จริยธรรม สิทธิมนุษยชน และ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพการพยาบาล

วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี

รายงานการประชุมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ประเด็น: จริยธรรม สิทธิมนุษยชน และ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง   กับการประกอบวิชาชีพการพยาบาล”

ครั้งที่ 1/2557   วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557    เวลา 09.00 -16.00 น.

ห้องประชุมเทาทอง 1 มหาวิทยาลัยบูรพา

เรื่อง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ “ประเด็น: จริยธรรม สิทธิมนุษยชน และ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง   กับการประกอบวิชาชีพการพยาบาล”

วัตถุประสงค์ในการดำเนินการครั้งนี้  

  1. เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใน “ประเด็น: จริยธรรม สิทธิมนุษยชน และ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพการพยาบาล”
  2. เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้

ประธานการประชุม นางนันทวัน  ใจกล้า

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 5 คน ได้แก่

  1. นางนันทวัน           ใจกล้า
  2. นายมงคล              ส่องสว่างธรรม
  3. นางสาวปัทมา         บุญช่วยเหลือ
  4. นางสาวบุษยารัตน์    ลอยศักดิ์
  5. นางสาวกรรณิการ์     แซ่ตั๊ง

กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ประเด็นสำคัญ

สาระสำคัญ/ประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

(เรื่องเล่าความสำเร็จ)

อ้างอิง (ชื่อ-สกุล)

1. ประเด็นที่น่าสนใจในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

“จริยธรรม สิทธิมนุษยชน และ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพการพยาบาล” งานรักษาพยาบาลผู้ป่วยเป็นงานที่ต้องทำร่วมกันระหว่างแพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่น ๆ ขณะเดียวกันทุกคนก็มีหน้าที่เฉพาะของตัวเองที่จะต้องทำให้ถูกต้อง เพราะเป็นบทบาทที่จริยธรรมวิชาชีพและกฎหมายกำหนดไว้ การละเลยหน้าที่ของตนเองหรือการทำเกินกว่าหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและหากเกิดความเสียหายขึ้น โอกาสที่จะถูกร้องเรียนหรือฟ้องร้องตามกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา และหรือตามกฎหมายวิชาชีพ ก็เป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ การเรียนรู้และป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาด จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด (ประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล และแสวง บุญเฉลิมวิภาส, 2557)

สมาชิกกลุ่ม

2.แนวทางการปฏิบัติเพื่อนำไปใช้ในการสอน

แนวทางการปฏิบัติสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนได้ทุกรายวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาจริยศาสตร์ กฎหมายและวิชาชีพทางการพยาบาล โดยชี้ให้ผู้เรียนเห็นถึงความสำคัญของจริยธรรม สิทธิมนุษยชน และ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพการพยาบาล   มีการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านสาธารณสุขให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย  รวมถึงสหสาขาวิชาชีพที่เป็นผู้ร่วมงานและตนเองด้วย

สมาชิกกลุ่ม

 

ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากกิจกรรมครั้งนี้ (สรุปประเด็นความรู้ พร้อมคำอธิบาย โดยสังเขป)

          ผู้เข้าประชุมแบ่งปันความรู้ร่วมกันและสรุปองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้สอนนักศึกษา ดังนี้

กฎหมายเกี่ยวกับการแพทย์และการรักษาพยาบาล

แต่เดิมความสัมพันธ์ระหว่างพยาบาลกับผู้ป่วยเป็นลักษณะญาติมิตร  การแลผู้ป่วยความเมตตารักษาผู้ป่วย แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์ได้เปลี่ยนไป การรักษาทางการแพทย์ได้มีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องด้วยทัศนคติของคนและสถานภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แพทย์และพยาบาลจึงเป็นเพียงผู้ที่ประกอบวิชาชีพเท่านั้นมิได้ถูกยกย่องอย่างเช่นในอดีต

ปัจจุบันแพทย์และพยาบาลต้องปฏิบัติงานมากขึ้นและอาจต้องรับภาระหนักขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาหรือเข้ารับบริการทางการแพทย์ มีจำนวนมากขึ้นและสามารถฟ้องร้องแพทย์หรือพยาบาลผู้ที่ทำการรักษาผิดพลาดได้ โดยความรับผิดทางการแพทย์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ตามความรับผิดทางแพ่ง และความรับผิดทางอาญา

1. ความรับผิดทางแพ่ง

   1.1 ความรับผิดตามสัญญา (Medical Contract)

การเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยตามที่ได้แสดงเจตนาไว้กับแพทย์ผู้รักษา  ถือว่าสัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว  แม้ไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม    ซึ่งแพทย์ต้องรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคนั้นๆถ้าแพทย์ไม่สามารถรักษาให้หายจากอาการของโรค หรือรักษาผู้ป่วยแล้วเสียชีวิตก็ถือว่าแพทย์ได้ทำผิดสัญญา ผู้ป่วยสามารถฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนได้

ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติที่มิใช่ความจำเป็นรีบด่วน     แพทย์มีสิทธิที่จะรับรักษาหรือไม่ก็ได้ ถือว่ายังไม่มีสัญญาเกิดขึ้น  แต่แพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐไม่สามารถปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยได้เพราะถือว่า เป็นบริการสาธารณะที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับ  แม้จะไม่สามารถรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลได้เนื่องจากเตียงเต็ม  ขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ขาดเครื่องมือหรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม  ก็จะต้องรับผิดชอบในการปฐมพยาบาลและดำเนินการส่งต่อ (แสวง บุญเฉลิมวิภาส, 2551)

   1.2 ความรับผิดจากการละเมิด

ความรับผิดจากละเมิด      เป็นเรื่องที่เกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม   ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เรื่องที่มักเกิดขึ้นในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมส่วนมากเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของแพทย์หรือบุคคลากรที่เกี่ยวข้องเช่น    การลืมเครื่องมือไว้ในช่องท้องคนไข้หลังการผ่าตัด   การให้เลือดผิดหมู่   การให้ยาผิดหรือความผิดพลาดอย่างอื่นที่เกิดจากการขาดความระมัดระวังของผู้ประกอบวิชาชีพ   จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วย (แสวง บุญเฉลิมวิภาส, 2546)

ซึ่งเกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ที่บัญญัติว่า

“ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี    แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” (พรชัย สุนทรพันธ์, 2551)

2. ความรับผิดทางอาญา

   2.1 ความรับผิดอาญาทั่วไปที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล

ความผิดทางอาญาจะเกิดขึ้นเมื่อกระทำผิดโดยเจตนา  ประมาท

ได้แก่ การรักษาผู้ป่วยที่ไม่ได้ขอความยินยอมจากผู้ป่วยในกรณีปกติที่ไม่ใช่กรณีเร่งด่วนหรือฉุกเฉิน อาทิ กรณีผู้ป่วยเด็กประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ติดต่อสื่อสารไม่ได้ ซึ่งก่อนกาผ่าตัดต้องอธิบายความเสี่ยงหรือผลกระทบต่อผู้ป่วยอย่างตรงไปตรงมา ก่อนขอความยินยอมจากผู้ปกครองเด็ก รวมถึงการรักษาผู้ป่วยโดยประมาท เช่น ตรวจวินิจฉัยโรคผิดพลาด และการงดเว้นกระทำการในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลของตน หรือการที่แพทย์ละทิ้งผู้ป่วยเพื่อไปดูแลรักษาผู้ป่วยในคลินิกของตน เป็นเหตุให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับการช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่หรือทันท่วงที (วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์และคณะ , 2554) โดยหลักกฎหมายที่ใช้พิจารณาว่าการกระทำใดเป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่นั้น ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 ได้บัญญัติไว้ดังนี้

“บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทหรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกัน ผู้กระทำย่อมประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท ได้แก่ กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้น จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย” (พรชัย สุนทรพันธ์, 2551)

   2.2 ความรับผิดอาญาเฉพาะที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล

ได้แก่ การออกใบรับรองแพทย์อันเป็นเท็จ การทอดทิ้งเด็ก หรือผู้ป่วย หรือคนชรา การเปิดเผยข้อมูลอันเป็นความลับของผู้ป่วยรวมถึงการละเลยไม่ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังตกอยู่ในอันตรายและการทำแท้งที่ไม่ใช่เพื่อสุขภาพมารดาหรือเข้ากรณีหญิงนั้นถูกข่มขืนกระทำชำเรา (วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์และคณะ, 2554)

ขอบเขตของการประกอบวิชาชีพพยาบาลและผดุงครรภ์

                สำหรับบทบาทของพยาบาลตามนิยามของกฎหมาย คือ บทบาทเกี่ยวกับการดูแลและช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย รวมทั้งเป็นผู้ช่วยเหลือแพทย์กระทำการรักษาโรค ดังนั้นพยาบาลจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรมคือการรักษาโรคได้ด้วยตัวเอง  การเปิดร้านรักษาผู้ป่วยจึงถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่สำหรับงานทางด้านผดุงครรภ์พยาบาลสามารถทำได้ หากเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาและฝึกอบรมมาโดยตรง แต่ก็เฉพาะครรภ์ที่ไม่มีปัญหาหากมีปัญหาที่จะต้องผ่าออกหรือใช้วิธีการอื่นใดเพราะครรภ์ผิดปกติพยาบาลจะกระทำโดยพลการไม่ได้ ขอบเขตของการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวัง การทำเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดถือเป็นความผิดตามกฎหมายวิชาชีพ ซึ่งทางกองการประกอบโรคศิลปะกระทรวงสาธารณสุข จะทำหน้าที่ดูแล

บทบาทของพยาบาลในฐานะผู้ช่วยเหลือแพทย์

บทบาทของพยาบาลในการรักษาผู้ป่วยก็คือการช่วยเหลือแพทย์  แต่บางครั้งแพทย์บางคนก็ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ที่แพทย์จะต้องทำเอง และมอบหมายให้พยาบาลทำหน้าที่ในส่วนนี้แทน เช่น เมื่อผ่าตัดเสร็จ สั่งให้พยาบาลเย็บแผลต่อเพราะตนจะรีบไปทำธุระอื่น ทั้งที่เป็นผู้ป่วยหนัก ซึ่งพยาบาลก็อึดอัดที่จะปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์เพราะหากเกิดความเสียหายขึ้นพยาบาลต้องร่วมรับผิดด้วย หากพิจารณาตามบทกฎหมายที่มีอยู่ พยาบาลไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ในกรณีดังกล่าวได้ การปฏิเสธทำได้ตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงการทำเช่นนั้นจะก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างมากระหว่างแพทย์กับพยาบาลและหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดึงดันที่จะทำหรือไม่ทำผลเสียย่อมจะเกิดกับผู้ป่วย อีกปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยในโรงพยาบาลต่าง ๆ คือ พยาบาลติดต่อเพื่อให้แพทย์มาดูผู้ป่วย แต่แพทย์ไม่มา ปัญหาเช่นนี้มิใช่ปัญหาเฉพาะแพทย์กับพยาบาลเท่านั้น บางกรณีก็เป็นปัญหาระหว่างแพทย์กับเภสัชกรที่ห้องยา แพทย์เขียนใบสั่งยาด้วยลายมือที่อ่านยากมากหรืออ่านไม่ออก หรือแพทย์สั่งปริมาณยาเกินขนาด เป็นต้น

ดังนั้นพยาบาลควรประกอบวิชาชีพด้วยความมีสติ ปฏิบัติตามบทบาท และมาตรฐานวิชาชีพทั้งนี้โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้รับบริการเป็นสำคัญ หากมีประเด็นกฎหมายและจริยธรรมเกิดขึ้นต้องหาทางแก้ไขอย่างรวดเร็วเพื่อลดปัญหาไม่ให้ลุกลาม รุนแรงต่อไป

การกระทำของพยาบาลที่อาจเป็นประเด็นความผิดทางกฎหมาย

: ตามความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ 

          การควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพให้ปฏิบัติตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

-  ไม่กระทำการใดๆ ที่อาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

-  รักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพ

-  ไม่สนับสนุนให้มีการประกอบวิชาชีพโดยผิดกฎหมาย

-  ปฏิบัติต่อผู้รับบริการโดยสุภาพ

-  ไม่ประกอบวิชาชีพโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย

-  ไม่ออกใบรับรองอันเป็นเท็จหรือให้ความเห็นโดยไม่สุจริตในเรื่องใดๆ อันเกี่ยวกับวิชาชีพของตน

-  ไม่เปิดเผยความลับของผู้ป่วยเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากผู้รับป่วย หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

-  ไม่ปฏิเสธการช่วยเหลือผู้ป่วยในระยะอันตราย

-  ไม่ประกอบวิชาชีพในที่สาธารณะเว้นแต่ในกรณีฉุกเฉิน

หลักจริยธรรม สิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพ

              จริยธรรม (Ethic) เป็นเรื่องศีลธรรม ว่าอะไรดี/ชั่ว ควรทำ/ไม่ควรทำ แต่อาจไม่ผิดกฎหมาย แต่ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2557  หมวด 13  กล่าวว่านักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐประพฤติผิดจริยธรรม เท่ากับผิดวินัยด้วย ผู้ประกอบวิชาชีพ (Professor)  ต้องมีจรรยาบรรณ (อาชีวปฏิญาณ)  การทำงานที่อุทิศตนตลอดชีวิต เป็นวิชาชีพขั้นสูง ใช้ความคิด สติปัญญามากกว่าโทษทางกฎหมายวิชาชีพ  เป็นไปตามจริยธรรม กฎหมายบ้านเมือง  1. ตักเตือน  2. ภาคทัณฑ์  3. พักใช้ใบประกอบวิชาชีพฯ 6 เดือน 4. เพิกถอนใบประกอบวิชาชีพฯ (เมื่อมากกว่า 2 ปีสามารถขอใหม่ได้)  จะสิ้นสุดสมาชิกภาพ/วิชาชีพ  เมื่อต้องคดีอาญา (ที่ทำให้เสื่อมเสียวิชาชีพ/ไม่ใช่จากความประมาท) /จำคุก

สาเหตุของการฟ้องร้อง  1. ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ พยาบาลและผู้ป่วยไม่ดี  2. การรับรู้สิทธิ และความรู้ของประชาชนมากขึ้น  3. ความไม่เข้าใจในบทบาทและองค์กรวิชาชีพ

 

เอกสารอ้างอิง

ประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล และแสวง บุญเฉลิมวิภาส. (2557). เอกสารประกอบคำบรรยาย เรื่องประเด็น

จริยธรรม สิทธิมนุษยชน และ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพการพยาบาล วันที่ 19 มิถุนายน 2557 ณ ห้องประชุมเทาทอง 1 ศูนย์ปฏิบัติการโรงแรมมหาวิทยาลัยบูรพา.

วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์และคนอื่นๆ . (2554) . บริหารกฎหมายการแพทย์และสาธารณะสุข 2554 (ครั้งที่1) .

กรุงเทพฯ : ภาควิชาบริหารสาธารณสุขคณะสาธาระสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล .

แสวง บุญเฉลิมวิภาส . (2546) . กฎหมายการแพทย์ (ครั้งที่2) . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน.

แสวง บุญเฉลิมวิภาส . (2551) . กฎหมายและข้อควรระวังของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ พยาบาล (ครั้งที่4).

กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน .

แสวง บุญเฉลิมวิภาส . (2556) . นิติเวชศาสตร์และการแพทย์ (ครั้งที่2) . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน .

แนวทางการนำความรู้ไปใช้ (ระบุรายละเอียด)

สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนได้ทุกรายวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชากฎหมายและวิชาชีพทางการพยาบาล โดยชี้ให้ผู้เรียนเห็นถึงความสำคัญของจริยธรรม สิทธิมนุษยชน และ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพการพยาบาล ทั้งนี้โดยการนำความรู้ต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายตลอดรวมถึงบุคลากรทางด้านสุขภาพและตนเองด้วย

ลงชื่อ  บุษยารัตน์ ลอยศักดิ์ ผู้จดบันทึก

ตำแหน่ง  พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ

Print Friendly
ผู้เขียน อ.นันทวัน ใจกล้า (ประวัติการเขียน 2 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน


Tags: , , ,

Comments are closed.