สรุปประเด็นความรู้เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ

วันที่ 15 สิงหาคม 2554 เวลา 14:00-15:30 น.

ประธาน ดร.มัณฑนา   เหมชะญาติ

อาจารย์ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

  1. อ.ทิพวรรณ  ลิ้มประไพพงษ์
  2. อ.รัชชนก  สิทธิเวช
  3. อ.เพ็ญนภา  พิสัยพันธุ์
  4. อ.นริชชญา  หาดแก้ว
  5. อ.จันทร์เพ็ญ  อามพัฒน์
  6. อ.โสระยา  ซื่อตรง
  7. อ.จารุวรรณ์  ท่าม่วง
  8. อ.จิตติยา  สมบัติบูรณ์

ผู้บันทึกการประชุม อ.จิตติยา  สมบัติบูรณ์

ประเด็นความรู้เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ

จากการเข้าร่วมประชุมศึกษาแห่งชาติ เรื่อง ปรับ 360 องศา สู่การพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพแนวใหม่ ซึ่งจัดโดยสมาคมนักสุขศึกษา ในระหว่างวันที่ 3-5 สิงหาคม 2554 อาจารย์มัณฑนา เหมชะญาติ สรุปสาระสำคัญจากการประชุมได้ดังนี้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เป็นประเด็นที่นักสุขศึกษาให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะในปัจจุบันที่อัตราการเกิดโรคเรื้อรังมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นเพราะประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารโดยไม่ควบคุมชนิดและ/หรือปริมาณ รวมทั้งการไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พฤติกรรมเหล่านี้นำมาซึ่งโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต และโรคหัวใจ เป็นต้น ประเด็นสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพแบบ 360 องศา สรุปได้ดังนี้

1.  การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ได้ผล ต้องทำในทุกระดับ ได้แก่

-          บุคคล: เน้นที่การปลุกจิตสำนึกให้มีการปรับเปลี่ยนที่จิตวิญญาณของคน

-          ครอบครัว: เน้นการมีส่วนร่วม ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ

-          ชุมชน: ต้องมีส่วนร่วม สร้างกระแสให้กับคนในชุมชน

-          ประเทศ: มีส่วนสำคัญในการชี้นำ โดยกำหนดนโยบาย และสนับสนุนการสร้างกระแสระดับกว้างในสังคม

2.   เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคน ได้แก่ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าพนักงานสาธารณสุข และผู้ปฏิบัติบริการด้านสุขภาพในวิชาชีพต่างๆ ควรเป็นบุคคลต้นแบบด้านสุขภาพโดยมีพฤติกรรมสุภาพที่ดี รวมทั้งควรเป็นนักสุขศึกษาและนักประชาสัมพันธ์ เพราะมีผู้รับบริการในสถานบริการทุกระดับ จำนวนไม่น้อยที่มีความต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และลดความรุนแรงของโรคที่เป็นอยู่ แต่ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

3.   การสร้างเสริมสุขภาพให้กับประชาชนในชุมชน ต้องอาศัยทรัพยากรต่างๆในชุมชน และเครือข่ายซึ่งเป็นหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกชุมชน ทั้งภาครัฐและเอกชน

4.   ในชุมชนหรือหน่วยงานที่มีการสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพได้ตามเป้าหมายแล้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ยังคงต้องเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืนของการดำเนินการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ล้มเลิกไปเมื่อประสบความสำเร็จในขั้นต้นแล้ว

5.   การรักษาความต่อเนื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคนในชุมชน อาจต้องใช้หลายๆวิธี เช่น การประกาศเกียรติคุณ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการยกย่องยังคงปฏิบัติพฤติกรรมที่ดีต่อไป นอกจากนั้น ยังอาจต้องมีการสร้างกระแสให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญหรือประโยชน์เป็นระยะๆ

6.   การเสริมสร้างพลังอำนาจ (empowerment) เป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นสำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งสามารถวัดการเปลี่ยนแปลงของบุคคลได้จาก ความรู้ ความเชื่อ การรับรู้ และ self-efficacy เป็นต้น

7.   นักสุขศึกษาดีเด่น ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติงาน มีการทำงานอย่างมีอุดมการณ์ โดยมีเป้าหมายที่การเสริมสร้างสุขภาวะให้กับประชาชนและชุมชน ด้วยความอดทน เข้มแข็ง มุ่งมั่น และเสียสละ ในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ

แนวทางการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ

1. การดำเนินการในโครงการสร้างเสริมสุขภาพของวิทยาลัยฯ

-  ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์ได้จัดโครงการ “สุขภาพดีชีวีมีสุข” ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องระยะที่สอง ภายหลังการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของอาจารย์และเจ้าหน้าที่ไปแล้ว โดยขั้นแรกจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้และนำไปสู่การปรับพฤติกรรมสุขภาพแก่อาจารย์และเจ้าหน้าที่ทุกระดับ (ที่ให้ความสนใจ) จำนวน 2 วัน  คือ  วันที่ 8 และ 29  สิงหาคม  2554   ตามที่วางแผนไว้ในโครงการ

-   มีการเก็บรวบรวมข้อมูล baseline เกี่ยวกับสุขภาพของอาจารย์และเจ้าหน้าที่ทุกคน เช่น น้ำหนัก รอบเอว และ stage of change ในการดูแลสุขภาพ เป็นต้น

-   จับคู่ดูแลสุขภาพ (buddy) ตามความสมัคร โดยมีสัญญาต่อกันว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง ในเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจของแต่ละคน/คู่

-   จัดให้มีการออกกำลังกายทุกวันในช่วงเวลา 15:00-16:00 น. ที่บริเวณชั้น 1 อาคารเรียน 1

-   มีแกนนำในการออกกำลังกาย  เช่น  อาจารย์  เจ้าหน้าที่ ชักชวนให้ออกกำลังกายร่วมกัน

-   จัดหาอุปกรณ์ในการออกกำลังกาย  เช่น  ไม้พลอง ห่วงฮูลาฮูบ เพื่อใช้ในการออกกำลังกาย

2. แนวทางการปฏิบัติต่อไปเพื่อการปรับพฤติกรรมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

-    แจ้งผลการตรวจร่างกายในปีนี้ เพื่อให้อาจารย์และเจ้าหน้าที่ตระหนักถึงภาวะสุขภาพและภาวะเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง

-   วางแผนเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และติดตามผลการตรวจสุขภาพประจำปีของอาจารย์และเจ้าหน้าที่ทุกคน (ในเดือนกันยายน 2554) เพื่อคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เพื่อกำหนดเป็นกลุ่มเป้าหมายในการสร้างเสริมสุขภาพ ในโครงการนี้

-   จัดหาสถานที่และอุปกรณ์เพิ่มเติมในการออกกำลังกายทุกวัน (จันทร์-ศุกร์) ในช่วงเวลา 15:00-16:00 น.

-   จัดอาจารย์และเจ้าหน้าที่เป็นกลุ่มย่อยประมาณ 10 คน/กลุ่ม เพื่อดูแลช่วยเหลือกันในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนในกลุ่ม

-   กำหนดเป้าหมาย และให้รางวัล เพื่อจูงใจให้อาจารย์และเจ้าหน้าที่ปรับพฤติกรรมสุขภาพ

 

*******************************************************************

 

Print Friendly
ผู้เขียน อ.จิตติยา สมบัติบูรณ์ (ประวัติการเขียน 11 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล และบริหารวิชาชีพ


Tags: ,

One Response to “สรุปประเด็นความรู้เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ”

  1. ในบทบาทที่ตนเองเป็นอาจารย์พยาบาล คิดว่าพยาบาลสามารถมีส่วนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในระดับบุคคลและในระดับครอบครัวได้โดยใช้กระบวนการการให้การปรึกษาทางสุขภาพ… ในวิชาการให้การปรึกษาทางสุขภาพ อาจารย์ได้กำหนดให้นักศึกษาแต่ละคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสุขภาพตนเอง 1 พฤติกรรม นักศึกษาส่วนใหญ่เลือกพฤติกรรมการออกกำลังกาย และ การงดการรับประทานอาหารขยะ และให้นักศึกษาวิเคราะห์ตนเองโดยเขียนบันทึกเหตุการณ์ ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมที่ปรับเปลี่ยนนั้นลงในสมุดบันทึกทุกวัน ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ได้นำความรู้เรื่อง Health Believe Model และ Stages of change ในทฤษฎี Transtheoretical Model มาใช้ในการวิเคราะห์ตนเอง จากการมอบหมายงานชิ้นนี้ ทำให้นักศึกษามีความเข้าใจในกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาที่ขยันในการทำการบ้านในส่วนการวิเคราะห์ตนเองและเขียนบันทึกจะเกิดความเข้าใจในกระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนต่างๆ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่ามีปัจจัยใดที่เป็นส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และเราสามารถเอาชนะอุปสรรคนั้นได้หรือไม่เพราะเหตุใด ซึ่งการเรียนรู้จากตนเอง ทำให้นักศึกษาเข้าใจกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้ดีกว่าการเรียนทฤษฎีในห้องเรียน การเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองทำให้นักศึกษาเชื่อมโยงนำไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้อื่นได้ดีขึ้น อย่างน้อยนักศึกษาคนที่ยังทำไม่สำเร็จก็ได้เข้าใจผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤิกรรมสุขภาพตนเอง… ใครที่เคยพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเองแต่สุดท้ายก็กลับมามีพฤติกรรมเดิม ขอเชิญชวนให้ท่านใช้การวิเคราะห์และการบันทึกร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะการที่เข้าใจตนเองจะเป็นหนทางที่ช่วยส่งเสริมให้ทำได้สำเร็จมากขึ้น รวมทั้งสามารถนำไปใช้ช่วยเหลือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น