ก้าวใหม่ของพยาบาลในการให้การรักษาโรคเบื้องต้นด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์

สรุปความรู้ที่ได้รับจากการไปพัฒนาตนเอง

วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี

……………………………………………………………

 

ชื่อ – สกุล        นางจันทรมาศ  เสาวรส         ตำแหน่ง   พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ

ชื่อ – สกุล        นางธนพร  ศนีบุตร              ตำแหน่ง   พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ

สังกัดภาควิชา   การพยาบาลสูติศาสตร์

เข้าร่วมประชุม  เรื่อง ก้าวใหม่ของพยาบาลในการให้การรักษาโรคเบื้องต้นด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์

วัน/เดือน/ปี       7-10  มีนาคม 2554

หน่วยงานที่จัด    มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

สถานที่             ห้องประชุม  มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

สรุปความรู้และแนวคิดที่ได้รับ

          จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการ  “ก้าวใหม่ของพยาบาลในการให้การรักษาโรคเบื้องต้นด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์” พบว่าวิชาชีพพยาบาลตั้งอยู่บนพื้นฐานปรัชญาการบริการสุขภาพด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ที่แข็งแกร่งมาตั้งแต่สมัยโบราณ  ดังจะเห็นได้จากหลักคิดของฟลอเร็น ไนติงเกลเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติการพยาบาล  สะท้อนถึงระบบความเชื่อ  การให้คุณค่าความเป็นคนและชีวิตของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน  การดูแลบุคคลด้วยความอบอุ่น  ด้วยความเข้าใจและเอื้ออาทร  การมีส่วนร่วมของผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการ  การบริการสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์  เป็นการให้บริการที่เป็นสหสาขาวิชาชีพ  โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาของระบบบริการสุขภาพในปัจจุบัน  หลักการพื้นฐานของการบริการสุขภาพด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์คือ การติดต่อสื่อสารอย่างเปิดเผย  การเคารพนับถือกันและกัน  การเห็นใจเข้าใจผู้ป่วยที่เรียกว่า “ การดูแลโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจศาสตร์ของความเป็นมนุษย์  สอดคล้องกับที่นักมานุษยวิทยาการแพทย์กล่าวไว้ว่า  “การรักษาความเป็นมนุษย์นั้น  ไม่ควรเป็นเพียงเพื่อรักษาชีวิตไว้ให้อยู่ยืนยาวเท่านั้น  หากแต่ต้องรักษาคุณค่าของมนุษย์ไว้ให้สมบูรณ์”

องค์ประกอบของการให้บริการพยาบาลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ  วะสี (2549) ได้กล่าวไว้ว่า องค์ประกอบของการให้บริการพยาบาลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์  ควรมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ข้อ  คือ

1.  ความสามารถในการมองเห็นองค์รวม  เราควรมองผู้ป่วยทั้งคนโดยไม่แยกส่วนเป็นอวัยวะหรือแม้กระทั่งแยกส่วนเป็นวิชาชีพ  จะทำให้เราสามารถที่จะเห็นองค์รวมของบุคคล

2.  ความสามารถในการมองเห็นมนุษย์  เราควรคำนึงว่าผู้ป่วยบางรายอยากพูด  อยากอธิบาย  ผู้ให้บริการควรให้โอกาสผู้ป่วยได้พูด

3.  ความสามารถในการมองเห็นความทุกข์  คือความสำคัญของผู้ให้บริการที่จะสัมผัสความทุกข์ของผู้ป่วย

          การตอบสนองต่อทุกข์ของผู้รับบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ 

เมื่อบุคคลกลายเป็นผู้ป่วยเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาล  ต้องเผชิญกับความแปลกของสถานที่  ประกอบกับความเครียดทั้งร่างกาย  จิตใจ  และอารมณ์จากความเจ็บป่วยที่เป็นอยู่  ดังนั้นมุมมองความเจ็บป่วย (illness) ไม่ควรหมายถึงโรค (disease)เท่านั้น  แต่ควรรวมถึงทุกข์ (suffering) ของผู้ป่วยด้วย   

ควรมีความเข้าใจความทุกข์ของผู้ป่วยและญาติ  เข้าใจในความเป็นมนุษย์  ให้ความสำคัญกับทุกข์และการค้นหาวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยและญาติพ้นทุกข์  เคารพในคุณค่า  ศักดิ์ศรีและศักยภาพของผู้ป่วย  ซึ่งมีความเป็นเพื่อนมนุษย์เท่าเทียมกันทุกคน  เรียนรู้ความเป็นมนุษย์จากชีวิตที่สัมผัสชีวิต  เรียนรู้จากความทุกข์ยากซึ่งเป็นเครื่องเร้าความเป็นมนุษย์ให้แสดงออก

สรุปประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  พบว่า

  • เครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์  ;  มิติการรักษา

โรคเบื้องต้น  เพื่อนำพาองค์กรไปสู่สุขภาวะ  สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

จำเป็นต้องใช้เครื่องมือสำคัญหลายแบบในการทำงาน  ดังนี้คือ

          1.  เรื่องเล่า (narrative)  ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ  บ่มเพาะคุณค่าและปลูกฝังคุณธรรมในตนให้เกิดขึ้นได้ง่าย  เรื่องเล่าไม่ได้เยียวยาเฉพาะผู้ป่วย (ผู้เล่า)เท่านั้น  แต่ยังช่วยเยียวยาบุคลากรให้กลับมา มีความหวังหรือช่วยเติมกำลังใจให้กับคนทำงานได้อย่างดีอีกด้วย  จึงเป็นทักษะหนึ่งซึ่งเป็นได้ทั้งผลลัพธ์ของงานและวัตถุดิบสำหรับคนทำงาน

          2.  การฟังแบบลึกซึ้ง (deep  listening) เป็นการสุนทรียสนทนา (dialogue) เป็นกระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยนแบบการคิดรวมหมู่ (collective  thinking)  นำไปสู่ความคิด  ความรู้ใหม่  การฟังแบบลึกซึ้งนี้จะช่วยเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานได้

          3.  การแสวงหาความดีความงาม (appreciate  inquiry)  เป็นการค้นหาและมองไปสู่อนาคตโดยเน้นความสำคัญเชิงบวก การชื่นชมยินดีและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในตัวคนที่อยู่ในองค์กร  ช่วยสร้างบรรยากาศและสัมพันธภาพภายในองค์กร  ลดความขัดแย้ง  เห็นคุณค่าของชีวิตและเห็นคุณค่าขององค์กร

          4.  การส่งเสริมการทำงานเชิงรุกกับคนทุกข์ยาก (proactive  with  disadvantage  person) การทำงานเชิงรุกไปหากลุ่มเป้าหมายที่สำคัญที่สุด  คือคนทุกข์ยาก  เวลาทำงานกับคนทุกข์ คนยากเป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้และสัมผัสกับความเป็นมนุษย์ได้เร็วมาก  เพราะความทุกข์ยากเป็นเรื่องราวที่แสดงออกให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างเด่นชัดที่สุด  คุณค่าของงานจะปรากฏชัดเจนที่สุดเมื่อเกิดกับคนทุกข์ยาก  เป็นการเรียนรู้ความเป็นมนุษย์จากชีวิตที่สัมผัสได้จริง

          5.  ส่งเสริมเรื่องแรงจูงใจที่ไม่ใช่เงิน  องค์กรต้องหมั่นตอกย้ำอยู่เสมอว่า  อุดมคติในการทำงานมีไว้หาความภาคภูมิใจให้กับชีวิต  และต้องหมั่นเอาคนที่ทำงานดีมาชื่นชม    

  • สรุปได้ว่า “ งาน ” เป็นวิถีทางอันมีคุณค่าสำหรับการแสวงหาความสุขใจอย่างลึกซึ้งใน

การมีชีวิต  ด้วยเหตุที่งานเป็นการบริการให้กับความเป็นมนุษย์  จึงเป็นวิถีทางแห่งการมีชีวิตอย่างเป็นสุขและอิ่มเอิบ  เป็นวิธีการสร้างความกลมกลืนและความสมดุลภายในตัวเราและผู้อื่น  วิธีการให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์  แสดงถึงการเคารพประสบการณ์ชีวิตและความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยและของผู้ให้บริการสุขภาพ  การสะท้อนคิดจากเรื่องราวต่างๆ  การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  การเรียนรู้กันและกัน  ช่วยให้ทีมสุขภาพให้บริการด้วยความเห็นใจ  เข้าใจและไว้เนื้อเชื่อใจ  เป็นการรักษาความสมดุลก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสัมพันธภาพที่เอื้ออาทรต่อกัน  การทำงานด้วยหลักของการให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์  คือความสามารถในการมองเห็นองค์รวมของสรรพสิ่ง  การมองเห็นมนุษย์และการมองเห็นความสุข  ความทุกข์  ความสำเร็จของการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์มิได้หยุดลงที่การทำความเข้าใจหรือเพียงการมีความรู้สึกคล้อยตาม  เพราะสิ่งสำคัญคือ  การลงมือกระทำที่ทำให้พบความปิติสุขในชีวิต  ที่ว่า…

“เมื่อเราได้ให้ความอ่อนโยนทะนุถนอมแก่ผู้อื่น

ความรู้สึกดีงามของเราจะงอกงามและแผ่ขยายออกไป

และจะสนองกลับมาด้วยความรักและอิ่มเอม

Print Friendly
ผู้เขียน อ.จันทรมาศ เสาวรส (ประวัติการเขียน 4 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลมารดา ทารก และการผดุงครรภ์


Tags: ,

One Response to “ก้าวใหม่ของพยาบาลในการให้การรักษาโรคเบื้องต้นด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์”

  1. นงณภัทร พูดว่า:

    ขอบคุณสำหรับการสรุปเนื้อหาดี ๆ ค่ะ เห็นด้วยอย่างยิ่ง การบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ทำให้เราเข้าใจความหมายของความเจ็บป่วย ประการณ์ ความคิด ความรู้สึกของผู้ใช้บริการ ทำให้เรารักเพื่อนมนุษย์เพ่ิมขึ้น และทำให้มีกำลังใจในการทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์เพ่ิมขึ้นด้วยค่ะ และขอบคุณอาจารย์วพ.พระปกเกล้า ที่ได้หล่อหลอมศิษย์ให้มีหัวใจความเป็นมนุษย์ค่ะ
    จาก ศิษย์ รุ่น 24