การสื่อสารเรื่องเพศศึกษาระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นในครอบครัวจังหวัดจันทบุรี

รายงานการสังเคราะห์การวิจัย

เรื่อง “การสื่อสารเรื่องเพศศึกษาระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นในครอบครัวจังหวัดจันทบุรี”

โดย ดร.พรฤดี นิธิรัตน์

พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กถือเป็นผู้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้เด็กมีความรู้และมีพัฒนาการทางเพศที่เหมาะสมตามวัย   การพูดคุยเรื่องเพศในครอบครัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น  โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีเด็กวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่เสี่ยงต่อปัญหาพฤติกรรมและสุขภาพทางเพศ   ถึงแม้ว่ามุมมองในเรื่องเพศศึกษาจะเปิดกว้างขึ้นในสังคมไทย   แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าพ่อแม่ในครอบครัวไทยพูดคุยเรื่องเพศกับลูกมากน้อยเพียงใด  และเรื่องเพศศึกษาที่สื่อสารส่วนใหญ่เป็นไปในแนวทางใด

รายงานนี้นำเสนอผลการสังเคราะห์การวิจัยเกี่ยวกับแนวคิด “การสื่อสารเรื่องเพศศึกษาระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นในครอบครัว จังหวัดจันทบุรี” ที่เกิดจากการศึกษาวิจัย 2 ชิ้น คือ

  1. เรื่อง สถานการณ์การสื่อสารเรื่องเพศระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นในครอบครัวไทย ศึกษาเมื่อปี 2551 โดยพรฤดี นิธิรัตน์ และ Allan Steckler  เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยเก็บข้อมูลจากนักเรียนชั้นมัธยมต้นและปลาย  และผู้ปกครอง  ที่อำเภอเมือง  จังหวัดจันทบุรี  จำนวน 56 คน โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก  14 ครั้ง  และการสนทนากลุ่มแบบเจาะจง 8 ครั้ง  วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
  2. เรื่อง การสื่อสารเรื่องเพศศึกษาของพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นในครอบครัว  ศึกษาเมื่อปี 2554  โดย ราตรี อร่ามศิลป์ และวรรณศิริ ประจันโน  เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล  คือ  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  และผู้ปกครอง ที่ตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้าร้อน จังหวัดจันทบุรี  จำนวน 46 คน  โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก  14  ครั้ง  และการสัมภาษณ์กลุ่ม 4 ครั้ง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

ผลการสังเคราะห์การศึกษาทั้ง 2 เรื่อง พบประเด็นที่น่าสนใจ  สรุปได้ ดังนี้

  • การสื่อสารเรื่องเพศศึกษาระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นเกิดขึ้นในบางครอบครัว  โดยแม่เป็นผู้มีบทบาทหลัก
  • เนื้อหาที่พูดคุยกับส่วนใหญ่เป็นการเตือนไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรและเรื่องการดูแลสุขอนามัยทางเพศ   มีเพียงไม่กี่ครอบครัวที่มีการพูดคุยเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
  • พ่อแม่ไม่แน่ใจว่า ควรเริ่มสอนเรื่องเพศกับลูกเมื่อใด  และเนื้อหาควรเป็นอย่างไร
  • พ่อแม่ไทยส่วนมากสอนเรื่องเพศจากประสบการณ์ตรงของตนเองเป็นหลัก  พ่อแม่หลายคนยอมรับว่าตนเองไม่มีความสามารถในการเป็นผู้สอนเรื่องเพศ
  • เหตุผลหลักที่พ่อแม่ไม่พูดคุยเรื่องเพศกับลูกวัยรุ่น คือ  คิดว่าลูกยังเด็กเกินไปที่จะเรียนรู้เรื่องเพศ  การเรียนรู้เรื่องเพศอาจกระตุ้นให้เกิดความอยากลองเข้าไปข้องเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม  ลูกจะเรียนรู้เรื่องเพศได้เองเมื่อโตขึ้น

ข้อเสนอแนะ     

ควรให้ความรู้แก่พ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่น  เกี่ยวกับเพศศึกษา  เพื่อให้เห็นความสำคัญของการสอนเรื่องเพศศึกษา  และพัฒนาศักยภาพของพ่อแม่ในการเป็นผู้สื่อสารเรื่องเพศศึกษาแก่ลูกวัยรุ่น  เพื่อจะได้นำความรู้ไปสอนลูกวัยรุ่นครอบครัวได้

Print Friendly
ผู้เขียน ดร.พรฤดี นิธิรัตน์ (ประวัติการเขียน 9 เรื่อง)


Tags: , ,

Comments are closed.