มาเลิกสูบบุหรี่กันดีกว่า (ตอนที่ 1)

     ในอดีต การสูบบุหรี่เป็นที่ยอมรับของสังคม แต่ในปัจจุบันมีการรณรงค์เพื่อต่อต้านการสูบบุหรี่ อย่างมาก เพราะการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและความพิการที่สามารถป้องกันได้  โรคสำคัญๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด ถุงลมปอดโป่งพอง หลอดลมอักเสบ และมะเร็งของอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด กล่องเสียง กระเพาะปัสสาวะ และไต นอกจากนั้นการสูบบุหรี่ในระหว่างตั้งครรภ์ ยังทำให้เพิ่มอัตราเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย ทารกตายในครรภ์ หรือตายทันทีหลังคลอด  องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการณ์ว่าในช่วง ค.ศ. 1990-1999 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เนื่องมาจากการสูบบุหรี่ 1 คน ในทุกๆ 10 วินาที หรือมีผู้เสียชีวิต 3 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี  และถ้าไม่ได้รับการแก้ไข  อัตราการเสียชีวิตของคนที่เนื่องมาจากการสูบบุหรี่ จะเพิ่มเป็น 1 คน ในทุกๆ 3 วินาที หรือมีผู้เสียชีวิต 10 ล้านคน ในแต่ละปีในช่วง ค.ศ. 2020-2030  โดยที่ 70% ของผู้ที่เสียชีวิตอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

     โดยทั่วไป คนจะเริ่มสูบบุหรี่ในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น ในหลายประเทศ อายุของเด็กที่เริ่มสูบบุหรี่มีแนวโน้มน้อยลง โดยมีค่าเฉลี่ยของอายุต่ำกว่า 15 ปี ผลจากการศึกษาวิจัยของคณาจารย์วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี พบว่าความตั้งใจในการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นได้รับอิทธิพลมาจากการที่เห็นว่าการสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่ ช่วยให้คลายเครียด เป็นวิธีการช่วยให้เข้ากับกลุ่มเพื่อนได้ และการปฏิเสธการสูบบุหรี่ร่วมกับเพื่อน เป็นเรื่องยาก ดังนั้น ถ้าวัยรุ่นหรือผู้ปกครองที่ไม่ต้องการให้บุตร-หลาน สูบบุหรี่จนกระทั่งติดนิโคติน ซึ่งจะเลิกได้ยากมาก ก็ควรตระหนักถึงอิทธิพลของสิ่งเหล่านี้ที่ส่งผลให้วัยรุ่นสูบบุหรี่

     ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเลิกสูบบุหรี่ โดยคณาจารย์ของวิทยาลัยฯ อีกเรื่องหนึ่ง พบว่า การรณรงค์การเลิกสูบบุหรี่โดยนักศึกษาพยาบาล เป็นระยะเวลา 6 เดือน ช่วยให้ญาติ หรือคนรู้จักของนักศึกษาจำนวน 232 คน สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ในช่วงเวลา 1-6 เดือน ประมาณร้อยละ 20 สำหรับเหตุผลสำคัญของเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ คือ ผู้สูบบุหรี่ตระหนักถึงความสำคัญของการเลิกสูบุหรี่ต่อสุขภาพของตนเอง และต่อผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น ภรรยาและบุตร  การเลิกสูบบุหรี่ช่วยลดค่าใช้จ่าย และการมีความเห็นว่าสังคมทั่วไปต่อต้านการสูบบุหรี่มากขึ้น  นอกจากนั้น ผลการวิจัยเกี่ยวกับการเลิกสูบบุหรี่ของสามีที่ภรรยาตั้งครรภ์ พบว่า การให้คำปรึกษาและติดตามเป็นระยะอย่างต่อเนื่องโดยอาจารย์พยาบาลผู้วิจัยช่วยให้สามีที่ภรรยากำลังตั้งครรภ์เลิกสูบบุหรี่ได้นานเกิน 6 เดือน ประมาณร้อยละ 15 เหตุผลสำคัญของการเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ได้แก่ เลิกบุหรี่เพื่อลูกและเพื่อสุขภาพของตนเอง และภรรยาต้องการให้เลิก  สำหรับเหตุผลสำคัญของการเลิกสูบบุหรี่ไม่สำเร็จ คือ การทนต่ออาการถอนบุหรี่ (นิโคติน) ไม่ได้  ทำให้รู้สึกเครียดในช่วงเลิกสูบบุหรี่ ขาดแรงจูงใจในการเอาชนะความอยากสูบบุหรี่ ไม่กล้าพอที่จะเลิกสูบบุหรี่ เพราะยังมีเพื่อนๆที่ยังสูบบุหรี่ และการปฏิเสธบุหรี่จากเพื่อนไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงสังสรรค์ มีการดื่มสุรา รวมทั้งบางคนมีความเครียดเนื่องมาจากเรื่องอื่นๆ ในช่วงที่พยายามเลิกสูบบุหรี่ จึงไม่สามารถควบคุมตนเองให้เลิกสูบบุหรี่ได้

     สำหรับประเทศไทย ความพยายามในการรณรงค์ให้ประชาชนไม่สูบบุหรี่โดยหน่วยงานต่างๆ มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็นับว่าได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่กิจกรรมเพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ยังคงต้องมีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งต่อไปด้วยความร่วมมือของหลายๆ ภาคส่วน เพราะการตลาดของฝ่ายที่ผลิตสินค้าเกี่ยวกับยาสูบมีกลยุทธ์ที่ปรับเปลี่ยนเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย เช่น เด็ก และสตรี เพื่อการได้ส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าประเภทนี้ ทั้งบุหรี่ที่ผลิตในประเทศและบุหรี่นำเข้ามาจากต่างประเทศ  ดังนั้น เพื่อการมีสุขภาพที่ดี… มาเลิกสูบบุหรี่กันดีกว่า

Print Friendly
ผู้เขียน ดร.มัณฑนา เหมชะญาติ (ประวัติการเขียน 19 เรื่อง)

รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการจัดการความรู้ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี


Tags: ,

Comments are closed.