การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ “ประเด็นแนวโน้มและจุดอ่อน (Pitfalls) การรักษาโรคเบื้องต้น”

รายงานการประชุมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วันที่ 2 มิถุนายน 2558 เวลา 10.00-12.00 น.

“ประเด็นแนวโน้มและจุดอ่อน (Pitfalls) การรักษาโรคเบื้องต้น”

ครั้งที่ 1/2558   วันที่ 18-22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เวลา 08.00 -16.00 น.

ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค  โดย โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ฯ

เรื่อง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ “ประเด็นแนวโน้มและจุดอ่อน (Pitfalls) การรักษาโรคเบื้องต้น”

วัตถุประสงค์ในการดำเนินการครั้งนี้  

  1.  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านความรู้และประสบการณ์ใน “ประเด็นแนวโน้มและจุดอ่อน (Pitfalls)  การรักษาโรคเบื้องต้น”
  2. เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้

ประธานการประชุม นางโสภา ลี้ศิริวัฒนกุล

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 5 คน ได้แก่

  1. นางโสภา ลี้ศิริวัฒนกุล
  2. นางสาวคณิสร แก้วแดง
  3. นางวิภารัตน์ ภิบาลวงษ์
  4. นางสาวจิตติยา สมบัติบูรณ์
  5. นางสาวบุษยารัตน์ ลอยศักดิ์

กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ประเด็นสำคัญ

สาระสำคัญ/ประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

(เรื่องเล่าความสำเร็จ)

อ้างอิง (ชื่อ-สกุล)

1. ประเด็นที่น่าสนใจในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

   “ประเด็นแนวโน้มและจุดอ่อน (Pitfalls) การรักษาโรคเบื้องต้น” พยาบาลที่ปฏิบัติงานในระดับปฐมภูมิมีบทบาทในการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพได้ทั่วถึง ครอบคลุม ทั้งการเสริมสร้างสุขภาพการป้องกันการเจ็บป่วย การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้าน การรักษาพยาบาลขั้นต้นและการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนพิจารณาส่งต่อไปรับการรักษายังหน่วยบริการสุขภาพในระดับที่สูงขึ้น
ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะพยาบาลเวชปฏิบัติ  เพื่อการฟื้นฟูความรู้และพัฒนาทักษะในการรักษาโรคเบื้องต้น โดยสามารถปฏิบัติบริการสุขภาพตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญ และควรมีการให้การบริการทางด้านการพยาบาลที่มีมาตรฐานภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด

สมาชิกกลุ่ม

2.แนวทางการปฏิบัติเพื่อนำไปใช้ในการสอน

   แนวทางการปฏิบัติสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนได้ทุกรายวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาการรักษาโรคเบื้องต้น วิชาการปฏิบัติการรักษาพยาบาลเบื้องต้น และวิชากฎหมายและวิชาชีพทางการพยาบาล โดยชี้ให้ผู้เรียนเห็นถึงความสำคัญของการรักษาโรคเบื้องต้น โดยยึดหลักจริยธรรม สิทธิมนุษยชน และ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพการพยาบาล ทั้งนี้โดยการนำความรู้ต่าง ๆไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายตลอดรวมถึงบุคลากรทางด้านสุขภาพและตนเองด้วย

สมาชิกกลุ่ม

ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากกิจกรรมครั้งนี้(สรุปประเด็นความรู้พร้อมคำอธิบาย โดยสังเขป)

          ผู้เข้าประชุมแบ่งปันความรู้ร่วมกันและสรุปองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้สอนนักศึกษาดังนี้

1. ขอบเขตและบทบาทของพยาบาลเวชปฏิบัติ

พยาบาล ถือเป็นบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางด้านสุขภาพ ทั้งยังช่วยให้การบริการทางด้านสุขภาพที่สามารถลดค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่ดีและเกิดความพึงพอใจต่อพยาบาลเวชปฏิบัติ ซึ่งสมรรถนะหลักของพยาบาลมี 10 ข้อ โดยข้อที่สำคัญคือ เป็นผู้ที่มีความเป็น Profersionalism

 

2. Evidence based practice from theory to practice

พยาบาลต้องสร้างและพัฒนาความรู้ ใช้ความรู้ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดการบริการที่เป็นเลิศ ซึ่งการพัฒนาความรู้ที่ดี คือ การทำผลงานวิจัย ซึ่งถือเป็นหลักฐานในการรับรองที่ดีที่สุดของ EBP (Evidence based practice)

 

3. การประเมินภาวะสุขภาพและการตัดสินทางคลินิก

การประเมินภาวะสุขภาพผู้รับบริการ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่จะเป็นการประเมินเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น ในการรักษาโรคเบื้องต้นได้ถูกต้อง โดยการประเมินภาวะสุขภาพที่สำคัญคือ การซักประวัติ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ปัญหา/การวินิจฉัย รวมถึงการรักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย เป็นวิธีการที่จะได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อนำมาใช้ในการประเมินปัญหาสุขภาพ หรือวินิจฉัยโรคร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยใช้หลักการดู คลำ เคาะ ฟัง

 

4. Pitfalls การวินิจฉัยแยกโรคและการรักษาโรคที่พบบ่อยในผู้ใหญ่

เป็นสิ่งสำคัญที่พยาบาลเวชปฏิบัติต้องให้ความสำคัญ โดยนำประวัติการเจ็บป่วย การตรวจร่างกาย และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาใช้ในการวินิจฉัยแยกโรค เพื่อให้การรักษาโรคเบื้องต้นที่ถูกต้อง โดยโรค/อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคหวัด ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน เป็นต้น ซึ่งพยาบาลเวชปฏิบัติ ต้องให้ความสำคัญในการคัดกรอง และหากเกินบทบาทหน้าที่ สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาในหน่วยบริการสุขภาพในระดับที่สูงขึ้นไปได้

 

5. Pitfalls การวินิจฉัยแยกโรคและการรักษาโรคที่พบบ่อยในเด็ก

หลักการวินิจฉัยแยกโรคและการรักษาโรคเบื้องต้น ในระดับปฐมภูมิที่มีภาวะฉุกเฉินแบ่งตาม Triage ดังนี้
Triage 1 ต้องให้การดูแลรักษาทันที เช่น ชัก ช็อก Anaphylaxis
Triage 2 ต้องให้การดูแลรักษาภายใน 30 นาที เช่น เลือดออก ติดเชื้อในกระแสเลือด ปวดท้องอย่างเฉียบพลัน หยุดหายใจ
Triage 3 ต้องให้การดูแลรักษาภายใน 60 นาที เช่น มีภาวะเหลือง ซีด มีไข้สูง ท้องเสีย ผื่น
Triage 4 ต้องให้การดูแลรักษาตามเวลาที่นัด เช่น ปัญหาเกี่ยวกับ การเจริญเติบโต พัฒนาการ พฤติกรรม การเรียนรู้/การรับรู้
ซึ่งพยาบาลเวชปฏิบัติ ต้องสามารถวินิจฉัยแยกโรคได้เร็วและถูกต้อง เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันและปลอดภัย

 

6. การป้องกันและการแก้ไขปัญหาการฟ้องร้องทางการพยาบาล การฟ้องร้องทางการพยาบาล มีโทษทางกฎหมาย 2 ประเภท คือ

         6.1ความรับผิดทางแพ่ง

                  6.1.1 ความรับผิดตามสัญญา (Medical Contract)

การเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยตามที่ได้แสดงเจตนาไว้กับแพทย์ผู้รักษาก็ถือว่าสัญญาได้เกิดขึ้นแล้วแม้ไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตามซึ่งแพทย์ต้องรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคนั้นๆถ้าแพทย์ไม่สามารถรักษาให้หายจากอาการของโรคหรือรักษาผู้ป่วยแล้วเสียชีวิตก็ถือว่าแพทย์ได้ทำผิดสัญญาผู้ป่วยสามรถฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนได้

ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติที่มิใช่ความจำเป็นรีบด่วนแพทย์มีสิทธิที่จะรับรักษาหรือไม่ก็ได้ถือว่ายังไม่มีสัญญาเกิดขึ้นแต่แพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐโดยหลักไม่สามารถปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยได้เพราะถือว่าเป็นบริการสาธารณะซึ่งจะต้องให้กับประชาชนทุกคนโดยไม่เลือกว่าเป็นใครแม้จะไม่สามารถรับตัวไว้รักษาได้เนื่องจากเตียงเต็มขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญขาดเครื่องมือหรือเหตุผลอื่นใดก็ตามก็จะต้องรับผิดชอบในการปฐมพยาบาลและดำเนินการส่งต่อ (แสวง บุญเฉลิมวิภาส, 2551)

                  6.1.2 ความรับผิดจากการละเมิด

ความรับผิดจากละเมิดซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นเรื่องที่มักเกิดขึ้นในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมส่วนมากมักเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของแพทย์หรือบุคคลากรที่เกี่ยวข้องเช่นการลืมเครื่องมือไว้ในช่องท้องคนไข้หลังการผ่าตัดการให้เลือดผิดหมู่การให้ยาผิดหรือความผิดพลาดอย่างอื่นที่เกิดจากการขาด ความระมัดระวังของผู้ประกอบวิชาชีพจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วย (แสวง บุญเฉลิม-วิภาส, 2546)

         6.2 ความรับผิดทางอาญา

                  6.2.1ความรับผิดอาญาทั่วไปที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล

ได้แก่การรักษาผู้ป่วยที่ไม่ได้ขอความยินยอมจากผู้ป่วยในกรณีปกติที่ไม่ใช่กรณีเร่งด่วนหรือฉุกเฉินอาทิ กรณีผู้ป่วยเด็กประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ติดต่อสื่อสารไม่ได้ซึ่งก่อนกาผ่าตัดต้องอธิบายความเสี่ยงหรือผลกระทบต่อผู้ป่วยอย่างตรงไปตรงมาก่อนขอความยินยอมจากผู้ปกครองเด็ก รวมถึงการรักษาผู้ป่วยโดยประมาท เช่นตรวจวินิจฉัยโรคผิดพลาดและการงดเว้นกระทำการในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลของตนหรือการที่แพทย์ละทิ้งผู้ป่วยเพื่อไปดูแลรักษาผู้ป่วยในคลินิกของตนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับการช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่หรือทันท่วงที (วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์และคณะ, 2554)

                  6.2.2 ความรับผิดอาญาเฉพาะที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล

ได้แก่ การออกใบรับรองแพทย์อันเป็นเท็จ การทอดทิ้งเด็ก หรือผู้ป่วยหรือคนชราการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นความลับของผู้ป่วยรวมถึงการละเลยไม่ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังตกอยู่ในอันตราย และการทำแท้งที่ไม่ใช่เพื่อสุขภาพมารดาหรือเข้ากรณีหญิงนั้นถูกข่มขืนกระทำชำเรา (วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์และคณะ, 2554)

กฎหมายวิชาชีพ เป็นโทษทางจริยธรรมมี 4 ระดับ คือ 1.ตักเตือน 2.ภาคทัณฑ์ 3.พักใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และ 4.เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งถึงแม้ว่าจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แต่หากผู้นั้นสามารถกลับตัวโดยไม่ทำความผิดอีกภายในระยะเวลา 2 ปี สามารถขอคืนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ แต่หากยังไม่ได้รับการอนุมัติ เมื่อระยะเวลาผ่านไปอีก 1 ปี สามารถยื่นเรื่องเพื่อขอคืนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้อีก 1 ครั้ง แต่หากทำความผิดกรณีต้องคดีอาญาและได้รับโทษโดยการจำคุก ผู้นั้นจะไม่สามารถขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพคืนได้

พระราชบัญญัติความรับผิดทางการละเมิดของเจ้าหน้าที่ มาตรา 5 ว่าด้วยเรื่องหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชอบต่อผู้เสียหายในผลแห่งการละเมิดของเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีที่ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้

และในมาตรา 6 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย เพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิ์เรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำการละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

 

7. ประเด็นกฎหมายและจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคเบื้องต้น

ขอบเขตการปฏิบัติการพยาบาลเวชปฏิบัติในการรักษาโรคเบื้องต้นภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ โดยให้ศึกษาข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลตามข้อบังคับสภาการพยาบาล พ.ศ. 2550 เช่น หมวด 2 การประกอบวิชาชีพการพยาบาล ปัญหาที่พึงระวัง คือ ห้ามมิให้ยาสารละลายทางหลอดเลือดดำ เช่น สารละลายทึบแสงทุกชนิด ยาเคมีบำบัด ยกเว้นต้องผ่านการอบรม ดังนั้น พยาบาลเวชปฏิบัติจึงควรต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ดี เพื่อปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ภายใต้ข้อกฎหมายที่กำหนด

จริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ตามข้อบังคับสภาการพยาบาล พ.ศ. 2550 โดยมีประเด็นที่ต้องพึงระวัง เช่น การไม่ถ่ายรูปการปฏิบัติงาน เพราะเสี่ยงต่อการถูกเผยแพร่จนอาจทำให้เกิดการเสื่อมเสียเกียรติแห่งวิชาชีพ นอกจากนี้ต้องศึกษาข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาล ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2545 ไปพร้อมกัน เพื่อปฏิบัติตามขอบเขตได้ถูกต้อง

 

8. Pitfalls การดูแลรักษาโรคเรื้อรังในระดับปฐมภูมิ

          การดูแลรักษาโรคต้องเข้าใจคน เข้าใจโรค และเข้าใจระบบ ในการให้บริการสุขภาพ โดยแบ่งประเภทของเวชปฏิบัติไว้ ดังนี้

          8.1 เวชปฏิบัติปฐมภูมิ แบ่งเป็น

                    8.1.1 บริการด่านแรก (First contact)

                    8.1.2 การดูแลอย่าวงต่อเนื่อง

                    8.1.3 การดูแลแบบผสมผสานทุกด้าน

                    8.1.4 ประสานงานเป็นทีม

          8.2 เวชปฏิบัติทุติยภูมิ แบ่งเป็น

                    8.2.1 นอนรักษาในโรงพยาบาล

                    8.2.2 แพทย์ดูแลรักษา

          8.3 เวชปฏิบัติตติยภูมิ คือ การดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะ

                    8.3.1 โรคที่พบน้อย

                    8.3.2ต้องการการเฝ้าดูแล

                    8.3.3 แพทย์เฉพาะโรค

                  โรคเรื้อรังเมื่อเป็นแล้วมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน โดยพยาบาลเวชปฏิบัติต้องให้การดูแลให้ครบ ไม่ใช้ยาโดยไม่จำเป็น ไม่ดูเป็นโรค ๆ ควรดูแลให้ครอบคลุมเพราะผู้ป่วยอาจได้ยาเกินความจำเป็น


9. โรคติดเชื้อที่พบบ่อย ในเวชปฏิบัติ

          9.1 โรคติดเชื้อของผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน

          9.2 โรคติดเชื้อในช่องท้อง

          9.3 โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

          9.4 โรคติดเชื้อในระบบประสาท

          9.5 โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารส่วนบน

          9.6 โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง

          9.7 โรคติดเชื้อที่อาจเป็นได้หลายอวัยวะ เช่น วัณโรค

          ซึ่งพยาบาลเวชปฏิบัติจะต้องมีการซักประวัติ การตรวจร่างกาย ด้วยความระมัดระวังเพราะมีหลายโรคที่มีอาการคล้ายกัน แต่ไม่ใช่โรคเดียวกัน ซึ่งจะต้องวินิจฉัยแยกโรคให้ได้เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง

 

10. Pitfalls ของการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน

Common pitfalls ที่พบบ่อย คือ การไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ เช่น

          10.1 Clinical pitfalls

          10.1.1 การประเมิน primary airway โดยให้การช่วยเหลือตามลำดับความสำคัญ ดังนี้

          - Airway

          - Breathing

          - Circulation

          - Disability/ Drug

          - Exposure/ Environment

          10.1.2 Adjunet primary การใช้อุปกรณ์/ เทคโนโลยี เพื่อพัฒนา primary airwayเช่น  X-ray ปอด, V/S, DTX

          10.1.3 History taking

          10.1.4 Physical examination ซึ่งต้องใช้ทักษะ การดู คลำ เคาะ และฟัง

          10.2 Non-Clinical pitfalls

                   โดยใช้หลัก Triage ในการเลือกตรวจผู้ป่วย ผลดีคือ right patient, right time, right place, right care และ right provider

นอกจากนี้ Pitfalls ที่อาจพบ ได้แก่ การตัดสินใจ refer,admit, จำหน่าย, ผู้ป่วยอาการแย่ลงขณะรอตรวจ เป็นต้น

 

11. ข้อควรระวังการใช้ยาในการรักษาโรคเบื้องต้น
11. ข้อควรระวังการใช้ยาในการรักษาโรคเบื้องต้น

12. การใช้ยาอย่างสมเหตุผล

          การใช้ยาอย่างสมเหตุผล หมายถึง การใช้ยาโดยมีข้อบ่งชี้ เป็นยาที่มีคุณภาพ มีประสิทธิผลจริง สนับสนุนด้วยหลักฐานที่เชื่อถือได้ ให้ประโยชน์ทางคลินิกเหนือกว่าความเสี่ยงจากการใช้ยาอย่างชัดเจน มีราคาเหมาะสม คุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ไม่เป็นการใช้ยาอย่างซ้ำซ้อน คำนึงถึงปัญหาเชื้อดื้อยา เป็นการใช้ยาในกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างเป็นขั้นตอนตามแนวทางพิจารณาการใช้ยา โดยใช้ยาในขนาดที่พอเหมาะกับผู้ป่วยในแต่ละกรณีด้วยวิธีการให้ยาและความถี่ในการให้ยาที่ถูกต้องตามหลักเภสัชวิทยาคลินิก ด้วยระยะเวลาการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยให้การยอมรับและสามารถใช้ยาดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง กองทุนในระบบประกันสุขภาพหรือระบบสวัสดิการสามารถให้เบิกจ่ายค่ายานั้นได้อย่างยั่งยืน เป็นการใช้ยาที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนใช้ยานั้นได้อย่างเท่าเทียมกันและไม่ถูกปฏิเสธยาที่สมควรได้รับ


เอกสารอ้างอิง

วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์และคนอื่นๆ . (2554) . บริหารกฎหมายการแพทย์และสาธารณสุข. 2554. (ครั้งที่1) .

กรุงเทพฯ: ภาควิชาบริหารสาธารณสุขคณะสาธารสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล .

แสวง บุญเฉลิมวิภาส . (2546). กฎหมายการแพทย์. (ครั้งที่2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน.

แสวง บุญเฉลิมวิภาส. (2551). กฎหมายและข้อควรระวังของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ พยาบาล. (ครั้งที่4).

กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน .

แสวง บุญเฉลิมวิภาส. (2556). นิติเวชศาสตร์และการแพทย์. (ครั้งที่2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน.

เอกสารประกอบการประชุมฟื้นฟูวิชาการ เรื่อง ประเด็นแนวโน้มและจุดอ่อน (Pitfalls) การรักษาโรค

เบื้องต้น. วันที่ 18-22 พฤษภาคม 2558 ณ โรงแรม เจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพมหานคร.

งานบริการวิชาการและศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางการพยาบาลรามาธิบดี โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี

คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.

แนวทางการนำความรู้ไปใช้(ระบุรายละเอียด)

สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนได้ทุกรายวิชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาการรักษาโรคเบื้องต้น วิชาการปฏิบัติการรักษาพยาบาลเบื้องต้น และวิชากฎหมายและวิชาชีพทางการพยาบาล โดยชี้ให้ผู้เรียนเห็นถึงความสำคัญของการรักษาโรคเบื้องต้น โดยยึดหลักจริยธรรม สิทธิมนุษยชน และ กฎหมาย                ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพการพยาบาล ทั้งนี้โดยการนำความรู้ต่าง ๆไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายตลอดรวมถึงบุคลากรทางด้านสุขภาพและตนเองด้วย

 

 

ลงชื่อ  โสภา ลี้ศิริวัฒนกุล ผู้จดบันทึก

ตำแหน่ง  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ

 

 

Print Friendly
ผู้เขียน อ.โสภา ลี้ศิริวัฒนกุล (ประวัติการเขียน 2 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล และบริหารวิชาชีพ


Tags: , ,

Comments are closed.