สรุปความรู้จากการประชุม Prevention Preadiction and Promotion in Perination Health

สรุปความรู้ที่ได้รับจากการไปพัฒนาตนเอง

วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี

ชื่อ-สกุล   นางจันทร์เพ็ญ   อามพัฒน์   ตำแหน่ง   พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ

สังกัดภาควิชา     การพยาบาลสูติศาสตร์

เข้าร่วมประชุมเรื่อง    Prevention Preadiction and Promotion in Perination  Health

วันเดือนปี    12 – 14  ตุลาคม  2554

หน่วยงานที่จัด    สมาคมเวชศาสตร์ปริกำเนิดแห่งประเทศไทย 

สถานที่    โรงแรมจอมเทียนปาล์มบีช  โฮเต็ล  แอนด์  รีสอร์ท  จ. ชลบุรี

สรุปความรู้และแนวคิดที่ได้รับคือ

Workshop การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 

          การศึกษากายวิภาคศาสตร์ของเต้านมแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่  โดยการทำ  Ultrasound  imaging  พบว่า  กายวิภาคศาสตร์ของเต้านมที่ใช้มานานกว่า  150 ปีไม่ถูกต้อง  สิ่งที่พบใหม่คือ  ท่อน้ำนมมีเพียง      4-18  ท่อ  และอยู่ใต้บริเวณลานหัวนม  ไม่มีกระเปาะของท่อน้ำนม  แต่เป็นเพียงการบางออกชั่วคราวของท่อน้ำนมเมื่อมีน้ำนมหลั่งจากฮอร์โมนออกซิโตซิน  และแฟบเมื่อน้ำนมไหลออกทางหัวนม  ดังนั้นทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของคำแนะนำและการปฏิบัติเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลายอย่าง  คือ

  1. การให้ลูกงับหัวนมเวลาดูดนม  เปลี่ยนจากการแนะนำให้งับลานหัวนมจนถึงกระเปาะน้ำนมอยู่ในช่องปาก  เป็นให้ทารกอ้าปากกว้างเมื่องับลานหัวนมแม่  ซึ่งสังเกตจากริมฝีปากบนและล่างอยู่ห่างกันชัดเจน
  2. เน้นท่าอุ้มดูดนมให้ถูกต้อง  เพื่อกระตุ้น  Let down reflex  ให้น้ำนมมาดี
  3. การบีบนมจากเต้า  ไม่วางมือบนกระเปาะน้ำนมแล้ว  เนื่องจากสรีระที่บอกว่าไม่มีกระเปาะแล้ว  แต่ให้วางนิ้วมือห่างจากฐานหัวนม  3-4 เซนติเมตร
  4. การบีบ/ปั๊มนมต้องไม่กดบริเวณลานหัวนมแรงเกินไป  เพราะทำให้ท่อน้ำนมตีบ  ซึ่งส่งผลให้น้ำนมไหลน้อยลง
  5. การผ่าตัดเต้านมต้องระวังการตัดถูกท่อน้ำนม  เนื่องจากท่อน้ำนมมีน้อยท่อ (มีเพียง  4-18 ท่อ)

บทบาทของสูติศาสตร์ต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

          สูติแพทย์และหญิงตั้งครรภ์ต่างก็มีบทบาทที่จะช่วยทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จ  ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมของเต้านมและหัวนมในระยะฝากครรภ์  แนวทางการดูแลขณะคลอดและวิธีระงับอาการเจ็บปวดซึ่งอาจส่งผลต่อการให้นมแม่หลังคลอด  ตลอดจนผลกระทบของการสั่งยาชนิดต่าง ๆ ให้แก่คุณแม่หลังคลอด  ในบางแห่งมีการแนะนำการเขียนเป็นแผนการคลอด (birth plan) เพื่อให้คุณแม่และคุณพ่อได้มีส่วนร่วมในการวางแผนคลอด  ตลอดจนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับแพทย์  ซึ่งการตัดสินใจให้การดูแลรักษาต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ด้วย

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  สำเร็จแน่  ไม่ใช่ฝัน

          การให้นมแม่เป็นเรื่องของแม่และลูก  ถ้าจะให้สำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือ  โดยเริ่มจากแม่และลูกเป็นหนึ่งเดียวกัน  แม่เข้าใจพฤติกรรมของลูก  เรียนรู้ที่จะตอบสนองได้ตรงตามที่ลูกต้องการ  ทารกในช่วงแรกเกิดเป็นช่วงที่มีความรู้สึกเปราะบาง  ถ้ามีการรบกวนขบวนการที่ทารกจะเริ่มดูดนมแม่  เช่น  แม่ลูกต้องแยกกันด้วยเรื่องของความเจ็บป่วย  ก็อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาได้  การที่แม่และลูกได้พบกันในช่วงแรกนั้นเราไม่ได้ต้องการให้ทารกได้อาหาร  แต่ต้องการให้แม่และลูกได้สัมผัสกันหรือแม่ได้มองเห็นลูก  เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดในช่วงนี้  พวกเราจะเป็นเพียงผู้ช่วยแนะนำให้แม่เห็นว่า  การให้นมแม่เป็นสิ่งที่แม่ทำด้วยความสุขและรื่นรมย์ได้  ลูกนั้นเก่งเพียงไรสามารถทำอะไรได้หลายอย่างที่เรานึกไม่ถึง  สามารถคุยกับลูกแบบประจันหน้าและสบตากับลูกได้อย่างไร  นอกจากนั้นต้องอาศัยความอดทนและความสงบที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ทำได้ง่ายจัง

          น้ำนมแม่เป็นอาหารธรรมชาติที่ดีที่สุดสำหรับทารก  มีสารอาหารต่าง ๆ มากกว่า  200  ชนิดที่มีความจำเพาะสำหรับทารก  มีสัดส่วนที่เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ  ปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของทารกได้ทุกระยะของการเจริญเติบโต  มีภูมิคุ้มกันและสารต้านการอักเสบ  ลดการเกิดภูมิแพ้  เป็นจุดเริ่มต้นของการเสริมสร้างพัฒนาสมองและเสริมสร้างไอคิว  ทารกจะมีอารมณ์ดี  และลดปัญหาสุขภาพเมื่อโตขึ้น  สร้างสายใยความรักและความผูกพันระหว่างแม่กับลูก  ลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังคลอดต่าง  ๆ  เช่นตกเลือดหลังคลอด  มดลูกเข้าอู่เร็ว  รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่าย  ไม่ต้องลางานบ่อยเพื่อไปดูแลลูกที่เจ็บป่วย

แม้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นวิถีของธรรมชาติก็ตาม  แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องที่ง่ายเสมอไปที่จะทำให้แม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  มีปัจจัยหลายประการที่มาเกี่ยวข้อง

คำแนะนำ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

  • สอนแม่ให้อุ้มลูกดูดนม (4 ท่า) ให้ถูกต้อง รวมถึงวิธีการจับเต้านมเข้าปากลูกด้วย
  • ให้ลูกดูดกระตุ้น  8-12  มื้อต่อวัน
  • ควรให้ลูกดูดนมเมื่อทารกแสดงอาการหิว  ได้แก่  การตื่นตัว (alertness) มากขึ้น  การเคลื่อนไหว (physical activity) มากขึ้น  การทำท่าดูดนม (mouthing)  หันปากหาหัวนม (rooting)  ไม่ควรรอจนกระทั่งลูกร้อง  เพราะการร้องเป็นอาการแสดงท้ายสุดของความหิว
  • ให้ดูดนานจนกระทั่งลูกพอใจ  ปรกติให้ดูดแต่ละเต้านาน  10-15 นาที
  • การเริ่มต้นการดูดแต่ละมื้อ  ให้ดูดสลับเต้าที่เริ่มต้นดูดในมื้อที่แล้ว  โดยในสัปดาห์แรกๆ  หลังคลอด  แม่อาจต้องปลุกลูกให้ดูดนม  หากลูกเว้นช่วงตื่นเพื่อดูดนมแต่ละมื้อนานเกินไป
  • ให้แม่มีความอดทนมาก ๆ
  • ถ้ามีโอกาสให้เลือกแพทย์และโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจัง

 

Print Friendly
ผู้เขียน อ.จันทร์เพ็ญ อามพัฒน์ (ประวัติการเขียน 5 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลมารดา ทารก และการผดุงครรภ์


Tags: , , ,

Comments are closed.