ถอดการเรียนรู้จาก “โครงการก้าวใหม่ในชีวิต”

ถอดการเรียนรู้จากสิ่งที่ได้จากโครงการบริการวิชาการแก่สังคม “โครงการก้าวใหม่ในชีวิต”

ให้แก่เด็กและเยาวชนของสถานพินิจ จังหวัดจันทบุรี วันที่ 20 มกราคม  2553

เพื่อนำมาใช้พัฒนาการเรียนการสอนวิชา พย.1205  การสอนและการให้คำปรึกษาทางสุขภาพ

หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 2  ปีการศึกษา  2553

ประธาน                อ.โสภิณสิริ           ยุทธวิสุทธิ

เลขานุการ             อ.วราภรณ์            จรเจริญ

กรรมการ               อ.อรัญญา              บุญธรรม

อ.ลลนา                 ประทุม

อ.มงคล                 ส่องสว่างธรรม

1. การจัดโครงการก้าวใหม่ในชีวิต ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาเช่นไรในการเรียนการให้การปรึกษา และก่อให้เกิดการพัฒนาตนเองแก่นักศึกษาอย่างไรบ้าง

ทำให้นักศึกษามีความเข้าใจในศาสตร์การให้การปรึกษามากขึ้น เห็นประโยชน์ของการให้การปรึกษาว่าทำให้เด็กและเยาวชนในสถานพินิจได้เข้าใจตัวเอง มีเป้าหมายในชีวิตมากขึ้น รับรู้และเข้าใจในกิจกรรมต่างๆ ที่ตนเองได้รับการฝึกในชั่วโมง Lab CSN  มากยิ่งขึ้นว่าแต่ละกิจกรรมมีวัตถุประสงค์เช่นไร เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองอย่างไร ซึ่งในขณะที่ฝึก Lab CSN  ยังมองไม่เห็นว่าทำไปทำไม เกี่ยวเนื่องกับการให้การปรึกษาเช่นไร เมื่อนำสิ่งที่เรียนมาจัดกิจกรรมให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานพินิจแล้วทำให้เข้าใจมาก และเห็นประโยชน์ในกิจกรรมนั้น ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาตนเองให้ดีมากยิ่งขึ้น

2. กิจกรรมใดบ้างที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษาในการให้การปรึกษา เพราะเหตุใด

1. พลังที่เข้มแข็งและสร้างสรรค์ในตนเอง กิจกรรมนี้นักศึกษาประเมินว่าทำให้เด็กและเยาวชนของสถานพินิจมีมุมใหม่ๆ ที่มองเห็นข้อดีของตนเอง  ซึ่งแต่เดิมเขาไม่เคยแม้แต่จะคิดว่าตนเองมีข้อดีอะไรบ้าง เห็นแต่ด้านลบของตนเอง  กิจกรรมนี้ทำให้เขาเห็นคุณค่าและศักยภาพของตนเอง  ทำให้มีกำลังใจที่จะต่อสู้อุปสรรคและกลับตัวเป็นคนดีในภายภาคหน้า (คะแนนการประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น กับกลุ่มเป้าหมาย  เห็นคุณค่าตนเอง = ร้อยละ 92.86 ในระดับมากที่สุด)

2. เป้าหมายชีวิต ทำให้เด็กและเยาวชนของสถานพินิจมีมุมคิดของตนในอนาคต  มีแนวทางที่จะเดินให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้  มีความสุขที่ได้คิด  สร้างกำลังใจที่จะทำในสิ่งที่ดีให้กับตนเองและครอบครัว ได้ระบายสิ่งที่อยู่ในใจให้นักศึกษาได้รับรู้ (คะแนนการประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมาย  มีเป้าหมายในชีวิต = ร้อยละ 94.64 ในระดับมากที่สุด)

3. คำมั่นสัญญา เป็นกิจกรรมที่หล่อหลอมความคิดความรู้สึกของเด็กและเยาวชนของสถานพินิจให้ตระหนักถึงพระคุณของบิดา  มารดาและผู้ที่มีพระคุณแก่เรา รับรู้ถึงความรัก ความห่วงที่ตนเองได้รับ  ทำให้ปรับมุมคิดใหม่  เกิดกำลังใจที่จะทำความดีเพื่อท่าน  คำสัญญาที่เกิดขึ้นจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้กับน้องในสถานพินิจได้ดี (คะแนนการประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมาย      มีความรู้สึกต่อตนเองและผู้อื่น = ร้อยละ 89.28 ในระดับมากที่สุด)

4. เพลงสื่อใจ เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้เพลงเป็นสื่อ  เหมาะกับกลุ่มวัยรุ่นมาก เพราะเด็กๆ ได้วิเคราะห์เนื้อหาของแต่ละเพลง ทำให้ได้คิด เกิดกำลังใจ ที่จะก้าวต่อไปตามสิ่งที่วิเคราะห์ในเนื้อหานั้น มีความสุข คลายความเครียด (คะแนนการประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมาย มีความสุข คลายความเครียด = ร้อยละ 96.43 ในระดับมากที่สุด)  นอกจากนี้กิจกรรมนี้ยังทำให้เกิดผลสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนๆ ด้วย คะแนนการประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมาย มีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อน = ร้อยละ 75.00 ในระดับมากที่สุด

3. ลักษณะการจัดกิจกรรม ทั้งรูปแบบ วิธีการ บรรยากาศ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่สามารถนำมาปรับเปลี่ยนใช้ในการเรียนการสอนของนักศึกษาได้ดี

1. ใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมกลุ่มและสรุปการเรียนรู้ในช่วงสิ้นสุดกิจกรรมนั้น

2. สร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง ผ่อนคลาย ครูมีส่วนร่วมในแต่ละกิจกรรมด้วย

3. ช่วงแรกในการทำกลุ่มควรเริ่มด้วยกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ก่อน เพื่อให้นักศึกษาและผู้สอนเกิดความคุ้นเคยกัน เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

4. กิจกรรมใดบ้างที่เกิดประโยชน์ต่อนักศึกษาในการนำไปปรับใช้ในการจัดทำรายวิชาการสอนและการให้การปรึกษาทางสุขภาพ ปีการศึกษา  2553 ต่อไป

1. เป้าหมายชีวิต

2. พลังที่เข้มแข็งและสร้างสรรค์ตนเอง

3. การเรียนรู้ควรรู้สึกผ่านการวิเคราะห์เนื้อหาในเพลงที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน

4. กิจกรรมที่จะให้ผู้เรียนได้เข้าใจในความรู้สึก โดยเฉพาะความรู้สึกถึงความรักของผู้ที่มีพระคุณพลังที่เข้มแข็งและสร้างสรรค์ในตนเอง

5. องค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นจากการทำ KM ในครั้งนี้

1. การบูรณาการ  การให้บริการวิชาการแก่สังคมกับการจัดการเรียนการสอน  จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับนักศึกษา เพราะทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรงจากการนำความรู้ ที่ได้จากการเรียนการให้การปรึกษาไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาด้านจิตใจ โดยใช้ความรู้สึกจากทฤษฎีและการฝึกภาคทดลอง ไปปฏิบัติจริง โดยนำกิจกรรมต่างๆ ที่ได้เรียนในภาคทดลองไปประยุกต์ใช้  จากการสอบถามและการประเมินผลการเรียนการสอนในวิชานี้  นักศึกษาทั้งชั้นให้ความเห็นตรงกันว่า การทำโครงการเช่นนี้ทำให้นักศึกษาทั้งชั้นให้ความเห็นตรงกันว่า การทำโครงการเช่นนี้ทำให้นักศึกษาเห็นประโยชน์และเข้าใจศาสตร์ของการให้คำปรึกษาสุขภาพ  เข้าใจในสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ความคิดความรู้สึก  ของผู้อื่นมากขึ้น

2. การจะทำบูรณาการรายวิชาได้ อาจารย์ต้องผ่านประสบการณ์การจัดโครงการ การให้คำปรึกษาเช่นนี้มาแล้ว เข้าใจบริบทของกลุ่มเป้าหมาย เข้าใจกิจกรรมที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิด         self-awareness  และเปลี่ยนแปลงความคิด  ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่อไป  เข้าใจในการใช้กิจกรรมมาบำบัด และการคัดเลือกกิจกรรมมาปรับใช้ในการเรียนการสอนในชั่วโมงภาคทดลอง           ให้นักเรียนเกิดการตระหนักรู้ตนเอง ก่อนที่จะเข้าใจผู้อื่น ซึ่งเป็นฐานสำคัญของการให้คำปรึกษา

3. การเตรียมความพร้อมให้อาจารย์ผู้สอนแต่ละคนเข้าใจ concept ของกิจกรรมที่นำไปสอนในภาคทดลองให้แก่ผู้เรียน ต้องทำความเข้าใจตั้งแต่การเรียน  แผนการสอน  การเตรียมอาจารย์ก่อนสอน  และการประเมินผลหลังสิ้นสุดการสอนในแต่ละกิจกรรมที่อาจารย์จะนำสิ่งที่ได้สอนและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นของผู้เรียนมาแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อหาแนวทางการพัฒนาผู้เรียนให้ก้าวหน้าทันกันใน ทุกกลุ่ม

4. การเตรียมกิจกรรมในโครงการที่มอบหมายให้ผู้เรียนจัดให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานพินิจ ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายของการเรียนรู้ที่จะประเมินผลผู้เรียน  ต้องมีการเตรียมความพร้อมมากในแต่ละกลุ่ม อาจารย์ที่ปรึกษาต้องจูน concept  ของแต่ละกิจกรรมให้ต่อเนื่องไม่ขัดต่ออารมณ์ความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมาย การเตรียมความพร้อมของนักศึกษาที่จะจัดกิจกรรมให้กลุ่มเป้าหมายมีผลสำคัญมาก เพราะเป็นประสบการณ์ใหม่ของนักศึกษา ซึ่งอาจทำให้เขาทดลองความมั่นใจ และไม่กล้าทำ CSN      ต้องปรับทัศนคติให้นักศึกษา มีความสุขที่จะหยิบยืมโอกาสที่ดีให้แก่น้องๆ ที่ขาดโอกาสเป็นตัวแทนของสังคมที่จะทำให้น้องๆ ในสถานพินิจรู้สึกมีพลังในการก้าวสู่ชีวิตใหม่ เปิดมุมมองใหม่แก่คนเป็นเรื่องยากมาก แต่เมื่อทำได้ นักศึกษาจะมีพลังที่จะทุ่มเทกำลังกายกำลังใจที่จะสร้างสรรค์งานได้อย่างดี  พลังที่เกิดขึ้นในวันจัดกิจกรรม นักศึกษาบอกว่า เขารู้สึกว่าอาจารย์ไม่ทอดทิ้งให้เขาทำกิจกรรมอยู่คนเดียว  เขารู้ว่าอาจารย์จะคอยช่วยเหลือเขาในยามที่กิจกรรมสะดุด รอยยิ้ม กำลังใจจากอาจารย์ทำให้เขาเชื่อมั่นว่าเขาทำได้ และสิ่งสำคัญที่ทำให้งานประสบความสำเร็จคือ การเตรียมตัวในแต่ละกลุ่ม แต่ละกิจกรรมที่มีอาจารย์เป็นผู้สอนและคอยให้การปรึกษาอยู่ตลอดเวลา

Print Friendly
ผู้เขียน อ.โศภิณสิริ ยุทธวิสุทธิ (ประวัติการเขียน 4 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์


Tags:

Comments are closed.