พฤติกรรมปัญหาและการเผชิญปัญหาของนักเรียนวัยรุ่นในจังหวัดจันทบุรี
วัยรุ่น เป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่างทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และความสัมพันธ์กับผู้อื่นและสังคม ทำให้เกิดความสับสน ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดประสบการณ์ และขาดทักษะในการใช้ชีวิต อีกทั้งสังคมปัจจุบันยังมีปัจจัยยั่วยุและสิ่งกระตุ้นความอยากรู้ อยากลองของวัยรุ่นอย่างมากมาย ขณะเดียวกันปัจจัยทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม สถานภาพทางครอบครัว ก็มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่ผ่านมา ซึ่งมีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่พร้อมจะเรียนรู้และรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆอยู่แล้ว เกิดความเครียด ส่งผลต่อการปรับตัวและพฤติกรรมปัญหาทั้งในช่วงวัยรุ่นและในการพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ต่อไป ปรากฏการณ์ความรุนแรงของพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นและซับซ้อนมากกว่าในอดีต ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม ปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อย เช่น ไม่เรียนหนังสือ ติดเกมส์คอมพิวเตอร์ ติดการพนัน ติดยาเสพย์ติด มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันอันนำไปสู่ปัญหาการตั้งครรภ์ในหญิงวัยรุ่นและการติดเชื้อ HIV เป็นต้น พฤติกรรมปัญหาต่างๆเหล่านี้ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งต่อวัยรุ่นเอง ครอบครัวและผู้อื่น โดยเฉพาะบางรายที่กระทำผิดรุนแรงถึงขั้นต้องโทษจำคุก
สำหรับวัยรุ่นในจังหวัดจันทบุรี ผลการศึกษาพฤติกรรมปัญหาของนักเรียนวัยรุ่นในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งดำเนินการเมื่อปีการศึกษา 2550 โดยอาจารย์ของวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,073 คน โดยประกอบด้วย นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตเมืองจำนวน 4 โรงเรียน และนอกเขตเมืองจำนวน 4 โรงเรียน พบว่า พฤติกรรมปัญหาของนักเรียนวัยรุ่นอันดับแรก คือ เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์/เกมส์เพลย์มากกว่า วันละ 2 ชั่วโมงโดยคิดเป็นร้อยละ 39.00 รองลงมาคือ ดื้อไม่เชื่อฟัง เถียงพ่อแม่หรือผู้ปกครองบ่อยๆ คิดเป็นร้อยละ 30.20 ชกต่อย/ตบตีคิดเป็นร้อยละ 18.60 เล่นการพนันคิดเป็นร้อยละ 17.00 เที่ยวกลางคืนกับเพื่อนโดยไม่มีผู้ปกครองไปด้วย คิดเป็นร้อยละ 15.10 ขี่รถซิ่ง/แข่งรถคิดเป็นร้อยละ 15.00 หนีโรงเรียนคิดเป็นร้อยละ 12.10 กลั่นแกล้งผู้อื่นทำให้ได้รับความเดือดร้อนคิดเป็นร้อยละ 9.80 คิดฆ่าตัวตายแต่ยังไม่เคยลงมือกระทำคิดเป็นร้อยละ 9.40 และพกอาวุธเพื่อการต่อสู้ เช่น มีด คัดเตอร์ ปืน เป็นต้นคิดเป็นร้อยละ 5.50 โดยสรุปว่า นักเรียนวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในจังหวัดจันทบุรีประมาณหนึ่งในสามมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และประมาณหนึ่งในสิบมีพฤติกรรมปัญหาที่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น
นอกจากนั้นในการศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า นักเรียนวัยรุ่นชายมีพฤติกรรมปัญหามากกว่านักเรียนวัยรุ่นหญิง นักเรียนที่บิดามารดาแยกกันอยู่มีพฤติกรรมปัญหามากกว่านักเรียนที่บิดามารดาอยู่ด้วยกัน นักเรียนของโรงเรียนในเขตเมืองมีพฤติกรรมปัญหามากกว่านอกเขตเมือง และนักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 มีพฤติกรรมปัญหามากที่สุด รองลงมาคือ ชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 1 ตามลำดับ
สำหรับวิธีการเผชิญปัญหา นักเรียนวัยรุ่นใช้วิธีการหลีกเลี่ยงปัญหา โดยการดูโทรทัศน์ เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ หรือวิดีโอเกมส์ ดูหนัง และใช้เวลาอยู่กับเพื่อนหรือปรึกษาเพื่อน มากกว่าใช้วิธีการแก้ไขปัญหาแบบเชิงบวก เช่น เลี้ยงสัตว์ ดูแลต้นไม้ ทำของเล่น พูดคุยกับพ่อแม่หรือผู้ปกครองด้วยเหตุผล หรือลดความขัดแย้งกับพ่อแม่หรือผู้ปกครองโดยตั้งใจเรียน ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จโดยเร็ว สำหรับนักเรียนวัยรุ่นชายใช้วิธีการเผชิญปัญหาแบบเชิงบวกน้อยกว่านักเรียนวัยรุ่นหญิงในขณะที่ใช้วิธีการเผชิญปัญหาแบบเชิงลบมากกว่า นักเรียนของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเมืองใช้วิธีการเผชิญปัญหาแบบเชิงลบมากกว่านักเรียนวัยรุ่นของโรงเรียนที่ตั้งอยู่นอกเขต และนักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ใช้วิธีการเผชิญปัญหาแบบเชิงลบ มากกว่าชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 1
จากผลการศึกษาครั้งนี้ สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมปัญหาและวิธีการเผชิญปัญหาของนักเรียนวัยรุ่นในจังหวัดจันทบุรี ได้ดังนี้
- นักเรียนวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นประมาณหนึ่งในสามมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
- นักเรียนวัยรุ่นประมาณหนึ่งในสิบมีพฤติกรรมปัญหาที่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น
- นักเรียนชายมีพฤติกรรมปัญหามากกว่านักเรียนหญิง และมีโอกาสที่จะมีปัญหามากขึ้น เนื่องจากใช้วิธีการเผชิญปัญหาแบบเชิงลบมากกว่านักเรียนหญิง
- นักเรียนวัยรุ่นที่พ่อแม่แยกกันอยู่มีพฤติกรรมปัญหามากกว่านักเรียนที่พ่อแม่อยู่ด้วยกัน
- นักเรียนของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองมีพฤติกรรมปัญหามากกว่าและใช้วิธีการเผชิญปัญหาแบบเชิงลบมากกว่านักเรียนของโรงเรียนที่ตั้งอยู่นอกเขตเมือง
- นักเรียนวัยรุ่นมีพฤติกรรมปัญหาเพิ่มมากขึ้นตามระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น โดยมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 มีพฤติกรรมปัญหาและใช้วิธีการเผชิญปัญหาแบบเชิงลบมากกว่านักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 1
ผลการวิจัยในครั้งบ่งชี้ถึงสถานการณ์พฤติกรรมปัญหาของนักเรียนวัยรุ่นและโอกาสที่จะเกิดปัญหาที่มีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการเลือกใช้วิธีการเผชิญปัญหาแบบเชิงลบ อันนำไปสู่ปัญหาที่ซับซ้อนและรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้น พ่อ แม่ ผู้ปกครอง โรงเรียน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรให้ความสนใจในการป้องกันและลดความรุนแรงพฤติกรรมปัญหาในวัยรุ่นของจังหวัดจันทบุรี อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
จากการพูดคุยกับเด็กวัยรุ่น พบว่าเพื่อนเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่น ดังนั้นหากคบเพื่อนที่ขยันเรียน ก็มีแนวโน้มว่าวัยรุ่นจะขยันเรียนตามกลุ่มเพื่อนด้วย หากคบเพื่อนที่สูบบุหรี่ วัยรุ่นก็มักจะสูบบุหรี่เช่นกัน ดังคำกล่าวที่ว่า คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล แต่อย่างไรก็แล้วแต่ หากสถาบันครอบครัวมีความเข็มแข็ง พ่อแม่สนใจดูแลลูก เข้าใจลูก เปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน วัยรุ่นจะแยกแยะได้ว่าอะไรที่ควรทำไม่ควรทำ และเลือกทำดีสิ่งที่ดีได้ด้วยตนเองโดยมีพ่อแม่คอยเป็นที่ปรึกษา และเป็นกำลังใจให้
จากประสบการณ์การเลี้ยงดูซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นทั้ง 2 คน พบว่า วัยรุ่นเป็นช่วงที่เขาพบเจอปัญหามากกว่าวัยเด็กที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ทั้งปัญหาการเรียน กิจกรรมต่างๆที่มากขึ้น การปรับตัวกับอาจารย์ และกับเพื่อน เมื่อเขา(ช่วงวัยรุ่น)เจอปัญหา เขาจะเล่าให้แม่ฟังเพียงเพื่อให้แม่รับรู้ หรือรับฟังสิ่งที่เขากำลังเผชิญ และเขาจะต้องการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองมากกว่าวัยเด็กที่ผ่านมา ปัญหาไหนที่เขาไม่รู้จะทำอย่างไร เขาก็จะปรึกษาเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา หลายปัญหาเขาใช้กลุ่มเพื่อนในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จริงอย่างที่อาจารย์รักชชนกได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งถ้ากลุ่มเพื่อนของลูกเป็นอย่างไร เขาก็จะมีรูปแบบการเผชิญปัญหาตามกลุ่มนั้น สำหรับตนเองค่อนข้างสบายใจกับรูปแบบการเผชิญปัญหาของเพื่อนลูก เนื่องจากกลุ่มเพื่อนลูกคนโตเป็นเด็กกลุ่มเรียน เพื่อนลูกคนเล็กเป็นกลุ่มดุริยางค์และกลุ่มกิจกรรม ทั้งสองกลุ่มจึงไม่มีใครติดเกมส์ สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด ชกต่อยและไม่ค่อยสนใจเพศตรงข้าม(เขาบอกว่าไม่มีเวลาสนใจ)…ใครมีลูกวัยนีอย่าไปบังคับ ขีดเส้นให้เดินหรือแก้ปัญหาให้…สิ่งที่พ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่นควรทำคือ ให้ความใส่ใจ ถามไถ่เรื่องราวของเขาที่โรงเรียน รับฟังเขา ให้กำลังใจ และให้คำปรึกษาเมื่อเขาต้องการ