การเตรียมนักศึกษาสอบใบประกอบวิชาชีพฯ วิชาการพยาบาลมารดาและทารกและวิชาการผดุงครรภ์
….สรุปการแลกเปลี่ยนเรียนรู้…..
การเตรียมนักศึกษาให้มีความพร้อมในการสอบ
ใบประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นสูง
รายวิชาการพยาบาลมารดาและทารกและวิชาการผดุงครรภ์
ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี
ปีการศึกษา 2553
………………………………………………………………………
ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
1. อ.ขนิษฐา เมฆกมล 2. อ.อารีรัตน์ วิเชียรประภา
3. ดร.กมลทิพย์ ตั้งหลักมั่นคง 4. อ.จันทร์เพ็ญ อามพัฒน์
5. อ.ธนพร ศนีบุตร 6. อ.ทิพวรรณ ลิ้มประไพพงษ์
7. อ.จันทรมาศ เสาวรส 8. อ.เพ็ญนภา พิสัยพันธุ์
9. อ.จรัญญา ดีจะโปะ 10. อ.วรัญญา ชลธารกัมปนาท
11. อ.นริชชญา หาดแก้ว 12. อ.โสระยา ซื่อตรง
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคณาจารย์ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์ในการเตรียมนักศึกษาให้มีความพร้อมสอบใบประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นสูง รายวิชาการพยาบาลมารดาและทารกและวิชาการผดุงครรภ์ สรุปสิ่งที่ได้ ดังนี้
ผู้สอน
- มีการวางแผนการติวโดยการบูรณาการเนื้อหาในรายวิชามารดาและทารกและวิชาการผดุงครรภ์ โดยนำเนื้อหามาต่อยอดกันจากวิชาการพยาบาลมารดาและทารกไปสู่วิชาการผดุงครรภ์ ตาม Blueprint รายวิชา
- จัดแบ่งเวลาโดยดูว่าเนื้อหาส่วนใดที่ค่อนข้างยาก ใช้เวลาในการทำความเข้าใจ จะให้จำนวนชั่วโมงในการติวในเนื้อหานั้นมาก
- วางแผนผู้ติวโดยอาจารย์ท่านใดสอนหัวข้อไหนจะให้ติวในหัวข้อนั้นๆเพราะอาจารย์จะมีความชำนาญในหัวข้อนั้นๆเป็นอย่างดี
ผู้เรียน
- สอบถามผู้เรียนในหัวข้อที่ไม่เข้าใจมากที่สุดเพื่อที่จะให้เวลาในหัวข้อนั้นมากเป็นพิเศษ
- สอบถามกระบวนการติวที่ต้องการ นักศึกษาต้องการให้ติวโดยสรุปประเด็นสำคัญ ยกตัวอย่างข้อสอบ ทำข้อสอบ วิเคราะห์ข้อสอบและอภิปรายร่วมกัน มีเอกสารสรุปประเด็นสำคัญให้ ต้องการให้มีอาจารย์หลายๆท่านร่วมติว และควรมีกิจกรรมนันทนาการในระหว่างการติวหรือพักเป็นระยะ
กระบวนการในการติว
อาจารย์ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์ได้ใช้กระบวนการติว ดังนี้
- การทำข้อสอบทั้งรายวิชาและให้นักศึกษาแบ่งกันไปหาคำตอบด้วยตนเองและมาเฉลยพร้อมอธิบายเหตุผลในตัวเลือกที่ถูกต้องและตัวเลือกที่ไม่ถูกต้องหน้าชั้นเรียน โดยนักศึกษาทุกคนต้องมีส่วนร่วม อาจารย์สรุปประเด็นในแต่ละข้อเพิ่มเติม
- มีการติวสรุปประเด็นสำคัญตาม Blueprint รายวิชา โดยอาจารย์แต่ละท่านจะได้รับการแบ่งหัวข้อให้ครอบคลุมใน Blueprint วิชาการพยาบาลมารดาและทารกและวิชาการผดุงครรภ์ และขณะติวมีการยกตัวอย่างข้อสอบในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
- สำหรับกลุ่มนักศึกษาที่สอบไม่ผ่านทั้งวิชาการพยาบาลมารดาและทารกและวิชาการผดุงครรภ์จะมีการแบ่งกลุ่มนักศึกษา แบ่งติวเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 15 คน มีอาจารย์ประจำกลุ่มติวโดยใช้ข้อสอบเป็นหลักและสอดแทรกประเด็นที่สำคัญๆในข้อสอบนั้นๆ
- มีการสอดแทรกกิจกรรมนันทนาการ ได้มีการเล่าประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ติว การฟังเพลงเพื่อผ่อนคลาย เล่าเรื่องตลกๆหรือเรื่องสนุกๆ การให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการสร้างเสียงหัวเราะให้เพื่อนๆ และมีการเล่นเกมส์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาการติว ซึ่งทำให้นักศึกษามีความสุข สนุก ผ่อนคลายในการติวเป็นอย่างดี
จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทีมอาจารย์ติวและการสอบถามความต้องการของนักศึกษาทำให้ภาควิชาได้มีการติวและมีการประเมินผลนักศึกษาเชิงคุณภาพเป็นระยะ ซึ่งนักศึกษามีความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่โดยภาพรวมส่วนใหญ่พึงพอใจต่อการติวในครั้งนี้ เพราะอาจารย์ผู้ติวได้มีการศึกษาความต้องการของนักศึกษาและพยายามที่จะพบกันครึ่งทางระหว่างสิ่งที่นักศึกษาต้องการกับสิ่งที่อาจารย์อยากให้
สุดท้ายสิ่งที่ผู้เขียนอยากฝากไว้ คือ “ถ้าเราต้องการให้ลูกของเรากินข้าวได้เยอะๆ เราต้องถามว่าสิ่งที่เขาอยากกินคืออะไร ไม่ใช่ให้เขากินในสิ่งที่เราอยากให้เขากิน”
…………………………………………………………………………