นำการอภิปราย จำนวน 4 คน จากสมาชิกในกลุ่มจำนวน 8 คน การอภิปรายจะแบ่งเป็น 4 ช่วง โดยผู้นำการอภิปรายแต่ละคนจะเป็นผู้นำในการอภิปรายจำนวน 2 case
  2. อาจารย์แจกกระดาษหน้าเดียวที่เย็บชุดละ 3 แผ่น ให้นักศึกษาคนละ 1 ชุด เพื่อจดบันทึกข้อมูลสำคัญและส่งอาจารย์ท้ายชั่วโมง
  3. ผู้นำการอภิปรายคนที่ 1 ดำเนินการโดยให้สมาชิกคนที่ 1 นำเสนอข้อมูลกรณีศึกษาของตนเอง โดยกำหนดเวลาในการนำเสนอรายละ 5 นาที
  4. ผู้นำการอภิปรายกระตุ้นสมาชิกในกลุ่มให้สมาชิกคนอื่นซักถาม และแสดงความคิดเห็น โดยอาจารย์ประจำกลุ่มจะเป็นผู้ซักถามและแสดงความคิดเห็นเป็นคนสุดท้าย ใช้เวลาในช่วงนี้ประมาณ 10 นาที
  5. ดำเนินการตามข้อ 2 และข้อ 3 ในการนำเสนอกรณีศึกษารายที่ 2
  6. เปลี่ยนผู้นำการอภิปรายเป็นคนที่ 2 และดำเนินการนำเสนอกรณีศึกษารายที่ 3 และ4
  7. ให้นักศึกษาเลือกสมาชิกที่ถามคำถามดีหรือแสดงความคิดเห็นได้ดีที่สุดคนละ 3 คน แล้วเขียนชื่อสมาชิกนั้นส่งอาจารย์
  8. อาจารย์อ่านรายชื่อสมาชิกที่ถูกเลือก และให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นและเหตุผลของตนในการเลือกสมาชิก
  9. อาจารย์ชมเชยและให้ข้อมูลป้อนกลับแก่สมาชิกที่ถามคำถามดีหรือแสดงความคิดเห็นได้ดี และให้กำลังใจสมาชิกที่ยังไม่ถูกเลือก
  10. ผู้นำการอภิปรายคนที่ 3 และ 4 ดำเนินการเช่นเดิมดังข้อที่ 3 และ8แต่ในขั้นตอนข้อที่ 4 ผู้นำการอภิปรายจะเปิดโอกาสให้สมาชิกที่ยังไม่ถูกเลือกได้มีโอกาสซักถามและแสดงความคิดเห็นก่อน
  11. ให้นักศึกษาเลือกสมาชิกที่ถามคำถามดีหรือแสดงความคิดเห็นได้ดีที่สุดคนละ 3 คน แล้วเขียนชื่อสมาชิกนั้นส่งอาจารย์
  12. อาจารย์ชมเชยและให้ข้อมูลป้อนกลับแก่สมาชิกที่ถามคำถามดีหรือแสดงความคิดเห็นได้ดี และให้กำลังใจสมาชิกที่ยังไม่ถูกเลือก
  13. อาจารย์ให้สมาชิกในกลุ่มช่วยกันสรุปปัญหาพัฒนาการที่พบบ่อยในเด็กวัยก่อนเรียน ปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการเด็กวัยก่อนเรียน และวิธีการสร้างเสริมสุขภาพเด็กวัยก่อนเรียน
  14. อาจารย์แจกแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการประชุมปรึกษากรณีศึกษาที่กระตุ้นการสะท้อนคิดของนักศึกษา โดยอธิบายให้นักศึกษาเข้าใจวัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูล ความปลอดภัยในการให้ข้อมูล  รวมถึงการนำเสนอข้อมูลในภาพรวมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษารุ่นต่อไป

 

ผลการวิจัย

  1. นักศึกษามีความเห็นว่าการประชุมปรึกษากรณีศึกษาที่กระตุ้นการสะท้อนคิดของนักศึกษารูปแบบนี้มีข้อดี ข้อเสียและข้อเสนอแนะดังนี้ดังนี้

ข้อดี

  1. มีความรู้สึกดีๆ เช่น รู้สึกบรรยากาศเป็นกันเอง ไม่เครียด เพราะผู้นำกลุ่มซึ่งเป็นผู้กระตุ้นถามเป็นเพื่อน นักศึกษาบางคนบอกว่ารู้สึกเหมือนได้มานั่งคุยกับเพื่อนๆ บางคนรู้สึกตื่นเต้นกับรูปแบบการ Conference ที่เปลี่ยนไปจากเดิม
  2.  ทำให้มีสมาธิในการฟังมากขึ้น เพราะรู้ว่าทุกคนจะต้องถูกกระตุ้นถามและแสดงความคิดเห็น
  3. ทำให้กล้าซักถาม และแสดงความคิดเห็นมากขึ้นทำเกิดความภาคภูมิใจ
  4. กล้าแสดงออกมากขึ้น
  5. ทุกคนมีส่วนร่วมในการถาม การแสดงความคิดเห็นทำให้มีมุมมองที่กว้างขึ้น
  6. การออกแบบให้นักศึกษาที่ยังไม่ถูกเพื่อนเลือกในรอบแรกได้มีโอกาสซักถามและแสดงความคิดเห็นก่อนเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากมีโอกาสในการใช้คำถามมากกว่า และเมื่อสามารถตั้งคำถามได้ก็เกิดความมั่นใจและความภูมิใจ
  7. ได้ฝึกการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น เพราะบางคำถามที่ตอบไม่ได้อาจารย์จะให้เปิดหาตอนนั้นเลย หากไม่มีเวลาให้ไปค้นนอกเวลาแล้วเขียนส่งอาจารย์พร้อมกับรายงานกรณีศึกษา
  8. ได้พัฒนาตนเองในเรื่องการเป็นผู้นำการอภิปราย ทำให้มีความมั่นใจเพิ่มขึ้น
  9. การแจกกระดาษให้ผู้เรียนจดบันทึกสาระสำคัญและส่งอาจารย์ท้ายชั่วโมง ทำให้ผู้เรียนทุกคนตื่นตัว ไม่ง่วง ไม่หลับ ตลอดการประชุมปรึกษากรณีศึกษา จากการประชุมปรึกษาทั้ง 3 ครั้ง ซึ่งใช้เวลาครั้งละ 3 ชั่วโมง ถึง 3 ชั่วโมง 30 นาที พบว่านักศึกษาทั้ง 23 คน ไม่มีใครง่วง หรือหลับในช่วงเวลาของการประชุมปรึกษากรณีศึกษา

ข้อเสีย

  1. ใช้เวลานานเกินไป ( 3 ชั่วโมงเศษ)
  2. นักศึกษาบางคนที่ขาดทักษะในการถามและแสดงความคิดเห็น หรือขาดความรู้ในเรื่องนั้น ทำให้รู้สึกกดดัน กังวลใจว่าตนเองจะตั้งคำถามหรือแสดงความคิดเห็นไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดี จึงไม่ต้องการให้ครูเข้าไปมีส่วนร่วมในการอภิปรายกลุ่ม

ข้อเสนอแนะ

  1. ในช่วงแรกของการอภิปรายควรมีการสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองก่อนเข้าสู่บรรยากาศทางวิชาการ เพื่อให้สมาชิกรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เกร็ง ไม่รู้สึกอึดอัด
  2. อยากให้คงวิธีการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ยังไม่ถูกเพื่อนเลือกในรอบแรกได้มีโอกาสซักถามและแสดงความคิดเห็นก่อน
  1. นักศึกษา 21ใน 23 คน ต้องการให้มีครูอยู่ในกลุ่มเพื่อมีส่วนร่วมในการกระตุ้นถามและแสดงความคิดเห็น นักศึกษามีความเห็นว่าการที่ครูมีส่วนร่วมในการถามและแสดงความคิดเห็นเป็นคนสุดท้ายเป็นสิ่งที่ดี เพราะหลายครั้งที่นักศึกษามองข้ามข้อมูลบางอย่าง หรือมองไม่เห็นความสำคัญของข้อมูลบางอย่าง  อาจารย์จะช่วยกระตุ้นให้คิดมากขึ้น ทำให้มีมุมมองในการคิดมากขึ้น คิดได้เป็นระบบมากขึ้นสามารถใช้คำถามได้มากขึ้นและเกิดการเรียนรู้มากขึ้น  ในขณะที่นักศึกษาจำนวน 2 คน รู้สึกเกร็ง กลัว ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเมื่อมีอาจารย์อยู่ด้วย กลัวว่าคำถามของตัวเองจะผิด จึงไม่ต้องการให้ครูมีส่วนร่วมในกระบวนการกลุ่ม

 

การนำผลการวิจัยมาใช้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการประชุมปรึกษากรณีศึกษาที่กระตุ้นการสะท้อนคิด ในครั้งต่อไป

1. จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการประชุมปรึกษากรณีศึกษาที่กระตุ้นการสะท้อนคิดรูปแบบนี้เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาหลายประการ โดยเฉพาะการพัฒนาการสะท้อนคิดของผู้เรียน ผู้เรียนรู้สึกพึงพอใจ การแจกกระดาษให้ผู้เรียนจดบันทึกสาระสำคัญและส่งอาจารย์ท้ายชั่วโมง ทำให้ผู้เรียนตื่นตัว  ไม่ง่วง หรือหลับตลอดช่วงเวลาของการประชุมปรึกษากรณีศึกษา

2. ครูประจำกลุ่มควรสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ภายในกลุ่มให้ทุกคนรู้สึกผ่อนคลายก่อนเริ่มการนำเสนอ โดยการพูดคุยสอบถามความพร้อมของผู้เรียน เน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการถามและแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องกังวลกับความเหมาะสมของคำถาม หรือความถูกต้องของคำตอบ เน้นให้ทุกคนเห็นประโยชน์ของความคิดเห็นที่แตกต่าง หลากหลายว่าเป็นสิ่งที่ดี และยิ่งถามมาก แสดงความคิดเห็นมาก ตนเองจะได้เรียนรู้มากกว่าคนอื่นๆ

3. อาจารย์ควรแบ่งการนำเสนอเป็น 2 ช่วง เพื่อให้ผู้เรียนผ่อนคลายขึ้น ไม่รู้สึกเครียดมากเกินไป

 

Print Friendly
ผู้เขียน อ.อรัญญา บุญธรรม (ประวัติการเขียน 17 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์


Tags: , , ,

Comments are closed.