อาหาร การออกกำลังกาย กับข้อเสื่อม

โครงการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยและวิชาการร่วมกับแหล่งฝึก

ระหว่างวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรีและกลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลพระปกเกล้า

ครั้งที่ 2  วันที่   16  กุมภาพันธ์ 2554  เวลา 13.30-16.00 น.

ณ ห้องลีลาวดี โรงพยาบาลพระปกเกล้า

เรื่อง อาหาร การออกกำลังกาย กับข้อเสื่อม

วิทยากร นายแพทย์วินัย บรรจงการ     นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางออร์โธปิดิกส์

นางนภาพร  เฉลิมพรพงศ์      พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ทางด้านการพยาบาลออร์โธปิดิกส์

ผู้เข้าร่วมประชุม

จากวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี จำนวน 15 คน

จากโรงพยาบาลพระปกเกล้า  43 คน

รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด  58  คน

สรุปรายงานการประชุม

สรุปประเด็นสำคัญจาก การนำเสนอของ นพ. วินัย บรรจงการ

  • ข้อเข่าเป็นข้อที่เสื่อมได้ง่ายที่สุด เพราะเป็นข้อที่รับน้ำหนักร่างกายมาก ความเสื่อมเกิดจาก cartilage ถูกขัดสี แล้วปล่อยสารออกมาทำให้ข้ออักเสบ (Osteoarthritis) ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากการใช้งานมาก
  • เมื่ออายุมากขึ้นน้ำหล่อข้อลดลง การเคลื่อนไหวจะเกิดการขัดสีมากขึ้นจึงเกิดความเสื่อมได้ง่าย
  • โดยปกติ เยื่อหุ้มข้อถ้าสึก จะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วย เพราะไม่มีเลือดไปเลี้ยง ได้อาหารจากการซึมผ่านจาก synovial fluid  อาการเจ็บปวดที่ข้อ เกิดจากการเสียดสี ลุกลามไปที่กระดูก
  • การผ่าตัดซ่อมแซม (repair)  จะไม่สามารถทำให้ข้อมีสภาพเหมือนเดิมได้ เพราะอาจมีการงอกของกระดูก (spur)
  • โดยธรรมชาติ ทุกข้อมีกระบวนการซ่อมแซมตัวเอง เมื่อได้รับการกระทบกระเทือน แต่ต้องใช้เวลา ดังนั้น ถ้ามีการขัดสีมากๆ บ่อยๆ การซ่อมแซมข้อโดยธรรมชาติจึงเกิดขึ้นไม่ทัน ทำให้ข้อเสื่อมลงเรื่อยๆ
  • ในผู้สูงอายุ cartilage จะบางกว่าเด็ก ทำให้เกิดการขัดสีได้มากกว่า
  • การวินิจฉัย cartilage เสื่อม หรือฉีกขาด ไม่สามารถเห็นได้จาก x-ray เพราะโดยปกติ x-ray ไม่เห็น cartilage
  • สาเหตุ ของข้อเสื่อม ได้แก่ อายุมากขึ้น พันธุกรรม มี inflammation ของข้อ มี joint injury หรือมี medical conditions เช่น SLE
  • Risk factors ของข้อเสื่อม ได้แก่ สูงอายุ  ผู้หญิง  อ้วน เคยมีข้อบาดเจ็บมาก่อน  การออกกำลังกาย เช่นกีฬาบางประเภท ที่มีการกระแทกต่อข้อโดยตรง อย่างรวดเร็วและรุนแรง
  • การนั่งยองและการวิ่งเหยาะๆ ทำให้ข้อเข่าได้รับน้ำหนักกระทบที่ข้อเข่าประมาณ 7 เท่าของน้ำหนักตัว
  • อาการของข้อเข่าเสื่อม ได้แก่ อาการเจ็บปวดเมื่อพักแล้วทุเลาลง  และปวดมากขึ้นถ้ามีอาการลุกลามไปที่กระดูกมากขึ้น ถ้าเป็นนานๆ จะมีอาการข้อติดได้
  • การรักษา ทำได้โดย การปรับเปลี่ยนกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การใช้ยา และการผ่าตัดถ้าใช้ยาแก้ปวดแล้วอาการปวดไม่ทุเลา
  • การรักษาโดยไม่ใช้ยา ทำโดย ให้พักข้อที่อักเสบ 12-24 ชม.  ลดน้ำหนัก  ทำกายภาพบำบัด ใช้อุปกรณ์ช่วย ประคบร้อน/เย็น การออกกำลังกายในน้ำเพื่อการบริการข้อโดยไม่มีแรงมากระทบที่ข้อมากเกินไป
  • การรักษาด้วยยา มีจุดประสงค์เพื่อลดอาการเจ็บปวด  ลดอาการบวมของข้อ  ลดความพิการ
  • ยาที่ใช้รักษา ได้แก่  (1) ยารักษาอาการปวด เช่น paracetamol  NSAIDs  (2) ยาปรับเปลี่ยนโครงสร้างของโรคข้อเสื่อม (structure modified OA drug) คุณสมบัติของยา ช่วยทำหน้าที่แทนน้ำหล่อข้อ สภาพข้อดีขึ้น
  • การรักษาโดยใช้ยากลุ่ม Glucosamine & Chondroitin sulfate มีรายงานจากการวิจัยหลายเรื่องยืนยันว่า ไม่ช่วยลด joint pain อย่างมีนัยสำคัญ  สำหรับยาอื่นๆ ได้แก่ วิตามินที่ใช้ในการซ่อมแซม cartilage เช่น วิตามินเอ ซี และดี

สรุปประเด็นสำคัญจาก การนำเสนอของ นางนภาพร  เฉลิมพรพงศ์

  • การสูญเสียแคลเซียมจากการดื่มกาแฟ ยังเป็นประเด็นที่ยังสรุปไม่ได้ชัดเจน
  • รายงานวิจัยเรื่อง Coffee consumption and bone mineral density in dialysis patients สรุปได้ว่า การดื่มกาแฟเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 1 แก้วอาจส่งผลถึง bone mineral density มนผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับ hemodyalysis และ peritoneal dialysis  (มีบทคัดย่อในเอกสารประกอบการประชุม)
  • รายงานวิจัยเรื่อง coffee consumption and CYP1A2 genotype in relation to bone mineral density of the proximal femur in elderly men and women: a cohort study สรุปได้ว่า การดื่มกาแฟอาจส่งผลถึงการลด bone mineral density ที่ proximal femur ในผู้สูงอายุชาย แต่ไม่พบผลดังกล่าวในผู้สูงอายุหญิง (มีบทคัดย่อในเอกสารประกอบการประชุม)
  • รายงานวิจัยเรื่องBone quality associated with daily intake of coffee: a biochemical, radiographic and histometric study ซึ่งเป็นงานวิจัยศึกษาผลของกาแฟต่อความเสื่อมของกระดูกในหนูทดลอง สรุปได้ว่า การได้รับกาแฟหรือคาเฟอีน ในปริมาณมาอย่าต่อเนื่องมีผลต่อcalcium metabolism โดย มีผลให้แคลเซียมในเลือดและปัสสาวะเพิ่มสูงขึ้น  ลด bone mineral density  ดังนั้นจึงมีผลต่อกระบวนการซ่อมแซมกระดูก ในหนูทดลอง
  • การออกกำลังกายโดยการวิ่งเท้าเปล่า อาจช่วยให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวได้มากขึ้น (มีข้อมูลเพิ่มเติมในเอกสารประกอบการประชุม)
  • การขึ้นลงบันไดโดยเฉพาะการลงบันไดนั้น ไม่ใช่วิธีออกกำลังกายที่ดีสำหรับผู้ที่ข้อเข่าเสื่อมเพราะกำลังของกล้ามเนื้อไม่เพียงพอที่จะประคองข้อเข่าไว้ให้มั่นคงเวลาก้าวลง ถึงแม้ว่าการก้าวขึ้นบันไดมีผลเสียน้อยกว่าการก้าวลง แต่ในกรณีที่ข้อเข่าเสื่อมอยู่แล้วอาจเกิดผลเสียเช่นเดียวกับการก้าวลงบันไดด้วย จากการเสียดสีทำลายกระดูกอ่อนภายในข้อ
  • การรับประทานแคลเซียมและวิตามินดีได้รับการแนะนำมาเป็นเวลานานจากทางการแพทย์ นักวิจัยพบว่าขณะที่หญิงในวัยหมดประจำเดือนได้ประโยชน์จากการรับประทานแคลเซียมและวิตามินดีทุกวัน ประโยชน์ที่ได้โดยเฉพาะอุบัติการณ์ การเกิดกระดูกหักไม่ได้มากเท่ากับที่เราคาดหวังเอาไว้ แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานวิจัยที่เป็นโครงการใหญ่ สรุปว่าไม่พบประโยชน์ที่ชัดเจนจากการรับประทานแคลเซียมเสริม นอกจากนั้นมีข้อเสนอแนะว่า การเสริมแคลเซียมไม่เพียงพอแต่ต้องมีการเพิ่มการออกกำลังกาย โดยให้กระดูกได้รับน้ำหนักหรือแรงกระแทกจะทำให้การป้องกันกระดูกผุมี ประสิทธิภาพมากขึ้น การออกกำลังกายเพียงการเดินหรือการว่ายน้ำจะไม่ค่อยช่วยเรื่องกระดูกมากนัก แต่ถ้าเดินโดยยกน้ำหนักไปด้วยจะเป็นการช่วยที่ดีกว่า

แนวทางการนำผลการประชุมไปใช้ จากการประชุมครั้งที่ 2

  1. ในการเรียนการสอนเกี่ยวกับโรคข้อเสื่อม ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ อาจารย์ผู้สอนควรศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาหารและการออกกำลังกายที่มีผลต่อกระดูกและข้อซึ่งเป็นประเด็นที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน
  2. อาจารย์ของวิทยาลัยและพยาบาลของโรงพยาบาล อาจร่วมกันทำวิจัยหรือโครงการเพื่อการป้องกันโรคข้อเสื่อมในคนกลุ่มต่างๆ รวมทั้งบุคลากรในวิทยาลัยและโรงพยาบาลด้วย

มัณฑนา เหมชะญาติ

ผู้บันทึกการประชุม

Print Friendly
ผู้เขียน ดร.มัณฑนา เหมชะญาติ (ประวัติการเขียน 19 เรื่อง)

รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการจัดการความรู้ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี


Tags: , , , , ,

6 Responses to “อาหาร การออกกำลังกาย กับข้อเสื่อม”

  1. Panporn พูดว่า:

    เหมือนจะเห็นข่าวจากทาง อย. ออกมาว่า Glucosamine ใช้รักษาได้นะคะ…

  2. รัชชนก สิทธิเวช พูดว่า:

    มีประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่ปวดมาก มีโรคเดิมคือ ความดันโลหิตสูงและเบาหวานแต่เมื่อกินglucosamine ซื้อจากร้านขายยาที่มีเภสัชกร พบว่ากินอยู่ 2 สัปดาห์อาการปวดทุเลาลง และกินต่อจนครบ 2 เดือน อาการปวดเข่าหายไป โดยที่ไม่ได้กินยาชนิดอื่นเลย แต่ต้องระวังในผู้ป่วยเบาหวานห้ามใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นข้อแนะนำที่อยู่ในเอกสารแนบของยาที่ซื้อมาค่ะ หากจะใช้ควรเลือกซื้อยาที่มั่นใจว่าไม่ใช่ของปลอมนะคะโดยซื้อจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรและหากมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ด้วยค่ะ และสำหรับในผู้ป่วยรายนี้เมื่ออาการปวดหายไปได้มีการออกกำลังข้อเข่าโดยการนั่งห้อยขาแล้วแกว่งขาไปมาในอากาศทุกวันเช้า – เย็น 40-50 ครั้ง และเดินเร็ววันเว้นวันนาน 30 นาที พบว่าในเวลา 6 เดือน ยังไม่มีอาการปวดเข่ากำเริบอีกเลยค่ะ

  3. จันทรมาศ เสาวรส พูดว่า:

    เก็บมาฝาก (จากการประชุมของสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยร่วมกับม.ราชภัฏรำไพพรรณี 7-10 มี.ค.2554)…จากประสบการณ์ตรงของอาจารย์อาวุโส (หลังเกษียณท่านหนึ่ง)ที่มีอาการปวดเข่าและแพทย์ให้การรักษาโดยการใช้ยามาระยะหนึ่ง พบว่าการออกกำลังกายโดยวิธีปั่นจักรยานแบบไม่รีบร้อนสามารถทุเลาอาการและช่วยให้หายปวดเข่าได้ในที่สุด ซึ่งนายแพทย์ สุรเกียรติ อาชานานุภาพ สนับสนุนและเพิ่มเติมว่าได้พบมาหลายรายแล้วเช่นกัน คงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการดูแลเข่า(และข้อ)โดยไม่ต้องใช้ยานะคะ

  4. ธนพร ศนีบุตร พูดว่า:

    มี ประสบการณืตรง คือ ปวดเข่าขวา กินยา glucosamine มาหลายปี แต่ อ่านงานวิจัย พบว่า กินแล้วได้ผล 60 % แต่ถ้าใครกินแล้วดีก็กินต่อไป นะตอนหลังมากิน Hormone ก็อาการดี ไม่ต้องกินยา แก้ปวด

  5. nantawan พูดว่า:

    จะรอลุ้นด้วยคนค่ะ

    เคยใช้กลูโคซามีนรักษาตัวอยู่พักหนึ่ง

    เห็นว่าใช้ได้ผลดีเหมือนกันค่ะ เสียดายยาดีๆ

  6. jeab พูดว่า:

    ดิฉันมีประสบการณ์ตรงจากข้อสะโพกและข้อเข่าเริ่มปวด อ่่อนแรง พอก้าวลงรถทัวร์ หลังจากที่นั่งมาหลายชั่วโมง เข่าทรุดเลยค่ะ จึงใช้วิธีการออกกำลังกายด้วยโยคะท่ากางเขนอุ่้มลูกและอีกหลายๆท่า ร่วมกับการเหยียบกะลา ทำให้หายจากข้อเข่าอ่อนแรง และไม่ปวดสะโพกแล้วค่ะ ไม่ต้องใช้ยา NSAID ใดๆ อาศัยว่าควรทำโยคะต่อเนื่อง 5 วันต่อสัปดาห์จะเห็นผลเลยค่ะ