สรุปความรู้จากการเข้าอบรม นมแม่ : ความท้าทายของสังคมไทยยุคใหม่
สรุปความรู้ที่ได้รับจากการไปพัฒนาตนเอง
วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี
………………………………………………………………….
ชื่อ-สกุล นางขนิษฐา เมฆกมล ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
ชื่อ-สกุล นางอารีรัตน์ วิเชียรประภา ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
สังกัดภาควิชา/งาน การพยาบาลสูติศาสตร์
เข้าร่วมการประชุม/อบรม/สัมมนาเรื่อง นมแม่ : ความท้าทายของสังคมไทยยุคใหม่
(Brestfeeding : New Challenge in the Modern Thai Society)
วัน/เดือน/ปี 22-24 มิถุนายน 2554
หน่วยงานที่จัด สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
สถานที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
สรุปความรู้และแนวคิดที่ได้รับคือ
จากการประชุมวิชาการ นมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 3 พบว่าสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยมีอัตราต่ำกว่าเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก สัมพันธ์จากข้อมูลงานวิจัย เรื่องปัจจัยและผลลัพธ์ด้านสุขภาพของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ของรศ.พญ.กุสุมา ชูกลิ่น และคณะ พบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในวันที่จำหน่ายทารกออกจากโรงพยาบาล ทารกได้รับนมแม่อย่างเดียวร้อยละ 95.0 อายุ 2 เดือนร้อยละ 76.2 อายุ 4 เดือนร้อยละ 57.0 อายุ 6 เดือนร้อยละ 25.9 และที่อายุ 9 เดือนร้อยละ 0.1
สรุปจากข้อมูลได้ว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวลดลงตามจำนวนอายุของลูกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายของบุคลากรทางสาธารณสุขทุกฝ่าย จะต้องมีวิธีการที่จะทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น ซึ่งในการประชุมวิชาการในครั้งนี้ บุคลากรทางด้านสาธารณสุขได้มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ โดยมีการนำเสนองานวิจัยและนวัตกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้
- งานวิจัย ประสิทธิผลของการใช้พลาสเตอร์กันน้ำในการแก้ไขภาวะหัวนมสั้นของมารดาหลังคลอด ของสายชล ใจงาม และคณะ หอผู้ป่วยพิเศษสูติพิเศษ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรีซึ่งผลการวิจัยพบว่าหลังการใช้พลาสเตอร์กันน้ำทำให้หัวนมมารดาเพิ่มสูงขึ้น บุตรดูดนมได้สะดวก ทำให้มารดาเกิดความพึงพอใจที่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใดๆ
- นวัตกรรม ผลของการเพิ่มระดับการไหลของน้ำนมและลดภาวะคัดตึงเต้านมในมารดาหลังคลอดด้วยนวัตกรรมชั้นในไออุ่น ของฮัสนีย์ ดอเล๊าะ หน่วยงานสูติกรรม โรงพยาบาลสมเด็จ พระยุพราชสายบุรี ปัตตานี ผลการวิจัยพบว่า การประคบเต้านมด้วยชั้นในไออุ่นสามารถเพิ่มระดับการไหลของน้ำนมและลดภาวะคัดตึงเต้านมได้ดีกว่าการประคบเต้านมด้วยวิธีเดิม คือ ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบและมารดาหลังคลอดมีความพึงพอใจในการใช้ชุดชั้นในไออุ่นอยู่ในระดับดีมาก
- นวัตกรรม ความพึงพอใจของมารดาหลังคลอดต่อการใช้ถุงถั่วเพิ่มความร้อนที่เต้านม ของวารุณี สังขวดีและคณะ หอผู้ป่วยสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา ผลการวิจัยพบว่า การประคบเต้านมด้วยถุงถั่วแดงเพิ่มความร้อนที่เต้านมพบว่ามารดาส่วนใหญ่มีการไหลของน้ำนมมากขึ้น มีระดับความพึงพอใจของมารดามากที่สุดต่อการประคบเต้านม รวมถึงในรายที่มารดาเต้านมคัดตึงก็ช่วยให้เต้านมของมารดาบรรเทาอาการปวด การหลั่งของน้ำนมดีขึ้น
- นวัตกรรม ผ้าขาวม้าอิ่มนมแม่อุ่นรัก ของสนมน้อย มูลสระและคณะ กลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน จ.ขอนแก่น ผลการวิจัยพบว่ามารดาส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและมีการนำไปใช้ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์เสริมใช้เป็นหมอนรองเอวในการให้นมลูก ส่งเสริมความสะดวกสบายขณะให้นม และลูกได้รับนมแม่นานมากขึ้น
- นวัตกรรม การใช้ขวดน้ำร้อนประคบเต้านมตึงคัด ของพนิตนาฎ โชคดี งานสูติกรรม หลังคลอด โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ผลการวิจัยพบว่า ร้อยละ 90 ของมารดาที่คัดตึงเต้านมพึงพอใจการใช้มากกว่าการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือลูกประคบ ขวดน้ำร้อนสามารถเก็บความร้อนได้นานถึง 15 นาที รูปทรงเหมาะสมกับการใช้งาน ใช้งานสะดวก สามารถนวดประคบได้ในคราวเดียวกัน ไม่เปียกชื้น ลดอาการคัดตึงเต้านม
- นวัตกรรม กระโจมนมแม่เคลื่อนที่ ของศศิรชนม์ จอกลอย ตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ผลการศึกษาพบว่า มารดาที่ใช้กระโจมนมแม่เคลื่อนที่มีความพึงพอใจมากในการมารับบริการที่ตึกผู้ป่วยนอก ไม่มีการนำขวดนมผสมมาใช้ในสถานบริการสาธารณสุข ลดปัญหาการเมื่อยล้าและปกปิดความเขินอายในมารดาที่เป็นวัยรุ่นและเพิ่มสายใยรักแห่งครอบครัว
- งานวิจัย การใช้เจลเย็นในการประคบเต้านมที่ตึงคัด ของวันเพ็ญ อินทุรัตน์ และพรทิพย์ สิทธิชนาสุทธิ์ งานแม่และเด็ก กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลลาดยาว ผลการวิจัยพบว่ามารดาหลังคลอดที่มีปัญหาเต้านมปวดและคัดตึงเต้านมที่ใช้เจลเย็นประคบเต้านมลดปวด มีความพึงพอใจในการใช้เจลเย็นประคบเต้านม ทำให้แก้ไขภาวะเต้านมคัดตึงและลดปวดเต้านม มารดาหลังคลอดมีความสุขสบายใจในการให้นมบุตรมากขึ้น ส่วนเจ้าหน้าที่แผนกหลังคลอดมีความพึงพอใจต่อเจลเย็นประคบเต้านม เนื่องจากไม่ต้องคอยยืนจับเจลประคบเต้านมให้มารดาหลังคลอด ทำให้สามารถให้การพยาบาลและปฏิบัติงานอื่นได้
- งานวิจัย เปรียบเทียบผลการใช้ลูกประคบสมุนไพรกับการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำนมของมารดาหลังคลอด โรงพยาบาลสกลนคร ของเปล่งฉวี สกนธรัตน์ และศศิธร ภักดีโชติผลการวิจัยพบว่าการใช้ลูกประคบสมุนไพรกระตุ้นการหลั่งน้ำนมช่วยให้มารดาหลังคลอดมีการหลั่งน้ำนมเร็วกว่าการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น เช่นเดียวกับงานวิจัย การประคบสมุนไพรเพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำนมในมารดาหลังคลอด ของฝาซีล๊ะ บิลังโหลด และดวงดาว โสมณะ งานแพทย์แผนไทยร่วมกับงานตึกผู้ป่วยหญิง โรงพยาบาลละงู จ.สตูล ผลการวิจัยพบว่า มารดาที่มารับบริการการดูแลมารดาหลังคลอดด้วยวิถีไทย ด้วยการนวดและประคบสมุนไพรนั้น ทำให้มารดามีอาการคัดตึงเต้านมลดลง น้ำนมไหลได้ดีขึ้น มีปริมาณน้ำนมมากพอในการเลี้ยงลูก อาการปวดเมื่อยลดลง มีความพึงพอใจในการเข้ารับบริการ ทำให้มารดาได้รับความสุขสบายผ่อนคลาย สามารถฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมของตนเองต่อไป
- นวัตกรรม การใช้เต้าบีบน้ำนม ในการสอนฝึกบีบน้ำนม ของ กาญจณาฐ์ งาหัตถี กลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน โรงพยาบาลคอนสาร จ.ชัยภูมิ ผลการศึกษาพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ได้ใช้เต้าฝึกบีบน้ำนม มีลักษณะการบีบน้ำนมถูกต้องร้อยละ 87.23 มีความมั่นใจในการบีบเก็บน้ำนมไว้ให้ลูกมากถึงมากที่สุดร้อยละ 91.49 มีความพึงพอใจต่อการใช้เต้าบีบน้ำนมร้อยละ 85.10 และเจ้าหน้าที่คลินิคฝากครรภ์มีความพึงพอใจต่อเต้าบีบน้ำนมร้อยละ 83.33 เนื่องจากมีอุปกรณ์ที่เป็นรูปธรรมใช้ประกอบการสอนสุขศึกษาโรงเรียนพ่อแม่ ที่สามารถฝึกบีบเต้านมแล้วมีน้ำนมพุ่งออกมาได้จริง เช่นเดียวกับนวัตกรรม การสอนสาธิตด้วยเต้านมและลูกโป่งมหัศจรรย์ ของพฤหัส จันทร์ประภาพและคณะ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผลการศึกษาพบว่าหญิงตั้งครรภ์และสามีร้อยละ 97 พึงพอใจต่อการใช้เต้านมมหัศจรรย์ และลูกโป่งมหัศจรรย์ มาเป็นสื่อการสอนวิธีให้นมแม่ตลอดจนการบีบน้ำนม
- นวัตกรรม เสื้อสอนให้นมบุตร ของสร้อยทอง สุนทร และคณะ คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล ผลการศึกษาพบว่า หญิงตั้งครรภ์และมารดาหลังคลอดมีความพึงพอใจต่อการนำเสื้อสอนให้นมบุตรมาเป็นสื่อการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร้อยละ 97.10 มีความเข้าใจวิธีการดูแลเต้านม การนวด การบีบเก็บนำนมและการให้นมบุตรร้อยละ 100 เสื้อสอนให้นมบุตร สามารถใช้เป็นสื่อการสอนการให้นมแม่ได้เป็นอย่างดี สะดวกต่อการใช้งาน ทั้งผู้ฝึกและผู้รับการฝึกไม่เคอะเขิน ไม่ต้องเปิดเผยร่างกายตัวเองจนเกินไป เป็นการเคารพสิทธิผู้ป่วย ช่วยให้การฝึกทักษะเข้าใจได้ง่ายและเพิ่มความมั่นใจในการให้นมแม่ที่ถูกต้องได้ดียิ่งขึ้น
- งานวิจัย เปรียบเทียบผลของการใช้หมอนนมแม่และหมอนปกติในการให้นมมารดาของสตรีหลังคลอดในโรงพยาบาลรามาธิบดี ของพรศรี ดิสรเตวิวัฒน์ และนิตยา โรจนนิรันดร์กิจ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผลการวิจัยพบว่าการใช้หมอนนมแม่รองรับทารกในขณะให้นมมารดาช่วยส่งเสริมการเลี้ยงทารกด้วยนมมารดาได้ดีกว่าการใช้หมอนปกติทั้งทางด้านระยะเวลาให้นมมารดาและความพึงพอใจ เนื่องจากมีความสูงที่พอเหมาะ ไม่ยุบตัวง่าย รองรับทารกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับการดูดนมมารดา มีสายรัดช่วยให้เกิดความกระชับไม่เลื่อนหลุด
จะเห็นได้ว่านวัตกรรมและงานวิจัยต่างๆเหล่านี้ สามารถแก้ไขปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ซึ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เป็นรูปธรรม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆด้าน ทั้งทางด้านบิดา มารดา ทารก แรงสนับสนุนทางสังคม และที่สำคัญคือบุคลากรทางสาธารณสุข ที่จะต้องช่วยกันจัดสรรระบบการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ประสบผลสำเร็จ เนื่องจาก “ นมแม่ คือ อาหารมื้อแรกและเป็นอาหารชนิดเดียวของมวลมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อการสร้างคนให้เติบใหญ่ อย่างสมบูรณ์ ทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญาและจิตใจ ส่งผลให้ประเทศไทยได้ทรัพยากรคนที่มีคุณภาพและสมรรถนะสูงที่มีความพร้อมจะไปพัฒนาประเทศในทุกด้าน ” (สง่า ดามาพงษ์, 2554 )
สำหรับผู้ที่สนใจเนื้อหาการประชุมวิชาการเพิ่มเติม สามารถดาว์นโหลดได้ที่ www.anamai.moph.go.th เลือกหน่วยงานสำนักส่งเสริมสุขภาพ
………………………………………………………………………………….