สมุนไพรล้างพิษในชีวิตประจำวัน

โครงการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยและวิชาการร่วมกับแหล่งฝึก

ระหว่างวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี  และกลุ่มการพยาบาล  โรงพยาบาลพระปกเกล้า

ครั้งที่ 8  วันที่ 22 สิงหาคม 2554   เวลา 13.30 -16.00 น.

ณ ห้องประชุม  อาคารอำนวยการชั้น 3 วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี

 

เรื่อง       สมุนไพรล้างพิษในชีวิตประจำวัน

วิทยากร     อ. นันทวัน   ใจกล้า   พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ   หัวหน้าภาควิชาการพยาบาล

อนามัยชุมชนและจิตเวชศาสตร์   วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี

ผู้เข้าร่วมประชุม  จากวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี จำนวน  33  คน

จากโรงพยาบาลพระปกเกล้า  23  คน

รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด  56  คน

สรุปสาระการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

สรุปประเด็นสำคัญจาก การนำเสนอ

             การรับพิษเข้าสู่ร่างกายของคนเรานั้นมีหลายทางด้วยกัน  เช่น  การรับประทานอาหาร  สารปรุงแต่งให้อาหารน่ารับประทาน   สารปนเปื้อนในอาหาร  และวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันที่ต้องพบเจอกับสารพิษต่างๆ    การล้างพิษเหล่านี้สามารถทำได้หลายวิธีคือ การรับประทานผักผลไม้ตามฤดูกาล  การรับประทานผักพื้นบ้าน   การซื้อผักปลอดภัยจากสารเคมีหรือพวกผักอินทรีย์  การปลูกผักรับประทานเองก็เป็นทางเลือกหนึ่งแต่หากหากมีเวลาพอต้องซื้อผักผลไม้รับประทานเป็นประจำแล้ว   ควรจะล้างทำความสะอาดผักและผลไม้เพื่อลดปริมาณสารพิษลงด้วยวิธีดังนี้

1. เสียปริมาณดีกว่าเสียใจ  ผักที่มีกาบใบห่อหุ้มเป็นชั้นๆ   ควรปอกเปลือกหรือลอกใบชั้นนอกออก

2. ล้างนอกล้างใน   ผลไม้ที่กินทั้งเปลือก  เช่น   มะเฟือง   สตรอเบอร์รี่  ฝรั่ง  ควรล้างหลายๆครั้ง   ใช้แปรงขนอ่อนๆล้างเบาๆ ให้ทั่ว    แล้วล้างน้ำเกลือหรือน้ำสุก   ส่วนผลไม้ที่ต้องปอกเปลือกก่อนจึงกินได้   เช่น  มะม่วง  มะละกอ  สับปะรด ควรนำมาล้างก่อนจึงค่อยปอกเปลือก เพราะถ้าไม่นำมาล้างก่อนสิ่งสกปรกบนผลไม้จะติดไปกับมือหรือมีดขณะปอกผลไม้ได้  ทำให้เนื้อผลไม้สกปรก

3. ใช้มือช่วยคลี่ใบผัก ล้างนาน 2 นาที  จะสามารถช่วยลดสารพิษลงได้ เด็ดผักเป็นใบๆ ใส่ตะกร้าโปร่ง   เปิดน้ำไหลแรงพอประมาณ  ลดสารพิษจากยาฆ่าแมลง ร้อยละ 25-39

4. ล้างผักรอบแรกให้สะอาด เด็ดผักออกเป็นใบๆ  แช่ในอ่างล้างนาน 15 นาที ลดสารพิษฆ่าแมลง ร้อยละ 7-30

5. ลวกผักด้วยน้ำร้อนส่วนการต้มนั้นลดสารพิษได้ 50 % เช่นเดียวกัน แต่จะมีสารพิษตกค้างในน้ำแกงจึงควรล้างผักลดสารพิษก่อนปรุงอาหารลดสารพิษ  ร้อยละ 35- 50

6. ใช้น้ำส้มสายชู  0.5%  น้ำส้มสายชู อสร.  1 ขวด ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่ผักทิ้งไว้ 15 นาที ลดสารพิษฆ่าแมลงร้อยละ 60-80

7. ใช้โซดาทำขนมปัง (โซเดียมไบคาร์บอเนต) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 20 ลิตร (1 กะละมัง)  แช่ผักทิ้งไว้ 15 นาที  ก่อนนำมาปรุงอาหาร ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 40-60

8.  แช่น้ำปูนใส นาน 10 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 30-50

9. แช่น้ำด่างทับทิม นาน 10 นาที (ด่างทับทิม 20-30 เกล็ด  ผสมน้ำ 4 ลิตร) ล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง  ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 30-40

10. แช่เกลือป่น (เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร)  และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง  ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 30-40

11. แช่น้ำซาวข้าวนาน 10 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 30-40

การรับประทานอาหารที่ช่วยลดสารพิษและเสริมสร้างการทำงานของอวัยวะที่สำคัญ

                ประเภทผัก   เช่น  แครอท  ตำลึง  ขมิ้นขาว  พริก  หอมหัวใหญ่  บรอคโคลี  คื่นใช่ กระเจี๊ยบเขียว   กระเจี๊ยบแดง  มะนาว  กระหล่ำปลี  มันเทศ  สาหร่าย  ผักบุ้ง  ขมิ้นชัน  พริกไทย

ประเภทผลไม้  เช่น  กล้วยน้ำว้า  ส้มโอ ทับทิม  มะขามป้อม  แอบเปิ้ล

การรับประทานสมุนไพรล้างพิษ

                                เบญจโลกวิเชียร ประกอบด้วย  ชิงชี่  ย่านาง  คนทา  เท้ายายม่อม  มะเดื่อชุมพร

                                ตรีผลา  ประกอบด้วย   สมอไทย  สมอพิเภก  มะขามป้อม

ย่านางแดง  โลดทะนงแดง  ลูกใต้ใบ เห็ดหลินจือ  รางจืดมีทั้งชนิดเถาดอกสีม่วง  รางจืดชนิดต้นมีผลสีแดง  รางจืดชนิดต้นดอกสีเหลือง

 

การแสดงความคิดเห็นจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ได้มีการตรวจระดับสารเคมีประเภทยาฆ่าแมลงในกระแสเลือด สำหรับผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย ได้รับความสนใจเจาะเลือดตรวจเป็นจำนวนมาก  และเมื่อตรวจเสร็จได้นำผลการตรวจมาแจ้งให้ทราบ ผลการตรวจแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับปลอดภัย  ระดับเสี่ยง  และระดับไม่ปลอดภัย   ซึ่งผลตรวจหลายท่านมีระดับเสี่ยงและระดับไม่ปลอดภัย  มีจำนวนน้อยที่อยู่ระดับปลอดภัย  วิทยากรได้แนะนำให้ผู้ที่มีระดับสารเคมีในร่างกายระดับไม่ปลอดภัยดื่มน้ำรางจืดโดยนำใบรางจืด 5 ใบ ต้มกับน้ำ 1 แก้ว  ดื่มนาน 1 สัปดาห์และตรวจสารเคมีในเลือดซ้ำอีกครั้ง หากยังไม่ดีขึ้นแนะนำให้ปรึกษาแพทย์  สำหรับผู้ที่มีผลตรวจสารพิษอยู่ในระดับปลอดภัยได้บอกว่า  ปลูกผักรับประทานเองซึ่งเป็นผักปลอดสารพิษ  นอกจากนี้มีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนยังได้สอบถามข้อสงสัยตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้ถึงเรื่องสมุนไพรต่างๆ   เช่น  ปัจจุบันมีความสนใจเรื่องการดื่มน้ำใบย่านางกันมาก ซึ่งประเด็นนี้วิทยากรได้แลกเปลี่ยนว่าไม่ควรดื่มนานๆ เนื่องจาก ใบย่านางมีรสเย็น หากกินทุกวันไม่มีเว้นช่วงจะพบอาการชาปลายมือปลายเท้า  เนื่องจากร่างกายเสียสมดุล    อีกทั้งย่านางยังมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ  อาจขับน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกายมากเกินไปได้   นอกจากนี้ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยังได้รับประทานอาหารว่างเป็นสมุนไพรล้างพิษประกอบด้วยมันเทศต้ม  มะขามป้อมแช่อิ่ม  และน้ำรางจืด  ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้ร่วมแลกเปลี่ยน

แนวทางการนำผลการประชุมไปใช้ จากการประชุมครั้งที่ 8

  1. นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์พยาบาลและพยาบาลซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสุขภาพ  ควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อลดอันตรายจากสารพิษที่ตกค้างในอาหาร  และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้รับบริการ
  2. ควรมีการทำวิจัยร่วมกันระหว่างอาจารย์  โรงพยาบาล  ชุมชน  เกี่ยวกับการส่งเสริมการปฏิบัติเพื่อลดสารพิษที่อาจได้รับในชีวิตประจำวัน

 

นางสาวจริยาพร  วรรณโชติ

นางสาวลลิตา  เดชาวุธ

ผู้บันทึก

 

Print Friendly
ผู้เขียน อ.จริยาพร วรรณโชติ (ประวัติการเขียน 9 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ


Tags: , , ,

One Response to “สมุนไพรล้างพิษในชีวิตประจำวัน”

  1. ควรมีโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ในวิทยาลัยบ้างก็ดีนะครับ มีสระน้ำเลี้ยงปลาได้ ยามสามารถให้อาหารปลาได้ ได้ความเพลิดเพลินด้วย พื้นที่ก็พอมีปลูกพืชทานได้ ให้กับแม่บ้านหรือยามก็ได้ ลดค่าใช้จ่ายและปลอดภัยจากสารพิษด้วย ตลอดจนเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันได้ (แม่บ้าน ยาม อาจารย์ เจ้าหน้าที่) ได้ประโยชน์หลายทางครับ ขอบคุณ