สรุปความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมประชุมส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 4

สรุปความรู้ที่ได้รับจากการไปพัฒนาตนเอง

วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี

………………………………………………………………………….

ชื่อ-สกุล นางทิพวรรณ  ลิ้มประไพพงษ์ และ ดร.กมลทิพย์  ตั้งหลักมั่นคง

ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ

สังกัดภาควิชา การพยาบาลสูติศาสตร์

ชื่อ-สกุล นางนันทวัน  ใจกล้า  ดร.พรฤดี    นิธิรัตน์ และนางจารุณี   ตฤณมัยทิพย์

ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ

สังกัดภาควิชา อนามัยชุมชนและจิตเวช

เข้าร่วมการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  ครั้งที่ 4

วัน/เดือน/ปี วันที่  17-19  สิงหาคม 2554

หน่วยงานที่จัด กรมอนามัย  กระทรวงสาธารณสุข

สถานที่ Hall  9  ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค  เมืองทองธานี  จังหวัดนนทบุรี

สรุปความรู้และแนวคิดที่ได้รับ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดเสวนาวิชาการในการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ภายใต้ 6 เรื่องหลักเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพคนไทยให้มีสุขภาพดีและมีการจัดการอนามัยสี่งแวดล้อมที่เหมาะสม  ได้แก่ 1)สุขภาพช่องปากกับสุขภาพองค์รวม : ปริทันต์อักเสบในหญิงตั้งครรภ์กับความเสี่ยงการเป็นเบาหวานและน้ำหนักทารกแรกเกิดน้อย ซึ่งพบว่าโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์สามารถก่อให้เกิดอันตรายทั้งมารดาและทารก แม้ว่าปัจจุบันจะมีการดูแลรักษาเบาหวานที่ดียิ่งขึ้นก็ตาม ความสำคัญส่วนหนึ่งอยู่ที่สตรีตั้งครรภ์ไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง หรือตรวจวินิจฉัย ทำให้ไม่ได้รับการรักษาในระยะเริ่มแรกจึงอาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานจากงานวิจัยในปัจจุบันเป็นจำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเป็นโรคปริทันต์ในหญิงตั้งครรภ์ กับภาวะการตั้งครรภ์และคลอดบุตรที่ไม่พึงประสงค์ เช่นการคลอดบุตรก่อนกำหนด ภาวะเด็กแรกคลอดน้ำหนักตัวน้อย กรมอนามัยจึงให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพช่องปากหญิงมีครรภ์ และแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนมารับบริการตรวจและรักษาทางทันตกรรมด้วย 2) พัฒนาการเด็กและไอโอดีน เพราะจากการศึกษาพบว่าสารไอโอดีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาของสมอง โดยผ่านการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ จากผลการศึกษาต่าง ๆ ที่ผ่านมาสรุปได้ว่าการขาดสารไอโอดีนทำให้ระดับเชาวน์ปัญญาของประชากรเด็กและวัยรุ่นลดลง โดยเฉลี่ยประมาณ 13.5 จุด กลุ่มประชากรเด็กที่ได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอตั้งแต่ระยะก่อนคลอด จะมีระดับเชาวน์ปัญญาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 8.7 จุด และรวมถึงความผิดปกติที่ค่อนข้างรุนแรงของระบบประสาทลดลงด้วย เมื่อติดตามเด็กไปจนถึงอายุ 7 ปี พบระดับเชาวน์ปัญญาเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และจากการสำรวจระดับพัฒนาการและระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กไทยในช่วง 5 -10 ปีที่ผ่านมา พบว่าการขาดสารไอโอดีนเป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่ง ที่มีผลต่อระดับพัฒนาการและเชาวน์ปัญญาของเด็กไทยค่อนข้างต่ำกว่าปกติ 3) HIA : ความท้าทายใหม่ของภาคประชาชนและท้องถิ่น ซึ่ง HIA เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนให้เกิดการตัดสินใจและข้อตกลงร่วมกันแบบมีส่วนร่วมของคนในสังคม โดยเรียนรู้จากตัวอย่างกรณีศึกษา เช่น การจัดการมูลฝอยขององค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร การขับเคลื่อนHIA ของภาคประชาชน กรณีเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย ทำให้ได้ชุดข้อมูลของชุมชนที่เป็นชุดข้อมูลข้อเท็จจริง ที่ช่วยลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 4) ผลกระทบและการดูแลสุขภาพจากภาวะโลกร้อน จำเป็นต้องใช้มาตรการป้องกันเพื่อลดผลกระทบ โดยการทบทวนองค์ความรู้และสถานการณ์ วางระบบเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ผลกระทบอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งร่วมมือป้องกันและแก้ไขด้วยการลดใข้เครื่องจักรกลและไฟฟ้า ลดการเผาไหม้ และเพิ่มพื้นที่สีเขียว  5) วิกฤติอนาคต: สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พบว่าสถานการณ์มลพิษสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพหลายประการ เนื่องจากความเจ็บป่วย จะเกิดขึ้นเมื่อประชาชนได้รับสัมผัสสิ่งคุกคามจากมลพิษสิ่งแวดล้อม และแนวโน้มในอนาคตยังจะเกิดโรคใหม่ ๆ ที่เป็นผลจากสังคม IT มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ความก้าวหน้าเกี่ยวกับวิธีการและเครื่องมือการจัดการปัญหาดังกล่าวมีมากขึ้น แต่ยังจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเริ่มที่การปรับพฤติกรรมการบริโภคเป็นการบริโภคแบบยั่งยืน และ 6) ลดการใช้สารปรอทในสถานบริการสาธารณสุข ทั้งในด้าน  ทันตกรรม  ลดการผลิตเครื่องมือแพทย์โดยใช้สารทดแทนสารปรอทที่มีความเที่ยงตรง พร้อมทั้งมีนโยบายการจัดการเพื่อลดการปนเปื้อนของสารปรอทในสิ่งแวดล้อม   นอกจากนั้นยังมีหัวข้ออภิปรายที่น่าสนใจ อาทิ ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น : เรื่องวุ่น ๆ ที่ป้องกันได้ , ท้องไม่พร้อม : ความท้าทายสู่การปฏิบัติ , ควงคู่ไปฝากท้องลูกเราสองปลอดภัย , แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์สู่แผนสุขภาพชุมชน , เตรียมความพร้อมผู้สูงอายุ…สู่สากล , การจัดการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสุขภาพดี ด้วยวิถีธรรม เป็นต้น

สุขภาพช่องปากกับสุขภาพองค์รวม: ปริทันต์อักเสบในหญิงตั้งครรภ์กับความเสี่ยงการเป็นเบาหวานและทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย วิทยากร:ผศ.ทันตแพทย์หญิง ดร.วรานุช  ปิติพัฒน์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ภายในช่องปากมีแบคทีเรียมากกว่า 500 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นแกรมลบ มีโอกาสเกิดเข้าสู่กระแสเลือดได้ จากการถอนฟัน รักษารากฟัน เคี้ยวอาหาร การแปรงฟัน การทำศัลยกรรมปริทันต์ โดยถ้าร่างกายมีภูมิต้านทานดี จะไม่เกิดอะไร แต่ถ้าภูมิต้านทานต่ำจะเกิดการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดโรคปริทันต์อักเสบ  ซึ่งจะมีการอักเสบของร่องฟันเกิดแผลเรื้อรัง ต้องสัมผัสกับ bacteria ตลอด กระตุ้นการหลั่งสาร Prostaglandins เพิ่มขึ้น  มีงานวิจัยพบว่าโรค)ริทันต์อักเสบเพิ่มการคลอดก่อนกำหนด 7.9 เท่าและCanakci (2007) ได้ศึกษาพบว่าโรคปริทันต์อักเสบส่งผลต่อการเกิดความดันโลหิตสูงในหญิงตั้งครรภ์ การเกิดโรคปริทันต์อักเสบในช่วง 3  เดือนแรก เสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดส่งผลต่อตัวอ่อนได้  การที่เชื่อว่าโรคปริทันต์อักเสบส่งผลต่อการคลอดก่อนกำหนด เพราะตรวจพบเชื้อ Fusobacterium nucleates และ Capnocytophages ที่มักพบในช่องปากในน้ำคร่ำโดยตรวจไม่พบที่ช่องคลอดในหญิงที่คลอดก่อนกำหนด เมื่อมีการวิจัย case control study ทดลองฉีดเชื้อเข้าไปในกระแสเลือด   จะไปพบเชื้อในถุงน้ำคร่ำและมีภาวะน้ำหนักตัวน้อยแรกคลอด  นอกจากนี้ยังมีการวิจัยพบว่าภาวะปริทันต์อักเสบสัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนดมากกว่ารายปกติ  7 เท่า  แต่ก็ยังมีบางงานวิจัยขัดแย้งกันว่าไม่สัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนด ล่าสุดมีการทำ meta-analysis 9 กรณีศึกษาพบความสัมพันธ์ระหว่างโรคปริทันต์อักเสบกับการคลอดก่อนกำหนดและทารกน้ำหนักตัวน้อย  โดยพบว่าภาวะปริทันต์อักเสบกระตุ้นการหลั่งสารสื่ออักเสบ ได้แก่ Prostaglandin E2 , Cytokines ในน้ำคร่ำและหลั่งCRP (C-Reactive Protein ) TNF- α และIL-6  ในซีรัม เกิดภาวะดื้อ  insulin เพิ่มขึ้น             ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานมากขึ้น  มีการทดลองว่าถ้ารักษาโรคปริทันต์อักเสบให้หายจะป้องกันการคลอดก่อนกำหนดหรือทารกน้ำหนักน้อยได้หรือไม่   ผลการวิจัยพบว่าการรักษาในคนที่เป็นน้อยๆจะได้ผลดีกว่าเป็นมากๆ หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจฟันและแนะนำการรักษาช่องปาก  ควรรักษาในไตรมาส 2  ยกเว้นกรณีมีการติดเชื้อในช่องปาก  ที่ต้องรีบรักษา

การนำความรู้มาใช้ประโยชน์ ใช้ในการสอนภาคทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนในหญิงตั้งครรภ์ เน้นโรคปริทันต์อักเสบที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจเป็นสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนด   ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย  เบาหวานและความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์   ให้ความสำคัญในการแนะนำการดูแลสุขภาพภายในช่องปากแก่หญิงตั้งครรภ์   นำแนวคิดการจัดสิ่งแวดล้อมขององค์กรให้ปลอดภัยและลดโลกร้อน

ผู้บันทึก อ. ทิพวรรณ   ลิ้มประไพพงษ์

ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้  อ.ธนพร  ศนีบุตร  อ.ทิพวรรณ  ลิ้มประไพพงษ์   อ. จันทรมาศ  เสาวรส        อ.ดร.กมลทิพย์  ตั้งหลักมั่นคง  อ.เพ็ญนภา  พิสัยพันธ์  อ.จันทร์เพ็ญ  อามพัฒน์  อ.ขนิษฐา เมฆกมล     อ.อารีรัตน์  วิเชียรประภา  อ.จรัญญา  ดีจะโปะ  อ.นริชชญา  หาดแก้ว  อ. วรัญญา ชลธารกัมปนาท    อ. โสระยา  ซื่อตรง  อ. จารุวรรณ์  ท่าม่วง

 

Print Friendly
ผู้เขียน อ.ทิพวรรณ ลิ้มประไพพงษ์ (ประวัติการเขียน 10 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลมารดา ทารก และการผดุงครรภ์


Tags: ,

One Response to “สรุปความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมประชุมส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 4”

  1. เกมส์แต่งตัว พูดว่า:

    เห็นด้วยและน่าสนใจมากครับ เป็นแนวคิดที่ดีมากครับเกี่ยวกับการลดโลกร้อน ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆมีประโยชน์นะครับ