มาเลิกสูบบุหรี่กันดีกว่า (ตอนที่ 2)

     ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปจากการรณรงค์ของหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชน  โดยเฉพาะนับตั้งแต่ประเทศไทยได้ลงนามข้อตกลงอนุสัญญาที่ร่วมกับ 191 ประเทศทั่วโลก ในการควบคุมการบริโภคยาสูบในรูปแบบต่างๆ เมื่อปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นผลให้มาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบมีความเข้มข้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หลายๆ ประเทศ เช่น การขึ้นภาษีบุหรี่ที่มีผลให้ราคาบุหรี่แพงขึ้น การห้ามโฆษณาบุหรี่ในสื่อทุกประเภท การห้ามวางโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย การกำหนดให้มีฉลากคำเตือนด้านสุขภาพเป็นรูปภาพทั้งด้านหน้าและด้านหลังของซองบุหรี่ และการกำหนดพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ เป็นต้น จากการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ผู้สูบบุหรี่จำนวนมากต้องการเลิกสูบบุหรี่

     จากการศึกษาวิจัยของคณาจารย์วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ ส่วนใหญ่เคยพยายามลองเลิกสูบบุหรี่มาก่อนแล้ว บางคนเคยพยายามเลิกมาแล้ว 10 ครั้ง  สาเหตุสำคัญของการเลิกบุหรี่ไม่สำเร็จ เป็นเพราะความรู้สึกของตนเองที่คิดว่าไม่สามารถเลิกได้ เพราะเลิกแล้ว มีอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย เครียด ไม่มีสมาธิ ทำงานที่ใช้สมองได้ช้าลง โดยเฉพาะในช่วงแรกของการเลิกสูบ ซึ่งระดับนิโคตินในเลือดลดลง  ดังนั้น ในช่วงสัปดาห์แรก จึงเป็นช่วงที่ผู้เลิกสูบุหรี่ต้องความอดทนต่ออาการขาดนิโคตินให้ได้จึงจะเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ  นอกจากนั้น เมื่อเลิกสูบได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น 1-2 เดือน การเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนสูบบุหรี่ เช่น งานเลี้ยง สังสรรค์ ดื่มสุรากับเพื่อน ก็เป็นสถานการณ์ที่เอื้อต่อการกลับไปสูบบุหรี่อีก และถ้าคนใกล้ชิด เช่น ภรรยาไม่ได้แสดงปฏิกิริยาคัดค้านการกลับไปสูบบุหรี่ของสามี พฤติกรรมการสูบบุหรี่เป็นประจำก็จะกลับมาอีก

     ในการวิจัยเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการเลิกสูบบุหรี่ของวิทยาลัยพยาบาลฯ ดังกล่าว ได้ข้อสรุปสำหรับการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ ดังนี้

          1. การให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ต่อสุขภาพของผู้สูบและคนใกล้ชิด โดยเฉพาะคนในบ้าน ซึ่งเป็นเด็ก และหญิงตั้งครรภ์ โดยชี้ให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อสร้างความตระหนักและความพร้อมในการเลิกสูบบุหรี่

          2. การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลดีของการเลิกสูบบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพของผู้สูบเองและคนที่อยู่ใกล้ชิด และผลดีต่อสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัวที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายรายวันในการซื้อบุหรี่ และเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาประชาชนที่เจ็บป่วยโรคอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่

          3. การแนะนำเทคนิคและวิธีการเลิกสูบบุหรี่แก่ผู้ที่พร้อมจะเลิก เช่น การวางแผนเลิกโดยมีผู้รู้เห็นเป็นพยาน การเลิกแบบหักดิบ การใช้นิโคตินทดแทนถ้าจำเป็น การใช้บริการช่วยเลิกสูบบุหรี่ของหน่วยงานต่างๆ การหลีกเลี่ยงหรือกำจัดปัจจัยที่เอื้อต่อการสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย การดื่มน้ำมากๆ และการใช้วิธีการต่างๆที่ช่วยลดอาการต้องการสูบบุหรี่ เช่น การเคี้ยวมะนาวที่ฝานเป็นชิ้นเล็กๆคลุกกับเกลือ และการเคี้ยวหมากฝรั่ง เป็นต้น

          4. เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ หรือคนใกล้ชิดให้การสนับสนุนด้านจิตใจ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การพูดคุยทางโทรศัพท์เพื่อให้ผู้เลิกสูบบุหรี่ได้ระบายความรู้สึก และเป็นการสร้างความเข้าใจ รับฟังปัญหาและให้กำลังใจ โดยปฏิบัติเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์แรกของการเลิกสูบบุหรี่ นอกจากนั้น ยังควรให้ข้อมูลย้อนกลับ เช่น ชมเชยเมื่อปฏิบัติได้สำเร็จในแต่ละขั้นหรือแต่ละช่วงเวลาที่สามารถเอาชนะความต้องการอยากสูบบุหรี่ได้ เพื่อสร้างความมั่นใจ และความมุ่งมั่นในการเลิกสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งครบ 1 ปี จึงจะถือว่าเลิกสูบบุหรี่ได้

          5. การสนับสนุนโดยบุคคลในครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดและมีความสำคัญ เช่น ภรรยา บุตร พ่อ-แม่ และญาติพี่น้อง เป็นต้น โดยควรได้รับรู้และให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้น ในช่วงวาระสำคัญต่างๆ เช่น วันเกิดของลูก วันขึ้นปีใหม่ หรือเมื่อเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ก็อาจใช้เป็นวันเริ่มต้นของการเลิกสูบบุหรี่ได้

          6. การติดตามความก้าวหน้าและผลอย่างจริงจัง โดยเจ้าหน้าที่และคนใกล้ชิด ซึ่งนับว่าเป็นแรงผลักดันให้เลิกสูบบุหรี่ เพราะเป็นความคาดหวังของผู้อื่น แต่ต้องปฏิบัติด้วยระมัดระวังและให้เกียรติ์

          7. การสนับสนุนให้ผู้เลิกสูบบุหรี่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ล้มเหลว โดยไม่ย่อท้อ จะช่วยให้เกิดกำลังใจในการเลิกครั้งต่อไป จนกว่าจะเลิกได้สำเร็จ

     โดยสรุป การเลิกสูบบุหรี่ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินความสามารถของผู้ติดบุหรี่ที่จะเลิกได้ ความตั้งใจจริงที่จะเลิก ถือเป็นปัจจัยความสำเร็จอันดับแรก ส่วนวิธีการปฏิบัติต่างๆนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามสภาพการณ์ของแต่ละบุคคล การเลิกสูบบุหรี่หรือการช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่มีผลอย่างยิ่งคนและสังคมในทุกระดับ ดังนั้น… มาเลิกสูบบุหรี่กันดีกว่า

Print Friendly
ผู้เขียน ดร.มัณฑนา เหมชะญาติ (ประวัติการเขียน 19 เรื่อง)

รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการจัดการความรู้ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี


Tags: ,

Comments are closed.