บทที่ 1 การพยาบาลด้านความสุขสบาย
หลักการและเทคนิคปฏิบัติการพยาบาลด้านความสุขสบาย
บุษยารัตน์ ลอยศักดิ์
สาระการเรียนรู้
1.1 สุขวิทยาส่วนบุคคลทุกวัย (Personal Hygiene)
1.2 ทำเตียง และสิ่งแวดล้อม (Unit Care )
1.3 การนวด (Massage)
1.4 การบำบัดด้วยความร้อน ความเย็น (Hot – Cold therapy)
มโนทัศน์ของบทเรียน
หลักการและเทคนิคที่พยาบาลจะทำให้ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการเกิดความรู้สึกว่าสุขสบายและปลอดภัย ในขณะที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล คือ การที่ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการได้รับการดูแล ในเรื่อง สุขวิทยาส่วนบุคคล และสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวผู้ป่วยหรือตัวผู้รับบริการ ที่สะอาด ไม่มีกลิ่น หรือสภาพที่สกปรกจนทำให้บรรยากาศในการรักษา ยิ่งทรุดลง มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังหมายรวมถึง การยินดี และเต็มใจที่จะช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการเกิดความรู้สึกเป็นกันเองกับพยาบาล ให้ความไว้วางใจ และสัมผัสความรู้สึกได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่พยาบาลคนนี้เป็นผู้ดูแล เขาจะสามารถนอนหลับได้สนิท โดยไม่มีสิ่งใดมารบกวน หรือแม้แต่ความรู้สึกที่เจ็บปวดและทนทุกข์ทรมาน พยาบาลจะดูแลด้วยความเอาใจใส่และห่วงใยในสุขภาพของเขาอย่างแท้จริง ซึ่งนั่นหมายถึง ความเอื้ออาทรและให้เกียรติ ในฐานะที่ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับผู้ป่วยทุกๆคน ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของบุคคล
การพยาบาลด้านความสุขสบาย ในเรื่องต่อไปนี้
1. สุขวิทยาส่วนบุคคล (Personal Hygiene) หมายถึง การที่บุคคลแต่ละช่วงวัย ได้แก่ วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ มีสภาพร่างกายที่สะอาด แต่งกายเรียบร้อย และสามารถ ดูแลรักษาความสะอาดร่างกายได้ด้วยตนเอง ซึ่งบุคคลจะต้องดูแลร่างกายของตนเองให้สะอาดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่างๆรอบตัวให้สะอาด ปราศจากสิ่งที่ทำให้เกิดโทษต่อร่างกายทั้งในภาวะปกติและเจ็บป่วย ซึ่งโดยทั่วไปแต่ละบุคคลจะสามารถดูแลสุขวิทยาของตนเองได้ โดยขึ้นอยู่กับความสามารถและพัฒนาการตามวัย แต่ถ้าไม่สามารถปฏิบัติได้เอง เช่น อยู่ในภาวะเจ็บป่วย พยาบาลจะเป็นบุคคลที่จะปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคลทดแทนให้ เพื่อให้สุขวิทยาส่วนบุคคลของบุคคลนั้นอยู่ในสภาวะที่ดี ไม่ก่อให้เกิดพยาธิสภาพของโรค
2. การทำเตียง และสิ่งแวดล้อม หมายถึง การดูแลรักษาความสะอาดเตียง อุปกรณ์เครื่องใช้ในการนอน ตลอดจนสภาพสิ่งต่างๆที่อยู่รอบๆตัวผู้ป่วยให้สะอาด และอยู่ในสภาพที่จัดวางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อภาวะสุขภาพของผู้ป่วยอย่างมาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่สะอาดและได้รับการดูแลทุกวัน รวมทั้งการมีการระบายอากาศที่เหมาะสม ปราศจากกลิ่นรบกวน การจัดวางสิ่งของต่างๆเป็นระเบียบ จะไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
3. การนวด เป็นศิลปะของการรักษาพยาบาลอย่างหนึ่ง ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา ในโรงพยาบาลและต้องนอนอยู่บนเตียงนานๆจะมีความรู้สึกเมื่อยล้าเกิดขึ้น การนวดที่พยาบาลสามารถกระทำได้ในหอผู้ป่วยและนิยมปฏิบัติอย่างหนึ่ง คือ การนวดหลัง ซึ่งการนวดหลัง มีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่นอนรับการรักษาอยู่บนเตียง เนื่องจากการนอนทำให้การไหลเวียนโลหิตที่บริเวณหลังลดลง เพราะผิวหนังบริเวณหลังต้องรับน้ำหนักมากเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดของร่างกาย และบรรเทาความวิตกกังวล ส่งเสริมให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบาย และเป็นการเสริมสัมพันธภาพระหว่างพยาบาลกับผู้ป่วยได้ด้วย
4. การบำบัดด้วยความร้อน ความเย็น หมายถึง การใช้ความร้อน หรือความเย็น ในการบำบัดรักษาอาการ ซึ่งปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อความร้อนและเย็นจะแตกต่างกัน การใช้ความร้อนหรือความเย็นในการบำบัดรักษามีข้อพึงระวังหลายประการเช่น อายุ ระดับของความรู้สึกตัว สภาวะของโรค และระยะเวลาการนำมาใช้ ความร้อนหรือความเย็นนอกจาก จะช่วยบรรเทาอาการทุกข์ทรมานแล้วยังสามารถช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายด้วย
วัตถุประสงค์ทั่วไป
1. เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและเทคนิคการปฏิบัติ การพยาบาลด้านความสุขสบาย ได้แก่ การดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคลทุกวัย การทำเตียงและสิ่งแวดล้อม การบำบัดด้วยความร้อน ความเย็น และการนวดได้อย่างถูกต้อง
2. เพื่อให้นักศึกษาสามารถให้การปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยโดยใช้หลักการและเทคนิค การปฏิบัติการพยาบาลด้านความสุขสบาย ได้แก่ การดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคลทุกวัย การทำเตียง และสิ่งแวดล้อม การบำบัดด้วยความร้อน ความเย็น และการนวดได้อย่างถูกต้อง
วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
เมื่อเรียนจบบทนี้แล้ว นักศึกษาจะต้องมีความสามารถ ดังนี้
1. อธิบายความหมายของคำว่า สุขวิทยาส่วนบุคคลและสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้อง
2. อธิบายหลักการและเทคนิคที่สำคัญ ในการให้การพยาบาลบุคคลในเรื่อง การดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคล การทำเตียง และสิ่งแวดล้อม การบำบัดด้วยความร้อน ความเย็น และการนวดได้อย่างถูกต้อง
3. บอกหลักการประเมินสภาพบุคคลเพื่อการดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคล การทำเตียง
และสิ่งแวดล้อม การบำบัดด้วยความร้อน ความเย็น และการนวดได้อย่างถูกต้อง
4. วางแผนช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับการดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคล การทำเตียง
และสิ่งแวดล้อม การบำบัดด้วยความร้อน ความเย็น และการนวดได้อย่างถูกต้อง
5. บอกขั้นตอนและผลการประเมินการปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่ได้รับการดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคลการทำเตียง และสิ่งแวดล้อม การบำบัดด้วยความร้อน ความเย็น และการนวดได้อย่างถูกต้อง
เอกสารประกอบการสอน
บทที่ 1
หลักการและเทคนิคปฏิบัติการพยาบาลด้านความสุขสบาย
เมื่อบุคคลอยู่ในภาวะเจ็บป่วย จะไม่มีความสุขทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ การพยาบาลเพื่อส่งเสริมความสุขสบายแก่บุคคลเมื่อบุคคลอยู่ในภาวะเจ็บป่วยนั้น จึงนับเป็นเรื่อง ที่มีความสำคัญ และเป็นสิ่งที่พยาบาลควรตระหนักถึง เนื่องจากความสุขสบายทั้งทางร่างกาย และจิตใจจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความสุขกายสุขใจ สามารถอดทนต่อความเจ็บป่วยได้ ดังนั้นพยาบาลจึงจำเป็นต้องรู้หลักการและเทคนิคปฏิบัติการพยาบาลด้านความสุขสบาย เพื่อช่วยขจัดสิ่งไม่ก่อให้เกิดความไม่สุขสบายในผู้ป่วย นอกจากนั้นแล้วยังจะต้องสามารถจัดกิจกรรมการพยาบาลที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ป่วยเกิดความสุขสบายได้
สุขวิทยาส่วนบุคคล (Personal Hygiene)
เมื่อมีภาวะเจ็บป่วยเกิดขึ้นกับบุคคล บุคคลนั้นจะขาดความสุขสมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ขาดความกระตือรือร้นหรือละเลยที่จะดูแลตนเองให้มีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดี จึงเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคลดลง พยาบาลในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลภาวะสุขภาพของบุคคลเมื่ออยู่ในภาวะเจ็บป่วย โดยสามารถดูแลบุคคลที่เจ็บป่วยให้มีภาวะสุขภาพที่ดีขึ้น ส่งเสริมให้บุคคลที่มีภาวะสุขภาพ ที่ดีและคงไว้ซึ่งภาวะสุขภาพที่ดีอย่างต่อเนื่อง จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสุขสบายให้กับบุคคลในเรื่องสุขวิทยาส่วนบุคคล เพื่อให้บุคคลที่มีภาวะเจ็บป่วยได้รับความสุขสบาย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้หายเจ็บป่วยเร็วขึ้น
ความหมายของคำว่า สุขวิทยาส่วนบุคคล
สุขวิทยาส่วนบุคคล หมายถึง การที่บุคคลมีร่างกายที่สะอาดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แต่งกายเรียบร้อย ซึ่งโดยทั่วไปในภาวะปกติแต่ละบุคคลจะสามารถดูแลรักษาความสะอาดร่างกายได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าไม่สามารถปฏิบัติได้เอง เช่น อยู่ในภาวะเจ็บป่วย มีอายุมากขึ้น อาจต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือจากบุคคลอื่น เมื่อบุคคลเจ็บป่วยและได้รับไว้รักษาในโรงพยาบาล พยาบาลจะเป็นบุคคลที่ช่วยดูแลสิ่งเหล่านี้ให้ เพื่อช่วยทำให้สุขวิทยาส่วนบุคคลของบุคคลนั้นอยู่ในสภาวะที่ดี ไม่ก่อให้เกิดพยาธิสภาพของโรค
การดูแลสุขวิทยา (Hygiene practice or hygiene care) ได้แก่ การดูแลความสะอาด ของร่างกาย เช่น ผม ความสะอาดในช่องปาก ฟัน ผิวหนังทั่วร่างกาย อวัยวะสืบพันธุ์ เล็บมือ และเท้าให้สะอาดปราศจากสิ่งที่ทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย
การดูแลผม
ผู้ป่วยที่ต้องนอนอยู่บนเตียงนานๆ การสระผมจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่นขึ้น เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายหนังศีรษะ ไม่รู้สึกคัน เนื่องจากการนอนบนเตียงจะมีเหงื่อออกมาก ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการดูแลความสะอาดของเส้นผมและหนังศีรษะมากขึ้นกว่าภาวะปกติ และในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถไปสระผมที่ห้องน้ำได้เอง พยาบาลจะเป็นผู้ที่ต้องช่วยสระผมให้ที่เตียงผู้ป่วย (bed shampoo)
จุดประสงค์ของการสระผมให้ผู้ป่วยที่เตียง
- กำจัดสิ่งสกปรก ไขมัน ลดจำนวนเชื้อโรคที่สะสมที่หนังศีรษะ
- กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตที่หนังศีรษะ
- กระตุ้นต่อมไขมันให้ขับไขมันออกมาหล่อเลี้ยงผม
- เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบาย
การดูแลความสะอาดช่องปาก (mouth care)
การดูแลความสะอาดในช่องปากและฟันจะช่วยให้บุคคลมีสุขภาพในช่องปากที่ดีโดยปกติบุคคลควรได้รับการตรวจฟันจากทันตแพทย์ทุก 3-6 เดือน ผู้ที่มีสุขภาพในช่องปากดี จะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี โดยปกติควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง แต่จะดีที่สุดถ้าแปรงฟันทุกครั้งหลังการรับประทานอาหาร และควรใช้ไหมขัดฟันหลังจาก แปรงฟันเสร็จแล้ว ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำความสะอาดปากและฟันได้เอง พยาบาลต้อง ช่วยดูแลให้ เช่น ผู้ป่วยที่มีไข้สูง ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยที่มีบาดแผลในช่องปาก เป็นต้น
จุดประสงค์การทำความสะอาดปากและฟัน
- ทำให้ปากและฟันสะอาด
- ลดจำนวนแบคทีเรียในช่องปาก และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่น
- สังเกตการณ์ติดเชื้อ แผลในช่องปาก
การดูแลความสะอาดในช่องปากในผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว สามารถทำบ่อยๆได้อย่างน้อยทุก 4 ชั่วโมง เพราะผู้ป่วยมีเยื่อเมือกในช่องปากแห้ง ทำให้มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ และเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ การทำความสะอาดช่องปากในผู้ป่วยที่หมดสติต้องจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนตะแคงกึ่งคว่ำหันหน้ามาทางพยาบาล และต้องใช้ไม้กดลิ้นช่วยให้ผู้ป่วยอ้าปาก สอดปากคีบที่คีบผ้ากอซเข้าไปเช็ดที่ลิ้น ฟัน กระพุ้งแก้ม ทำซ้ำๆจนกว่าจะสะอาด ถ้าสกปรกมากให้ใช้กระบอกฉีดยาต่อกับสายยางแล้วเทน้ำยาใส่กระบอกฉีดยาให้น้ำยาไหลเข้าไปล้างในช่องปาก หรือใช้ลูกยางแดงดูดน้ำยาทำความสะอาดปาก บีบน้ำยาเข้าไปล้างภายในปากทีละน้อยๆ ซึ่งในระหว่างการทำความสะอาดช่องปากให้ผู้ป่วย จะต้องระมัดระวังไม่ให้ผู้ป่วยเกิดการสูดสำลักน้ำยาที่ใช้ในการทำความสะอาด
ช่องปาก และหลังทำความสะอาดภายในช่องปากต้องจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนในท่าที่สุขสบาย และทาริมฝีปากผู้ป่วยด้วยน้ำมันมะกอกหรือกลีเซอลีนบอแรกซ์ เพื่อช่วยให้ริมฝีปากชุ่มชื้นไม่แห้งแตก
การดูแลความสะอาดเล็บ
การดูแลเล็บให้สั้นจะเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ดีกว่าเล็บยาว เล็บมือและเท้าจะต้องสั้นและสะอาด เล็บมือควรตัดเป็นรูปมน แต่ต้องระวังไม่ให้เกิดอันตราย กับหนังกำพร้า ส่วนเล็บเท้าตัดให้เป็นรูปตรง เพื่อป้องกันเล็บงอกในเนื้อเยื่อและเป็นแหล่ง เพาะเชื้อโรค ระวังไม่ตัดเล็บให้สั้นเกินไปเพราะจะทำให้ลึกเข้าไปในเนื้อ และรู้สึกเจ็บได้ สำหรับผู้สูงอายุเล็บจะมีความแข็งมาก ต้องแช่เล็บในน้ำอุ่นก่อนตัดเล็บ จะสามารถตัดได้ง่ายขึ้น
การดูแลความสะอาดของผิวหนัง
พยาบาลต้องให้ความสนใจต่อผิวหนังผู้ป่วยในขณะที่เจ็บป่วย เนื่องจากผู้ป่วย จะมีภูมิต้านทานร่างกายต่ำ และติดเชื้อได้ง่าย จึงจำเป็นต้องทำความสะอาดผิวหนังทุกวัน ผู้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียงจะมีเหงื่อออกมากกว่าปกติ ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง ในการอาบน้ำหรือทำความสะอาดผิวหนังได้ในขณะเจ็บป่วย พยาบาลจึงมีบทบาทสำคัญ ในการช่วยดูแลความสะอาดของผิวหนังให้ผู้ป่วย
จุดมุ่งหมายในการอาบน้ำให้ผู้ป่วย มีดังนี้
ทำให้ร่างกายสะอาด
- กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตตามส่วนต่างๆของร่างกาย
- ช่วยให้ผู้ป่วยสดชื่น สุขสบาย ลดความตึงเครียด
- สังเกตลักษณะผิวหนังผู้ป่วยว่ามีความผิดปกติหรือไม่
การอาบน้ำให้ผู้ป่วยมีหลายชนิด ดังนี้
- การอาบน้ำบางส่วนของร่างกาย (partial bath) หมายถึง การอาบน้ำที่อวัยวะบางส่วนของร่างกาย ซึ่งถ้าไม่อาบแล้วจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่สุขสบาย เช่น มือ หน้า รักแร้ ขาหนีบ และบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ผู้ป่วยบางรายสามารถทำความสะอาดร่างกายบางส่วนได้เอง และในส่วนที่ผู้ป่วยทำเองไม่ได้ พยาบาลจะเป็นผู้ที่ช่วยทำให้ในส่วนที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำได้เอง เช่น บริเวณหลังและเท้า
- การอาบน้ำบนเตียงแบบสมบูรณ์ (complete bed bath) หมายถึง การอาบน้ำ ที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมด พยาบาลต้องเป็นผู้ทำให้ทั้งหมด เช่น ในผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยที่อ่อนเพลียไม่มีแรง หรือผู้ป่วยที่จำกัดการเคลื่อนไหว เป็นต้น
- การอาบน้ำที่ห้องน้ำ ผู้ป่วยสามารถไปอาบน้ำได้เองในห้องน้ำที่มิดชิด (self bath)โดยสามารถอาบน้ำได้เอง หรือในผู้ป่วยบางรายอาจต้องให้ผู้อื่นช่วยบ้าง
ขณะที่ทำความสะอาดผิวหนังให้ผู้ป่วย สิ่งที่พยาบาลต้องรวบรวมข้อมูลในเรื่องเกี่ยวกับผิวหนัง คือ การสังเกตลักษณะของผิวหนัง ผื่น ลักษณะที่เสี่ยงต่อการเกิดแผล เช่น มีรอยถลอก รอยแดง มีแผล หรือพบผิวหนังพอง
การดูแลความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์
หมายถึง การทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ให้สะอาด รวมทั้งฝีเย็บ(ในผู้ป่วยเพศหญิง)
จุดประสงค์
- เพื่อกำจัดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ และกำจัดสิ่งที่ขับออกมา
- ป้องกันและลดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
- ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบาย
4. ทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์หลังการขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ และก่อนอาบน้ำ ก่อนสวนปัสสาวะให้ผู้ป่วย
หลักในการปฏิบัติในการทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ คือ
1. ไม่เปิดเผยผู้ป่วย
2. เช็ดให้แห้งจากบนลงล่าง และไม่เช็ดย้อนไปย้อนมา เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
3. สำลีที่เช็ดแล้วไม่ทิ้งลงในหม้อนอน เพื่อป้องกันการอุดตันของชักโครก
4. ในผู้ป่วยรายที่กลั้นอุจจาระและปัสสาวะเองไม่ได้ หรือได้รับการผ่าตัดบริเวณฝีเย็บ ทวารหนัก หรืออวัยวะเพศ ขาหนีบ ต้องระมัดระวังการติดเชื้อเข้าสู่ท่อทางเดินปัสสาวะ
5. การเช็ดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์สตรี มีหลักการเช็ด ดังนี้
5.1 สำลีก้อนที่ 1 เช็ดจากหัวเหน่าด้านซ้ายไปขวา
5.2 สำลีก้อนที่ 2 เช็ดแคมนอกด้านไกลตัวจากด้านบนลงสู่ด้านล่างจนถึงทวารหนัก
5.3 สำลีก้อนที่ 3 เช็ดแคมนอกด้านใกล้ตัวจากด้านบนจนถึงทวารหนัก
5.4 สำลีก้อนที่ 4 เช็ดแคมในด้านไกลตัวเช่นเดียวกับสำลีก้อนที่ 2
5.5 สำลีก้อนที่ 5 เช็ดแคมในด้านใกล้ตัวเช่นเดียวกับก้อนที่ 3
5.6 สำลีก้อนที่ 6 เช็ดตรงกลางจากด้านบนลงถึงทวารหนัก
6. ในผู้ป่วยเพศชาย ต้องรูดหนังหุ้มปลายองคชาตขึ้น แล้วเช็ดเป็นวงกลมจากรูเปิดของท่อปัสสาวะลงมา เช็ดจนสะอาด เมื่อเช็ดเสร็จรูดหนังหุ้มปลายองคชาตกลับปิดคงเดิมและเช็ดลูกอัณฑะอย่างเบามือให้สะอาด
7. หลังจากเช็ดทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อแล้ว ราดน้ำ และซับอวัยวะเพศของผู้ป่วยให้แห้ง
การโกนหนวดเครา
สำหรับผู้ป่วยชายต้องโกนหนวดทุกวัน พยาบาลควรช่วยเหลือให้ผู้ป่วย คือ ก่อนการโกนหนวดควรทำความสะอาดเคราให้อ่อนตัวลง โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นคลุมไว้ แล้วใช้ ฟองสบู่หรือครีมโกนหนวดทา ดึงผิวหนังให้ตึง วางที่โกนหนวดทำมุม 45 องศา แล้วเคลื่อนไปในช่วงสั้นๆ ลูบไปตามแนวเส้นขน เพื่อลดการระคายเคือง สำหรับผู้ป่วยที่อ่อนเพลีย ไม่มีแรง และไม่สามารถใช้มือได้สะดวก พยาบาลต้องทำให้อย่างระมัดระวังไม่ให้ผิวหนังผู้ป่วยเกิดแผลจากการถูกคมมีดโกนหนวดบาด หลังจากโกนหนวดแล้วทำความสะอาดผิวหนัง และซับผิวหนังให้แห้ง
การทำเตียงและสิ่งแวดล้อม (Unit Care)
การดูแลสภาพแวดล้อม หมายถึง การดูแลสิ่งต่างๆที่อยู่รอบๆตัวผู้ป่วย ซึ่งสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อผู้ป่วยอย่างมาก สภาพแวดล้อม ที่สะอาดและได้รับการดูแลทุกวัน รวมทั้งการมีการระบายอากาศที่เหมาะสม และปราศจาก กลิ่นรบกวน การจัดวางสิ่งของเป็นระเบียบ ย่อมสบายตา ไม่เป็นที่สะสมของเชื้อโรค
การทำเตียง (bed making)
การทำเตียง แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. เตียงที่ยังมีผู้ป่วยครองเตียงอยู่ แต่ผู้ป่วยไม่ได้นอนอยู่ที่เตียง (open bed) เช่น นั่งข้างๆเตียง ไปห้องน้ำ ซึ่งเมื่อทำเตียงเสร็จจะไม่ต้องคลุมผ้า เพื่อให้ผู้ป่วยเข้านอนได้อย่างสะดวกสบาย
2. เตียงที่มีผู้ป่วยอยู่บนเตียง (occupied bed) เป็นเตียงที่มีผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียงและไม่สามารถลุกออกจากเตียงได้ในขณะที่ทำเตียง การทำเตียงประเภทนี้ต้องระมัดระวังมาก เพื่อให้ผู้ป่วยสุขสบายและได้รับความปลอดภัยมากที่สุด
3. เตียงสำหรับรอรับผู้ป่วยที่ดมยาสลบ (ether bed) เป็นการทำเตียงเพื่อรอรับผู้ป่วย ที่ได้รับยาสลบจากการที่ทำผ่าตัด การได้รับการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ การทำเตียงแบบนี้มีหลักใน การปฏิบัติเช่นเดียวกับการทำเตียงแบบไม่มีผู้รับบริการนอนอยู่บนเตียง แต่ต้องเตรียมสิ่งของเครื่องใช้เพิ่มเติม เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้ายาง ผ้าขวางเตียง ชามรูปไต ไม้กดลิ้น เทอร์โมมิเตอร์ เครื่องมือวัดความดันโลหิต หูฟัง เสาแขวนขวดสารละลายที่ให้ทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น
4. เตียงว่าง (closed bed or anesthetic bed) เป็นเตียงที่ไม่มีผู้ป่วยครองเตียงเป็นการทำเตียงภายหลังจากการที่ผู้ป่วยกลับบ้าน ย้าย หรือถึงแก่กรรม และเป็นการเตรียมเตียงเพื่อรับผู้ป่วยรายใหม่ อาจคลุมด้วยผ้าคลุมเตียง เพื่อรักษาที่นอนและหมอนให้สะอาด
การประเมินสภาพผู้ป่วยก่อนทำเตียง
- ความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง
- คำสั่งการรักษาที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ข้อควรระวังเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว
การประเมินสิ่งแวดล้อมก่อนทำเตียง
- ความเพียงพอของแสงสว่าง
- การระบายอากาศ
- สิ่งกีดขวางการปฏิบัติการพยาบาล
- ผู้ป่วยนอนบนเตียงที่สะอาด เรียบตึง
- ผู้ป่วยไม่มีความผิดปกติที่ผิวหนัง เช่น มีอาการระคายเคือง คัน เกิดรอยแดง
- ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบาย กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
- ผู้ป่วยปลอดภัย ไม่มีอุบัติเหตุขณะทำเตียง
การวางแผนการพยาบาลในการทำเตียง
การเตรียมของใช้ในการทำเตียง
- ผ้าปูที่นอน
- ผ้าขวางเตียง
- ผ้ายาง
- ปลอกหมอน
- ผ้าห่ม
- ถังใส่น้ำสะอาด
- ผ้าสำหรับทำความสะอาดเตียง
- ถังใส่ผ้าเปื้อน
- นำสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากเตียงผู้ป่วย
- จัดสิ่งแวดล้อมให้สะดวกต่อการทำเตียง เช่น มีแสงสว่างพอเพียง มีการระบายอากาศ ตลอดจนสิ่งของข้างเตียง เช่น เก้าอี้ ให้อยู่เป็นระเบียบ ป้องกันการกีดขวางขณะทำเตียง
- ปิดพัดลมป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองและเชื้อโรค
- ในกรณีเตียงมีที่กั้นเตียง ลดระดับของที่กั้นเตียงลงให้ต่ำกว่าระดับที่นอน
- ด้านร่างกาย ผู้ป่วยต้องปลอดภัยและสุขสบาย ต้องจัดท่านอนให้ถูกต้อง
การเตรียมสภาพแวดล้อมในการทำเตียง
การเตรียมผู้ป่วยสำหรับการทำเตียง
2. ด้านจิตสังคมและจิตวิญญาณ พยาบาลต้องบอกให้ผู้ป่วยทราบ เพื่อให้ความร่วมมือ
วิธีการทำเตียงกรณีผู้ป่วยลุกจากเตียงได้
- รื้อผ้าปูที่นอน และถอดปลอกหมอนออก โดยเก็บด้านสกปรกทบไว้ด้านใน
- ทำความสะอาดเตียง ที่นอน เช็ดให้แห้ง
- กลับที่นอน และเช็ดให้ทั่ว
- ล้างมือให้สะอาด เช็ดมือให้แห้งแล้วปูที่นอนให้เรียบตึง โดยคลี่ผ้าปูที่นอนให้ รอยพับอยู่กึ่งกลางที่นอน เหน็บชายผ้าปูที่นอนด้านหัวเตียงและปลายเตียง ทำมุมให้เรียบร้อย
- ทำเตียงด้านที่เหลือ เช่นเดียวกัน และปูผ้ายาง ผ้าขวางเตียง ทีละข้าง
- พับผ้าห่มไว้ที่ปลายเตียง เปลี่ยนปลอกหมอน
- จัดสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยให้เป็นระเบียบ
- ล้างมือให้สะอาด เช็ดมือให้แห้ง
- เก็บสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกจากเตียงผู้ป่วย ไขเตียงลงให้ราบ (กรณีไม่มีข้อห้าม)
- พลิกตะแคงตัวผู้ป่วยให้นอนชิดริมเตียงด้านตรงข้ามกับพยาบาล จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนในท่าที่สุขสบาย
- รื้อผ้าปูที่นอนที่อยู่ด้านหลังผู้ป่วยออก โดยม้วนผ้าปูที่นอน ผ้าขวางเตียง และผ้ายางทีละชั้น เข้าชิดตัวผู้ป่วย เก็บด้านที่สัมผัสตัวผู้ป่วยไว้ด้านใน
- เช็ดที่นอนให้สะอาด แห้ง
- ปูที่นอนด้วยผ้าปูที่นอนผืนใหม่ ให้รอยกึ่งกลางของผ้าปูที่นอนอยู่กึ่งกลางเตียง คลี่ผ้าปูออก โดยม้วนให้ด้านที่จะสัมผัสกับผู้ป่วยอยู่ชิดกับผ้าปูที่นอนผืนเก่า
- เหน็บชายผ้าปูที่นอนทางด้านหัวเตียง ปลายเตียง ปูผ้ายาง และผ้าขวางเตียง โดยมีวิธีการปูเช่นเดียวกับการปูผ้าปูที่นอน
- พลิกตะแคงตัวผู้ป่วยมาด้านที่ปูแล้ว รื้อผ้าปูที่นอนผืนเก่าออก ทิ้งลงถังผ้าเปื้อน เช็ดที่นอนด้านที่เหลือให้สะอาด แห้ง
- คลี่ผ้าปูที่นอน ผ้ายาง ผ้าขวางเตียงด้านที่เหลือ ทับชายผ้าแต่ละชิ้นทางด้านหัวเตียง ปลายเตียงให้เรียบร้อย และเรียบตึง
- จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนในท่าที่สุขสบาย
- เปลี่ยนปลอกหมอน จัดให้ผู้ป่วยหนุนหมอน
- จัดสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆของผู้ป่วยให้เป็นระเบียบ
- ล้างมือให้สะอาด เช็ดให้แห้ง
การทำเตียงกรณีที่มีผู้ป่วยอยู่บนเตียง
การทำเตียงรับผู้ป่วยที่ดมยาสลบ
ปฏิบัติเช่นเดียวกับการทำเตียงที่ไม่มีผู้ป่วยอยู่บนเตียง แต่ต่างกันที่จะปูผ้ายาง ในตำแหน่งที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัด คลี่ผ้าห่มออกคลุมเตียง ให้ชายของผ้าคลุมลงไปข้างๆเตียงเท่าๆกัน พับตลบผ้าห่มที่ปลายเท้าขึ้นมา ให้ยาวพอที่จะคลุมเท้าผู้ป่วยได้มิดชิด พับตลบผ้า ด้านศีรษะลงมาในระดับที่คลี่แล้วจะคลุมบริเวณไหล่ผู้ป่วย
การที่พยาบาลทำเตียง และจัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย นอกจากจะเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคและช่วยลดอัตราการติดเชื้อแล้ว ยังช่วยส่งเสริม ให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายทั้งทางร่างกายและจิตใจด้วย
การนวด (Massage)
การนวดเป็นศิลปะของการรักษาพยาบาลอย่างหนึ่ง การนวดจะเป็นการกระตุ้น การไหลเวียนโลหิตบริเวณผิวหนัง แล้วยังสามารถแสดงออกถึงความรู้สึกห่วงใย เอาใจใส่ และความปรารถนาดีต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวอยู่บนเตียงนานๆ จะมีความรู้สึกเมื่อยล้า การนวดที่สามารถกระทำได้ในหอผู้ป่วย และที่นิยมปฏิบัติ คือ การนวดหลัง
การนวดหลัง
การนวดหลังมีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่นอนรับการรักษาอยู่บนเตียง เนื่องจาก การนอนทำให้การไหลเวียนโลหิต ที่บริเวณหลังจะลดลง เนื่องจากผิวหนังบริเวณหลังรับน้ำหนักมากเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด ของร่างกาย และช่วยบรรเทาความวิตกกังวล ส่งเสริมให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบาย และเป็นการเสริมสร้างสัมพันธภาพระหว่างพยาบาลกับผู้ป่วยได้อีกด้วย
การประเมินสภาพผู้ป่วยก่อนการนวดหลัง
1. การตรวจสภาพผิวหนังก่อนการนวดหลัง ความตึงตัว ความแห้ง ไม่ควรนวดหลังในกรณีที่ผู้ป่วยมีแผลที่หลัง ผิวหนังที่หลังมีรอยแดง รอยช้ำ มีผื่นต่างๆ หรือมีปัญหากระดูกชายโครงหัก และกระดูกสันหลังหัก
2. ซักถามประวัติความเจ็บป่วย ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูง ควรตรวจสอบชีพจรและความดันโลหิตก่อนการนวดหลัง เพราะการนวดหลังจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตสูงขึ้นได้
การเตรียมผู้ป่วย
- บอกประโยชน์และอธิบายขั้นตอนการนวดหลังให้ผู้ป่วยทราบ
2. สอบถามความต้องการในการนวดหลัง
3. เลื่อนตัวผู้ป่วยมาชิดริมเตียงด้านที่จะให้การพยาบาล
การปฏิบัติการพยาบาล
1. เทโลชั่น แป้ง หรือแอลกอฮอล์ลงบนมือพยาบาล แล้วทาลงบนแผ่นหลังของผู้ป่วย เพื่อลดแรงเสียดทานขณะนวดหลัง และช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น แอลกอฮอล์ช่วยทำให้ผิวหนัง ของผู้ป่วยให้หนาขึ้น และช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
2. นวดบริเวณแผ่นหลัง ด้วยวิธีในการนวด ดังนี้
2.1 ท่าลูบ (effleurage or stroking) โดยพยาบาลใช้ฝ่ามือทั้ง 2 ข้าง วางบนก้นกบของผู้ป่วย แล้วค่อยๆลูบขึ้นไปตามแนวกระดูกสันหลังจนถึงต้นคอ แล้ววกกลับลงมาตามแนวสีข้าง และสะโพก โดยใช้ฝ่ามือลูบช้าๆอย่างนุ่มนวล
ภาพที่ 1.1 แสดงท่าลูบ
(อัจฉรา พุ่มดวง และคณะ, 2547, หน้า 105)
2.2 ท่าจับกล้ามเนื้อยกบิดไปมาสลับกัน (petrissage) ใช้นิ้วหัวแม่มือและปลายนิ้วทั้งสี่ถึงกล้ามเนื้อผู้ป่วยให้อยู่ในอุ้งมือประมาณ 3 นิ้ว ทั้งสองข้าง บีบและคลายสลับกัน พร้อมกับหมุนมือทั้งสองข้างขึ้นลง โดยไม่ยกมือขึ้น นวดไปตามแนวกระดูกสันหลัง เนื้อของผู้ป่วยจะถูกยกลักษณะเป็นคลื่น
ภาพที่ 1.2 แสดงท่าจับกล้ามเนื้อยกบิดไปมาสลับกัน
(อัจฉรา พุ่มดวง และคณะ, 2547, หน้า 105)
2.3 ท่าใช้สันมือสับ (tapotement) ใช้สันมือทั้งสองข้างสับลงที่หลัง ทำสลับกันที่ละมืออย่างเร็วโดยให้แรงที่เกิดจากการสับมาจากการสบัดข้อมือของพยาบาล โดยสับขวางกับ เส้นใยของกล้ามเนื้อ เริ่มสับตั้งแต่หัวไหล่ด้านไกลตัวมาจบที่หัวไหล่ผู้ป่วยด้านใกล้ตัว
ภาพที่ 1.3 แสดงท่าจับการใช้สันมือสับ
(อัจฉรา พุ่มดวง และคณะ, 2547, หน้า 106)
2.4 ท่าใช้อุ้งมือตบ (percussion) พยาบาลห่อมือให้ปลายนิ้วชิดกันทั้งห้านิ้ว ตบลงบนหลังของผู้ป่วยสลับกันไปทั้งสองมือเป็นจังหวะตามแนวกระดูกสันหลัง
ภาพที่ 1.4 แสดงท่าการใช้มือตบที่หลัง
(อัจฉรา พุ่มดวง และคณะ, 2547, หน้า 106)
2.5 ท่าใช้นิ้วหัวแม่มือกด (Digital kneading) โดยลงบนแผ่นหลังของผู้ป่วยในแนวด้านข้างของกระดูกสันหลัง เป็นระยะตามยาวตลอดแนวสันหลัง
2.6 ท่าสั่นสะเทือน (Vibration) ทำได้โดยใช้มือข้างหนึ่งจับมืออีกข้างหนึ่ง ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของมืออีกข้างหนึ่งกดด้านข้างกระดูกสันหลังของผู้ป่วย กดและคลึงเบาๆเป็นแนวยาวไปจนถึงบริเวณก้นกบ
2.7 จบการนวดหลังด้วยท่าการลูบ ทั้งนี้การนวดในแต่ละท่าจะทำท่าละประมาณ 4-5 รอบ ระหว่างการนวดจะต้องไม่ปล่อยมือออกจากแผ่นหลังผู้ป่วย และจบการนวดลงด้วยท่าลูบ
3. หลังเสร็จสิ้นการนวดหลังใส่เสื้อให้ผู้ป่วย และจัดท่าให้อยู่ในท่าที่สุขสบาย
4. ลงบันทึกลักษณะผิวหนัง และปฏิกิริยาของผู้ป่วยขณะที่ได้รับการนวดหลัง
การประเมินผลการพยาบาลหลังการนวดหลัง
1. การไหลเวียนโลหิตที่ผิวหนังเพิ่มมากขึ้น โดยพิจารณาจาก
1.1 ผิวหนังบริเวณหลังและบริเวณที่อยู่เหนือปุ่มกระดูกไม่แดง ซีด หรือเป็นแผล
1.2 ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย และสามารถพักผ่อนได้
2. สัมพันธภาพระหว่างผู้รับบริการและผู้ป่วยดีขึ้น โดยพิจารณาจาก
2.1 ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการรักษาพยาบาล
2.2 ผู้ป่วยกล้าซักถามปัญหา และให้ข้อมูลตนเองมากขึ้น
การนวดหลังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความสุขสบายจากการที่กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย ในขณะนวดหลังพยาบาลไม่ควรละมือจากผิวหนังผู้ป่วย แลควรนวดติดต่อกันในแต่ละท่าในเวลา
3-5 นาที เพื่อให้เกิดการสัมผัสและแรงกดที่สม่ำเสมอ
การบำบัดด้วยความร้อนและความเย็น (Hot – cold therapy)
การบำบัดด้วยความร้อน ความเย็น หมายถึง การใช้ความร้อน หรือความเย็น ในการบำบัดรักษาอาการ ซึ่งปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อความร้อนและเย็นจะแตกต่างกัน การใช้ความร้อนหรือความเย็นในการบำบัดรักษามีข้อพึงระวังหลายประการเช่น อายุ ระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย สภาวะของโรค และระยะเวลาการนำมาใช้ ความร้อนหรือความเย็นนอกจากจะช่วยบรรเทาอาการทุกข์ทรมานแล้วยังสามารถช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายด้วย
การประคบร้อนและการประคบเย็น
การใช้ความร้อนและความเย็นเพื่อการรักษาพยาบาล มีใช้กันมานานทั้งที่อยู่ในบ้าน และโรงพยาบาล เช่น การใช้น้ำแข็งวางบริเวณดั้งจมูกเมื่อเลือดกำเดาออก การใช้ขวดน้ำร้อน วางบริเวณท้องน้อยเมื่อมีอาการปวดประจำเดือน
1. การประคบร้อน การใช้ความร้อนในการประคบต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1.1 ขนาดของพื้นผิวที่จะใช้ความร้อน ถ้าขนาดพื้นผิวใหญ่ ควรจะใช้อุณหภูมิต่ำ ไม่ร้อนจัดจนเกินไป
1.2 อุณหภูมิที่ใช้ต้องคงที่เสมอ
1.3 การใช้ความร้อนเปียก ความร้อนจะผ่านเนื้อเยื่อได้ดีกว่าและทำให้พองน้อยกว่าความร้อนแห้ง
1.4 ความทนต่อความร้อนของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน
1.5 ความทนของผิวหนังของอวัยวะแต่ละแห่งไม่เท่ากัน
1.6 อายุ และสภาวะของผู้ป่วยที่แตกต่างกันจะทนต่อความร้อนได้ไม่เท่ากัน เช่น เด็กและผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนจะทนต่อความร้อนได้น้อย
ห้ามประคบร้อน ในกรณีต่อไปนี้
1. ข้อต่อบวม เหงือกหรือฟันอักเสบจากการติดเชื้อ เพราะความร้อนทำให้หลอดเลือดขยายตัว รู้สึกไม่สุขสบายยิ่งขึ้น
2. ภาวะที่หลอดเลือดมีการขยายตัวอยู่แล้ว เช่น ปวดศีรษะ ถ้าใช้ความร้อนจะเพิ่มความดันในกระแสเลือดดำ ทำให้ปวดศีรษะมากขึ้น
3. เป็นมะเร็ง เพราะจะเพิ่มการเผาผลาญภายในเซลล์
4. ได้รับอุบัติเหตุทันที เพราะหลอดเลือดขยายอยู่แล้ว จะทำให้ตกเลือดได้ หรือหลังผ่าตัด 24 ชั่วโมงแรก ห้ามประคบร้อน ต้องใช้ความเย็นประคบก่อน และหลังจากนั้น 24 ชั่วโมงแล้วจึงจะประคบร้อนได้
5. มีการอักเสบเฉียบพลัน เช่น ไส้ติ่งอักเสบ เพราะจะทำให้ไส้ติ่งแตกได้
ชนิดของความร้อนที่ใช้ประคบ
1. ความร้อนแห้ง เช่น กระเป๋าน้ำร้อน (hot water bag) ขวดน้ำร้อน (hot water bottle) กระเป๋าไฟฟ้า ผ้าห่มไฟฟ้า (electrical heating pads) การประคบร้อนด้วยแสง (infrared lamp) ถุงความร้อนทางเคมี (chemical hot packs) วัสดุอื่นๆ เช่น อิฐเผาไฟ การนึ่งหม้อเกลือ พืชต่างๆ เช่น ใบพลับพลึง ใบแพงพวยน้ำ
2. ความร้อนเปียก เช่น การประคบด้วยความร้อน (hot compress) การประคบและ อบด้วยความร้อน (hot formentation) การประคบความร้อนด้วยน้ำมันสน (hot turpentine stupe) การแช่ก้นด้วยน้ำร้อน (hot sitz bath) การแช่ตัว แช่มือ และแช่เท้า (body soaks, hand soaks and foot soaks)
วัตถุประสงค์ของการประคบด้วยความร้อน มีดังนี้
1. เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด
2. เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ
3. เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว
4. เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
การประคบด้วยความร้อนแห้งที่นิยม ได้เแก่
ก. กระเป๋าน้ำร้อน
เครื่องใช้
1. กระเป๋าน้ำร้อนพร้อมปลอกกระเป๋าน้ำร้อน 1 ใบ หรืออาจใช้ผ้าเช็ดตัวห่อ
2. น้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 48.8 – 60 องศาเซลเซียส โดยผสมน้ำเย็น 1ส่วน และน้ำร้อนเดือด 1 – 2 ส่วน
ขั้นตอนการปฏิบัติ
1. บอกให้ผู้ป่วยทราบ
2. ใส่น้ำร้อนที่เตรียมไว้ 2 ใน 3 ของกระเป๋า ถ้าใส่น้ำร้อนจากหม้อต้มต้องใส่น้ำเย็น ลงไปก่อน เพื่อป้องกันยางของกระเป๋าเสีย
3. ไล่อากาศออกมาทางปากกระเป๋า โดยวางกระเป๋านอนบนพื้นราบยกกระเป๋า ขึ้นเล็กน้อย ใช้มือค่อยๆกดไล่น้ำจนกระทั่งน้ำมาอยู่ที่คอกระเป๋า การไล่อากาศออกจะทำให้กระเป๋าน้ำร้อนแนบกับร่างกายผู้ป่วยได้ดี และทำให้น้ำร้อนร้อนได้นาน
4. ปิดจุกให้แน่น ทดสอบได้โดยคว่ำกระเป๋าลง เมื่อไม่มีน้ำรั่วจึงนำไปใช้กับผู้ป่วย
5. ใส่ปลอกกระเป๋าให้เรียบร้อย
6. นำกระเป๋าน้ำร้อนมาวางตรงตำแหน่งที่ต้องการประคบ และต้องหมั่นเปลี่ยนที่บ่อยๆ เพื่อป้องกันผิวหนังแดงพอง
7. เมื่อประคบเสร็จแล้วเก็บเครื่องใช้ ล้างมือ ลงบันทึกทางการพยาบาล
วิธีการเก็บกระเป๋าน้ำร้อน
ภายหลังการใช้กระเป๋าน้ำร้อนแล้ว ถอดปลอกหุ้มกระเป๋าออก เทน้ำทิ้ง ทำความสะอาดกระเป๋าด้วยน้ำและสบู่ แขวนไว้ให้แห้ง โดยให้ปากกระเป๋าคว่ำลงปล่อยลมเข้าไปให้โป่งเล็กน้อยแล้วปิดจุกให้แน่น เพื่อป้องกันยางติดกัน เก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
ข้อควรระวัง
1. ก่อนใช้กระเป๋าน้ำร้อน ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าไม่รั่ว และระมัดระวังอันตราย จากน้ำร้อนลวก
2. อุณหภูมิของน้ำที่ใช้ต้องเป็นไปตามที่กำหนด ไม่ใช้น้ำร้อนอย่างเดียว โดยไม่ผสมกับน้ำเย็นเพราะน้ำจะร้อนเกินไป ผิวหนังจะทนต่อความร้อนไม่ได้ นอกจากนั้นยังจะทำให้ ยางของกระเป๋าน้ำร้อนเสียได้ง่าย
3. ไม่วางกระเป๋าน้ำร้อนกับผิวหนังของผู้ป่วยโดยตรง ปราศจากปลอกหรือผ้าห่อ
4. หันปากกระเป๋าน้ำร้อนขึ้นข้างบนขณะประคบ เพื่อป้องกันน้ำร้อนที่อาจไหลออกมา
5. หมั่นตรวจดูผิวหนังและเปลี่ยนที่วางกระเป๋าบ่อยๆ เพื่อช่วยป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผิวหนัง อีกทั้งต้องหมั่นตรวจดูอุณหภูมิของน้ำ ถ้าเริ่มเย็นต้องเปลี่ยนน้ำ
6. ถ้ามีร้อยแดงพองบริเวณผิวหนังที่ประคบ ให้หยุดประคบทันที
7. เมื่อประคบเสร็จแล้ว เก็บเครื่องใช้ ล้างมือ ลงบันทึกทางการพยาบาล
ข. กระเป๋าไฟฟ้า
กระเป๋าไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย คนทั่วไปนิยมใช้ เพราะมีความสะดวกสบาย เบา และให้ความร้อนสม่ำเสมอกันตลอดเวลา แต่มีข้อเสีย คือ ถ้าไฟฟ้ารั่วจะทำให้เกิดไฟฟ้าช๊อตซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ วิธีใช้ก็คล้ายกับการใช้กระเป๋าน้ำร้อน คือ เมื่อเสียบปลั๊กไฟฟ้าของกระเป๋าแล้ว สามารถนำไปวางที่อวัยวะที่ต้องการประคบได้เลย โดยกระเป๋าไฟฟ้าจะมีปลอกกระเป๋าหรือผ้าคลุมโดยเฉพาะ
ข้อควรระวังในการใช้
1. ตรวจดูความเรียบร้อยของสายไฟให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ
2. ก่อนนำไปวางที่ตำแหน่งที่ต้องการประคบ เสียบปลั๊กไฟให้กระเป๋าร้อน เพื่อตรวจสอบการใช้งาน
3. ก่อนนำไปวางที่ตำแหน่งที่ต้องการประคบ ต้องมีปลอกกระเป๋าหุ้มทุกครั้งเพราะมีโอกาสที่จะเกิดการไหม้พองของผิวหนังได้ง่ายถ้าไม่มีผ้ารอง
4. อย่าให้กระเป๋าหรือสายไฟมีการหักพับงอ หรือนำกระเป๋าไปซัก เพราะจะทำให้กระเป๋าชำรุดได้
5. ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการใช้งาน และควบคุมอุณหภูมิให้คงที่
6. ระวังไม่ให้วัสดุแหลมคมทิ่มแทงกระเป๋าจนเกิดการเสียหาย เพราะทำให้เกิดไฟฟ้าช๊อตได้
ค. การประคบความร้อนด้วยแสง
วัตถุประสงค์ มีดังนี้
1. เพื่อลดอาการอักเสบ
2. เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
3. เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
4. เพื่อช่วยให้แผลแห้งและหายเร็ว
เครื่องใช้
1. infrared lamp ถ้าไม่มี ให้ใช้หลอดไฟที่มีความแรง 25–60 วัตต์ และมีโป๊ะลอย
2. ขาตั้ง
3. ผ้าห่ม 1 ผืน
4. ผ้าสี่เหลี่ยมเจาะกลาง 1 ผืน
ขั้นตอนการปฏิบัติ
1. บอกให้ผู้ป่วยทราบ
2. ทำความสะอาดและซับบริเวณที่จะประคบความร้อนด้วยแสงให้สะอาดและแห้ง เพื่อป้องกันการไหม้พอง
3. ใช้ผ้าสี่เหลี่ยมเจาะกลางคลุม เปิดเฉพาะบริเวณที่จะประคบ เพื่อป้องกันร่างกาย ส่วนอื่นถูกแสง ถ้าเป็นบริเวณฝีเย็บให้นอนหงายชันเข่าและจัดผ้าของผู้ป่วยให้เรียบร้อย
4. วางดวงไฟในระยะห่างจากบริเวณที่จะประคบอย่างเหมาะสม โดยดวงไฟขนาด 25 วัตต์ วางห่าง 14 นิ้ว ดวงไฟขนาด 40–60 วัตต์ วางห่าง 18 นิ้ว และถ้าดวงไฟขนาดมากกว่า 60 วัตต์ ควรวางห่าง 24 – 30 นิ้ว หรือตามแผนการรักษา
5. ใช้ผ้าคลุมขณะประคบ เพื่อให้ความร้อนแผ่กระจายไปทั่วบริเวณ
6. ในขณะประคบ ให้ผู้ป่วยหลับตา ในรายที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ให้ปิดตาด้วยผ้าปิดตา สำหรับรายที่ต้องประคบบริเวณตา ให้ปิดตาด้วยกอซซึ่งโดยมากจะใช้กับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ ภายหลังการผ่าตัดต้อกระจก หรือมีเลือดออกภายในลูกตา
7. ระยะเวลาในการประคบ ขึ้นอยู่กับแผนการรักษา แต่โดยทั่วไปไม่เกิน 30 นาที ปกติจะใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาที
8. ขณะประคบ บริเวณที่ประคบต้องอยู่นิ่งๆ ระวังดวงไฟสัมผัสเนื้อเยื่อของผู้ป่วย
9. ถ้าพบว่ามีรอยแดงไหม้ ต้องหยุดประคบทันที
10. เมื่อประคบเสร็จแล้ว เก็บเครื่องใช้ ล้างมือ ลงบันทึกทางการพยาบาล
หมายเหตุ
1. ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกร้อนเกินไป หรือรู้สึกว่า ไม่สุขสบายขณะประคบ ให้บอกพยาบาลทันที
2. ขณะประคบ ถามผู้ป่วยถึงความรู้สึกที่จะทนต่อความร้อนระดับนั้น
3. บริเวณที่ประคบจะต้องแห้ง เพื่อป้องกันผิวหนังไหม้พอง
4. กรณีที่ใช้ผ้าคลุมหลอดไฟและโป๊ะไฟเพื่อประคบให้อวัยวะนั้นได้รับความร้อนทั่วถึง ต้องระวังดวงไฟสัมผัสกับเนื้อเยื่อที่ประคบ เพื่อป้องกันการไหม้พอง
ง. ถุงความร้อนทางเคมี
ปัจจุบันนิยมใช้มากขึ้นเพราะสะดวก หาซื้อง่าย ภายในถุงบรรจุด้วยวุ้นเคมี (chemical gels) อุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง 37–46 องศาเซลเซียส ใช้โดยการต้มน้ำเดือด แล้วนำถุงนี้ไปแช่ ในน้ำร้อน เมื่อวุ้นเคมีละลายนำขึ้นมาห่อด้วยผ้า นำไปวางในตำแหน่งที่ประคบ ระยะเวลาที่ใช้ประมาณ 20–30 นาที
ความร้อนเปียก ที่นิยมใช้ มีดังนี้
ก. การประคบด้วยความร้อน ใช้ได้ทั้งแบบปราศจากเชื้อและแบบสะอาด
วัตถุประสงค์ มีดังนี้
1. เพื่อบรรเทาอาการอักเสบและลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ
2. เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด
3. เพื่อช่วยให้อาการบวมลดลง
4. เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
5. เพื่อช่วยเร่งขบวนการกลัดหนอง เช่น ฝี
เครื่องใช้ ประกอบด้วย
1. เหยือกใส่น้ำ 1 ใบ (ขนาด 250 – 500 มิลลิลิตร) ใส่น้ำร้อนที่มีอุณหภูมิประมาณ46–60 องศาเซลเซียส
2. ปากคีบ 2 อัน
3. ผ้าสำลี 2 ผืน (ขนาดขึ้นอยู่กับบริเวณที่จะประคบ)
4. ผ้ายาง 1 ผืน
5. ผ้าอบความร้อน 1 ผืน (มีขนาดใหญ่กว่าผ้าสำลีเล็กน้อย)
6. ผ้ากอซ 1 ผืน
7. ชามรูปไต 1 ใบ
ขั้นตอนการปฏิบัติ
1. บอกให้ผู้ป่วยทราบ
2. ถ้าเป็นบริเวณที่ไม่ควรเปิดเผย ให้กั้นม่านให้เรียบร้อย
3. จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สบาย
4. ใช้ปากคีบหยิบผ้าสำลีชุบลงในน้ำร้อน บิดหมาดๆวางบนผิวหนัง โดยทดลองวางบนหลังมือของผู้ปฏิบัติเสียก่อน เพื่อทดสอบว่าไม่ร้อนจัดเกินไป
5. วางผ้าลงบนบริเวณที่จะประคบ โดยค่อยๆแตะลงแล้วรีบยกขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวก่อน แล้ววางลงไป วางทับด้วยผ้ายาง และผ้าอบความร้อนตามลำดับ
6. เตรียมบิดผ้าผืนใหม่ เพื่อเปลี่ยนเมื่อผ้าผืนเก่าเย็น
7. หยิบผ้าผืนเก่าออกแล้ว วางผ้าผืนใหม่แทนที่
8. เตรียมผ้าผืนใหม่ต่อไป ทำเช่นนี้หลายๆครั้งติดต่อกัน 10–15 นาที
9. ในระหว่างการประคบ หมั่นเปลี่ยนน้ำให้ความร้อนคงที่อยู่เสมอ
10. เมื่อประคบเสร็จตามเวลาแล้ว เช็ดบริเวณที่ประคบให้แห้งด้วยผ้ากอซ
11. นำเครื่องใช้ไปทำความสะอาดและเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
12. ล้างมือ แล้วลงบันทึกทางการพยาบาล
หมายเหตุ
1. อุณหภูมิของน้ำต้องคงที่เสมอ
2. ถ้าประคบที่ตา หรือที่ที่มีบาดแผลผ้าต้องสะอาดปราศจากเชื้อ
3. ถ้าประคบบริเวณตา อุณหภูมิของน้ำไม่ควรเกิน 37.8 องศาเซลเซียส
ข. การประคบและอบความร้อน (hot formentation)
วัตถุประสงค์ในการทำเช่นเดียวกับการประคบด้วยความร้อน แต่บริเวณที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นแขน ขา และมีการอักเสบมาก
เครื่องใช้
1. เหยือกสำหรับใส่น้ำ 1 ใบ ขนาด 1,000 มิลลิลิตร
2. ปากคีบชนิดยาว 1 อัน
3. ผ้าสำลี 2 ผืน
4. ผ้ายาง 1 ผืน
5. ผ้าอบความร้อน 1 ผืน
6. ผ้าพันแผล 1 ม้วน
7. ผ้ากอซ 1 ผืน
8. กระเป๋าน้ำร้อนพร้อมปลอก 1 ใบ
9. วาสลิน
10. น้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 60 – 71.2 องศาเซลเซียส
ขั้นตอนการปฏิบัติ
1. บอกให้ผู้ป่วยทราบ
2. จัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่าที่สบาย ไม่เปิดเผยผู้ป่วย
3. ทาวาสลินทาบริเวณที่จะประคบให้ทั่ว เพื่อป้องกันการไหม้พอง
4. ใช้ปากคีบหยิบผ้าสำลีใส่ในเหยือกน้ำร้อน บิดผ้าพอหมาด ทดลองวางที่บริเวณ หลังมือก่อนวางผ้าบนบริเวณที่จะประคบ แตะแล้วยกขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวก่อน แล้วจึงวางลงไปปิดด้วยผ้ายางและผ้าอบความร้อน
5. ทำเช่นในข้อ 4. 3 – 4 ครั้ง เมื่อเปลี่ยนเสร็จแล้วให้ใช้ผ้าพันไว้ แล้ววางกระเป๋าน้ำร้อน 10–15 นาที โดยใช้น้ำร้อนที่เตรียมไว้ใส่ในกระเป๋าน้ำร้อน (วิธีเดียวกันกับการใช้กระเป๋า น้ำร้อนเพื่อการประคบ)
6. เมื่อครบเวลา 10–15 นาที ให้นำกระเป๋าน้ำร้อน ผ้าพันแผล ผ้าอบความร้อน ผ้ายาง และผ้าสำลีออกให้หมด ใช้ผ้ากอซซับผิวหนังให้แห้ง
7. นำเครื่องใช้ไปทำความสะอาด และเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
8. ล้างมือ แล้วลงบันทึกทางการพยาบาล
ข้อควรระวัง
1. อุณหภูมิของน้ำต้องไม่ร้อนเกิน 60 – 71.2 องศาเซลเซียส ในผู้ที่มีอาการบวมหรืออ้วน ควรลดความร้อนลงเพราะส่วนนั้นมีเลือดมาเลี้ยงน้อยอาจทำให้ผิวหนังไหม้ได้ง่าย
2. ต้องใช้วาสลินทาก่อน
3. ต้องบิดผ้าให้แห้ง
4. ถ้าต้องทำทุก 3 – 4 ชั่วโมง ต้องตรวจดูผิวหนังบริเวณที่ทำก่อน ระหว่าง และภายหลังทำ ว่ามีอาการไหม้พองหรือไม่ ถ้ามีต้องหยุดทำทันที และต้องรายงานให้ ผู้รับผิดชอบ เช่น พยาบาลหัวหน้าเวร หรือแพทย์ทราบ
ค. การแช่ก้นด้วยน้ำร้อน
วัตถุประสงค์ มีดังนี้
1. บรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการอักเสบของอวัยวะภายในและภายนอกอุ้งเชิงกราน
2. ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานคลายตัวและการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
3. ช่วยให้แผลสะอาด หายเร็ว ช่วยให้ผิวหนังที่ตายแล้วลอกหลุด เช่น แผลบริเวณฝีเย็บ
4. ช่วยให้ถ่ายปัสสาวะได้สะดวกในรายที่ถ่ายปัสสาวะไม่ออก
การแช่ก้นจะใช้ในกรณีต่อไปนี้
1. หลังผ่าตัดลำไส้ตรง
2. เป็นริดสีดวงทวารหนัก
3. หลังผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกรานในผู้หญิง หรือหลังคลอดทางช่องคลอด
อุณหภูมิของน้ำที่จะใช้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการแช่ และสภาพผิวหนังของผู้ป่วย เช่น ถ้าแช่เพื่อความสะอาด อุณหภูมิของน้ำควรประมาณ 38–40 องศาเซลเซียส แต่ถ้าจะแช่ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด อุณหภูมิของน้ำควรประมาณ 43–46 องศาเซลเซียส จะไม่ใช้น้ำ ที่มีอุณหภูมิสูงมากเกินไป โดยเฉพาะในกรณีที่ผิวหนังแพ้ง่ายหรือไหม้พองง่าย
เครื่องใช้
1. อ่างแช่ก้นหรือเก้าอี้แช่ ใส่น้ำอุ่น
2. น้ำยาที่ใช้ ส่วนมากใช้เกล็ดด่างทับทิม (potassium permanganate) ต่อน้ำเท่ากับ 1 : 4,000
3. เหยือกขนาด 2,500 มิลลิลิตร ใส่น้ำอุ่นไว้คอยเติม
4. ผ้าเช็ดตัว 1 ผืน
5. ผ้าสำหรับรองก้นอ่าง
6. ชุดทำความสะอาดแผล (ถ้ามีแผล)
ขั้นตอนการปฏิบัติ
1. บอกให้ผู้ป่วยทราบ
2. ยกอ่างแช่ก้นไปที่เตียงหรือห้องน้ำ ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย
3. กั้นม่านในกรณีที่แช่ก้นที่เตียง
4. ถอดผ้านุ่งออกและจัดเสื้อให้อยู่เหนือเอว
5. ทดสอบความร้อนของน้ำด้วยข้อศอกหรือหลังมือ หรือใช้ปรอทวัด
6. นำผ้ามารองบริเวณก้นอ่างเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเจ็บแผล ให้นั่งแช่ ในอ่าง โดยให้น้ำท่วมตั้งแต่สะโพกถึงโคนขา
7. คลุมผ้าให้มิดชิด เปิดเฉพาะบริเวณที่แช่ ถ้าผู้ป่วยหนาวให้ห่มผ้า
8. ถ้าความร้อนของน้ำลดลง ให้เติมน้ำร้อน เพื่อให้อุณหภูมิของน้ำคงที่
9. พยาบาลควรอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา เพราะขณะที่แช่ก้นด้วยน้ำร้อนจะมีผลทำให้เส้นเลือดใหญ่ที่อุ้งเชิงกรานขยายตัว ซึ่งเป็นสาเหตุให้ความดันโลหิตต่ำลงในทันทีได้ พยาบาลจึงควรตรวจสอบสัญญาณชีพด้วย เพราะผู้ป่วยอาจเป็นลม หน้ามืด ปวดแผล หรือช็อค
10. ให้ผู้ป่วยนั่งแช่ก้นนานประมาณ 15 – 30 นาที
11. เมื่อแช่ก้นครบตามเวลา ให้ผู้ป่วยลุกจากอ่าง ใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้งแล้วห่มผ้าห่มนานประมาณ 20–30 นาที เพื่อให้ความอบอุ่นต่ออีกระยะหนึ่ง
12. ทำแผลให้ผู้ป่วย (กรณีถ้ามีแผล)
13. สวมผ้านุ่ง จัดให้ผู้ป่วยนอนในท่าที่สบาย
14. นำเครื่องใช้ไปทำความสะอาดและเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
15. ล้างมือ แล้วลงบันทึกทางการพยาบาล
ข้อควรระวัง
1. สังเกตผิวหน้าของผู้ป่วยว่าซีดหรือไม่ ถ้าซีดแสดงว่าอาจเป็นลมหรือเวียนศีรษะ
2. สังเกตบริเวณฝีเย็บหรือสีผิวบริเวณที่แช่ว่าไม่แดงมาก เพราะถ้าแดงมากแสดงว่า อาจเกิดจากน้ำที่ร้อนเกินไป
2. การประคบเย็น
การประคบเย็นต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. ขนาดความเย็นที่จะใช้ประคบ ถ้าพื้นผิวขนาดใหญ่ควรใช้อุณหภูมิที่สูงขึ้น ไม่ประคบเย็นจนเกินไป
2. อุณหภูมิของความเย็นต้องคงที่เสมอ
3. การประคบเย็นแบบเปียก ความเย็นจะทะลวงผ่านเนื้อเยื่อได้ดีกว่าการประคบด้วย ความเย็นแบบแห้ง
4. อายุและสภาวะของผู้ป่วย ผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด จะมีความทนต่อความเย็นได้น้อยกว่าปกติ
ห้ามประคบเย็น ในกรณีต่อไปนี้
1. ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อมีสีม่วงคล้ำ
2. ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อเย็น
3. ผิวหนังไม่มีความรู้สึก
4. มีอาการปวดเนื่องจากกล้ามเนื้อหดรัดตัว
5. มีอาการหนาวสั่น และอุณหภูมิของร่างกายต่ำ
ชนิดของความเย็นที่ใช้ประคบ
1. ความเย็นชนิดแห้ง เช่น กระเป๋าน้ำแข็ง (ice bag or ice collar) ถุงเยลลี่ (jelly pad or cold pack)
2. ความเย็นชนิดเปียก เช่น การประคบด้วยความเย็น (cold compress) การใช้น้ำเย็นช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย (sponge)
การประคบเย็นที่ใช้กันบ่อยๆ มีดังนี้
ก. การใช้กระเป๋าน้ำแข็ง มีวัตถุประสงค์ในการใช้ดังนี้
1. ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด
2. ช่วยลดอาการอักเสบ
3. ช่วยระงับการตกเลือด
เครื่องใช้
1. กระเป๋าน้ำแข็งพร้อมปลอกหุ้ม 1 ใบ
2. น้ำแข็ง
ขั้นตอนการปฏิบัติ
1. บอกให้ผู้ป่วยทราบ
2. นำน้ำแข็งก้อนเล็กๆใส่กระเป๋าน้ำแข็งประมาณ ½ ของกระเป๋าน้ำแข็ง
3. ไล่อากาศออกให้หมด โดยวางกระเป๋าให้ราบลง ปิดจุกให้แน่น เพื่อให้น้ำแข็งค่อยๆละลายช้าๆ
4. ทดสอบว่าฝาจุกรั่วหรือไม่ โดยคว่ำกระเป๋าน้ำแข็งลง
5. เช็ดกระเป๋าน้ำแข็งภายนอกให้แห้ง และใส่ปลอกผ้าให้เรียบร้อย
6. นำกระเป๋าน้ำแข็งไปวางตรงบริเวณที่ต้องการประคบ
7. เมื่อน้ำแข็งละลาย ให้เปลี่ยนน้ำแข็งใหม่ ประคบนานประมาณ 30 นาที
8. เมื่อเสร็จแล้ว เทน้ำออกจากกระเป๋าให้หมด แล้วเช็ดให้แห้ง ใส่ลมไว้เล็กน้อย และปิดจุกให้สนิทเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
9. ล้างมือ แล้วลงบันทึกทางการพยาบาล
ข้อควรระวัง
1. ไม่วางกระเป๋าน้ำแข็งกับผิวหนังโดยตรงโดยไม่มีปลอกหรือผ้าหุ้ม
2. ไม่ประคบในแต่ละตำแหน่งนานเกินไป หมั่นเปลี่ยนตำแหน่งบ่อยๆ
3. ถ้าพบว่าผิวหนังที่ประคบเป็นรอยแดง ปวดแสบปวดร้อน หรือมีลักษณะเหมือนมีเลือดคั่งเป็นกลุ่มๆใต้ผิวหนัง ต้องหยุดประคบทันที และรายงานให้แพทย์ทราบ
ข. การใช้ถุงเยลลี่
ถุงเยลลี่เป็นวัสดุประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ ใช้หลักการเดียวกับกระเป๋าน้ำแข็ง ฉะนั้นจึงสามารถนำไปใช้ได้ทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล ขนาดของถุงเยลลี่ไม่ใหญ่มาก สารที่บรรจุภายในถุงเยลลี่ มีสารประกอบหนึ่งพวกแอลกอฮอล์ ก่อนใช้ต้องนำไปแช่ในช่องน้ำแข็งของตู้เย็น จะต้องห่อด้วยผ้าหรือใส่ในถุงผ้าก่อนจะวางลงบนตำแหน่งที่ต้องการประคบ
ค. การประคบด้วยความเย็น
การประคบด้วยความเย็นนิยมใช้กับบริเวณที่มีอาการปวดหรืออาการอักเสบ เล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ ปวดขมับ ปวดข้อเข่า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณตา เต้านมอักเสบ
เครื่องใช้
1. เหยือกสำหรับใส่น้ำ 1 ใบ ขนาดพอเหมาะ และน้ำผสมน้ำแข็งให้มีอุณหภูมิประมาณ 12.7–18.3 องศาเซลเซียส
2. ผ้าขนหนู หรือผ้าสำลี 2 ผืน
3. ผ้ายาง 1 ผืน
4. ผ้ากอซ 1 ผืน
5. ผ้าอบความร้อน 1 ผืน
ขั้นตอนการปฏิบัติ
1. บอกให้ผู้ป่วยทราบ
2. จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สบาย
3. หยิบผ้าขนหนูหรือผ้าสำลีชุบน้ำเย็นบิดพอหมาดๆ วางตรงบริเวณที่ต้องการประคบ ปิดด้วยผ้ายางและผ้าอบความร้อน
4. เตรียมผ้าประคบผืนใหม่ไว้ เปลี่ยนผ้าทุก 3–5 นาที ทำเช่นนี้ติดต่อกันนานประมาณ 20–30 นาที
5. เมื่อครบเวลา ใช้ผ้ากอซซับผิวหนังที่ประคบให้แห้ง
6. ใช้ผ้าคลุมจนกว่าการไหลเวียนของเลือดจะกลับสู่ภาวะปกติ นำเครื่องใช้ไป ทำความสะอาดและเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
7. ล้างมือ แล้วลงบันทึกทางการพยาบาล
การบำบัดด้วยความร้อน เย็น มีประโยชน์มากถ้าผู้ใช้ปฏิบัติได้อย่างถูกวิธี จากที่กล่าวมาแล้วว่าความร้อนทำให้เกิดการอักเสบอย่างเฉียบพลัน หรือทำให้อาการอักเสบเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนในระยะที่มีการอักเสบ เมื่อจำเป็นต้องใช้การบำบัดด้วย ความร้อน หรือเย็นในเด็กและผู้สูงอายุต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะประสาทการรับความรู้สึกยังเจริญไม่เต็มที่ในเด็ก และการรับความรู้สึกช้าหรือไม่มีความรู้สึกในผู้สูงอายุ เพราะจะทำให้เกิดความร้อนมากไปจนเกิดผิวหนังไหม้ได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ การบำบัดด้วยความร้อนในผู้ป่วยที่มีผิวหนังมีลักษณะที่อ่อนบาง และมีการยืดหยุ่นน้อย หรือมีภาวะเลือดออกง่าย เนื่องจากความร้อนทำให้หลอดเลือดขยายตัว เกิดเลือดออกได้ง่ายขึ้น และมีอาการบวมเพิ่มขึ้น และต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในการให้ความร้อนกับผู้สูงอายุที่มีปัญหาโรคของระบบประสาทและผิวหนังที่ไม่มีความรู้สึก เพราะจะทำให้เกิดความร้อนมากไป จนทำให้เกิดผิวหนังไหม้ได้
สรุป
หลักการและเทคนิคปฏิบัติการพยาบาลด้านความสุขสบาย ดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น เป็นการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลที่พยาบาลสามารถปฏิบัติและดูแลให้ผู้ป่วยได้ไม่ยุ่งยาก และยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้หายเจ็บป่วยเร็วขึ้น
บรรณานุกรม
สุปาณี เสนาดิสัย และ วรรณภา ประไพพานิช. (2547). การพยาบาลพื้นฐาน แนวคิดและการปฏิบัติ. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพมหานคร: จุดทอง.
อภิญญา เพียรพิจารณ์. (2548). คู่มือ ปฏิบัติการพยาบาล เล่ม 1. นนทบุรี : โครงการสวัสดิการวิชาการ สถาบันพระบรมราชชนก.
อัจฉรา พุ่มดวง และคณะ. (2547). การพยาบาลพื้นฐาน : ปฏิบัติการพยาบาล. กรุงเทพฯ : วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย.
Barbara, K. T. (1996). Fundamental Skills and Concepts in Patient Care. 6th ed. Philadelphia: Lippincott.
Cole, G. (1996). Fundamental Nursing : Concepts and Skills. 2nd ed. St. Louis: Mosby.
Ruth, F. C. and Constance J. H. (2000). Fundamentals of Nursing : Human health and function. 3rd ed. Philadelphia: Lippincott.
แบบฝึกหัดท้ายบท
- ผู้ป่วยรายหนึ่งประสบอุบัติเหตุกระดูกต้นขาขวาหัก แพทย์ให้การรักษาโดยให้ on skeletal traction ถ่วงน้ำหนัก 4 กิโลกรัม ควรทำเตียงให้ผู้ป่วยรายนี้แบบใดจึงจะเหมาะสม
ก. open bed
ข. ether bed
ค. closed bed
ง. occupied bed
2. ผู้ป่วยรายหนึ่งมาโรงพยาบาลด้วยอาการข้อเท้าซ้ายบวม ซักประวัติพบว่าเดินพลัดตกบันได นานประมาณ 30 นาที ก่อนมาโรงพยาบาล ทันทีที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล พยาบาลควรปฏิบัติการพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยรายนี้อย่างไร
ก. ประคบด้วยความเย็น
ข. ดามข้อเท้าด้วยเฝือกอย่างอ่อน
ค. ทาด้วยน้ำมันมวยแล้วพันผ้ายืดไว้
ง. ให้รับประทานยาแก้ปวดและลดบวม
3. หลักการข้อใดสำคัญที่สุดในการทำเตียง
ก. การป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ข. การใช้หลักการทรงตัวที่ดีในขณะทำเตียง
ค. การจัดวางเครื่องนอนอย่างเป็นระเบียบ
ง. ความสะดวกสบายในการนอน
4. ผู้ป่วยเพศชาย อายุ 18 ปี รายหนึ่ง มาโรงพยาบาลด้วยอาการกระดูกต้นขาข้างขวาโก่งงอผิดรูปเนื่องจากประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนกับรถยนต์ แพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีกระดูกต้นขา ข้างขวาหัก ใส่ skeletal traction ถ่วงน้ำหนักไว้ 4 กิโลกรัม เมื่อตรวจสอบสภาพร่างกายผู้ป่วย รายนี้พบว่า เส้นผมมีคราบน้ำมันเครื่อง ตามผิวหนังมีรอยถลอก เสื้อผ้าที่สวมใส่เปื้อนเลือดเป็นจุดๆ ร่างกายมีกลิ่นเหงื่อไคลและน้ำมันเครื่อง ผ้าปูที่นอนเปื้อนเลือดท่านจะดูแลสุขวิทยา ส่วนบุคคล และให้การพยาบาลเพื่อส่งเสริมความสุขสบายแก่ผู้ป่วยรายนี้ในเรื่องใดบ้าง (ระบุกิจกรรมตามลำดับความสำคัญมากไปน้อย)
………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………
………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………
………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………
………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………
ขอบคุณครับอาจารย์สำหรับบทความดีๆ