สาระสำคัญของการเรียนรู้ที่ได้จากการอบรมพัฒนาศักยภาพนักวิจัยของบุคลากรทางสาธารณสุข

การจัดการความรู้ด้านการผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ
สาระสำคัญของการเรียนรู้ที่ได้จากการอบรมพัฒนาศักยภาพนักวิจัยของบุคลากรทางสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554
ประธานการประชุม:
อ.ดร.มัณฑนา เหมชะญาติ
ผู้เข้าร่วมประชุม
     1. อ.ทิพวรรณ ลิ้มประไพพงษ์
     2. อ.ดร.พรฤดี นิธิรัตน์
     3. อ.ดร.ปิ่นนเรศ กาศอุดม
     4. อ.คณิสร แก้วแดง

สาระสำคัญของการเรียนรู้จากการอบรมพัฒนาศักยภาพนักวิจัยของบุคลากรทางสาธารณสุข
     สาระสำคัญที่สรุปได้คือ “ต้องทำให้ทุกขั้นตอนของการวิจัยไม่ใช่เรื่องยาก น่าสนใจ และทำวิจัยแล้วผู้วิจัยรู้สึกว่าตนเองฉลาดขึ้น”

     จากประสบการณ์ที่ได้ดำเนินโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยให้กับบุคลากรทางสาธารณสุขและจากการเป็นวิทยากรบรรยายและวิทยากรพี่เลี้ยงตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นกระบวนการอบรม ซึ่งรวมทั้งหมดประมาณ 7 วงรอบ คณาจารย์ที่ร่วมทีมงานดังกล่าวมีข้อสรุปสาระสำคัญขององค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตผลงานวิจัยและการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยให้กับบุคลากรทางสาธารณสุข ดังนี้
     1. ในหนึ่งรอบการอบรม ควรใช้เวลาประมาณ 9-12 เดือน โดยจัดโครงสร้างของการประชุมเพื่อให้ผู้รับการอบรมทำวิจัยแล้วเสร็จถึงการเขียนรายงานเพื่อการตีพิมพ์เผยเผยแพร่ เป็นจำนวน 6 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลา 2 วันติดต่อกัน ซึ่งแต่ละครั้งมีการกำหนดเป้าหมายที่ต้องการ (Expected outcomes) และจัดวิทยากรพี่เลี้ยงรับผิดชอบวิจัยแต่ละเรื่องตามความเชี่ยวชาญและความสนใจของวิทยากรตั้งแต่วันแรกของการประชุมครั้งที่ 1
     2. ในขั้นตอนแรกของการอบรมต้องปรับทัศนคติของผู้เข้ารับการอบรม ให้เห็นว่า ทุกคนสามารถทำวิจัยได้ ความรู้และประสบการณ์ทำงานของแต่ละคนมีเพียงพอที่จะทำวิจัยให้สำเร็จได้
     3. ใช้การทดสอบความรู้เกี่ยวกับการวิจัยเป็นการกระตุ้นความสนใจและประเมินความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการวิจัยของผู้เข้าอบรม โดยใช้แบบทดสอบความรู้และใช้แบบสอบถามการรับรู้ความสามารถและทัศนคติต่อการวิจัย
     4. ในการประชุมแต่ละครั้งต้องใช้เอกสารประกอบการประชุม ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสรุปเฉพาะประเด็นสำคัญแบบย่อๆ ถ้าเนื้อหามากเกินไป ผู้เข้ารับการอบรมอาจเห็นว่าเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการวิจัยมีมาก ยุ่งยาก และซับซ้อน
     5. ในการบรรยาย ใช้เวลาให้น้อยที่สุด เท่าที่จำเป็น โดยอธิบายจากภาพรวมและส่วนย่อยต่างๆ เพื่อทบทวนจนผู้เข้ารับการอบรมเข้าใจในมุมต่างๆ ของงานวิจัย สลับกับกิจกรรมที่ผู้เข้ารับอบรมได้ลงมือปฏิบัติจริงตามขั้นตอนของกระบวนการวิจัย
     6. การทบทวนวรรณกรรมโดยการอ่านและการสังเคราะห์ต้องทำเป็นระยะๆ สอนการสืบค้นจากแหล่งต่างๆ เช่น วารสารวิจัย ฐานข้อมูลอังกฤษ – ไทย เป็นต้น
          ระยะที่หนึ่ง – ทบทวนวรรณกรรมเพื่อการเขียนโครงร่างวิจัย เพื่อการระบุตัวแปร กรอบแนวคิด กลุ่มตัวอย่าง และเครื่องมือวิจัย
          ระยะที่สอง – ทบทวนวรรณกรรมเพื่อการพัฒนาและการเลือกใช้เครื่องมือวิจัย
          ระยะที่สาม – ทบทวนวรรณกรรมเพื่อการอภิปรายผล
     7. จัดให้มีช่วงเวลาของการนำเสนอ concept paper ของวิจัยแต่ละเรื่อง ก่อนการทำโครงร่างวิจัยฉบับสมบูรณ์เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ ฝึกการนำเสนอ และตรวจสอบความเข้าใจของผู้วิจัย
     8. ในการนำเสนอ concept paper ของวิจัยแต่ละเรื่อง วิทยากรในทีมทุกคนต้องช่วยกันให้ข้อมูลย้อนกลับเชิงบวก โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิด เพื่อการเพิ่มเติมการวิจัยให้สมบูรณ์ และเพื่อให้กำลังใจนักวิจัยทุกคน
     9. การติดตามให้ส่งงานเป็นระยะๆ ตามกำหนดการประชุม นัดหมายและทวงถามทางโทรศัพท์ หรืออีเมล์เพื่อให้ส่งงานก่อนเข้าประชุม ทั้งนี้ต้องมีผู้ประสานงานของหน่วยงานที่จัดการอบรมช่วยติดตามงานด้วย
     10. การให้เวลาแก่ผู้วิจัยปรึกษาทั้งในและนอกเวลาราชการได้ตลอดระยะเวลาที่ทำการวิจัย
     11. การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS ฝึกให้ทำจริง เช่น การ key ข้อมูล การใช้คำสั่งต่างๆ การแปร output และแปลผลการวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากนั้นวิทยากรพี่เลี้ยงวิจัยแต่ละเรื่องต้องตรวจสอบความเข้าใจ โดยให้ผู้วิจัยลงข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลวิจัยของตนเองด้วย
     12. การเขียนรายงานวิจัยเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จแล้วให้เริ่มเขียนบทคัดย่อก่อนเพื่อเป็นนำเสนอประเด็นสำคัญของการวิจัยเรื่องนั้นๆ และช่วยให้ผู้วิจัยเห็นภาพรวมของการวิจัยของตนเอง ต่อจากนั้นเขียนผลการวิจัยที่ตอบวัตถุประสงค์หรือสมมติฐานการวิจัยอย่างครบถ้วน โดยวิทยากรพี่เลี้ยงต้องให้คำแนะนำการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตาราง และปรับแก้จนกว่าจะเสร็จเรียบร้อย
     13. การเขียนอภิปรายผลต้องเน้นการให้ใช้เหตุผลที่สอดคล้องกับผลการวิจัย โดยใช้ข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรม ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่อธิบายตามความเชื่อ ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้วิจัย ซึ่งทำให้การอภิปรายผลการวิจัยขาดความน่าเชื่อถือ
     14. การเขียนบรรณานุกรม ต้องตรวจสอบว่ามีครบถ้วนแล้ว และตรงกับกับเนื้อหาในบทต่างๆ และเขียนให้ถูกต้องตามรูปแบบ โดยไม่ใช้แหล่งอ้างอิงที่ล้าสมัย หรือไม่น่าเชื่อถือ เช่น ข้อมูลจากเวปไซด์ที่ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
     15. วิทยากรพี่เลี้ยงต้องใช้ความพิถีพิถันในการตรวจสอบการเขียนให้ถูกต้องตามหลักการเขียนเอกสารวิชาการในการเขียนโครงร่างวิจัยและรายงานวิจัย
     16. การเตรียมความพร้อมสำหรับการนำเสนอผลงานแบบ oral presentation เมื่อการวิจัยแล้วเสร็จ ควรจัดเป็นกิจกรรมการอบรมในครั้งสุดท้าย โดยจัดเวทีนำเสนอให้ใกล้เคียงกับการนำเสนอผลงานวิจัยในเวทีวิชาการทั่วไป การฝึกนำเสนอผลงานวิจัยแบบนี้มีประโยชน์ คือเป็นการตรวจสอบความเข้าใจของผู้วิจัยในภาพรวมทั้งหมด และช่วยให้ผู้วิจัยมีความพร้อมที่จะนำเสนอผลงานวิจัยได้ทันทีเมื่อหน่วยงานต้องการ
     17. ทีมวิทยากรอาจต้องช่วยหาแหล่งตีพิมพ์เผยแพร่หรือเวทีนำเสนอผลงานวิจัย เพราะผู้ที่ทำวิจัยเรื่องแรกๆ มักมีความไม่มั่นใจในการเผยแพร่ผลงานวิจัย ดังนั้น วิทยากรพี่เลี้ยงต้องช่วยจัดทำต้นฉบับและนับรวมเป็นผู้วิจัยร่วมไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผลงานวิจัยได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่หรือนำเสนอในเวทีวิชาการได้

มัณฑนา เหมชะญาติ
ผู้บันทึกการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

Print Friendly
ผู้เขียน ดร.มัณฑนา เหมชะญาติ (ประวัติการเขียน 19 เรื่อง)

รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการจัดการความรู้ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี


Tags: , , , , , ,

Comments are closed.