Recovery Model : กระบวนทัศน์ใหม่ในการดูแลบุคคลที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง
โครงการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยและวิชาการร่วมกับแหล่งฝึก
ระหว่างวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรีและกลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลพระปกเกล้า
ครั้งที่ 7 วันที่ 20 กรกฎาคม 2554 เวลา 13.30-16.00 น.
ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี
เรื่อง Recovery Model : กระบวนทัศน์ใหม่ในการดูแลบุคคลที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง
วิทยากร ดร.เชษฐา แก้วพรม RN, MN, PhD ภาควิชาการพยาบาลอนามัยชุมชนและจิตเวชศาสตร์
วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี
ผู้เข้าร่วมประชุม จากวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี จำนวน 36 คน
จากโรงพยาบาลพระปกเกล้า 8 คน
รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 44 คน
สรุปสาระการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
สรุปประเด็นสำคัญจากการนำเสนอของ ดร.เชษฐา แก้วพรม
การเจ็บป่วยทุกโรคส่งผลกระทบต่อสภาพจิตสังคมของตัวบุคคลและญาติ ผลกระทบของการเจ็บป่วยเรื้อรัง มีหลายระดับและเป็นเหมือนปรากฏการณ์ภูเขาน้ำแข็ง ความเจ็บป่วยที่ผู้อื่นมองเห็นได้นั้นมีเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความทุกข์ทรมานและความทุกข์ยากที่บุคคลต้องดำเนินชีวิตร่วมกับภาวะการเจ็บป่วยเรื้อรัง แนวคิดการส่งเสริมกระบวนการฟื้นตัวทางจิตสังคม (psychological recovery) จึงมีความจำเป็นในการดูแลบุคคลที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เพราะการเข้าใจกระบวนการฟื้นตัวทางจิตสังคมจะช่วยให้ผู้ดูแลเข้าใจวิธีการดูแลที่ตอบสนองความต้องการของบุคคลและครอบครัว และช่วยเพิ่มคุณค่าในการบำบัดรักษาด้วย
Recovery Model เป็นการอธิบายความหมายของการฟื้นตัวว่า เป็นกระบวนการที่บุคคลเกิดการเรียนรู้ เข้าใจในภาวการณ์เจ็บป่วย ตลอดจนปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตให้สามารถอยู่ร่วมกับภาวะการเจ็บป่วยได้อย่างมีความสุข แม้ว่าอาการเจ็บป่วยของโรคจะไม่หายก็ตาม
กระบวนการฟื้นตัวทางจิตสังคม (psychological recovery) มีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้
1. ความรู้สึกท่วมท้น (illness overwhelming) ระยะที่บุคคลทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง แต่ความคิดยิ่งสับสน ทำให้เกิดการปฏิเสธการเจ็บป่วย ขาดความมั่นใจและกลัวการเจ็บป่วย
2. การยอมรับการเจ็บป่วย (illness acceptance) เป็นขั้นตอนที่จำเป็นมาก เพราะการยอมรับการเจ็บป่วยจะช่วยทำให้บุคคลกระตือรือร้นที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่เป็น และมีการปรับตัวเพื่อต่อสู้กับภาวการณ์เจ็บป่วย
3. การสร้างความหวัง (development of hope) ความหวังที่จะมีสภาพชีวิตที่ดีท่ามกลางความเจ็บป่วย เป็นสิ่งสำคัญต่อกระบวนการฟื้นตัวเพราะจะช่วยให้บุคคลที่แรงจูงใจที่จะปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตเพื่อให้มี การฟื้นตัวที่ดี
4. กำหนดตัวตนใหม่ (self-redefinition) ระยะที่บุคคลพัฒนาตัวตนใหม่ที่แข็งแกร่ง พัฒนาศักยภาพเพื่อต่อสู้กับภาวการณ์เจ็บป่วย ซึ่งจะช่วยให้บุคคลเกิดความมั่นใจที่จะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตใหม่หลังการเจ็บป่วย
5. พัฒนาความรับผิดชอบต่อตนเอง (developing self-responsibility) ระยะที่บุคคลเริ่มเข้าใจว่าไม่มียาวิเศษใดที่จะช่วยเขาได้ หากเขาไม่ดูแลตนเอง ดังนั้นบุคคลจึงต้องมีแนวคิดที่จะสร้างระเบียบวินัยในชีวิตใหม่เพื่อให้เผชิญกับภาวการณ์เจ็บป่วยได้
6. เผชิญต่อสู้กับความทุกข์ยากในการดำเนินชีวิต (overcoming difficulties caused by the illness) บุคคลต้องมีวิธีการในการรับมือกับผลกระทบทางลบของการเจ็บป่วยได้อย่างสร้างสรรค์ เพราะการเจ็บป่วยเกิดผลกระทบทางลบอย่างมากมายต่อบุคคลและครอบครัว
แนวคิดพื้นฐานของกระบวนการฟื้นตัวทางจิตสังคม มีดังนี้
1. บุคคลสามารถพัฒนากระบวนการฟื้นตัวทางจิตสังคมได้เองโดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการบำบัดรักษา เพราะเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคลที่พัฒนาขึ้นจากการประสบการณ์การเรียนรู้ของตัวเอง
2. บุคคลจะสามารถพัฒนากระบวนการฟื้นตัวทางจิตสังคมได้ก็ต่อเมื่อเขาอยู่ท่ามกลางคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจและเชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถฟื้นตัวได้
3. กระบวนการฟื้นตัวทางจิตสังคมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แม้ว่าอาการของโรคยังปรากฏอยู่
4. กระบวนการฟื้นตัวทางจิตสังคมเป็นกระบวนการที่มีโอกาสก้าวหน้าหรือถอยหลังได้ตลอดเวลา
การดูแลที่ส่งเสริมกระบวนการฟื้นตัว พยาบาลจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวคิดในการดูแลเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการฟื้นตัว เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการเจ็บป่วย และวิถีปฏิบัติต่อผู้รับบริการและครอบครัวเพื่อส่งเสริมให้บุคคลเกิดกระบวนการฟื้นตัวที่ดี และยกระดับการดูแลบุคคลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์
สรุปประเด็นสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
- การให้ผู้ป่วยที่มีประสบการณ์โรคเดียวกัน ได้รับการรักษาแบบเดียวกัน ได้มีโอกาสพูดคุยกันจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้และการฟื้นตัวที่ดีได้
- การเปิดใจรับฟังผู้ป่วยให้มากขึ้น จะทำให้เข้าใจผู้ป่วยได้มากขึ้น และมีการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ได้ดีขึ้น
- การปรับเปลี่ยนแนวคิด พูดคุยกับผู้ป่วยในสิ่งที่ผู้ป่วยอยากเล่า ไม่ใช่คุยในสิ่งที่พยาบาลอยากรู้ จะช่วยให้เข้าถึงผู้ป่วยได้มากขึ้น และส่งเสริมกระบวนการฟื้นตัวได้ดี
- แนวคิดในการดูแลบุคคลแบบ Recovery Model ควรเริ่มจากหน่วยงานที่สามารถทำได้ก่อนแล้วมีการขยายผลต่อไป รวมทั้งในการเรียนการสอนที่ควรเริ่มมีการนำแนวคิด Recovery Model มาใช้เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีในการดูแลบุคคลแบบ Recovery Model ต่อไป
- การรับฟังผู้ป่วยและการคิดนอกกรอบจะช่วยส่งเสริมกระบวนการฟื้นตัวได้ดี
แนวทางการนำผลการประชุมไปใช้ จากการประชุมครั้งที่ 7
ในการเรียนการสอนและการดูแลผู้ป่วยหรือผู้รับบริการในทุกกลุ่มควรเริ่มมีการนำแนวคิด Recovery Model มาใช้ เพื่อช่วยให้บุคคลมีกระบวนการฟื้นตัวที่ดี สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขแม้ความเจ็บป่วยนั้นจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ก็ตาม