อนามัยการเจริญพันธุ์วัยรุ่น : ความเสี่ยงและความท้าทาย

สรุปการประชุมวิชาการ

เรื่อง  การจัดการความเสี่ยงทางการผดุงครรภ์

หัวข้อ อนามัยการเจริญพันธุ์วัยรุ่น : ความเสี่ยงและความท้าทาย

 

ผู้เขียน  อ. จันทร์เพ็ญ   อามพัฒน์

ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

1. อ. ธนพร  ศนีบุตร

2. อ. ทิพวรรณ  ลิ้มประไพพงษ์

3. อ. จันทรมาศ  เสาวรส

4. อ. เพ็ญนภา  พิสัยพันธุ์

5. อ. ขนิษฐา  เมฆกมล

6. อ. อารีรัตน์   วิเชียรประภา

7. อ. จรัญญา   ดีจะโปะ

8. อ. วรัญญา  ชลธารกัมปนาท

9. อ. จารุวรรณ์   ท่าม่วง

10. อ. กรรณิการ์   แซ่ตั๊ง

11. อ. กฤษณี  สุวรรณรัตน์

สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไทย ปี พ.ศ.2555 พบว่าวัยรุ่นตั้งครรภ์เป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ซึ่งผลกระทบจากการตั้งครรภ์นั้น มีหลายประการ เช่น ปัญหาการทำแท้งที่ผิดกฎหมาย การทิ้งทารก ปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่น เป็นต้น สถานการณ์นี้นับว่าจะรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งอายุของวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์ในครั้งแรก ก็มีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน  40 % ของหญิงวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์จะตั้งครรภ์ สาเหตุของการไม่ป้องกันการตั้งครรภ์เนื่องจากวัยรุ่นบางคนไม่ทราบว่าจะคุมกำเนิดอย่างไร ไม่รู้สถานที่ที่ให้บริการสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ ประมาท การคุมกำเนิดล้มเหลว และถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น จากสถานการณ์ปัญหา ผลกระทบ และสาเหตุเหล่านี้ เราจึงควรป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น โดยการเพิ่มทางเลือกให้หญิงตั้งครรภ์ เช่นการเข้าถึงบ้านพักพิง การให้ความช่วยเหลือเรื่องอาชีพ การสร้างงาน จัดหาครอบครัวบุญธรรม เพิ่มประสิทธิภาพการให้คำปรึกษา ให้ความรู้แก่ประชาชน พัฒนางานบริการวางแผนครอบครัว ส่งเสริมค่านิยมที่ถูกต้องเรื่องเพศในวัยรุ่น สร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว อาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนร่วมด้วย

 

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น : ความเสี่ยงและความท้าทาย

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนับเป็นปัญหาระดับโลก   เป็นปัญหาที่มาพร้อมความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหากับตัวหญิงวัยรุ่นเองและทารก เป็นผลกระทบทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวทางในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นโดย สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอการแก้ไขปัญหา โดยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและสถานบริการสาธารณสุข การสอนให้วัยรุ่นมีภูมิคุ้มกัน การพัฒนาบุคคลที่เกี่ยวข้องที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของวัยรุ่น ก่อนที่จะเข้าไปให้การจัดการบริการที่มีคุณภาพสำหรับหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ได้นั้นต้องทำความเข้าใจในบริบทความแตกต่างของวัยรุ่นหญิง เช่น กลุ่มนักเรียน นักศึกษา กลุ่มวัยรุ่นทำงาน กลุ่มวัยรุ่นที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น จะต้องทำอย่างไรในการจัดการให้แต่ละกลุ่ม ยอมรับการตั้งครรภ์ และมีการป้องกันการคุมกำเนิดที่เหมาะสม การเข้าถึงวัยรุ่นได้นั้นอาจต้องคำนึงถึง การเข้าถึงคลินิกฝากครรภ์ของวัยรุ่น การนัดเวลามาฝากครรภ์ที่ตรงกับบริบท การตอบสนองต่อความต้องการของวัยรุ่น รวมทั้งความต่อเนื่องของการให้บริการ

 

การนำเสนอผลงานการวิจัย  (Oral  presentation)

เรื่องที่ 1 :  สถานการณ์ความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยงทางการผดุงครรภ์

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาสถานการณ์ความเสี่ยงทางสุขภาพ และแนวทางการจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทางผดุงครรภ์ โดยถอดบทเรียนจากรายวิชาการปฏิบัติการผดุงครรภ์ขั้นสูง 4 ซึ่งพบว่าพยาบาลเป็นบุคคลที่ต้องเผชิญความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา และยังต้องจัดการกับความเสี่ยงทั้ง 3 ระยะคือ

  1. ในระยะก่อนเกิดความเสี่ยง
  2. ขณะเกิดความเสี่ยง
  3. หลังเกิดความเสี่ยง

ซึ่งในทางการผดุงครรภ์สามารถเกิดขึ้นในทุกการดูแลตั้งแต่ในระยะก่อนตั้งครรภ์ ระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด ระยะหลังคลอด รวมทั้งทารกแรกเกิด  ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีทั้งที่เกิดจากการคาดการณ์ล่วงหน้า และการไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้า ดังนั้นพยาบาลผดุงครรภ์จึงควรมีความพร้อมในการจัดการความเสี่ยงต่างๆ และควรมีการพัฒนางานหรือเครื่องมือที่จะป้องกันความเสี่ยงนั้นๆ

 

เรื่องที่ 2 :  ผลของการให้คำปรึกษาในสตรีวัยรุ่นตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์หลังทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย

การให้คำปรึกษาของสตรีวัยรุ่นตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์หลังทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย โดยมีการใช้สื่อการสอน มีการให้คำปรึกษา และการใช้คูมือการปฏิบัติตนในสตรีตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์หลังทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ทำให้วัยรุ่นมีความรู้เรื่องของภาวะแทรกซ้อนและการปฏิบัติตัวหลังทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย และสามารถดูแลตนเองได้มากกว่าก่อนการให้การปรึกษา

 

เรื่องที่ 3 :  ความแม่นยำในการคาดคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์โดยใช้สูตร Johnson ขณะเจ็บครรภ์คลอด

    โรงพยาบาลเขื่องใน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

การวัดรอบท้องเพื่อการคาดคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์โดยใช้สูตร Johnson ขณะเจ็บครรภ์คลอด เกิดจากอุบัติการณ์เรื่องการคลอดติดไหล่  และเมื่อมีการทำการทดลองพบว่า การคาดคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์โดยใช้สูตร Johnson และน้ำหนักทารกที่คลอดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยอกจากนี้ยังพบว่าลดอุบัติการณ์การเกิดการคลอดติดไหล่ พยาบาลมีการตระหนักถึงผลกระทบ และเฝ้าระวังมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังสามารถเป็นแนวทางในการรักษาหรือส่งต่อได้อีกด้วย

เรื่องที่ 4 :  ผลการจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริง หน่วยการเรียนห้องคลอด  ในรายวิชาการพยาบาล

              มารดาทารกและการผดุงครรภ์ 1

ในการศึกษานี้พบว่าสมรรถนะของนักศึกษาพยาบาลในการทำคลอดปกติที่มีคะแนนมากที่สุด คือ การคลุมผ้าและปูผ้ารองคลอด รองลงมาคือการเตรียมเครื่องมือทำคลอด และสมรรถนะการทำคลอดไหล่และลำตัวทารก ตามลำดับ ซึ่งจากการแสดงความคิดเห็นพบว่า  การฝึกปฏิบัติเป็นการนำทฤษฎีมาลงสู่การปฏิบัติ แต่การทำคลอดอย่างชำนาญนั้นต้องมีการฝึกประสบการณ์บ่อยๆ มีสติตลอดเวลา และต้องสามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้าได้ นอกจากนี้ยังควรมีการจัดการเรียนการสอนรูปแบบนี้อีก ควรมีการฝึกในห้องปฏิบัติการก่อน และควรเลือกแหล่งฝึกเพียงแหล่งเดียวในการฝึกเพื่อไม่ต้องปรับตัวใหม่

เรื่องที่ 5 :  ผลของโปรแกรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อพฤติกรรมการควบคุมอาหาร และระดับน้ำตาลในเลือดของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวาน

การใช้โปรแกรมในการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อพฤติกรรมการควบคุมอาหารและระดับน้ำตาลในเลือดของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวาน โดยสัปดาห์ที่ 1 ก่อนการทดลอง  ผู้วิจัยมีการประเมินพฤติกรรมการคบคุมอาหาร ชั่งน้ำหนักและตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ให้การทดลองโดยใช้โปรแกรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม 2 ครั้งห่างกัน 1 สัปดาห์ และให้คู่มือควบคุมอาหารและระดับน้ำตาลในเลือด สัปดาห์ที่ 1 หลังการทดลองสัปดาห์ที่ 2 หลังการทดลอง ในการใช้โปรแกรมในการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อพฤติกรรมการควบคุมอาหารและระดับน้ำตาลในเลือดของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวาน พบว่า

  1. หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานมีพฤติกรรมการควบคุมอาหารสูงขึ้นกว่าก่อนการทดลองและกลุ่มควบคุม
  2. ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าก่อนการทดลองและกลุ่มควบคุม
  3. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง ต่ำกว่าก่อนการทดลองและกลุ่มควบคุม

 

การนำเสนอผลงานการวิจัย  (Oral  presentation) :

เรื่องที่  1  : ผลของวิธีเบ่งคลอดต่อผลลัพธ์การคลอดและความเหนื่อยล้าในระยะหลังคลอดของมารดาที่  คลอดครรภ์แรก

เป็นงานวิจัยที่การศึกษาผลของวิธีการเบ่งคลอดแบบธรรมชาติในระยะที่  2  ของการคลอด ได้แก่  ระยะเวลาเบ่งคลอด  ชนิดการคลอด  สภาพทารกแรกเกิดและความเมื่อยล้าหลังคลอด  เมื่อเทียบกับวิธีการเบ่งคลอดแบบชี้นำ ผลการวิจัยพบว่าวิธีการเบ่งคลอดแบบธรรมชาติเป็นวิธีการเบ่งคลอดที่ช่วยลดระยะเวลาและความเอยล้าของผู้คลอด  ในระยะที่  2  ของการคลอด มีความปลอดภัยต่อทั้งผู้คลอดและทารกในครรภ์

เรื่องที่  2  :  การใช้ผ้าขาวบางใยแก้วกรองเลือด  เพื่อคาดคะเนการเสียเลือดหลังคลอด

เป็นการเสนอนวัตกรรมการใช้ผ้าขาวบางใยแก้วกรองเลือด  มาใช้ในการประเมินการเสียเลือดแทนการประเมินด้วยสายตาที่มีความคาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้สูงถึง  60  %  ด้วยคุณสมบัติของผ้าขาวบางใยแก้วกรองเลือด    ที่ทนความร้อนได้ดี  สามารถอบนึ่งด้วยความร้อนในการนำกลับมาใช้ใหม่  และมีความแม่นยำในการคาดคะเนการเสียเลือดได้ดีกว่าการคาดคะเนด้วยสายตา  ส่งผลให้เกิดการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างรวดเร็ว  จึงมีแนวทางปฏิบัติในการนำผ้าขาวบางใยแก้วกรองเลือดมาใช้กับมารดาคลอดทุกราย

เรื่องที่  3 :  ประสบการณ์ของหญิงตั้งครรภ์ที่รับการตรวจประเมินด้วยเครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์อิเลคทรอนิคส์ในระยะคลอด

เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ  ที่ศึกษาถึงประสบการณ์ของหญิงตั้งครรภ์ที่รับการตรวจประเมินด้วยเครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์อิเลคทรอนิคส์ในระยะคลอด พบว่าหญิงตั้งครรภ์รับรู้ว่าการตรวจสามารถยืนยันการมีชีวิตของทารกในครรภ์  จากการได้ยินเสียงหัวใจทารกในครรภ์  การสังเกตที่จอภาพร่วมกับท่าทางของเจ้าหน้าที่  รู้สึกดี  หายกังวลใจ  แม้จะรู้สึกอึดอัดจากสายที่รัดหน้าท้อง  หรือถูกจำกัดกิจกรรม  จึงมีข้อเสนอแนะการออกแบบเครื่องตรวจอิเลคทรอนิคส์ที่ลดความไม่สุขสบายอขงสตรีที่ได้รับการตรวจ

เรื่องที่  4  : การประเมินแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกเพื่อลดความไม่สุขสบายจากผลข้างเคียงของแมกนีเซียมซัลเฟตในการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ชนิดรุนแรง  โรงพยาบาลอุดรธานี

เป็นการพัฒนาแนวปฏิบัติของพยาบาลในการดูแลสตรีที่ได้รับแมกนีเซียมซัลเฟตในการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ชนิดรุนแรง  ให้ครอบคลุมทุกด้าน  โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า  AGREE ที่ครอบคลุมการประเมินใน  6  มิติ  พบว่าผลของการใช้แนวปฏิบัติมีความเหมาะสมในการนำไปใช้ลดความไม่สุขสบายจากผลข้างเคียงของแมกนีเซียมซัลเฟตได้

เรื่องที่  5  :  ผลของโปรแกรมลดความเจ็บปวด  ความกลัวและความวิตกกังวลต่อผู้คลอดครรภ์แรก  ในระยะที่  1  ของการคลอด

เป็นการวิจัยกึ่งทดลองศึกษาผลของการใช้โปรแกรมลดความเจ็บปวด  ความกลัวและความวิตกกังวลต่อผู้คลอดครรภ์แรก  ในระยะที่  1  ของการคลอด  เครื่องมือที่ใช้เป็นวีดิทัศน์และแผ่นพับ  พบว่าช่วยลดความเจ็บปวด  ความกลัวและความวิตกกังวลลงเมื่อเทียบกับก่อนได้รับโปรแกรม  และลดลงกว่าการให้การพยาบาลตามปกติ

เรื่องที่  6  :   การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำแก่ผู้คลอดในระยะที่หนึ่งของการคลอด  รพ.สมเด็จพระยุพราชตะพานหิน  จังหวัดพิจิตร

เป็นการพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำแก่ผู้คลอดในระยะเจ็บครรภ์จริง  ของพยาบาลวิชาชีพ  แนวปฏิบัติประกอบด้วย  5 ขั้นตอน  ได้แก่  1) การดูแลให้ผู้คลอดได้รับสารอาหารและน้ำในระยะ  latent  หรือก่อนได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดดำ  2)  การเตรียมอุปกรณ์เพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ  3)  การเตรียมผู้คลอดก่อนให้สารน้ำ  4)  การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ  และ 5)  การติดตามหลังการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำรวมทั้งภาวะขาดน้ำ  แนวปฏิบัตินี้สามารถนำไปใช้ในการพยาบาลผู้ที่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ  รวมทั้งผู้ที่ต้องผ่าตัดคลอด

เรื่องที่  7  :    การพัฒนาแนวทางการวางแผนจำหน่ายหญิงเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด  ของงานห้อง

คลอด  โรงพยาบาลนครพนม

เป็นการพัฒนาแนวทางปฏิบัติในการวางแผนการจำหน่ายหญิงเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด  ซึ่งประกอบด้วย  1) การกำหนดบทบาทของทีมสหสาขาวิชาชีพในการจำหน่าย  เช่น  เภสัชกร  แพทย์  2)  การกำหนดขั้นตอนตามแนวปฏิบัติ  3)  แบบบันทึกการวางแผนจำหน่ายที่มีความเฉพาะเจาะจง  และ 4)  คู่มือการปฏิบัติตัวของหญิงที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด  ผลการใช้แนวปฏิบัติพบว่า  เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานมีความพึงพอใจที่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน  และหญิงที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดมีความพึงพอใจในการดูแล

Print Friendly
ผู้เขียน อ.จันทร์เพ็ญ อามพัฒน์ (ประวัติการเขียน 5 เรื่อง)

อาจารย์พยาบาลสังกัด ภาควิชาการพยาบาลมารดา ทารก และการผดุงครรภ์


Tags: , ,

Comments are closed.