การปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ความเป็นเลิศ สำหรับผู้บริหารระดับสูง

เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2554 ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าร่วมการสัมมนาเรื่อง “การปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ความเป็นเลิศ สำหรับผู้บริหารระดับสูง” จัดโดยคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและอัญมณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จึงถือโอกาสนี้นำสิ่งที่ได้รับมาเล่าสู่กันฟัง ก่อนอื่นขอเกริ่นไว้ก่อน ว่าการสัมมนาครั้งนี้ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานเอกชน ดังนั้นเพื่อให้เข้ากับองค์กรของทางภาครัฐ ผู้เขียนจึงได้นำความรู้ที่ได้รับ มาประยุกต์ด้วยการมองในมุมมองของราชการ ที่สำคัญผู้เขียนเป็นแค่พนักงานระดับล่างไม่ได้เป็นผู้บริหารระดับสูงซะด้วยสิ ;) เอาเป็นว่าหากท่านผู้อ่านเห็นว่าไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมประการใด สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวทางการปฏิบัติ หรือนำเสนอความคิดเห็นกันได้เต็มที่ค่ะ

ประเด็นที่จะนำมาเล่าให้ฟัง มีดังนี้

๏ บทบาทของผู้นำกับการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน โดย ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, บริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

๏ สร้างความเข้มแข็งด้วยการสร้างเครือข่าย โดย คุณอดิศักดิ์ อุรเคนทร์ อุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี

๏ ปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อเตรียมพร้อมสู่ AEC โดย คุณนิคม อ่อนละมัย ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัทอูเบะประเทศไทย

ด้วยแนวคิดที่ว่า ผู้นำสามารถสร้างหรือพัฒนาขึ้นมาได้ โดยพัฒนาจากทักษะสำคัญของการทำงานทั้ง 3 ทักษะ คือ

1. Human Skill – ทักษะด้านการประสานงาน

2. Conceptual Skill (Helicopter View) – ทักษะด้านการมองภาพองค์กร

3. Technical Skill – ทักษะที่เกี่ยวข้องกับงาน

ในเริ่มแรกของการทำงานทักษะด้านการทำงานจะต้องมีสูง ตามมาด้วยการประสานงานเพื่อใช้ในการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายงาน ระยะแรกของการทำงานจะเป็นการสั่งสมประสบการณ์และความชำนาญในงาน สำหรับผู้บริหารทักษะด้านการประสานงานจะมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือการมองภาพองค์กรให้แตกฉาน เพื่อที่จะได้สามารถนำพาลูกน้องไปสู่เป้าหมายและรู้จักการวางแผนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ถึงกระนั้นทักษะด้านการทำงานก็ยังคงมีความสำคัญสำหรับผู้บริหาร ซึ่งทักษะนี้จะไม่เน้นมากเพราะผู้บริหารไม่ต้องลงมือทำเอง แต่ใช้ในการสั่งการและสื่อสารกับลูกน้องต่างหาก เช่นนั้นเราจะสามารถรู้ได้อย่างไรว่าบุคคลนั้นๆ ถึงเวลาที่ควรได้รับการพัฒนาทักษะในด้านใด ตัวอย่างหนึ่งในการวัดประเมินผลสมรรถนะของบริษัท CP จะเน้นการวัดทักษะในการทำงาน และทักษะการประสานงานกับเพื่อนร่วมงาน โดยนำคะแนนทั้ง 2 ด้านมาทำเป็นตาราง 9 ช่อง (สูง กลาง ต่ำ) จากวิธีนี้จะทำเราให้ทราบถึงการส่งเสริมด้านการพัฒนาตนเองที่เหมาะสมกับพนักงานผู้นั้น

หากสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่าการทำงานในยุคปัจจุบัน เราไม่สามารถลุยเดี่ยวไปสุดโต่งได้ การประสานมือร่วมแรงร่วมใจกัน จะทำให้ก้าวที่เดินไปแต่ละก้าวมีความมั่นคงและแข็งแกร่ง เช่นเดียวกันกับการดำเนินกิจการ ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานราชการด้านการศึกษาและสาธารณสุข การสร้างเครือข่ายเพื่อผลกำไรขององค์กรไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่เป็นการสร้างเครือข่ายด้วยการกระจายความรู้ต่างหาก

ในวันนั้นมีโอกาสได้พูดคุยกับพี่ที่มาจาก อบต. ท่านหนึ่ง (ขออภัยด้วยค่ะ จำไม่ได้ว่าพี่เขามาจาก อบต. ไหน) เป็นการพูดคุยแบบส่วนตัวที่โต๊ะทานข้าวค่ะ พี่เขากล่าวชมวิทยาลัยเราที่ส่งนักศึกษาไปลงพื้นที่ด้วย ผู้เขียนยังไม่ได้เปิดประเด็นเลยนะ ทางพี่เขาคิดว่าผู้เขียนทำงานอยู่ที่รำไพด้วยซ้ำ พูดคุยเรื่องอบรมอยู่ดีๆ ก็เอ่ยถึงวิทยาลัยเราในการสนทนา งานนี้เลยได้โอกาสงามซักถามซะเลย

พี่เขาประทับใจวิทยาลัยเรา แล้วก็ชื่นชมเรื่องการนำนักศึกษาไปฝึกประสบการณ์กับสถานที่จริง นอกจากนักศึกษาจะได้ฝึกประสบการณ์จริงแล้ว ยังเป็นการกระตุ้น อสม. และชาวบ้าน ให้รักและใส่ใจดูแลสุขภาพ ทั้งของตนเอง คนในครอบครัว และเพื่อนบ้านอีกด้วย อีกเรื่องคือ การที่มีหน่วยงานลงไปสู่ท้องถิ่น ทั้งผู้ดูแลและชาวบ้านจะประทับใจมาก ส่วนหนึ่งคือเขาอาจจะประสบปัญหาหรือมีข้อสงสัยที่ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร หรือบางครั้งไม่กล้าที่จะเดินเข้ามาหาหน่วยงานที่รับผิดชอบ การที่นักศึกษาของเราเข้าไปพูดคุยให้ความเป็นกันเอง เมื่อชาวบ้านให้ความคุ้นเคยก็จะเกิดความยอมรับ และเริ่มเปิดใจซักถามในสิ่งที่ตนประสบปัญหา พี่เขาเปรยๆ ด้วยนะ ว่าอยากให้ทุกหน่วยงานลงพื้นที่ใกล้ชิดชุมชนแบบนี้จัง ได้ฟังแล้วปลื้มใจจริงๆ เลย

หลังรับประทานอาหารเสร็จ ภาคบ่ายมาเจอกับการบรรยายเรื่อง AEC ฟังครั้งแรก งง มาก มันคืออะไร ไม่เคยได้ยินมาก่อน พอวิทยากรอธิบายว่า AEC ย่อมาจาก ASEAN Economic Community หรือก็คือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้ฟังดังนั้นผู้เขียนก็เบนความสนใจไปเล็กน้อย ก็มันเรื่องเศรษฐกิจนี่นา คงจะเป็นการเปิดเขตการค้าเสรงเสรีอะไรอีกกระมัง แต่พอฟังไปฟังมามันไม่ใช่แค่จะรวมด้านการค้าการขายเท่านั้น “ แต่เป็นการที่อาเซียนจะรวมเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว รวมทั้งมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุนและแรงงานมีฝีมือโดยเสรีและการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีขึ้น ”

เอาละสิ นี่มันไม่ใช่แค่เรื่องการค้าอย่างเดียวนี่นา เผลอๆ วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไปด้วย เพราะนักลงทุนหรือบุคลากรวิชาชีพสามารถเข้าไปจัดตั้งธุรกิจหรือไปให้บริการในประเทศอาเซียนอื่นได้ง่ายขึ้น ในปัจจุบันทางด้านการขนส่งโลจิสติกส์เส้นทางที่เขาวางไว้คือ การขนส่งทางน้ำจะขึ้นสินค้าที่ประเทศเวียดนามที่ท่าเรือดานัง ต่อด้วยการขนส่งทางบก มาทางเส้นทางหมายเลข 9 เข้าสู่ประเทศลาว เข้าประเทศไทยทางจังหวัดมุกดาหาร และไปเข้าประเทศพม่าโดยออกทางจังหวัดกาญจนบุรี(ถ้าจำเส้นทางไม่ผิด) ขณะนี้เส้นทางหมายเลข 9 เสร็จเรียบร้อย(เส้นทางเดียวกับที่เราใช้ในการไปศึกษาดูงานค่ะ) เส้นทางในประเทศไทยไม่มีปัญหา ส่วนในประเทศพม่ากำลังดำเนินการก่อสร้าง จะเห็นได้ว่าเริ่มใกล้ตัวเรามากกว่าที่คาดแล้ว

เมื่อวันก่อนผู้เขียนเห็นประชาสัมพันธ์ในเรื่องการสัมมนาเตรียมพร้อมให้ผู้ประกอบการ ทั้งการวางแผนรุกและแผนรับสำหรับ AEC โดยเฉพาะ เรื่องแบบนี้ใครรู้ตัวเร็วย่อมปรับตัวได้เร็ว รู้เขารู้เรา ศึกษาตลาดศึกษาคู่แข่ง วางแผนตั้งรับได้เร็ว ปรับตัวเร็วก็สามารถยืนได้มั่นคง

แล้วเราล่ะ!! ในฐานะที่เราเป็นองค์กรที่ผลิตบุคลากรวิชาชีพควรที่จะเริ่มเตรียมพร้อมได้แล้วหรือยัง? ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพบัณฑิตให้ทัดเทียมหรือเหนือกว่าในระดับอาเซียน การเตรียมพร้อมในการรับนักศึกษาต่างชาติ ฯลฯ อ่อ… ได้ข่าวมาว่าทางสถาบันเขาจะส่งระดับผู้บริหารไปดูงานที่เวียดนามเพื่อเตรียมความพร้อมแล้วนะจ้ะ

 

 

 

อ้างอิงข้อมูล AEC เพิ่มเติม จาก http://www.thailog.org/wikilog/logistics/import-export-customs/item/196-ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน-aec.html

Print Friendly
ผู้เขียน ชลิตา วรวุฒิพิศาล (ประวัติการเขียน 9 เรื่อง)

เจ้าหน้าที่งานเทคโนโลยีและสารสนเทศ ตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์


Tags:

One Response to “การปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ความเป็นเลิศ สำหรับผู้บริหารระดับสูง”

  1. docterlek พูดว่า:

    เป็นบทความที่ดีมาก เราควรปรับตัวที่วิทยาลัยเราก่อนนะ เตรียมใจ เตรียมกาย เตรียมอุปกรณ์ และอีกอย่างหนึ่งคือเตรียมความรู้ให้พร้อม เพื่อเตรียมเข้าสู่ AEC