การเลี้ยงดูลูกวัยรุ่นในปัจจุบัน

วัยรุ่น เป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่างทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และความสัมพันธ์กับผู้อื่นและสังคม  ทำให้เกิดความสับสน ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดประสบการณ์ และขาดทักษะในการใช้ชีวิต อีกทั้งสังคมปัจจุบันยังมีปัจจัยยั่วยุและสิ่งกระตุ้นความอยากรู้ อยากลองของวัยรุ่นอย่างมากมาย ขณะเดียวกันปัจจัยทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม สถานภาพทางครอบครัว ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ผ่านมา  ส่งผลให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งถ้าไม่สามารถปรับตัวได้ เด็กก็จะมีพฤติกรรมปัญหาทั้งในช่วงวัยรุ่นและในการพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ในช่วงต่อมา

ผลการศึกษาพฤติกรรมปัญหาของนักเรียนวัยรุ่นในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งดำเนินการเมื่อปีการศึกษา 2550 โดยอาจารย์ของวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,073 คน จากโรงเรียนมัธยมศึกษาจำนวน 8 โรงเรียน พบว่า พฤติกรรมปัญหาของนักเรียนวัยรุ่นอันดับแรก คือ เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์/เกมส์เพลย์มากกว่า วันละ 2 ชั่วโมง รองลงมาคือ ดื้อไม่เชื่อฟัง เถียงพ่อแม่หรือผู้ปกครองบ่อยๆ นอกจากนั้นเด็กยังระบุว่าเคย ชกต่อย ตบตี  เล่นการพนัน หนีโรงเรียน กลั่นแกล้งผู้อื่นทำให้ได้รับความเดือดร้อน และเคยคิดฆ่าตัวตายแต่ยังไม่ได้ลงมือกระทำ โดยสรุปว่า นักเรียนวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในจังหวัดจันทบุรีประมาณหนึ่งในสามมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และประมาณหนึ่งในสิบมีพฤติกรรมปัญหาที่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น

นอกจากนั้นในการศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า นักเรียนวัยรุ่นชายมีพฤติกรรมปัญหามากกว่านักเรียนวัยรุ่นหญิง นักเรียนที่พ่อแม่แยกกันอยู่มีพฤติกรรมปัญหามากกว่านักเรียนที่พ่อแม่อยู่ด้วยกัน นักเรียนของโรงเรียนในเขตเมืองมีพฤติกรรมปัญหามากกว่านอกเขตเมือง  และนักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 มีพฤติกรรมปัญหามากที่สุด รองลงมาคือ ชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 1 ตามลำดับ

ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองที่กำลังเลี้ยงดูเด็กวัยรุ่น จึงควรทำความเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ และใช้แนวทางการเลี้ยงเด็กวัยรุ่นที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยท่านอาจนำแนวทางที่เสนอแนะต่อไปนี้ ไปปรับใช้กับการเลี้ยงดูลูกหลานของท่าน

  1. พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องใช้ความรัก ความเข้าใจในการเลี้ยงดูและแก้ไขปัญหาวัยรุ่น โดยไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจแก้ปัญหา ถ้าขณะที่กำลังเผชิญหน้ากับวัยรุ่นของท่านเมื่อมีปัญหา  ท่านต้องใช้ความอดทน ควบคุมอารมณ์ให้ได้ และแสดงออกด้วยท่าที่ทีสงบ
  2. ไม่ควรใช้เกณฑ์การปฏิบัติที่เคยประพฤติปฏิบัติเมื่อท่านเป็นวัยรุ่น เพราะสังคมและเทคโนโลยีในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ควรสอดส่องการใช้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมต่างๆของลูก ตั้งแต่เขาเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ ถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรให้เด็กมีคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องนอน ควรติดตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ในพื้นที่ส่วนรวมของครอบครัว เพื่อสังเกตหรือตรวจสอบการใช้โปรแกรมและการเข้าใช้อินเตอร์ของเด็กได้
  3. ให้ความสนใจ และให้เวลากับวัยรุ่นอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเขาร้องขอ หรือเมื่อสังเกตได้ว่าเขามีปัญหา ไม่ควรปล่อยให้เด็กใช้เพื่อนเป็นที่ปรึกษาหลัก เพราะโดยปกติเด็กจะขาดประสบการณ์และการยับยั้งชั่งใจ ควรทำความรู้จักเพื่อนสนิทของลูก และพ่อแม่เพื่อนของลูกด้วย รวมทั้งควรมีการติดต่อกันบ้าง
  4. ควรระมัดระวังเกี่ยวกับคำพูด อย่าโต้เถียงกับลูกด้วยคำพูดที่รุนแรง ให้คำชมเชยเมื่อลูกทำในเรื่องที่ดี แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าต้องการสอนหรือแนะนำเรื่องที่สำคัญ ต้องวางแผนและทำในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ในขณะพูดคุย ไม่ควรใช้คำพูดที่คุกคาม ไล่ต้อนให้จนมุม หรือบังคับโดยตรง ควรเสนอทางออกแบบประนีประนอม ควรให้เวลาเด็กได้คิด และเปิดโอกาสให้ตัดสินใจหรือแก้ปัญหาด้วยตนเอง ภายในขอบเขตที่ไม่เกิดความเสียหาย
  5. วางแผนสำหรับการพูดคุยกับลูกเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศ ไม่กีดกันการมีเพื่อนต่างเพศ สอนลูกชายเรื่องความเป็นสุภาพบุรุษและการให้เกียรติผู้หญิง  สอนลูกสาวเรื่องการรักนวลสงวนตัว หรือถ้าจำเป็นอาจต้องสอนเรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ สำหรับพ่อแม่ที่ลูกมีพฤติกรรมการแสดงออกไม่ตรงกับเพศ อย่าตำหนิหรือบังคับลูก การยอมรับจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งกับลูกได้
  6. มองโลกในแง่ดี ยอมรับในความบกพร่อง ความผิดพลาด หรือข้อจำกัดของลูก เพราะเราทุกคนย่อมมีความบกพร่องหรือเคยทำสิ่งที่ผิดพลาดมาแล้วทั้งนั้น  ให้โอกาสแก่ลูกเสมอสำหรับการแก้ไขความผิดพลาด ไม่ควรพูดถึงความผิดเก่าๆ ซ้ำอีก  ควรมองข้ามความผิดเล็กๆน้อยๆ ไม่จุกจิก จู้จี้ขี้บ่น หรือประจานความผิดของลูกต่อหน้าคนอื่นๆ
  7. รักษาความสมดุลของการตามใจ กับ การดูแลให้อยู่ในระเบียบวินัย ไม่ควรเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งจนเกินไป ควรมีความยืดหยุ่นแต่ต้องมีระเบียบวินัยด้วย ควรกำหนดกติกาในการปฏิบัติของลูกในเรื่องที่สำคัญ เช่น การออกนอกบ้านไปกับเพื่อน และต้องรักษากติกาอย่างสม่ำเสมอ
  8. พยายามใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกวัยรุ่นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการเรียนรู้และเข้าใจในความคิดและการเปลี่ยนแปลงของลูก ท่านอาจชวนเขาไปดูหนังหรือคอนเสิร์ตที่วัยรุ่นชื่นชอบ ไปซื้อของ หรือไปเที่ยวต่างจังหวัด ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เป็นโอกาสที่ท่านจะสร้างความรู้สึกที่ทำให้เด็กอยากใกล้ชิดกับพ่อแม่ และเป็นช่วงเวลาที่เด็กจะมีความทรงจำที่ดีและผูกพันกับพ่อแม่มากขึ้น
  9. เตรียมใจสำหรับการรับเรื่องที่เป็นปัญหารุนแรงของลูกวัยรุ่น เพราะถ้าท่านไม่เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน ท่านอาจเลือกทางแก้ปัญหาที่ทำให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น อย่าซ้ำเติมความผิดลูก ท่านต้องทำให้ลูกมั่นใจว่าไม่ว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายเพียงใด พ่อแม่ยังเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดให้แก่เขาเสมอ

โดยสรุป พ่อแม่ ผู้ปกครองในปัจจุบันนี้ ต้องเป็นฝ่ายเรียนรู้และปรับตัวเข้าหาลูกวัยรุ่น การยืนยันว่าลูกควรเป็นฝ่ายเข้าหาพ่อแม่ จะทำให้ช่องว่างระหว่างพ่อแม่ กับลูกวัยรุ่นห่างกันมากยิ่งขึ้น อันนำไปสู่ความไม่เข้าใจกันและความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ การป้องกันและการแก้ปัญหาที่ได้ผลเสมอคือการให้ความรัก ความเอาใจใส่ และความเข้าใจโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งน่าจะช่วยให้ครอบครัวของท่านผ่านพ้นช่วงพัฒนาการหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ได้อย่างราบรื่น

Print Friendly
ผู้เขียน ดร.มัณฑนา เหมชะญาติ (ประวัติการเขียน 19 เรื่อง)

รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการจัดการความรู้ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี


Tags: , , , ,

2 Responses to “การเลี้ยงดูลูกวัยรุ่นในปัจจุบัน”

  1. รัชชนก พูดว่า:

    การเริ่มต้นเอาใจใส่ลูกตั้งแต่แรกเกิดและสม่ำเสมอจนโตเป็นวัยรุ่น จะช่วยสร้างสายใยที่ดีในครอบครัว และลดปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมาได้ แต่ถ้าหากไม่ได้เริ่มตั้นมาตั้งแต่แรก พ่อแม่ก็ไม่ต้องท้อใจ เพราะความรักและความเมตตาที่มีให้ลูกนั้น มีพลังอันมหาศาล เริ่มต้นจากการเปิดใจรับฟังลูก จะเข้าใจลูกได้มากขึ้น ปัญหาทุกอย่างจะค่อย ๆ คลี่คลายได้ แต่ถ้าไม่ค่อยได้เคยพูดคุยกัน ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไปค่ะ

  2. จากประสบการณ์การเลี้ยงลูก 2 คนซึ่งกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น คิดว่าสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองซึ่งมีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นควรให้ความสำคํญ(นอกเหนือจากความรัก ความอบอุ่นซึ่งจำเป็นสำหรับทุกช่วงวัย) คือการให้โอกาส(และช่วยให้)ลูกค้นหาความถนัด พรสวรรค์ที่ลูกมี เนื่องจากวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่เขามีความคิดเป็นของตัวเอง ต้องการเสรีภาพ และแสดงความเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งถ้าเขาสามารถค้นหาได้ว่าเขามีความถนัดหรือพรสวรรค์ในด้านใด จะทำให้ภูมิใจในตนเอง มีทิศทางในการดำเนินชีวิตเพื่อพัฒนาตนเองในด้านนั้น หลังจากนั้นผู้ปกครองจึงมีหน้าที่สนับสนุนและให้กำลังใจ(ที่สำคัญผู้ปกครองต้องเปิดใจกว้างเพื่อยอมรับในสิ่งที่ลูกชอบ ลูกถนัด ไม่ใช่ขีดเส้นให้ลูกเดินตามทางที่ผู้ปกครองคิดว่าดี) ซึ่งลูกแต่ละคนอาจจะมีความถนัดและพรสวรรค์แตกต่างกัน หากผู้ปกครองใกล้ชิด ใส่ใจในตัวเขาจะช่วยให้ลูกค้นหาตนเองได้เร็วขึ้น และเมื่อลูกรู้จักตัวเอง และมีเป้าหมายในการใช้ชีวิต เขาจะนำพลังที่มีอยู่มากในวัยนี้ไปใช้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาตนเอง ไม่เอาเวลาไปติดเกมส์ และสิ่งยั่วยุต่างๆ สำหรับตนเองเมื่อเห็นว่าลูกมีจุดยึดเหนี่ยวและมุ่งมั่นในการทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจแล้ว (คนพี่มีความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เขาจะใช้เวลาว่างที่มีอยู่ในการทำโจทย์ฟิสิกส์ เคมี คนน้องมีความถนัดด้านดนตรี จะใช้เวลาว่างในการซ้อมดนตรี) จึงสามารถให้ลูกมีคอมพิวเตอร์ในห้องนอนของตนเอง