การคิดบวก คิดสร้างสรรค์

การจัดการความรู้เรื่อง “การคิดบวก คิดสร้างสรรค์”

จากการเข้าร่วมประชุมตามโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “คิดบวก คิดสร้างสรรค์” จัดโดยแก้วกัลยาสิกขาลัย สถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  วันที่ 24 – 25 พฤษภาคม 2554

ณ โรงแรมนนทบุรี พาเลซ อ.เมือง จ.นนทบุรี

…………………………………….

 

ผู้นำการจัดการความรู้ ดร.ศรีสกุล   เฉียบแหลม

วันที่ดำเนินการ วันที่  9  มิถุนายน 2554    เวลา 13.00 – 15.00 น.

สถานที่ ณ ห้องพักอาจารย์ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาลและบริหารวิชาชีพ

ผู้ร่วมประชุม 1.อ.โสภา         ลี้ศิริวัฒนกุล

2.อ.สุมาลี         ราชนิยม

3.อ.รัชชนก       สิทธิเวช

4.อ.จิตติยา       สมบัติบูรณ์

5.อ.คณิสร        แก้วแดง

6.อ.วิภารัตน์     ภิบาลวงษ์

7.อ.ศราวุธ        อยู่เกษม

8.อ.นครินทร์     สุวรรณแสง

9.อ.นิศารัตน์     รวมวงษ์

 

…………………………………….

การคิดบวก คิดสร้างสรรค์ (Cresitive Thinking Note)

 

บทนำ

มนุษย์ทุกคนมีวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ มนุษย์ทุกคนมีอดีต มีปัจจุบัน และมีอนาคต  ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตจะถูกเก็บไว้ในสมองส่วนต่างๆ และสมองจะทำการแยกแยะว่าสิ่งใดควรเก็บ ควรจำ หรือควรทิ้ง  สำหรับสิ่งที่มนุษย์เก็บไว้ในจิตใต้สำนึกมักจะเป็นสิ่งที่กระทำเป็นประจำจนเป็นอัตโนมัติ หรือเป็นเหตุการณ์ที่พึงพอใจมาก และไม่พอใจมากซึ่งพร้อมที่จะดึงออกมาใช้ได้ทุกเมื่อ   ถ้าคนใดมีวิธีการเก็บสิ่งต่างๆไว้ในเชิงสร้างสรรค์ คิดว่าทุกอย่างที่เข้ากระทบกับชีวิตเราคือการเรียนรู้ ไม่มีผิดไม่มีถูก มองทุกสิ่งอย่างมีเหตุ   มีผล ปล่อยวางความทุกข์ได้อย่างรวดเร็วจะทำให้เป็นคนที่มีความสุข และมองโลกในแง่ดี ซึ่งจุดเริ่มต้นอยู่ที่ความคิด

สาระที่ได้จากการประชุม

การคิดทางบวกอย่างสร้างสรรค์ [Cresitive(creative+positive)Thinking] เป็นการคิดที่เป็นฐานที่แข็งแกร่งและมั่นคงที่สามารถช่วยให้ทุกคนทำงานได้สำเร็จและมีความสุข ซึ่งประกอบด้วย

1. ความคิดบวก (Positive Thinking) เป็นการมอบสิ่งที่ดีๆของทุกสรรพสิ่งไม่ว่าจะเป็นของคน เหตุการณ์ และสิ่งต่างๆได้ การมองให้เห็นประโยชน์ในสรรพสิ่งต่างๆได้  การมองให้เห็นประโยชน์ในสรรพสิ่งต่างๆ ในเหตุการณ์ต่างๆ และในความคิดใหม่ๆ และการมองเห็นโอกาสดีๆ แม้ในยามที่มีวิกฤติ

2. การคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เป็นความสามารถในการคิดวิธีใหม่ๆ ได้หลายวิธีให้เลือกหยิบเอาไปใช้ได้ เช่น คิดหาคำตอบให้กับโจทย์เดียวกันได้หลายคำตอบ  คิดหาวิธีแก้ปัญหาได้หลายวิธี  คิดกลยุทธ์ให้สามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หลายๆ กลยุทธ์  คิดวิธีปรับปรุงและพัฒนางานได้หลายวิธี  ทำงานแล้วสนุกและมีความสุข ไม่บั่นทอนกำลังใจกัน

การพัฒนาให้เกิดการคิดบวกและคิดสร้างสรรค์  ปฏิบัติดังนี้

  1. เปิดกล่องใหม่ ปรับตัวเร็ว  ไม่ตกหลุมพรางความฉลาด ระวังนิวรณ์
  2. สร้างบรรยากาศในการทำงานที่สร้างสรรค์ Cresitive climate)  โดย
  • ไม่ว่า  ไม่วิจารณ์
  • ยอมรับ  เข้าใจ
  • ให้อิสระ
  • ให้กำลังใจ
  • เมตตา   โดย เมื่อมีอารมณ์ “โกรธ”  ให้หยุดความโกรธ   ให้อภัย…..เขา   ให้อภัย….ตัวเอง  อวยพรให้.

ดร.รัศมี   ธันยธร ผู้อำนวยการบริษัทศูนย์ความคิดสร้างสรรค์ จำกัด กล่าวว่า สมองของคนเราทำหน้าที่เก็บข้อมูลไว้เป็นกล่องๆ  ต้องหมั่นเปิดกล่องใหม่ๆ คือเปิดใจกว้างรับรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ จะทำให้เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์  อย่าทำงานแบบ “ฝนตกลงมา น้ำไหลเป็นทาง” ซึ่งหมายถึง คนที่ทำอะไรอย่างที่เคยทำ  และเป็นอย่างที่เคยเป็น ตกหลุมพรางความฉลาดของตนเอง ซึ่งเป็นเครื่องปิดกั้นความเจริญของตน  ได้แก่

  1. ชอบโต้แย้ง (Defensive)
  2. คิดว่าเหนือกว่าใคร (Superior)
  3. หยิ่งยะโส ทะนงตนเกินไป (Arrogant)
  4. ลังเลสงสัย เชื่อยาก (Skeptical)
  5. นิวรณ์ 5  ประกอบด้วย   รักเกิน  ชังเกิน   อ่อนแอเกิน   ฉลาดเกิน  และโง่เกิน

 

การพัฒนาให้เกิดการคิดบวกและคิดสร้างสรรค์  อาศัยทักษะแห่งความสำเร็จ (Skills for success)

3 ประการ ได้แก่

1.ทักษะด้านความรู้ (Technical skill) คือ การมีความรู้ความชำนาญด้านวิชาชีพที่ตนทำงานอยู่ ซึ่งได้มาจากการศึกษา และประสบการณ์ในการทำงาน

2.ทักษะด้านการคิด (Thinking skill) คือ เมื่อมีโจทย์มาให้คิด ทักษะการคิดจะเป็นตัวดำเนินการหาวิธีการทางเลือกและคำตอบมาให้  ทักษะการคิดมีอิทธิพลต่อทักษะด้านคน เพราะคนคิดแบบใดก็มักพูดแบบนั้น ถ้าคิดบวกก็พูดบวก พูดดีทำดี อัธยาศัยก็จะออกมาดี เป็นที่รักของคนรอบข้าง  ถ้าคิดลบก็พูดลบ ทำลบ พูดให้คนอื่นไม่สบายใจ ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม อัธยาศัยก็จะออกมาไม่ดี ไม่เป็นที่รักของคนรอบข้าง

3.ทักษะด้านคน (Human/People skill) คือ คนที่มีอัธยาศัยดี เข้ากับคนอื่นได้ดี ทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข ทำให้คนที่ทำงานด้วยสบายใจ อยากร่วมงานด้วย มีคุณธรรม ไม่เบียดเบียนและทำความเดือดร้อนให้แก่บุคคลอื่นทั้งทางกาย วาจา และใจ

ประโยชน์ของการคิดบวก

-          ทำให้แก้ปัญหาได้ดีในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว

-          บริหารงานอย่างมีไฟ มีพลังใจที่เข้มแข็ง

-          ฝ่าฟันวิกฤติได้ ไม่ท้อถอย ไม่ล้มเลิก

-          ทำเป้าหมายให้สำเร็จได้อย่างมีสมาธิ และมีโฟกัส

-          สร้างแรงจูงใจและความสุขในการทำงานให้แก่ทีมงานได้

-          บรรยากาศการทำงานเป็นบวก ทีมงานปรองดอง ไม่ขัดแย้งกัน

-          มองเห็นโอกาสดีๆ เพิ่มความสำเร็จ

-          มองโลกในแง่ดีมากขึ้น มองโลกในแง่ร้ายน้อยลง

-          ไม่เครียด ไม่กลัว ไม่วิตกกังวล

กิจกรรมที่ได้เรียนรู้จากการประชุม

กิจกรรมที่ 1     การให้อภัยตนเอง

วิธีการ วิทยากรให้วิ่งไปบอกคน 3-5-10 คน  ในเวลา1-2 นาที  พูดว่า “ต่อไปนี้ฉันจะให้อภัยตนเองเรื่อง 1….  2….  3…..เมื่อมีคนมาบอกกับเรา  เราต้องพูดว่า  “ดีมาก….”

กิจกรรมที่ 2     การให้กำลังใจตนเอง

วิธีการ วิทยากรให้วิ่งไปบอกคน 3-5-10 คน  ในเวลา1-2 นาที  พูดว่า “ฉันภูมิใจในตนเองเรื่อง 1….  2….  3…..เมื่อมีคนมาบอกกับเรา  เราต้องพูดว่า  “ดีมาก….”

กิจกรรมที่ 3     การสร้างคุณลักษณะที่ดีในตนเอง

วิธีการ วิทยากรให้วิ่งไปบอกคน 3-5-10 คน  ในเวลา1-2 นาที  พูดว่า “ฉันจะเป็นคนดีเรื่อง 1….  2….  3…..เมื่อมีคนมาบอกกับเรา  เราต้องพูดว่า  “ดีมาก….”

ถอดบทเรียนจากการเข้าอบรมครั้งนี้

ความคิดของคนมีสองด้าน  คือ ความคิดทางบวกซึ่งเป็นเหมือนออกซิเจนและอาหาร เป็นประโยชน์เป็นสิ่งที่น่าเก็บและน่าทำเพิ่ม  เพราะความคิดทางบวกจะทำให้เราเป็น “คนสร้างสรรค์” สร้างสรรค์ตนเองและผู้อื่นทั้งทางกาย วาจา และใจ  ความคิดทางลบ ซึ่งเป็นเหมือนยาพิษ เป็นโทษ เป็นสิ่งที่น่าทิ้งและควรเลิกทำ เพราะความคิดทางลบจะทำให้เราเป็น “คนชอบทำลาย” ทำลายตนเองและผู้อื่นทั้งทางกาย วาจา และใจ

มนุษย์เกิดมาแล้วชาติหนึ่งสามารถทำให้ชีวิตของเราดีหรือไม่ดีได้ด้วยตัวเราเอง ด้วยความคิดของตัวเราเอง

ดังนั้น มนุษย์เราสามารถทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นทุกวันได้ด้วยการเลือกคิดบวกซึ่งจะนำพาเส้นทางการดำเนินชีวิตของเราให้ไปสู่ชีวิตที่รื่นรมย์ สงบ ร่มเย็น และสร้างสรรค์   เริ่มต้นที่ การให้อภัยตนเอง และให้อภัยผู้อื่นอย่างจริงใจโดยไม่มีความขัดแย้งในใจ

วิธีทำกิจกรรมการให้อภัยตนเองและผู้อื่น ปฏิบัติดังนี้

  1. ให้ท่านนั่งหลับตาในท่าที่สบาย  หายใจยาวๆลึกๆ กำหนดการระลึกรู้ที่ลมหายใจเข้า-ออก ประมาณ 5-10

นาที (เปิดเพลงบรรเลงเบาๆร่วมด้วย) ผู้นำบอก “..ต่อไปนี้ ขอให้ท่านนึกถึงความผิดพลาดของตนในอดีตที่ติดอยู่ในใจ และต้องการทิ้งมันไป หรือ ความรู้สึกผิดในเรื่องอะไร ทำไว้กับใคร … ให้เวลาคิด…แล้วบันทึกในกระดาษ

  1. ให้ท่านนั่งหลับตาในท่าที่สบาย  หายใจยาวๆลึกๆ กำหนดการระลึกรู้ที่ลมหายใจเข้า-ออก ประมาณ

5-10 นาที (เปิดเพลงบรรเลงเบาๆร่วมด้วย) ผู้นำบอก สิ่งที่ไม่ดี/ความผิดพลาด/ความรู้สึกผิดนั้น มันผ่านไปแล้ว มันจบไปนานแล้ว  มันเป็นอดีต  ฉันกำลังอยู่กับปัจจุบัน ฉันจะทิ้งมันไปให้หมด  ฉันจะให้อภัยตัวเองในเรื่องต่อไปนี้1)………….    2)…………….   3)……………..

  1. ให้ท่านนั่งหลับตาในท่าที่สบาย  หายใจยาวๆลึกๆ กำหนดการระลึกรู้ที่ลมหายใจเข้า-ออก ประมาณ

5-10 นาที (เปิดเพลงบรรเลงเบาๆร่วมด้วย) ผู้นำบอก “..ต่อไปนี้ ขอให้ท่านนึกถึงคนที่ทำไม่ดีกับเรา เขาทำไม่ดีกับเราทั้งทางกาย วาจา ใจ ในเรื่องอะไรบ้าง”   … ให้เวลาคิด…แล้วบันทึกลงในกระดาษ

  1. ให้ท่านนั่งหลับตาในท่าที่สบาย  หายใจยาวๆลึกๆ กำหนดการระลึกรู้ที่ลมหายใจเข้า-ออก ประมาณ

5-10 นาที (เปิดเพลงบรรเลงเบาๆร่วมด้วย)   ผู้นำบอก สิ่งที่ไม่ดีที่เขาทำไว้กับเรานั้น มันผ่านไปแล้ว มันจบไปนานแล้ว  มันเป็นอดีต  ฉันกำลังอยู่กับปัจจุบัน ฉันจะทิ้งมันไปให้หมด  ฉันจะให้อภัยเขาคนนั้นในเรื่องต่อไปนี้ 1)………..    2)…………….   3)……………..

5. ให้บอก เรื่องที่ตัวเองบันทึกไว้ในการให้อภัยตนเอง และให้อภัยคนอื่นกับผู้ที่อยากบอก 1- 2 คน หรือคนที่ต้องการให้เขาอโหสิกรรมให้กับเรา  โดยพูดว่า

ต่อไปนี้  ฉันจะให้อภัยตนเองในเรื่อง………

ฉัน/… ขออโหสิกรรมกับ…..ที่ทำในสิ่งไม่ดีกับคุณ…ไว้ในเรื่อง………

ต่อไปนี้  ฉันจะให้อภัยคนอื่น (นึกหน้าคนๆนั้นให้ชัด) ในเรื่อง………

 

วิธีทำกิจกรรมการให้กำลังใจตนเองและผู้อื่น ปฏิบัติดังนี้

ก่อนทำให้ทำจิตใจให้สบาย ปล่อยวางโดยการหายใจเข้ายาวๆลึกๆ พร้อมกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ประมาณ 5-10 นาที

1. บันทึกสิ่งที่ตนเองภาคภูมิใจ  หรือ ความดีของตนเอง ที่กระทำมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  ให้เขียนเป็นข้อๆ ให้มากที่สุด   หลังจากนั้น ให้บอกสิ่งที่บันทึกไว้กับผู้ที่อยากบอก 1- 2 คน  โดยพูดว่า

“ฉันภาคภูมิใจในตนเองเรื่อง………….”     “ฉันมีความดีเรื่อง…………………………”

2. หลังจากนั้น หลับตานึกถึงคนที่รักมากที่สุด คนใกล้ชิด หรือคนที่มีปัญหากับเรา 1 คน  นึกถึงสิ่งที่ดีงามความดีของเขาเหล่านั้นให้ชัดเจน  บันทึกว่า เราภาคภูมิใจในตัวเขาเรื่อง……………  เขาเป็นคนดี เรื่อง……………

เขาทำให้เรามีความสุขใจ เรื่อง…………….  เขามีสิ่งที่ดีๆ ในตัว เรื่อง…….. หลังจากนั้นหาโอกาสไปบอกกับเขาด้วยตัวเอง  โดยพูดว่า

“ฉันภาคภูมิใจในตัวเขาเรื่อง………….”

“คุณทำให้ฉันมีความสุขใจ เรื่อง………….”

“คุณมีสิ่งที่ดีๆในตัวเอง เรื่อง………………”

ขอให้รักษาความดีนี้ไว้นานๆ   จะเป็นกำลังใจให้คุณ

 

เมื่อเรารู้จักการให้อภัยตนเองและผู้อื่นได้แล้ว เปรียบเสมือนกับแก้วน้ำที่บรรจุน้ำใสๆ ภายในแก้ว ต่อไปให้ท่านเทน้ำใส่แก้วซักครึ่งแก้ว  ทำจิตให้มีสมาธิถือแก้วน้ำขึ้นมาระดับอก ตาเพ่งมองที่ผิวน้ำ พยายามทำให้ผิวน้ำนิ่งไม่กระเพื่อม  ……ท่านพบอะไร…รู้สึกอย่างไรบ้างขณะถือแก้วน้ำ    ต่อไป…ให้ท่านวางแก้วน้ำลงบนโต๊ะ สังเกตการกระเพื่อมของน้ำในแก้ว

ท่านได้ข้อคิดเห็นอะไรบ้างจากกิจกรรมดังกล่าว

 

…แก้วน้ำ เปรียบเสมือน ดวงจิตของเรา   น้ำ เปรียบเสมือน ความคิดของคนเรา พร้อมที่จะกระเพื่อมตามแรงเหวี่ยงรอบตัวเราได้ตลอดเวลา    มนุษย์เราสามารถเลือกเติมน้ำใส (คิดบวก) หรือน้ำขุ่น (คิดลบ) ให้กับดวงจิตของเราได้   และการรู้จักวางดวงจิตของเราบ้าง ด้วยวิธีการกำหนดรู้อยู่กับปัจจุบันขณะให้ได้ ซึ่งจะต้องฝึกฝนตามแนวทางขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เรียกว่า “สติปัฏฐานสี่”  จึงจะทำให้ชีวิตมีความสุข   “จิตที่ปล่อยวาง มันไม่หนัก ว่าง.. เบา.. สบาย…”  “รู้จักวาง ก็สุขได้”

จิตที่ปล่อยวาง สุขสงบ ช่วยขจัดความคิดที่สับสน ฟุ้งซ่าน  ซึ่งทำให้สมองมีเนื้อที่ว่างที่จะรับความรู้ใหม่ๆ เข้ามาในตน  ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น

 

ประโยชน์ที่ได้จากการเข้าประชุมครั้งนี้

  1. นำความรู้ที่ได้รับไปแบ่งปันให้แก่บุคคลอื่นทาง website วิทยาลัย
  2. นำสาระการประชุม และกิจกรรมวิธีการที่สอดคล้องกับการเรียนการสอนรายวิชา สม.1102 ทักษะชีวิต

ไปพัฒนาการเรียนการสอนในหัวข้อเรื่อง “การคิดสร้างสรรค์”

 

………………………………………………………….

Print Friendly
ผู้เขียน ดร.ศรีสกุล เฉียบแหลม (ประวัติการเขียน 4 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล และบริหารวิชาชีพ


Tags: ,

Comments are closed.