พยาบาลกับการเตรียมความพร้อมรับวัฒนธรรมที่แตกต่างของอาเซียนบวก

สรุปผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากคณาจารย์ภาควิชาการพยาบาลมารดาทารกและการผดุงครรภ์

วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี

 เรื่อง “พยาบาลกับการเตรียมความพร้อมรับวัฒนธรรมที่แตกต่างของอาเซียนบวก”

จากการประชุมวิชาการของสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ

วันที่ ๑๒ – ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๕ ณ โรงแรมมารวยการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร

……………………………………………………………

ผู้เขียน  อ.ขนิษฐา  เมฆกมล

ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

อ.ธนพร ศนีบุตร  อ.ทิพวรรณ ลิ้มประไพพงษ์  อ.จันทรมาศ เสาวรส  อ.เพ็ญนภา พิสัยพันธุ์  อ.จันทร์เพ็ญ อามพัฒน์  อ.อารีรัตน์ วิเชียรประภา  อ.จรัญญา ดีจะโปะ อ.วรัญญา ชลธารกัมปนาท  อ.จารุวรรณ ท่าม่วง อ.กฤษณี สุวรรณรัตน์ อ.กรรณิการ์ แซ่ตั้ง

สรุปผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

          จากการประชุมวิชาการสามัญประจำปี ๒๕๕๕ ของสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ          เรื่อง “พยาบาลกับการเตรียมความพร้อมรับวัฒนธรรมที่แตกต่างของอาเซียนบวก” สรุปได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงทางด้านการบริการด้านสุขภาพ ซึ่งจะมีผู้รับบริการจากประเทศต่างๆมาใช้บริการสุขภาพของไทยมากขึ้นและนำพาวัฒนธรรมที่หลากหลายติดตัวมาด้วย พยาบาลวิชาชีพควรที่จะมีการเรียนรู้วัฒนธรรมในการดูแลสุขภาพของประเทศต่างๆ เพื่อที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า     และพร้อมที่จะรับการแข่งขันในประชาคมอาเซียนและเป็นศูนย์บริการสุขภาพนานาชาติในอนาคต

การเรียนรู้วัฒนธรรมของกลุ่มประเทศในอาเซียน ควรเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นคน วิถีชีวิต     ความเชื่อ วัฒนธรรมของประชากรในกลุ่มประเทศอาเซียน และปฏิบัติตามวัฒนธรรม ซึ่งการพยาบาลต้องมีความหลากหลาย ยืดหยุ่นตามวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ สำหรับวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศต่างๆในการดูแลสุขภาพจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป สามารถสรุปประเด็นได้ดังนี้

วัฒนธรรมพุทธกับการดูแลสุขภาพ ศาสนาพุทธไม่ปฏิเสธการรักษา อะลุ้มอล่วย แต่ต้องไม่เบียดเบียนตัวเองและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

วัฒนธรรมจีน ให้ความสำคัญของพลังหยินหยาง การเจ็บป่วยเกิดจากความไม่สมดุลของหยินหยางและแก้ไขตามสาเหตุที่พบ ความเชื่อของคนจีนคือ วันปีใหม่ วันตรุษจีน จะไม่เข้าโรงพยาบาล ให้ความสำคัญของสีเสื้อผ้า สีแดงเป็นสีนำโชค สีดำสำหรับคนทำงาน สีขาวไปงานศพ ไม่ใช้วัตถุแหลมคมขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอดจะไม่ร้องต้องอดทนเพราะถ้าร้องปีศาจจะมาทำร้ายทารก หลังคลอดต้องรับประทานอาหารที่มีความร้อน หลีกเลี่ยงความเย็น ให้ทารกนอนหงายหัวจะได้แบนสวย

วัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น เชื่อว่าการเกิดโรคเรื้อรังเป็นเพราะกรรมที่ทำ กรณีเจ็บป่วยต้องมีความเป็นส่วนตัว ปกปิด ไม่ต้องมาเยี่ยม รักษาความสะอาดมาก ตรงต่อเวลา การตอบสนองต้องรวดเร็ว ต้องมีการอธิบายเหตุผล แผนการรักษาให้ชัดเจน ถ้าทำผิดต้องรีบขอโทษมิฉะนั้นจะถือว่าเราละเลย ไม่ชอบการ admit ไม่นิยมการใช้ยา antibiotic ไม่ชอบเสียงดัง ไม่ชอบแสงไฟ ไม่ชอบสีขาว ไม่ชอบดอกเบญจมาศ ชอบรับประทานชาเขียว ชอบสูบบุหรี่ ชอบความอบอุ่น น้ำที่อาบต้องร้อนจัด ไม่บริจาคอวัยวะเพราะกลัวชาติหน้าจะไม่สมประกอบ

วัฒนธรรมของชาวมุสลิมเชื่อว่าการเกิดโรคเป็นเพราะไม่เชื่อมั่นศรัทธาในพระอัลลอฮ์ การเจ็บป่วยและความตายเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า และชาวมุสลิมจะให้ความสำคัญของครอบครัวมากที่สุด เมื่อเจ็บป่วยจะมีครอบครัว มีญาติมาเยี่ยมหลายคน

วัฒนธรรมของชาวอเมริกันให้ความสำคัญในเรื่องของเวลา ต้องอธิบายกำหนดการในแต่ละวันให้ทราบ เวลาสนทนาต้องสบตาเสมอเพื่อให้เขารู้ว่าเราสนใจในสิ่งที่กำลังสนทนา ชอบความเป็นกันเองเรียกชื่อเล่นได้ ระวังการแสดงความคิดเห็นในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ความเชื่อหรือความคิดเห็นทางการเมือง

จากผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในภาควิชาสรุปได้ว่าวัฒนธรรมในการดูแลสุขภาพของกลุ่มประเทศต่างๆจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่มากกว่านี้ ดังนั้นจึงควรที่จะมีการเรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนให้มากขึ้น โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อการดูแลสุขภาพมารดาและทารก และนำไปสู่การเรียนการสอนในรายวิชาการพยาบาลมารดาทารกและการผดุงครรภ์ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ      ที่ภาควิชารับผิดชอบ เพื่อจะนำไปสู่การให้การพยาบาลที่เหมาะสมสนองตอบต่อความต้องการของประชากรในประเทศนั้นได้

……………………………………………………………………………………………………

 

Print Friendly
ผู้เขียน อ.ขนิษฐา เมฆกมล (ประวัติการเขียน 7 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลมารดา ทารก และการผดุงครรภ์


Tags: , ,

One Response to “พยาบาลกับการเตรียมความพร้อมรับวัฒนธรรมที่แตกต่างของอาเซียนบวก”

  1. rungnapha khiewchaum พูดว่า:

    ปัจจุบันสาขาวิชาชีพน่าจะมีผลกระทบมากที่สุดคือทางการแพทย์พบว่าประเทศพม่าสามารถผลิตแพทย์ได้ปีละ 8000 คน ในขณะที่ประเทศไทยผลิตได้ 2000 คน และใน 2000 คน ได้ไปทำงานต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ดังนั้นต่อในอนาคตประชาชนของไทยจะได้รับการรักษาจากแพทย์ชาวพม่าอย่างแน่นอนเป็นผลมาจากการเปิดการค้าเสรี นอกจากนี้พยาบาลไทยตกอยู่ในสภาพเดียวกันคือ ผลิตได้เพียง 2000-3000 คนต่อปีและในจำนวนนี้ไปทำงานต่างประเทศซึ่งเป็นผลมาจากการไม่ได้รับการบรรจุในประเทศไทย ซึ่งทำให้พยาบาลฟิลิปปินส์เดินทางเข้ามาทำงานประเทศไทยมากขึ้น เป็นผลมาจากเริ่มมีการให้บริการแบบ ส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub ) นั่นเอง