สรุปผลการแลกเปลี่ยนเรื่องการสังเคราะห์งานวิจัย

สรุปผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการเข้าร่วมประชุมเรื่องการสังเคราะห์งานวิจัย

วิทยากร : รศ.ดร.โยธิน    แสวงดี    สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

จัดโดย  กลุ่มงานวิจัย  สถาบันพระบรมราชชนก วันที่ 21-23  มิถุนายน  2554

สถานที่  โรงแรมเมธาวลัย  อำเภอชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี

ผู้เข้าประชุมและร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ  ดร.มัณฑนา   เหมชะญาติ  ดร.พรฤดี   นิธิรัตน์   ดร.เชษฐา   แก้วพรม  อาจารย์ทิพวรรณ   ลิ้มประไพพงษ์   อาจารย์รุ่งนภา    เขียวชะอ่ำ  และอาจารย์จริยาพร  วรรณโชติ

ผู้เขียน อาจารย์ทิพวรรณ   ลิ้มประไพพงษ์

สรุปการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

การสังเคราะห์งานวิจัย เป็นการตรวจสอบผลงานวิจัย   เพื่อหาจุดเด่นจุดด้อยในแต่ละขั้นตอนของงานวิจัย  เพื่อหาแนวทางพัฒนาหรือประเด็นใหม่ๆ เพื่อทำวิจัยครั้งต่อไป   และอาจค้นพบข้อความรู้ใหม่ที่แตกต่างออกไป   การสังเคราะห์งานวิจัยมักทำ  2  มิติ  ดังนี้

1. การสังเคราะห์ระดับ มหภาค  (ภาพรวมขององค์กร )  เป็นการสังเคราะห์เพื่อพัฒนางานวิจัยขององค์กร  ทำเพื่อพิจารณาคุณภาพงานวิจัยของหน่วยงานที่ทำเสร็จแล้ว  มีเล่มใดบ้างหรือเรื่องอะไรบ้างที่ทำได้ดีหรือทำได้ถูกต้อง และมีเรื่องใดบ้างทำได้ไม่ดี  มีข้อบกพร่องมาก  ถ้าทำวิจัยประเด็นเดิมควรแก้ไขเรื่องใดบ้าง   ประเด็นวิจัยใดที่หน่วยงานควรสนับสนุน  ทำให้เห็นภาพหรือทิศทางการทำวิจัยขององค์กรที่ผ่านมา รวมถึงทราบจุดแข็งและจุดอ่อน  ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารเพื่อให้การสนับสนุนงานวิจัยขององค์กรในอนาคต

2. การสังเคราะห์จุลภาค ( เฉพาะเรื่อง/ประเด็นที่สนใจ )ทำเพื่อพิจารณาว่า งานวิจัยในกลุ่มเรื่องที่เราสนใจนั้น   สถานการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน    มีข้อค้นพบอย่างไรบ้าง  ส่วนมากใช้ข้อมูลและระเบียบวิธีการวิจัยลักษณะใด

การดำเนินการสังเคราะห์งานวิจัย

หากต้องการสังเคราะห์งานวิจัยของหน่วยงาน  ต้องสร้างระบบและกลไกในการสังเคราะห์งานวิจัย  โดยจัดตั้งคณะกรรมการสังเคราะห์งานวิจัย โดยกรรมการจะเป็นผู้สังเคราะห์เองหรือตั้งอนุกรรมการ  ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานวิจัยเป็นผู้สังเคราะห์ก็ได้   การทำงานของคณะกรรมการ  ถ้ามีการแลกเปลี่ยนกันสังเคราะห์งานวิจัย   ผู้สังเคราะห์งานวิจัยไม่ใช่ผู้ทำวิจัยจะช่วยลดอคติในการสังเคราะห์งานวิจัยได้  โดยมักใช้การรวบรวมงานวิจัยที่ทำแล้วเสร็จภายใน 5-10 ปีมาวิเคราะห์ เพราะเป็นระยะที่ถือว่าเป็นสถานการณ์ปัจจุบัน   มักนิยมนำบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารมาทำการสังเคราะห์ มากกว่ารูปเล่มสมบูรณ์เพราะถือว่าผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาแล้ว และเป็นการเผยแพร่  ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตเจ้าของงานวิจัย  การสังเคราะห์งานวิจัย  ต้องเริ่มต้นที่การกำหนดประเด็นที่จะทำการสังเคราะห์ อาจเลือกสังเคราะห์บางหัวข้อ  เช่น  การสังเคราะห์ส่วนแนวคิด  ทฤษฏีและวรรณกรรม   อาจค้นพบว่าใช้แนวคิดคล้ายกัน  หรือเก่าเกินไป  มีแต่อ้างใน  เล่มเดิมๆหรืออ้าง website ซึ่งไม่นิยมใช้   เป็นต้น  ทั้งนี้นิยมสังเคราะห์ทุกหัวข้อหรือทุกมิติ  เพราะต้องการนำไปใช้ประโยชน์ให้กว้างขวาง

วิธีการในการสังเคราะห์งานวิจัย

การสังเคราะห์งานวิจัย  อาจแบ่งออกเป็น  2 ลักษณะดังนี้

1. การสังเคราะห์งานวิจัยของหน่วยงาน

  • เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ผลวิจัยในระดับมหภาคก่อน  เพื่อศึกษาดูว่าที่ผ่านมามีการทำ

วิจัยตามกลุ่มภารกิจมากน้อยเพียงใด  มีการทำวิจัยในประเด็นใดบ้าง  ประเด็นใดยังไม่ได้ทำหรือทำน้อย  ควรหาแนวทางส่งเสริมถ้าเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงาน ซึ่งอาจทำในรูปของ PDCA

  • วิธีการทำระดับมหภาค  ทำโดยจำแนกกลุ่มเรื่องวิจัย   จำนวนเรื่อง   โดยใช้ตาราง หรือ

กราฟแท่ง หากต้องการเห็นทิศทางหรือแนวโน้มหรือการเปลี่ยนแปลงตามเวลา  อาจใช้กราฟเส้น

การศึกษาในระดับมหภาค  ทำให้ทราบว่างานวิจัยของหน่วยงานส่วนใหญ่ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยใด มีจุดอ่อนอย่างไร ซึ่งช่วยให้ได้แนวทางปรับปรุงหากต้องทำวิจัยในครั้งต่อไป

  • หลังจากนั้นนำรายละเอียดของแต่ละประเด็นมาวิเคราะห์ โดยจำแนกแยกแยะออกเป็นประเด็นย่อยอย่างละเอียด   คล้ายการถอดอะไหล่รถยนต์ทีละชิ้น  เพื่อพิจารณาหาจุดอ่อน   จุดแข็ง  ซึ่งในขั้นตอนนี้มักทำเป็นตารางดังตัวอย่างต่อไปนี้

ตารางที่นิยมใช้ในการสังเคราะห์งานวิจัย

ตัวอย่างตารางที่ 1

เรื่อง/ชื่อผู้แต่ง ความเป็นมา วรรณกรรม วิธีการวิจัย
-ระบุประเด็นที่ศึกษา -ระบุประเด็นที่ศึกษา -ระบุประเด็นที่ศึกษา

ตัวอย่างตารางที่ 2

ปี  พ.. ชื่อเรื่องชื่อผู้แต่ง ความเป็นมาของปัญหา วรรณกรรม ระเบียบวิธี ข้อค้นพบเดิม ข้อค้นพบใหม่ กลุ่มเป้าหมายใหม่
รัฐ
เอกชน
อปท.
นักวิชาการ

 

ตัวอย่างตารางที่ 3

ปี  พ.ศ. วิจัยเรื่องที่ 1 วิจัยเรื่องที่ 2 วิจัยเรื่องที่ 3 วิจัยเรื่อง ผลการสังเคราะห์
ผู้วิจัย
n
การสุ่มตัวอย่าง
เทคนิควิธีการ
Effect size Effect  size .ใหม่
ประโยชน์ ประโยชน์ใหม่
กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมายใหม่

สำหรับรายงานที่ไม่มี effect size  ต้องตัดออก  ไม่ควรคิด effect size  เอง

 

ตัวอย่างตารางที่ 4 การรวบรวมข้อมูลหรือสังเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่ออาการอุจจาระร่วง

ID ปีที่วิจัยเผยแพร่ gender income residence Water source อุจจาระร่วง
1960
1960
1980
1984
1995
2002
2006
2010

 

2. การสังเคราะห์เฉพาะเรื่อง/ประเด็นที่สนใจ  มีวิธีการปฏิบัติดังนี้

  • เลือกงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษา
  • นำข้อมูลต่างๆของแต่ละงานวิจัย  มาบันทึกลงในตารางที่ออกแบบไว้ดังตัวอย่างข้างต้น
  • ทำการสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่ เช่น หาค่า effect  size ใหม่ จากการนำ effect size

ของแต่ละงานวิจัยมาหาค่าเฉลี่ย  หรือนำข้อมูลแต่ละงานวิจัยมาต่อกันและวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ทั้งชุด  ทำให้ได้คำตอบใหม่หรือยืนยันคำตอบเดิม  หรือนำเสนอองค์ความรู้ที่สำคัญที่งานวิจัยเดิมไม่ได้นำเสนอไว้  หรือนำเสนอแนวคิดใหม่ที่ได้จากการวิเคราะห์งานวิจัยหลายๆงาน

การเขียนรายงานการสังเคราะห์งานวิจัย

ข้อเสนอแนะสำหรับการเขียนในส่วนต่างๆ มีดังนี้

  1. ความเป็นมาของการสังเคราะห์งานวิจัย  ประมาณ 3-4  บรรทัด  โดยระบุความจำเป็นที่

ต้องทำความวิเคราะห์  เช่น ค้นหาว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ผ่านมา  การสังเคราะห์ผลงานวิจัยช่วยให้ได้ข้อความรู้ใหม่ที่เป็นปัจจุบัน  สามารถรู้ว่าสถานการณ์ ปัจจุบันเป็นอย่างไร ควรเขียนชมเชย  ยกย่อง  เสนอข้อดีของงานวิจัยที่เรานำมาวิเคราะห์  โดยเขียนอย่างจริงใจและสมเหตุสมผล เพื่อเป็นการให้เกียรติเจ้าของงานและเป็นการบ่งบอกคุณภาพงานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์

  1. วัตถุประสงค์ของการสังเคราะห์  เพื่อค้นหาข้อค้นพบใหม่  เพื่อหาแนวทางในการ

พัฒนาหรือการปรับปรุง   เพื่อหาจุดเด่นจุดอ่อนของงานวิจัย  เพื่อเป็นประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น  เพื่อค้นพบโจทย์วิจัยใหม่ๆ

  1. กระบวนการและขั้นตอนการสังเคราะห์   ควรแยกรายประเด็นที่ทำการสังเคราะห์   ใช้

วิธีการอ่าน  การจำแนกแยกแยะตามประเด็นในตาราง  หรือ ใช้วิธีการอภิมาน  ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ

  1. ข้อค้นพบที่ได้จากการสังเคราะห์  เป็นข้อค้นพบที่พบใหม่และอาจดีกว่าที่นักวิจัยเขียนไว้
  2. ประโยชน์ใหม่ที่ได้จากงานวิจัยที่พบหลังจากการวิเคราะห์  เป็นประโยชน์ในมุมมอง

ของผู้สังเคราะห์ ที่เพิ่มเติมจากที่นำเสนอโดยผู้วิจัย

  1. กลุ่มเป้าหมายใหม่ที่จะใช้ประโยชน์   ต้องระบุให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม  โดยชี้เฉพาะว่า

จะไปใช้ประโยชน์ในกลุ่มเป้าหมายใด  ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ได้ระบุไว้โดยผู้วิจัย

  1. โจทย์วิจัยหรือปัญหาวิจัยที่แนะนำให้ทำต่อยอด   ต้องทำได้จริง  ตัวอย่างเช่น  ใช้ใบ

ชนางแดงไล่แมลงวัน   ควรต่อยอดให้ศึกษาปริมาณต้นชนางแดงที่จะนำมาใช้เชิงพานิช

แนวทางและช่องทางในการเผยแพร่ผลที่ได้จากการสังเคราะห์งานวิจัย

การเผยแพร่ผลการสังเคราะห์สู่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเผยแพร่  สามารถเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆดังนี้

  • จดหมายข่าวของหน่วยงาน
  • รายงานประจำปีของหน่วยงาน
  • Website ของหน่วยงาน
  • บทความวิชาการสังเคราะห์งานวิจัย  เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ
  • การนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ

 

ประเด็นความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการสังเคราะห์งานวิจัย

  1. ในนำเสนอผลในรูปของการจัดประชุมวิชาการ  อาจเชิญผู้เกี่ยวข้องหรือกลุ่มเป้าหมาย

มารับฟัง  หรือจัดให้มีการสมัครลงทะเบียน  ถ้าผลการสังเคราะห์มีความสำคัญและปริมาณมากพอที่จะกระตุ้นความสนใจแก่กลุ่มเป้าหมาย  ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานในงานประกันคุณภาพเกี่ยวกับตัวบ่งชี้ในการนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้  นอกจากนี้ถ้าห้องสมุดทำหนังสือมาขอผลสรุปจากการประชุม ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานการใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน

  1. ในการเขียนบทนำ ควรเริ่มต้นด้วยคำสำคัญที่สุดของชื่อเรื่อง  มีการเกริ่นนำประโยชน์ของ

การสังเคราะห์  ผลการวิเคราะห์จะเป็นประโยชน์กับใครบ้าง

  1. การเขียนวัตถุประสงค์  ควรเกริ่นนำเป็นความเรียงก่อนเขียนเป็นข้อๆ
  2. พยายามเขียนให้ตีความง่ายที่สุด
  3. โจทย์วิจัยหรือประเด็นที่เสนอแนะเพื่อวิจัย    มักจะมีไม่เกิน  2  ประเด็น  โดยเลือก

ประเด็นที่โดดเด่นและเป็นรูปธรรม

 

ข้อเสนอแนะเพื่อการดำเนินการต่อไปของวิทยาลัย

ฝ่ายวิจัย

  • ควรจัดตั้งคณะกรรมการสังเคราะห์งานวิจัย เพื่อทำการวิเคราะห์งานวิจัยที่ทำโดยอาจารย์

ของวิทยาลัยว่ามีการทำวิจัยในประเด็นใดบ้าง ใช้ระเบียบวิธีวิจัยอย่างไร  ตอบสนองพันธกิจของวิทยาลัย  มากน้อยเพียงใด

  • ควรจัดทำฐานข้อมูลวิจัยของอาจารย์ให้สมบูรณ์และต่อเนื่อง  เพื่อให้อาจารย์ที่สนใจเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์สูงสุด

ฝ่ายบริการวิชาการ

  • งานพัฒนาบุคลากรร่วมกับฝ่ายวิจัย  กำหนดแผนการจัดอบรมอาจารย์เพื่อเพิ่มความรู้และ

ทักษะการสังเคราะห์และเขียนงานวิจัย  โดยอาจใช้เวลาในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการประมาณ  3 วัน

ฝ่ายกิจการนักศึกษา

  • สังเคราะห์งานวิจัยที่นักศึกษาจัดทำในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา  เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนานักศึกษาต่อไป

ฝ่ายวิชาการ

  • พิจารณาเพิ่มเนื้อหาเรื่องการสังเคราะห์งานวิจัย   ในรายวิชาการวิจัยทางการพยาบาล

 

 

Print Friendly
ผู้เขียน อ.ทิพวรรณ ลิ้มประไพพงษ์ (ประวัติการเขียน 10 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลมารดา ทารก และการผดุงครรภ์


Tags: , ,

Comments are closed.