การพัฒนาการเขียนบันทึกสะท้อนคิดของนักศึกษาในวิชา พย.1205 การสอนและการให้การปรึกษาทางสุขภาพ

โครงการวิจัยในชั้นเรียน

ชื่อเรื่องวิจัย          การพัฒนาการเขียนบันทึกสะท้อนคิดของนักศึกษาในวิชา พย.1205 การสอนและการให้การปรึกษาทางสุขภาพ

ผุ้รับผิดชอบ         อาจารย์อรัญญา บุญธรรม

ความเป็นมาและความสำคัญ

มาตรฐานผลการเรียนรู้หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ กำหนดมาตรฐานผลการเรียนรู้ 6 ด้าน ที่สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิอุดมศึกษาแห่งชาติ โดยทักษะทางปัญญาเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่กำหนดไว้ในลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของสาขาพยาบาลศาสตร์ นอกจากนี้วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี ยังได้กำหนดให้การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นเอกลักษณ์ของบัณฑิตอีกด้วย จากประสบการณ์การสอนนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ที่ผ่านมาพบว่านักศึกษายังมีปัญหาในเรื่องของการคิดอย่างเป็นระบบในการเรียนภาคทดลองในวิชา พย.1205 การสอนและการให้การปรึกษาทางสุขภาพ จึงได้ออกแบบการเรียนการสอนโดยให้นักศึกษาเขียนชิ้นงานสรุปการเรียนรู้โดยการเขียนบันทึกการสะท้อนคิดในการเรียนภาคทดลอง จำนวน 5 ชิ้นงาน  แต่จากการตรวจงานการเขียนบันทึกการสะท้อนคิดของนักศึกษาชิ้นแรกพบว่ามี นักศึกษาที่สามารถเขียนรายงานการสะท้อนคิดได้ในระดับดีไม่ถึงร้อยละ 10  ผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาเพื่อหา วิธีพัฒนาการเขียนบันทึกสะท้อนคิดของนักศึกษา

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

เพื่อหาวิธีพัฒนาการเขียนบันทึกสะท้อนคิดของนักศึกษาในวิชา พย.1205 การสอนและการให้การปรึกษาทางสุขภาพ

กลุ่มตัวอย่าง

นักศึกษาปี 2 ปีการศึกษา 2555 รวมจำนวน 35 คน  ดังนี้

นักศึกษาปี 2 ก เลขที่  17 – 24 และ 83 – 91

นักศึกษาปี 2 ข เลขที่  25 – 33 และ 76 – 84

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย แบบสอบถามเกี่ยวกับการเขียนบันทึกสะท้อนคิดของนักศึกษา ในวิชา พย.1205 การสอนและการให้การปรึกษาทางสุขภาพ

งบประมาณที่ใช้ในการทำวิจัย    ไม่มี

วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล

อธิบายให้นักศึกษาเข้าใจวัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูล ความปลอดภัยในการให้ข้อมูล  รวมถึงการนำเสนอข้อมูลในภาพรวมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษารุ่นต่อไป

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. นักศึกษามีแนวทางและทางเลือกที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาการเขียนบันทึกสะท้อนคิด
  2. นำข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามเกี่ยวกับการเขียนบันทึกสะท้อนคิดของนักศึกษาในวิชา พย.1205 การสอนและการให้การปรึกษาทางสุขภาพ มาวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการสะท้อนคิดต่อไป

 ผลการวิจัย

1. นักศึกษามีวิธีแก้ไขปัญหาหรือจัดการกับอุปสรรคและพัฒนาการเขียนบันทึกสะท้อนคิด

 ดังต่อไปนี้

1.1   ทำความเข้าใจโจทย์คำถามที่กำหนดให้ทั้ง 5 ข้อ

1.2   ตั้งใจ มีสมาธิในการเรียน จดบันทึกประเด็นการเรียนรู้ในระหว่างการเรียน

1.3   รีบเขียนรายงานให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันการลืมสาระการเรียนรู้ ความคิด และความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริง

1.4   เขียนรายงานโดยตอบคำถามตั้งแต่ข้อ 1 ไปจนถึงข้อ 5 ตามลำดับ

1.5   เมื่อเขียนเสร็จ อ่านซ้ำเพื่อดูว่าสิ่งที่เขียนว่าตอบหรือสะท้อนได้ตรงคำถามหรือไม่

1.6  ให้เพื่อนช่วยอ่านบันทึกสะท้อนคิดและช่วยติชม

1.7   ขอดูการเขียนบันทึกสะท้อนคิดของเพื่อนที่อาจารย์ชมว่าดี เพื่อทำความเข้าใจ

1.8   ขอคำปรึกษาจากเพื่อนที่เขียนบันทึกสะท้อนคิดได้ดี

1.9   สอบถามอาจารย์ประจำกลุ่มเพิ่มเติมในกรณีที่ไม่เข้าใจการสะท้อนคิดของอาจารย์(ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของอาจารย์) จากงานตรวจบันทึกสะท้อนคิดที่ได้รับคืนกลับมาจากอาจารย์ประจำกลุ่ม

 

2. อาจารย์ประจำกลุ่มมีบทบาทในการพัฒนาการเขียนบันทึกสะท้อนคิดของนักศึกษา ดังนี้

2.1. ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการเขียนบันทึกสะท้อนคิดและอธิบายคำถามแต่ละข้อ ขยายความโดยการยกตัวอย่างให้ชัดเจน

2.2 ตรวจบันทึกการสะท้อนคิดของนักศึกษาเพื่อสะท้อนให้นักศึกษาเห็นตัวเองในเรื่องการบันทึกสะท้อนคิด เขียนชมเชยในส่วนที่นักศึกษาเขียนได้ดี และให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในกรณีที่การเขียนสะท้อนคิดของนักศึกษาไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์

2.3 ส่งบันทึกการสะท้อนคิดของนักศึกษากลับคืนนักศึกษาก่อนการเขียนบันทึกการสะท้อนคิดครั้งต่อไปเพื่อให้นักศึกษาทำความเข้าใจ

2.4 แนะนำให้นักศึกษาขีดเส้นใต้และใส่หมายเลขข้อคำถามกำกับไว้ในรายงานสะท้อนคิดของนักศึกษาเองทั้งนี้เพื่อเป็นการตรวจสอบตนเองว่าตอบได้ตรงคำถามและเชื่อมโยงกันหรือไม่

2.5 นำบันทึกการสะท้อนคิดของนักศึกษาในกลุ่มที่เขียนได้ดีแล้วมาแสดงให้นักศึกษาในกลุ่มดู(ฉายบนโปรเจคเตอร์) และให้นักศึกษาในกลุ่มช่วยกันวิเคราะห์ว่าบันทึกสะท้อนคิดนั้นๆดีอย่างไร อาจารย์สรุปให้ฟังอีกครั้ง

2.6  แนะนำให้นักศึกษาไปเรียนรู้จากเพื่อนที่บันทึกการสะท้อนคิดได้ดีแล้ว โดยอาจารย์ให้ข้อมูลแก่นักศึกษาว่า มีนักศึกษาคนใดที่บันทึกสะท้อนคิดได้ในระดับดีและดีมาก

จากการเขียนบันทึกสะท้อนคิดจำนวน 5 ชิ้นงานของนักศึกษาทั้ง 35 คน พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่มีพัฒนาการในการบันทึกสะท้อนคิดดีขึ้นในระดับต่างกัน แต่พบว่ายังมีนักศึกษาจำนวน 8 ใน 35 คน ที่ยังไม่สามารถพัฒนาการบันทึกการสะท้อนคิดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เป็นที่พอใจ

การนำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อมูลนำเข้าในการจัดการเรียนการสอนวิชา ในปีการศึกษา 2556  ดังต่อไปนี้

  1. ควรส่งเสริมให้นักศึกษาพัฒนาการบันทึกสะท้อนคิดในวิชาต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้นักศึกษามีประสบการณ์และมีระยะเวลาเพียงพอที่จะพัฒนาการสะท้อนคิด  ซึ่งอาจกำหนดไว้ใน Course Syllabus  โดยเป็นงานชิ้นหนึ่งที่ใช้ประเมินผลในรายวิชา
  2. อาจารย์ควรเขียนคำชี้แจงการบันทึกการสะท้อนคิด พร้อมอธิบายให้นักศึกษาได้เข้าใจวัตถุประสงค์และขั้นตอนการเขียนการบันทึกการสะท้อนคิด
  3. อาจารย์ควรตรวจงานการบันทึกการสะท้อนคิดและส่งคืนนักศึกษาก่อนการบันทึกการสะท้อนคิดในครั้งต่อไป
  4. อาจารย์ควรใช้หลายรูปแบบในการพัฒนาการสะท้อนคิดของนักศึกษา เช่นการให้คำแนะนำรายบุคคล การยกตัวอย่างจากบันทึกการสะท้อนคิดที่เขียนได้ดี การแจ้งรายชื่อผู้ที่เขียนสะท้อนคิดได้ดีเพื่อให้เพื่อนมีโอกาสไปขอคำปรึกษา

 

Print Friendly
ผู้เขียน อ.อรัญญา บุญธรรม (ประวัติการเขียน 17 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์


Tags: , ,

Comments are closed.