ผลลัพธ์การเรียนรู้ตามกรอบคุณวุฒิอุดมศึกษาแห่งชาติตามการรับรู้ของนักศึกษา วิชา สม.1103 การพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ

วิจัยในชั้นเรียน

เรื่อง ผลลัพธ์การเรียนรู้ตามกรอบคุณวุฒิอุดมศึกษาแห่งชาติตามการรับรู้ของนักศึกษา  วิชา สม.1103 การพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ

ผู้รับผิดชอบ      อาจารย์อรัญญา บุญธรรม

 

ความเป็นมาและความสำคัญ

ตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาบริหารจัดการหลักสูตรเพื่อให้บัณฑิตมีผลการเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF)           ซึ่งในปีการศึกษา 2556  ผู้รับผิดชอบวิชา สม.1103 การพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ได้ออกแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์รายวิชา รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดผลการเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ทั้ง 6 ด้านเป็นปีแรก ผู้วิจัยในฐานะผู้รับผิดชอบวิชาจึงต้องการประเมินผลการจัดการเรียนการสอนในวิชาดังกล่าวว่า สามารถทำให้เกิดผลการเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติตามที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยการวิจัยในครั้งนี้ได้ศึกษาตามการรับรู้ของผู้เรียน ทั้งนี้เพื่อนำผลการวิจัยไปใช้เป็นข้อมูลนำเข้าในการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติในปีการศึกษาต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อศึกษาผลการเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ตามการรับรู้ของผู้เรียนในวิชา สม.1103 การพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ

 

กลุ่มตัวอย่าง     นักศึกษาปี 1 ที่จบการเรียนการสอนวิชา สม.1103 การพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ปีการศึกษา 2556 จำนวน 81 คน

 

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

  1. แบบสอบถามความคิดเห็นของผู้เรียนต่อผลการเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามหมวดที่ 3 การพัฒนาผลการเรียนรู้ ใน มคอ.3 วิชา สม.1103 การพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ มีลักษณะเป็น Likert Scale 5 ระดับ โดย 5หมายถึงเห็นด้วยมากที่สุด  4หมายถึงเห็นด้วยมาก   3หมายถึงเห็นด้วยปานกลาง    2หมายถึงเห็นด้วยน้อย    และ 1หมายถึงไม่เห็นด้วย มีจำนวน 12 ข้อ
  2. แบบสอบถามความคิดเห็นของผู้เรียนต่อความเหมาะสมของเนื้อหาวิชา กิจกรรมการเรียนการสอนและเวลาที่ใช้ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นอิงตาม มคอ.3 วิชา สม.1103 การพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ หมวดที่ 5.1 แผนการสอน มีจำนวน 16 ข้อ

 

การวิเคราะห์ข้อมูล  ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS (ใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน )

 

งบประมาณที่ใช้ในการทำวิจัย    ไม่มี

 

วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล

  1. อธิบายให้นักศึกษาเข้าใจวัตถุประสงค์ของการวิจัย ความปลอดภัยในการให้ข้อมูล  รวมถึงการนำเสนอข้อมูลในภาพรวมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษารุ่นต่อไป
  2. อธิบายคำชี้แจงแบบสอบถามทั้ง 2 ชนิด และให้นักศึกษาทบทวนว่าการเรียนการสอนในวิชา สม.1103 การพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ในแต่ละข้อมากน้อยเพียงใดและเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน รวมทั้งเวลาที่ใช้มีความเหมาะสมเพียงใด

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ         นำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการจัดการเรียนการสอนวิชา สม.1103 การพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ในปีการศึกษาต่อไป

 

ผลการวิจัย

วิจัยชั้นเรียนวิชาการคิดTQF56_ผลตาราง1

 

จากตารางที่1 พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นว่าการจัดการเรียนการสอนในวิชา วิชา สม.1103 การพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ใน Domain ที่1 -5 ในระดับดีขึ้นไปทุกข้อ โดยค่าเฉลี่ยที่สูงสุดเท่ากับ 4.67 และต่ำที่สุดเท่ากับ 3.89  จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการจัดการเรียนการสอนในวิชา วิชา สม.1103 การพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ(จัดอยู่ในวิชาภาคทฤษฏี) ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ครบทั้ง 5 Domain ตามความคาดหวังของมาตรฐานกรอบคุณวุฒิอุดมศึกษา แต่ข้อค้นพบที่เป็นที่สังเกตและควรนำไปพัฒนาคือ ผลลัพธ์การเรียนรู้ใน Domain ที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องของการคิดนั้นผู้เรียนเห็นว่าเกิดขึ้นน้อยกว่าด้านที่ 1 และ 4  ในปีการศึกษาต่อไปขึงควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาการคิดให้มากขึ้น

 

วิจัยชั้นเรียนวิชาการคิดTQF56_ผลตาราง2

 

ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นอื่นๆ

การเก็บข้อมูลและการสัมภาษณ์ในสถานการณ์จริงทำให้เกิดการเรียนรู้มาก

ควรเพิ่มกิจกรรมที่เป็นเกมส์ให้มากขึ้น

 

จากตารางที่2 พบว่า ค่าเฉลี่ยภาพรวมต่อความเหมาะสมของเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอนและเวลาที่ใช้ในวิชา สม.1103 การพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ อยู่ในระดับดี มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.32 และความเหมาะสมของเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอนและเวลาที่ใช้อยู่ในระดับดีขึ้นไปทุกข้อ  โดยข้อที่ผู้เรียนมีความคิดเห็นว่าเหมาะสมมากเป็นอันดับที่ 1 ได้แก่ การแจ้งคะแนนชิ้นงาน และคะแนนสอบกลางภาคก่อนการสอบปลายภาค มีค่าเฉลี่ย 4.50 และอันดับ 2 ได้แก่ การเก็บข้อมูลจากสถานการณ์จริง(3ช.ม.) และการฝึกสัมภาษณ์เพื่อรวบรวมข้อมูล(3ช.ม.) มีค่าเฉลี่ย 4.49 และกิจกรรมที่ผู้เรียนเห็นว่ามีความเหมาะสมน้อยที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ การทำงานกลุ่มประวัตินักคิดและการนำเสนอ(3ช.ม.)ค่าเฉลี่ย 4.08  ความคิดวิจารณญาณ /การฝึกทำใบงานความคิดวิจารณญาณ(3ช.ม.)ค่าเฉลี่ย 4.22   ความคิดสร้างสรรค์  /การฝึกทำใบงานความคิดสร้างสรรค์(3ช.ม.) และการทำชิ้นงานเดี่ยว Mind mapping   ค่าเฉลี่ย 4.25

 

จากข้อมูลในตารางที่ 1 ซึ่งพบว่าควรเพิ่มกิจกรรมการเรียนการสอนที่พัฒนาการคิดให้มากขึ้น และข้อมูลในตารางที่ 2 ที่ผู้เรียนเห็นว่า กิจกรรมที่ผู้เรียนเห็นว่าเหมาะสมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ การเก็บข้อมูลจากสถานการณ์จริง(3ช.ม.) และการฝึกสัมภาษณ์เพื่อรวบรวมข้อมูล(3ช.ม.)  และกิจกรรมที่ผู้เรียนเห็นว่ามีความเหมาะสมน้อยที่สุด คือ การทำงานกลุ่มประวัตินักคิดและการนำเสนอ(3ช.ม.)  ในการจัดการเรียนการสอนครั้งต่อไปจึงควรเพิ่มเวลาในการเก็บข้อมูลจากสถานการณ์จริง และการฝึกสัมภาษณ์เพื่อรวบรวมข้อมูล โดยตัดการทำงานกลุ่มประวัตินักคิดและการนำเสนอ ซึ่งผู้สอนอาจนำเนื้อหาประวัตินักคิดสอดแทรกไว้ในส่วนนำเข้าสู่บทเรียนได้ และตัดสาระความคิดสร้างสรรค์  /การฝึกทำใบงานความคิดสร้างสรรค์(3ช.ม.)ออก เนื่องจากนอกจากผู้เรียนเห็นว่ามีความเหมาะสมน้อยใน 3 อันดับสุดท้ายแล้วหัวข้อนี้นักศึกษาจะได้เรียนในภาคการศึกษาที่ 3 ในวิชาทักษะชีวิต ส่วนหัวข้อความคิดวิจารณญาณ/การฝึกทำใบงานความคิดวิจารณญาณ(3ช.ม.) ผู้วิจัยเห็นว่าเป็นสาระสำคัญที่จะเป็นพื้นฐานของการคิดอย่างเป็นระบบจึงขอเก็บเนื้อหาและกิจกรรมดังกล่าวไว้ในการจัดการเรียนการสอนครั้งต่อไป และสำหรับการทำชิ้นงานเดี่ยว Mind mapping นั้นผู้วิจัยเห็นว่าเป็นกิจกรรมสำคัญในการพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบรวมทั้งพบว่าแม้นักศึกษาจะได้เรียนมาแล้วในระดับประถมและมัธยม แต่นักศึกษามากว่าร้อยละ 80 ยังไม่สามารถทำ Mind mapping ในระดับดีได้

 

จากข้อค้นพบที่ได้จึงนำมาวางแผนการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2557 โดยคงสาระ กิจกรรมการเรียนการสอนของปีการศึกษา 2556 และมีการตัดการทำงานกลุ่มประวัตินักคิดและการนำเสนอ(3ช.ม.)  และสาระความคิดสร้างสรรค์  /การฝึกทำใบงานความคิดสร้างสรรค์(3ช.ม.)ออก และเพิ่มเวลาการเก็บข้อมูลจากสถานการณ์จริงเป็น 6 ชั่วโมง  เพิ่มเวลาการสัมภาษณ์เพื่อรวบรวมข้อมูลและการนำเสนอเป็น 6 ชั่วโมง รวมทั้งการเพิ่มกิจกรรมในลักษณะเกมส์ให้มากขึ้นตามข้อเสนอแนะของผู้เรียน

 

การนำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อมูลนำเข้าในการจัดการเรียนการสอนวิชา สม.1103 การพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ  ในปีการศึกษา 2557 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Print Friendly
ผู้เขียน อ.อรัญญา บุญธรรม (ประวัติการเขียน 17 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์


Tags: , , , ,

Comments are closed.